#บทกวีเรื่อง...ศรีธนญชัย ตอนที่ 2#

ตอนอื่นๆ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้

    ตอนที่ 2  เด็กเจ้าปัญญา

                          
        2.1  อาศัยวัด

    ศรีธนญชัย ร่อนเร่ นอนเซซัด            จนถึงวัด หวังพึ่งพิง วิ่งเร็วรี่
กราบสมภาร เป็นศิษย์ พึ่งบารมี            ปดไม่มี แม่พ่อ ขอเมตตา
    ด้วยเป็นเด็ก รูปดี ผิวสะอาด            เฉลียวฉลาด น่ามอง ผ่องใบหน้า
งามเรียบร้อย ท่าทาง ช่างเจรจา            เป็นกำพร้า แต่เยาวัย ให้เอ็นดู
    อาศัยวัด อ่อนน้อม และถ่อมตน        ขยันงาน อดทน ทุกคนรู้
เป็นศิษย์รัก สมภาร ผู้อุ้มชู                พระเณรชี รักอยู่ ไม่ลำเค็ญ
    ถือคติ อยู่บ้านท่าน ไม่ดูดาย            ปั้นวัวควาย ให้ลูก ของท่านเล่น
จนสิบสาม ปีผ่าน สุขร่มเย็น                โกนจุก บวชเป็น เจ้าเณรน้อย
    เรียนหนังสือ ขอมไทย ไกลรุดหน้า        เชี่ยวชาญกว่า เณรใด ใครใช้สอย
ช่วยสอนหลาน สมภาร นานเนื้อกลอย        เผลอปากพล่อย ตกอับ กับเกี้ยวพา

                        
……………………………………………


    ข้อคิด –   แม้รูปโฉม และวาจาจะพาให้พ้นทุกข์ได้ แต่ รูปโฉมและวาจาก็พาให้ตกทุกข์
                          ได้เช่นกัน


2.2  กลับบ้าน


    
ถูกขับไล่ จากวัด ต้องขัดสน            ด้วยความล้น คะนองลาม ตามประสา
คิดถึงพ่อ แม่เรือน เพื่อนจากมา            รวมความกล้า กลับบ้านง้อ ขออภัย
    สามเณร ห่มผ้าเหลือง ขึ้นเรือนมา        พ่อแม่จ๋า ลูกเอาบุญ มาฝากให้
บวชเรียนหวัง แทนคุณ ใช่เหตุใด            โยมพ่อแม่ น้ำตาไหล ใจตื้นตัน
    คิดว่าลูก สำนึกตน เป็นคนดี            ความผิดมี ปลอบจิต คิดว่าฝัน
พ่อแม่พร้อม อภัยลูก ทุกคืนวัน            ลาสึกพลัน อ้างช่วย งานทำกิน
    กลับอยู่บ้าน ขัดสน ฟ้าฝนแล้ง            ข้าวนาแห้ง พืชสวน เสียหายสิ้น
ต้องยืมข้าว เพื่อนบ้าน เพื่อหุงกิน            ไร้ทรัพย์สิน ลูกช่วย เพียงปลายมือ

                          
…………………………………….


    ข้อคิด –   บิดามารดานั้น แท้จริงแล้ว  ไม่ว่าลูกทำผิดร้ายแรงเพียงใด ก็พร้อมให้อภัย
                           หวังดีและช่วยเหลือลูกเสมอ


2.3   เป็นทาสแม่ค้า


    
สมัยนั้น บ้านใด ใครยากจน            มักคิดขาย ลูกตน คนรวยซื้อ
นายนันทา นางเหรา เศร้าหารือ            ลูกอดมื้อ กินมื้อ ทำเช่นไร
    จึงบอก ศรีธนญชัย ให้เป็นทาส        ด้วยไม่อาจ ดันทุรัง ยั้งต่อได้
ศรีธนญชัย รับรู้  และเข้าใจ                น้ำตาไหล ผูกพัน หวั่นอาวรณ์
    เจ้าศรีถูก บอกขาย ยายสนซื้อ                    ไม่กี่มื้อ หนีกลับ รับเดือดร้อน
ถูกยายสน ทวงเงิน ยากหลับนอน            เจ้าศรีวอน  เมตตา เขาทารุณ
    กล่าวยุยง อ้างยาย ร้ายน้ำใจ            ลูกนี้ใช่ ไม่รู้ผิด คิดเกื้อหนุน
วอนแม่ขาย ลูกแก่ คนใจบุญ                เอื้อการุน เช่นแม่ค้า น่ายินดี

