จากสัมปทานปิโตรเคมี...สู่มือถือ 4 จี บนนโยบาย “ไม้หลักปักเลน”

กระทู้ข่าว
เรื่องของสัมปทานปิโตรเลียม รอบที่ 21 ที่ยังคงเป็น Talk of the Town หลัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ลุกขึ้นมา “หักดิบ” นโยบายตนเอง ด้วยการสั่งให้กระทรวงพลังงานชะลอการเปิดให้เอกชนยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียม รอบที่ 21 ออกไปไม่มีกำหนด จนกว่าจะมีการแก้ไขกฎหมายปิโตรเลียมได้แล้วเสร็จ ทำเอานักลงทุนไทย-เทศ มึนไปแปดตลบ!

ก่อนหน้านี้ แม้จะถูกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ลงมติไม่เห็นด้วยกับรายงานผลการศึกษาของสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ที่ให้รัฐเดินหน้าสัมปทาน รอบที่ 21 ต่อไป แต่พลเอกประยุทธ์ก็ยังคงยืนยัน นั่งยันที่จะเดินหน้านโยบายนี้เพื่อสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้ประเทศ และถึงขั้นประกาศกร้าวห้ามเครือข่ายหน้าไหนออกมาเคลื่อนไหวคัดง้าง

เมื่อจู่ๆ นายกฯ และหัวหน้า คสช.กลับลุกขึ้นมาหักดิบนโยบายตนเอง ทุกฝ่ายจึงได้แต่ “อึ้งกิมกี่” เอากับจุดยืนบนนโยบายไม้หลักปักเลนของรัฐบาลครั้งนี้ หลายฝ่ายถึงกับแสดงความไม่มั่นใจประชาชนคนไทยจะยังฝากผีฝากไข้ฝากอนาคตของประเทศไว้กับรัฐบาล คสช.ได้อยู่อีกหรือไม่?

และทำให้นึกเลยไปถึงนโยบายเปิดประมูลมือถือระบบ 4 จีบนคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ที่ คสช.มีคำสั่งที่ 94/2557 สั่งให้ “คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)” ระงับการประมูลเอาไว้ตั้งแต่กลางปีก่อน ท่ามกลางความสงสัยจากประชาชนทุกภาคส่วน เหตุใด คสช.ถึงกระตุกเบรกเอาไว้ทั้งที่ไม่มีใครคัดค้าน ตรงกันข้ามมีแต่จะเร่งให้รัฐเปิดประมูลโดยไว เพราะหวั่นประเทศไทยจะล้าหลังเพื่อนบ้านที่ก้าวไปสู่ระบบ 4 จีไปกว่าค่อนโลกแล้ว

แม้นายกฯ และหัวหน้า คสช.จะเคยให้สัมภาษณ์ยืนยันจะมีการประมูล 4 จีอย่างแน่นอนในปีนี้ แต่หลายฝ่ายเริ่มจะไม่มั่นใจประชาชนคนไทยจะยังฝากผีฝากไข้ไว้กับรัฐบาลชุดนี้ได้อยู่หรือไม่? เพราะพฤติกรรมหลายอย่างที่รัฐส่งสัญญาณออกมานั้น มันส่อให้เห็นถึงความพยายามที่จะยื้อการประมูลคลื่น 4 จี และถึงขั้นล้มการประมูลมือถือ 4 จีนี้ออกไปเพื่อ “เป้าหมายอะไรบางอย่าง”

โดยก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้ยกร่างแก้ไขกฎหมายเศรษฐกิจดิจิตอล จำนวน 10 ฉบับ พร้อมยกฐานะของกระทรวงไอซีทีสู่ “กระทรวงดิจิตอล” โดยจะมีการจัดตั้ง “คณะกรรมการดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม” ที่มีนายกฯเป็นประธาน และมีกรรมการที่มาจากกระทรวงไอซีทีเป็นหลัก มีผู้บริหารทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม หน่วยงานของรัฐร่วมเป็นกรรมการอยู่ด้วย

ในสาระของการยกร่างแก้ไขกฎหมายดิจิตอลดังกล่าว ยังมีการหมกเม็ดแก้ไข พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ ให้ กสทช.ต้องดำเนินการตามนโยบายที่กำหนดโดยคณะกรรมการดิจิตอล ทั้งยังให้ กสทช.ต้องส่งแผนแม่บทการจัดสรรคลื่นความถี่ให้คณะกรรมการดิจิตอลเห็นชอบเสียก่อน

ที่สำคัญยังมีการแก้ไขกฎหมาย พ.ร.บ.กสทช.ให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่โดยไม่ต้องประมูลได้ ส่อให้เห็นความพยายามในอันที่จะช่วงชิงอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่ไปจากเงื้อมมือ กสทช. และมีความพยายามจะให้มีการโอนคลื่นความถี่ออกไปให้หน่วยงานของรัฐ คือ บริษัท ทีโอที และ กสท โดยไม่มีการประมูลอย่างชัดเจน

