สรุปเรื่อง ทิฏฐิ

ทิฏฐิ แปลว่า ความเห็น ซึ่งก็หมายถึง ความเข้าใจ  ซึ่งสรุปแล้วความเห็นนี้ก็มี ๒ อย่าง คือ มิจฉาทิฏฐิ กับ สัมมาทิฏฐิ

มิจฉาทิฏฐินั้นก็สรุปได้ ๒ อย่าง คือ สัสสตทิฏฐิ กับ อุจเฉททิฏฐิ

โดยสัสสตทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นว่ามีตัวตนที่จะเกิดขึ้นมาสืบต่อตัวตนเก่าเอาไว้เรื่อยไป (อัตตา-ตัวตนที่แท้จริง) แล้วก็ทำให้เกิดความเชื่อเรื่องการเวียนว่ายตาย-เกิด เรื่องนรกใต้ดิน สวรรค์บนฟ้า เป็นต้น ซึ่งก็สรุปว่าสัสสตทิฏฐิก็คือ ความเข้าใจว่าเมื่อทำกรรมใดไว้แล้วจะไปรับผลเอาในชาติหน้า และผลของกรรมนั้นก็คือความรู้สึกทางตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ

ส่วนอุจเฉททิฏฐิ ก็คือ ความเห็นว่าไม่มีตัวตนใดๆเลย (นิรัตตา-ไม่มีตัวตนเลย)  จึงไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ รวมทั้งเชื่อว่าเมื่อทำกรรมใดไว้แล้วก็ไม่ต้องรับผลใดๆเลย คือเชื่อว่าพ่อแม่ไม่มีพระคุณ โลกหน้าไม่มี กรรมไม่มีผล เทวดา นางฟ้า ไม่มี เป็นต้น

ส่วนสัมมาทิฏฐิ ก็คือ ความเห็นว่า มันไม่มีตัวตนอย่างสัสสตทิฏฐิ มีแต่ตัวตนที่เป็นสิ่งปรุงแต่งขึ้นมาชั่วคราวเท่านั้น  (อนัตตา-ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง) คือมีเท่าที่ยังมีร่างกายและจิตใจนี้อยู่เท่านั้น (คือไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิดอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ) และตัวตนชั่วคราวนี้เมื่อทำกรรมใดลงไป ก็ต้องได้รับผลของกรรมนั้นด้วยเสมอ ไม่ใช่ว่าจะไม่ต้องรับผลกรรมเลยอย่างพวกอุจเฉททิฏฐิ แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะต้องไปรับผลกรรมเอาในชาติหน้าอย่างพวกสัสสตทิฏฐิ ซึ่งผลกรรมนั้นก็คือ ความรู้สึกทางจิตใจ อันได้แก่ เมื่อทำกรรมดี หรือความดี ก็จะเกิดความสุขใจ-อิ่มเอมใจขึ้นมาทันที แต่เมื่อทำกรรมชั่ว หรือความชั่ว ก็จะเกิดความร้อนใจ-ไม่สบายใจขึ้นมาทันที

มิจฉาทิฏฐิจะเป็นความเห็นที่ผิดจากความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงไม่ใช่ความรู้ที่ถูกต้องที่จะเป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ได้

ส่วนสัมมาทิฏฐินั้นเป็นความเห็นที่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรมชาติ จึงเป็นความรู้ที่ถูกต้องที่เป็นปัญญาสำหรับนำมาใช้คู่กับสมาธิ ในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ของจิตใจในปัจจุบัน ตามหลักอริยมรรคของอริยสัจ ๔ ของพระพุทธเจ้า

ส่วนสัมมาทิฏฐิที่มีในตำราว่า โลกหน้ามี เทวดานางฟ้า มี กรรมชนิดข้ามภพข้ามชาติมี การบูชายัญมีผล เป็นต้นนั้น เป็นแค่ความเชื่อของชาวบ้าน ที่เขาก็เชื่อว่ามันมีจริงหรือถูกต้อง แต่มันเป็นมิจฉาทิฏฐิสำหรับอริยมรรค  ดังนั้นจึงเรียกความเชื่อของชาวบ้านนี้ว่าเป็น สัมมาทิฏฐิระดับชาวบ้าน (สัมมาทิฏฐิที่ประกอบด้วยอาสะ)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่