    ด้วยปัญญา รู้ว่า ไม่ช้านาน            ต้องถูกขาย บ้านใด ไปใช้หนี้
ขอเป็นทาส แม่ค้า คงเข้าที                ชำระแค้น ขนมมี ครั้งวัยเยาว์
    ครั้นเป็นทาส แกล้งดี ขมีขมัน            ทำงานขยัน  รับใช้ ช่วยเหลือเขา
รับผิดชอบ ขนมขาย คลายแบ่งเบา            แม่ค้าเข้า วัยชรา หน้าที่ทำ
    สั่งขายหมด เรียบร้อย ค่อยกลับบ้าน        อย่าสำราญ เพลินแล แม่ค้าย้ำ
ศรีธนญชัย กล่าวรับ ทุกถ้อยคำ            ท่าทีทำ เร่ขาย คล้ายตั้งใจ
    ขนมครับ ขนมตาล ขนมสอดไส้        เสียงร้องขาย อร่อยล้ำ ทำเสร็จใหม่
แม่ค้ามอง ด้วยหวัง ฟังชื่นใจ                ลับตาไกล วางหาบ ทิ้งข้างทาง
ตะลอนเล่น ไม่สนใจ ในค้าขาย        ขนมหาย หมาคาบสิ้น แกะกินบ้าง
เหลือแจกเพื่อน ผู้คน เดินผ่านทาง            สตางค์อ้าง เหมาจ่าย ให้พรุ่งนี้
    ฝ่ายแม่ค้า ชื่นชม ขนมหมด            ไม่รู้ปด ขนมเติม เพิ่มเร็วรี่
กระหยิ่มยิ้ม ว่าขนม นั้นขายดี                ส่วนเจ้าศรี อ้างค้างจ่าย ได้ทุกครา                 
จนวันนั้น เพิ่มขนม พรมพรให้            ขอเจ้าขาย ดีเป็น เทน้ำท่า
สั่งเก็บเงิน ยายมั่น เหมาค้างมา            พลันมุ่งหน้า ไปคลอง ทิ้งของไป
    สมคำว่า ขายดีเป็น  เทน้ำท่า            คำแม่ค้า อำนวย อวยพรไว้
วางหาบเปล่า วิ่งซน ไม่สนใจ                เย็นกลับไป กระล่อนอ้าง ค้างเงินทอง
    เจ้าศรีทำ เหมือนกัน ทุกวันผ่าน        ค้างเนิ่นนาน ยายสงสัย ในเงินของ
จึงตะหวาด คาดคั้น ถามเงินทอง            เจ้าศรีมอง ตอบซื่อใส เจ็บใจฟัง
    ก็ยายสั่ง เทลงน้ำ ฉันจำได้            ผิดตรงไหน ทำเห็น เช่นคำสั่ง
โทษฉันใย แกล้งเถียง เสียงก้องดัง            ยายไม่ยั้ง กระหน่ำตี ศรีธนญชัย
    อ้ายวายร้าย แสบชั่ว ตัวล้างผลาญ        อาศัยบ้าน กินอยู่ ทำกูได้
เจ้าเด็กเลว เด็กชั่ว ตัวยิ้ม                แทบขาดใจ ไล่ตี หนีวิ่งวน
    แม่ค้าทรุด กายนั่ง ทั้งเหนื่อยหอบ        คิดโต้ตอบ หาคนปราบ ราบได้ผล
คือหลวงศรี ลูกชายยาย ได้ผจญ            คาดโทษซน ลงหวาย ให้หลาบจำ

                              
………………………………..


    ข้อคิด –  “การให้อภัย”  คือทางออกของความแค้น สำหรับผู้รู้มีสติ คนดี มีศีลธรรม
                          แต่สำหรับบางคน ทางออกของความแค้น คือการปองร้ายและการทำลาย

                      
                