ล่าสุด “หม่อมอุ๋ย” ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล รองนายกฯ ยังออกมาตอกย้ำการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 4 จีนี้ด้วยว่า จำเป็นต้องรอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการดิจิตอลนี้เสียก่อน จึงจะเริ่มกระบวนการประมูลได้ จึงยิ่งเห็นถึงความพยายามในการช่วงชิงอำนาจในการจัดสรรคลื่นความถี่นี้ไปอยู่ในมือ โดยไม่ต้องประมูล

แน่นอน! สำหรับกระทรวงไอซีที หากสามารถช่วงชิงคลื่นความถี่ 4 จีนี้มาอยู่ในมือของสองหน่วยงานรัฐ “ทีโอที-กสท” ได้โดยไม่ต้องประมูลไม่ว่าจะคลื่นความถี่ 1800 หรือ 900 MHz ย่อมถือเป็นจุดเปลี่ยนและโอกาสสำคัญในการพลิกฟื้นสถานะของทั้งสององค์กร ที่วันนี้กำลังแสวงหาทางรอด!

เนื่องจากคลื่นความถี่ 3 จีที่บริษัทสื่อสารเอกชนได้รับจัดสรรไปให้บริการในวันนี้ อยู่ในสภาพที่กล่าวได้ว่าถูกใช้ไปจนหมด เต็มขีดความสามารถในการให้บริการไปแล้ว ทุกบริษัทจึงต่างอึดอัดหาวเรอหวังจะได้คลื่น 4 จีนี้ไปเสริมคลื่นความถี่ 3 จีที่อยู่เดิมกันทั้งสิ้น!

สำหรับบริษัทสื่อสารเอกชนนั้น หากคลื่นความถี่เหล่านี้ตกอยู่ในเงื้อมมือของหน่วยงานรัฐไม่ว่าจะ ทีโอทีหรือ บริษัท กสท โทรคมนาคม ต่างก็ไม่มีปัญหาคงพร้อมที่จะเข้าไปจับมือร่วมเป็นพันธมิตรธุรกิจเพื่อนำคลื่นความถี่ดังกล่าวไปเสริมโครงข่ายมือถือของตนโดยไม่ต้องประมูลได้อยู่แล้ว เพราะต่างมีความเคยชินกับการทำงานภายใต้ระบบสัมปทานเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

แต่ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนที่ต้องสูญหายไปนับหมื่นล้านหรือนับแสนล้านบาทนั้น คงเป็นสิ่งที่รัฐบาล คสช.ต้องตอบประชาชนคนไทยให้ได้ว่า เหตุใดจึงยังคิดจกโยกคลื่นความถี่ที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ กลับเข้าสู่ยุคสัมปทานอยู่อีก!!!

******

หากมองย้อนกลับไปในช่วงก่อนการประมูล 3G ในปี 2555 หน่วยงานของรัฐคือ กสท และ ทีโอที เคยได้รับการจัดสรรคลื่นความถี่ที่สามารถจะนำมาให้บริการ 3G ก่อนภาคเอกชน โดยทีโอทีมีคลื่นความถี่ 2100 MHz ขณะที่ กสท ก็มีคลื่นความถี่ 850 MHz

แต่ทั้งสองหน่วยงานก็กลับไม่ได้ใช้ประโยชน์จากคลื่นความถี่เหล่านั้นอย่างคุ้มค่า โดยทีโอทีนั้นแม้จะนำคลื่น 2100 MHz vvd มาให้บริการ 3G ด้วยตนเองแต่การขยายโครงข่ายกลับเป็นไปด้วยความล่าช้า และมีพื้นที่ให้บริการจำกัด จึงประสบกับความล้มเหลวในการให้บริการ 3 จีอยู่ในปัจจุบัน

ขณะที่ กสท มีการนำคลื่นความถี่ 850 MHz ที่ได้รับจัดสรรดอดไปทำธุรกิจร่วมกับพันธมิตร คือ กลุ่มบริษัททรู และแม้สามารถสร้างโครงข่าย 3G ได้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ผลประโยชน์ส่วนใหญ่กลับตกแก่เอกชนที่สามารถเปิดให้บริการ 3 G ได้ก่อนใครโดยไม่ต้องประมูล ขณะหน่วยงานรัฐวันนี้ได้แต่นั่งทำตาปริบๆ และยังคงต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการกันอยู่เลย

จะปล่อยให้ประวัติศาสตร์เดินซ้ำรอยกันอีกหนหรือ ฯพณฯ พล.อ.ประยุทธ์ ที่เคารพ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่