#บทกวีเรื่อง...ศรีธนญชัย ตอนที่ 5#

ตอนอื่นๆ
[Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้
        

      
ตอนที่ 5.  ประลองธรรม

                                        
5.1 สอนธรรม

    
ศรีธนญชัย ให้ข้อคิด เรื่องเกิดแก่        มั่นคงแน่ เจ็บตาย คล้ายสั่งสอน
พระองค์จึง สนใจธรรม ทั้งนั่งนอน                        มากกว่าก่อน เป็นพิเศษ จึงเหตุมี
    ในวันหนึ่ง ตรัสถาม เหล่าเสนา        เนื้อความว่า เกิดเจ็บตาย ไม่อาจหนี
ทั้งนายบ่าว  ทุกคน ความจริงมี            คำกล่าวนี้ เห็นเช่นไร ไม่ต้องกลัว
    เหล่าขุนนาง น้อยใหญ่ ต่างตอบรับ        เห็นดีกับ  คำกล่าว  เจ้าอยู่หัว
มีเพียง  ศรีธนญชัย  แย้งไม่กลัว            ตอบเย้ายั่ว ไม่เห็นด้วย ให้โกรธา
    ขอเดชะ  ข้าฯไม่เห็น เช่นพระองค์        เรื่องตายลง ของคนเรา อย่างทรงว่า
ล้วนไม่ตาย ไม่ถึงที่ วันเวลา                แม้รอดมา ถึงที่ตาย ก็ต้องตาย
    ทรงกริ้วว่า พูดผิด คิดนอกคอก        แตกแยกออก จากหลักธรรม  คำสอนไว้
จึงรับสั่ง  พิสูจน์  คำกล่าวไป                รับสั่งจับ ศรีธนญชัย ใส่กรงขัง
    ให้นำกรง เหล็กตั้ง  ชายทะเล            คาดคะเน  น้ำท่วมกาย ตายสมหวัง
ให้มันรู้  ว่าไม่ตาย  วายชีวัง                ยินรับสั่ง  หายคึก  นึกน้อยใจ
    ตั้งสติ  ใช้ปัญญา  กราบทูลว่า            ขอเสื้อผ้า  ยศกษัตริย์  ชุดหนึ่งให้
ทรงคิดว่า  โลภแท้  ศรีธนญชัย            แต่ให้ไป  คุณพระสั่ง  ตั้งบนกรง
    ถูกขังริม ทะเล  เวลานาน            สำเภาจีน  ล่องผ่าน  สมประสงค์
พ่อค้าส่อง  กล้องไกล  เห็นงวยงง            คนในกรง ตะโกนก้อง  ร้องโวยวาย
    ร้องลั่นว่า ไม่อยากเป็น ไม่อยากเป็น        อีกมองเห็น  ชุดกษัตริย์  ทรงจัดให้
ด้วยอยากรู้  หยุดเรือ ถามเป็นไป            ศรีธนญชัย ปดใหญ่  ไม่ละอาย
    ราษฎร เมืองนี้ อัญเชิญเรา            เป็นกษัตริย์ เมืองเขา ให้จงได้            
เราไม่รับ  คำเชิญ  ไม่พอใจ                เครื่องยศให้  บังคับถาม ตามทุกเช้า
    หากเมื่อใด เราพร้อม ยอมตกลง        จะยอมปล่อย จากกรง รับตัวเข้า
เสวยราชย์  ครองเมือง  ตามใจเรา            น้ำเสียงเศร้า ทุกข์ระทม ดูสมจริง
    พ่อค้าจีน อยากใคร่ เป็นกษัตริย์        กุญแจงัด  เข้ารอ ประสบสิ่ง
ความโลภครอง หลงเชื่อ  คำอ้างอิง            ไม่ประวิง  เร่งใช้  ไพร่เปิดกรง
    ชุดกษัตริย์ สวมแทน ยิ้มแป้นนั่ง        เรียกปิดสั่ง  สำเภาไพร่ โบกไล่ส่ง
ถึงดื่นดึก  น้ำท่วม  สิ้นใจลง                 ไม่เหลือหลง ไพร่สำเภา น่าเศร้าใจ
    ถึงรุ่งเช้า ศรีธนญชัย ย้อนมาดู            งัดกรงอยู่ ถอดยศ ปลดใส่ไว้
นำเข้าวัง ถวาย พระทรงชัย                เล่าเป็นไป  ทรงฟัง ดังเรื่องมี
    เห็นหรือยัง พระเจ้าค่ะ ว่าพ่อค้า        ล่องเรือมา  พบตาย  ได้ถึงที่
ส่วนข้านั้น  ไม่ตาย  วายชีวี                ไม่ถึงที่  คราวตาย  จึงไม่ตาย
    เจ้าแผ่นดิน  เห็นด้วย  แนวคิดให้        พอหทัย  ให้เงินทอง  ของทั้งหลาย
ทรงโปรดปราน ตลกหลวง ผู้เคียงกาย            ผ่านรอดตาย ไม่ถึงที่  ศรีธนญชัย.