2.4  เด็กรับใช้ตัวแสบ    


    
ศรีธนญชัย ฉลาดรู้ อยู่เรียบร้อย        หน้าที่คอย ตามหลวงศรี ทุกเช้าค่ำ
คอยถือล่วม หมากพลู ตั้งใจทำ            ปัญญาล้ำ ท่านเอ็นดู อยู่เคียงกาย
    ด้วยซุกซน ทำดี ได้ไม่นาน            ก็เบื่องาน หมากพลู ถืออยู่หาย
ตกเรี่ยราด ไม่เหลือ ไว้ให้นาย                อ้างอุบาย รีบมาก หมากกระเด็น
    กระผมเป็น ข้ารับใช้ ต้องรีบเดิน        เก็บช้าเกิน  เหตุให้ นายไม่เห็น
หน้าที่ข้า ตามติด คิดจำเป็น                หมากกระเด็น โทษน้อยกว่า ข้าคิดครวญ
    ได้ฟังคำ แก้ตัววอน อ่อนอกใจ            ไม่รู้จะ ลงโทษใด ปล่อยไปล้วน
เพียงสั่งว่า ต่อไป ให้ทบทวน                ด้วยเจ้าควร เก็บให้หมด จดจำมา
    หลังจากนั้น ไม่นาน ล่วมหมากหล่น        เก็บหมากขน  ขยะมี ปนขี้หมา
เมื่อถึงวัง หลวงศรี นั่งสนทนา                เหล่าเสนา กร่อยปาก ขอหมากกิน
    หลวงศรีล้วง หมากพลู เพื่อปันแบ่ง        ขี้หมาแห้ง ปนอยู่ หมากพลูสิ้น
ต้องอับอาย หัวเราะ เยาะหมากกิน            แก้ตัวยิน เก็บตามสั่ง ไม่ตั้งใจ
    หลวงศรี ยอมจำนน พ้นโทษมี            ปลดหน้าที่ ถือหมากพลู อยู่รับใช้
หน้าที่ใหม่ ติดตาม เข้าวังใน                ชมในใจ เอาตัวรอด ยอดปัญญา


                        
………………………………….


ข้อคิด -  “คำพูด”  นั้นสำคัญ ต้องระมัดระวังว่ากำลังพูดกับใคร  โดยเฉพาะคำพูดคน
               เป็นนาย  เพราะคำพูดนั้นอาจกลับมาทำร้าย และทำให้พบกับความอับอาย
               ในภายหลัง


2.5  ข้าวเหนียวเปียก    

            
    
ในวันหนึ่ง หลังจากนั้น ไม่ช้านาน        ภรรยา หลวงศรีวาน เรียกใช้หา
เที่ยงให้ตาม หลวงศรี กลับบ้านมา            ของโปรดหา ข้าวเหนียวเปียก เรียกมากิน
    โอกาสดี ศรีธนญชัย ได้คะนอง        ตะโกนร้อง แต่ไกล ให้ถูกหมิ่น
ท่านขอรับ นายหญิงเรียก กลับบ้านกิน        ล้วนได้ยิน หัวเราะ เพราะคิดไกล
    คิดว่าเป็น คำแสลง แปลงความหมาย        หลวงศรีอาย หน้าแดงก่ำ ทำกูได้
ล้วนเข้าใจ ร่วมหลับนอน เช่นหญิงชาย        ลุกวิ่งไล่ เตะเอ็ดอึง ทะลึ่งมี
    ศรีธนญชัย กล่าววอน กะล่อนฟัง        ตะโกนดัง อำนวย ช่วยหลวงศรี
ผู้เปี่ยมล้น บุญญา บารมี                จึงได้ศรี ภรรยาเลิศ ประเสริฐครอง
    ภรรยา หลวงศรี ฟังภูมิใจ            มอบผ้าใหม่ หนึ่งผืน ยืนยิ้มผ่อง
ศรีธนญชัย กรุ้มกริ่ม ยิ้มคะนอง            ได้นกสอง ปืนนัดหนึ่ง น่าพึงใจ
         หลวงศรีเว้น โทษอีกครั้ง สั่งกำชับ        ต่อไปนับ แต่นี้ มีเรื่องใหม่
ต้องบอกกล่าว ในวัง ครั้งคราใด            จงคลานไป กระซิบ ดังแผ่วเบา

                          
……………………………………….


    ข้อคิด –  “คนฉลาด”  ถ้าขาดศีลธรรม  สามารถใช้วาจาแทนอาวุธสำหรับแก้แค้นและ
                           หาผลประโยชน์ใส่ตัวได้ในเวลาเดียวกัน