                      
………………………………………..
                    
ข้อคิด – “คนโลภ”  มักขาดสติและตกเป็นเหยื่อ เมื่อเขาพูดล่อลวงด้วยผลประโยชน์เสมอ“คนฉลาด”
มักมีสติ แม้ไม่ใช่คนดี ก็พาให้ตนพ้นภัยได้อยู่เสมอ        

5.2 ลวงลงสระสรง

    
มาวันหนึ่ง  ประพาส อุทยาน            เสด็จผ่าน  สระสรง  ทรงคิดได้
ใคร่ลองเชาว์ ปัญญา ศรีธนญชัย            ให้เพลินใจ สำราญ เช่นดังเคย
    ทรงตรัสให้ ศรีธญชัย  ใช้ปัญญา        หลอกให้ข้า สรงธารา  อุบายเอ่ย
สำเร็จให้ รางวัล ใหญ่ชมเชย                ศรีธนญชัย  เฉยเมย  ไม่รับท้า
    กลับนิ่งยิ้ม  ทูลว่า  ขอเดชะ            กระหม่อมจะ หลอกใด ในเรื่องว่า
ด้วยพระองค์  ทรงรู้ตัว   รู้เป็นมา            เอาอย่างนี้  ดีกว่า  ถ้ายอมทำ
    ขอเปลี่ยนให้  พระองค์  ลงในสระ        กระหม่อมจะ หลอกให้ ขึ้นจากน้ำ      
เจ้าแผ่นดิน  ตกลง ทรงรับคำ                ถอดเสื้อผ้า  ลงน้ำ  รับคำท้า
    เวลาผ่าน  ครู่ใหญ่ รอเรียกบอก        พูดลวงหลอก  ขึ้นน้ำ  เนิ่นนานช้า
นึกกระหยิ่ม  ไม่ขึ้น  จากธารา                ใช้วาจา หลอกอย่างไร  ทรงรู้ทัน
    แต่แปลกใจ  ศรีธนญชัย ใยนิ่งเฉย        นานล่วงเลย  น้ำเย็น จนกายสั่น
จึงตรัสถาม เมื่อไหร่  พูดหลอกกัน            ตอบย้อนพลัน หน้าพริ้ม กลั้นยิ้มขำ
    ขอเดชะ ข้าพระองค์ ชนะแล้ว            กระหม่อมแก้ว  ถูกหลอก ลงสระน้ำ
ขึ้นจากน้ำ ไม่ใช่กิจ  ข้าต้องทำ            ทรงแช่น้ำ  เช้าถึงค่ำ  ตามพระทัย
เจ้าแผ่นดิน  อึ้งคำ  ขำไม่ออก            รู้ตัวว่า ถูกหลอก ไม่สงสัย
            หลงอุบาย ทั้งขึ้นลง  ศรีธนญชัย            ลงน้ำไป  ขึ้นน้ำมา  ปัญญาลวง                                                                                
    ทรงตรัสชม  ในใจ  ไหวพริบคิด        ไม่เอาผิด ทรงอภัย  ตลกหลวง
ฉลาดสม เล่าลือ  คนทั้งปวง                พาพ้นบ่วง ปัญหา  ปัญญาดี.

                        
…………………………………………

ข้อคิด – ผู้นำและคนเป็นนายที่แท้จริง  ต้องยอมรับและฟังความคิดเห็นของคนที่อยู่ใน
             ความปกครอง ชมเชยเมื่อเขาทำดี อภัยและให้คำแนะนำเมื่อพลาดผิด ลงโทษ
             ด้วยเมตตาตามเหมาะสม ไม่พาลเมื่อเขาฉลาดกว่าตนเอง


5.3 ประลองธรรม

    
ถึงวันหนึ่ง  พระเจ้า กรุงลงกา            ส่งปราชญ์มา  ประจำ ในกรุงศรีฯ
พร้อมคณะทูต เข้าเฝ้า องค์จักรี            ของมากมี ถวายพร้อม ราชสาสน์    
    ราชสาสน์ มีใจความ ที่สำคัญ            ต้องการท้า แข่งขัน  เล่าลือขาน
แก้ปัญหา ทางธรรม ประจัญบาน            ระดับบ้าน  ระดับเมือง  เรื่องปัญญา
เจ้าแผ่นดิน  ทุกข์ใจ  กังวลนัก            พ่ายแพ้จัก  อับอาย  และขายหน้า
ปรารถเรียก คุณพระศรีฯ เล่าเป็นมา            ศรีธนญชัย  อาสา  เข้าชิงชัย
    ถึงวันแข่ง  ฤกษ์ดี  ศรีธนญชัย            เกณฑ์บ่าวไพร่ แบกคัมภีร์ ใบลานให้
จำนวนนับ  แปดพันสี่ร้อย  มัดลากไป            อีกบ่าวไพร่ ลากธรรมขันธ์  น่าหวั่นเกรง
    นักปราชญ์กรุง ลงกา เห็นกังวล        กับยอดคน ศรีธนญชัย ทำใจเคว้ง          
พระคาถา  เต็มลาน  นั่งวังเวง                เริ่มบรรเลง  ประลองธรรม  พระคัมภีร์
ราชบัณฑิต กรุงลงกา ยกมือขวา        ชูนิ้วชี้  ขึ้นฟ้า  ท้ากรุงศรีฯ
ศรีธนญชัย ยกห้านิ้ว ไม่รอรี                แล้วหดเหลือ นิ้วชี้  เช่นเดียวกัน
    นักปราญช์กรุง ลงกา แก้ปริศนา        นิ้วทั้งห้า คุณพระศรีฯ  ชี้ฟ้านั้น
       คือพระพุทธเจ้า  ห้าองค์  เป็นสำคัญ             หนึ่งในนั้น พระศรีอริ ยเมตไตรย                                                                              
    กล่าวชม ศรีธนญชัย ว่าปราดเปรื่อง        สมลือเลื่อง  ปราชญ์กรุงศรีฯ ที่ฟังไว้
ชอชมเชย ปัญญา อย่างจริงใจ            ยอมแพ้ไป เพียงข้อแรก แลกปัญญา
    เจ้าแผ่นดิน ปีติ ยินดีนัก            ล้วนประจักษ์  ใช่ดีแต่  แค่หรรษา
ยังสร้างชื่อ เมืองอยู่ กู้หน้าตา                ของล้ำค่า  พระราชทาน สำราญใจ

                          
………………………………………


ข้อคิด –  คนที่ได้ดีมีตำแหน่ง มีชื่อเสียงและทรัพย์สิน  ใช่ว่าต้องเป็นคนดี  ดังนั้น  มักมี
              คำพูดตัดพ้อว่า ทำดีไม่ได้ดี สาเหตุเพราะ การทำความดีให้เห็นผลนั้น ต้องมี            
            องค์ประกอบหลายด้าน เช่น ทำดีถูกคน  ถูกกาล ถูกสถานที่และบุญกรรมที่สร้างมา ฯลฯ
            จงเตือนตัวเองเสมอว่า... “ไม่มีเหตุผลใด  ดีเพียงพอ สำหรับการทำความชั่ว”

                                      
5.4 หีบวิเศษ

    
ศรีธนญชัย ชื่อเด่น เป็นคนดี            แห่งกรุงศรีฯ ลือเลื่อง เมืองน้อยใหญ่
กระทั่งมี พ่อค้า มาจากไกล                เดิมพันใหญ่  เข้าเฝ้า เจ้าแผ่นดิน    
    ตรัสเรียก ศรีธนญชัย ให้เข้าเฝ้า        วันรุ่งเช้า เผชิญหน้า ท้าตัดสิน
กับพ่อค้า  ฝรั่งเศส ทั่วได้ยิน                ประลองลิ้น  ปัญญา  ที่หน้าลาน
    พ่อค้านั้น  แบกหีบ มาหนึ่งใบ            บรรจุไว้ ผ้าวิเศษ ที่เล่าขาน
หยิบผ้าโบก ไปมา ไม่ช้านาน                เกิดควันผ่าน พวยพุ่ง สะดุ้งดู
    ครั้นดึงผ้า ลงต่ำ ควันก็หาย            พลันมลาย  แปลกใจ  ไปทุกผู้
ลั่นโห่ร้อง ปรบมือ ทุกทิศดู                ศรีธนญชัย ยืนอยู่ ไม่กังวล
    เดินออกมา ยืนกลาง ปะรำพิธี            ด้วยท่าที  ไม่หวั่น มั่นใจล้น
โค้งคำนับ  คู่แข่ง และผู้คน                นิ่งรอจน  เงียบกริบ ทุกทิศทาง
    พลางใช้มือ ล้วงหีบ ชูขึ้นมา            ราวกับว่า ถือผ้า ในมือว่าง                    
ทั้งมีเพียง  มือเปล่า ไร้เงาจาง                คุณพระอ้าง  ผ้าวิเศษ เหตุไม่เห็น