                
2.6  ไฟไหม้


    
เมื่อได้ฟัง คำสั่งคึก นึกสนุก            จุดไฟลุก ชายคาแห้ง ด้วยแกล้งเผา
ถูกใช้บอก หลวงศรี ช่วยบรรเทา            มันคลานเข่า พูดเบา กระซิบความ
    ปากพะงาบ ป้องหู ไม่รู้เรื่อง            หลวงศรีเคือง พูดอีกครั้ง ซ้ำซากถาม
ขมุบขมิบ จนทาสอื่น มาบอกความ            ไฟไหม้ลาม บ้านท่าน เนิ่นนานครัน
    หลวงศรีลุก พรวดไป ไม่คิดชีวิต        บ้านไฟติด มอดไป ไม่คิดฝัน
เหลือเสาตอ สองสามแห่ง แย่งดูกัน            ตะโกนลั่น  ให้เจ้าศรี หาต้นเพลิง
    ศรีธนญชัย รับคำ ไม่ช้านาน            หอบเชิงกราน เตาดินเผา ทำเขลาเหลิง
นี่อย่างไร  ขอรับ ต้นไฟเพลิง                หน้าระเริง อ้างฟังผิด ไม่คิดกลัว
    หลวงศรีอึ้ง ไม่ต่อล้อ ต่อเถียงใด        หาเหตุใหม่ กระหน่ำ ทำปวดหัว
เรื่องไฟไหม้ พึมพำ ทำหมดตัว            เจ้าศรียั่ว สั่งพูดเบา เดินเข่าคลาน

                              
…………………………………..


     ข้อคิด –   คนคิดปองร้าย กับ คนระวังตัวจากการถูกปองร้าย  โอกาสไม่เท่ากัน
                            อย่างไรก็ตาม พึงระวังตัวให้มาก เพราะคนคิดปองร้ายคือคนนำความ
                            เดือดร้อนเสียหายมาให้ จนถึงหมดตัวได้


                        
  2.7  เลื่อนวัว    


    หลังไฟไหม้ ยากจน ขัดสนใหญ่        ปลดบ่าวไพร่ เบี้ยพร่อง ต้องสร้างบ้าน
หนักเลี้ยงวัว ทำไร่นา หลังราชการ            มอบหมายงาน เจ้าศรี มีช่วยทำ
    วันหนึ่งสั่ง ศรีธนญชัย เลี้ยงวัวแทน        วัวถูกแขวน ต้นตาลตาย ร้ายกระหน่ำ
เป็นผลงาน  เจ้าศรี วีรกรรม                ล้วนอ้างทำ ตามสั่ง ไม่ตั้งใจ
    ด้วยเหตุสั่ง ตอนเที่ยง ตะวันร้อน        จงคลายผ่อน เลื่อนวัว ขึ้นบนให้
ชักรอกวัว ขึ้นต้นตาล จนสิ้นใจ            ศรีธนญชัย ถูกแช่งด่า ว่าเดือดดาล

                              
.............................................................


    ข้อคิด –   “คนพาล” หากเฉลียวฉลาดแล้ว เป็นบุคคลน่ากลัวยิ่งนัก เพราะเจ้าเล่ห์
                            เพทุบาย  สามารถหาเหตุผลและช่องทางทำเรื่องชั่วเลวทรามได้สารพัด
                            ตามความต้องการของตนเองเสมอ


2.8  ชำระแค้นแม่ค้า


    ต่อมาสั่ง ศรีธนญชัย ไปรับใช้            แม่หลวงศรี ป่วยไข้ อยู่ที่บ้าน
แค้นแม่ค้า เคยมี ไม่ลดราญ                จึงวายปราณ ด้วยพิษ ฤทธิ์ดูแล
    ยาเบื่อหนู ผสมน้ำ คือยายาย            วางแผนร้าย อ้างไม่ได้ ฆ่ายายแน่
เพียงช่วยให้ พ้นทุกข์ ไม่เชือนแช            คือคำแก้ อ้างตัว พรางชั่วมี
    หลวงศรีนั้น ส่วนลึก นึกสงสัย            หลักฐานไร้ สังเวช เหตุตายนี้
ด้วยมากเล่ห์ โกงกล ปัญญาดี            เด็กคนนี้ ยากเลี้ยง ควรเลี่ยงไกล
     จึงปรึกษา ภรรยา คู่ชีวิต            ทั้งสองคิด นำเข้า เฝ้ารับใช้
ได้ประโยชน์ ปัญญามี ศรีธนญชัย            ถวายให้ เจ้าแผ่นดิน จึงเหมาะควร.


                                
……………………………….


    ข้อคิด -  “ความแค้น” ทำให้คนขาดสติ คิดชั่ว เป็นคนชั่ว และเมื่อคนชั่วเป็นคนที่      
                          เฉลียวฉลาดด้วยแล้ว เขาสามารถทำชั่วโดยไม่เหลือซากหลักฐานให้เห็น  
                          ทั้งยังสามารถหาเหตุผลเป็นข้ออ้างให้ตนเองพ้นผิด และสบายใจได้ด้วย


ขอบคุณครับ แนะนำ ติชม สอบถามได้นะครับ ><"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่