    พ่อค้าชาว ฝรั่งเศส  งุนงงนัก            นั่นท่านจัก ทำใดหรือ ถือผ้าเร้น
นี่คือผ้า ทอวิเศษ  ตอบใจเย็น                ย่อมเหนือเด่น  กว่าท่าน มากมายครัน
    พ่อค้าร้อง เอ็ดตะโร โต้แย้งใหญ่        ศรีธนญชัย  ขี้โกง  ตะโกนลั่น
ฝ่ายคนดู  ปรบมือ ไม่แพ้กัน                เงินเดิมพัน ถูกกล่อม รอมชอมคืน
    เจ้าแผ่นดิน  กลั้นสรวญ ครวญคิดขำ        ปัญญาล้ำ  กะล่อนแท้ แต่ต้องฝืน
ทำไม่รู้  ไม่มอง ต้องกล้ำกลืน                โล่งใจชื่น ไม่พ่าย อับอายใคร

                      
……………………………………………


ข้อคิด –  ไม่มีใคร ต้องการทำสิ่งผิด แต่ทุกคนอาจทำพลาดผิดโดยไม่ตั้งใจ หรือ ด้วย
              เหตุผลใดก็ตาม เพราะแม้ธรรมชาติให้วันเวลาเราเท่ากัน แต่เรามีโอกาสและ
              สติปัญญาไม่เท่ากัน  ความดีและความชั่วคล้ายมีเพียงเส้นบางๆกั้นเขตแดน
              สิ่งสำคัญคือ ให้ระวังตัวและเมื่อพลาดผิดให้รีบกลับตัวกลับใจโดยเร็วเท่านั้น

                                                                                                            
5.5 แข่งนก

    
ศรีธนญชัย ครองใจ ไม่อาจแย่ง        “คนดีแห่ง  กรุงศรีฯ”  ลือเลื่องใหญ่
ฝ่ายพ่อค้า  คู่แค้น  มิลดไป                กลับมาใหม่  เพื่อแข่ง แย่งชัยคืน
    พ่อค้านำ นกแขกเต้า เข้าแข่งท้า        พูดภาษา มากเหลือ เหนือนกอื่น
เปิดกรงนก  ชวนคุย แล้วลุกยืน            โค้งรับชื่น  ปรบมือ อื้ออึงครัน
    คุณพระใช้ นกตะกรุม แข่งพูดเล่า        เห็นนกแขกเต้า แจ้วมา ภาษานั้น
นกตะกรุม ตะครุบนก แขกเต้าพลัน            คนร้องลั่น  กินกลืนไป ไม่พูดจา
    ชาวฝรั่งเศส โกรธร้อง ก้องโวยวาย        ว่านกตาย ถูกกิน สิ้นต่อหน้า
เพราะนกเจ้า หยาบคาย ด่าทอมา            นกของข้า เป็นชาววัง พลั้งกินตัว
    ทั้งสองฝ่าย ไม่ยอม พร้อมประจัญ        ทะเลาะกัน ต่างภาษา  น่าปวดหัว
เจ้าแผ่นดิน เข้าปราม เลิกหมองมัว            เล่าขานทั่ว พ่ายจากไป ในวันนั้น

                                
...............................................

ข้อคิด –  บางเรื่อง  ยิ่งแก้ยิ่งยุ่งยาก   ยิ่งเอาชนะ ก็ยิ่งแพ้ ยิ่งเจ็บ  จำเป็นต้องพิจารณา
        ให้ละเอียดแต่ละเหตุแต่ละเรื่องไป  รวมทั้งดูว่าคนที่เกี่ยวข้องเป็นคนเช่นไร
         เพราะหากเขามากเล่ห์ ฉลาดแกมโกง ก็ให้เขาชนะไปเถิด อย่าเปลืองตัวเลย


ขอบคุณครับ จะเที่ยงแล้วอย่าลืมหาอะไรทานกันด้วยเน้ออ ^^"
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่