'ทีโอที' ยื้อสิทธิใช้คลื่น 900 ย้ำปิดดีลเฟ้นพันธมิตร ส.ค.

กระทู้ข่าว
          

มติบอร์ด "ทีโอที" ตั้งแต่ 15 ต.ค.2557 ระบุชัดให้เดินหน้าหาพันธมิตรธุรกิจในระดับ "Strategic Partner" โดยขีดเส้นว่า ต้องเร่งให้จบในสิ้นปี ก่อนขยายเวลาเป็น เม.ย. 2558 (แต่ก็ไม่จบ) ล่าสุดขีดเส้นเป็น ส.ค.โดยมี 5 บริษัทยื่นข้อเสนอ ได้แก่ เอไอเอส, สามารถคอร์ป, ล็อกซเล่ย์, ทรู และบริษัท โมบายแอลทีอี
          
บอร์ดทีโอทีล่าสุด (29 ก.ค. 2558) มีการรายงานความคืบหน้าเรื่องนี้ โดย "ดร.ชิต เหล่าวัฒนา" กรรมการ บมจ.ทีโอที เปิดเผยว่า ดีลอยท์ บริษัทที่ปรึกษาได้ตัวเลขการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของทีโอทีแล้ว และอยู่ระหว่างเจรจากับทั้ง 5 ราย คาดว่าจะสรุปได้ว่าจะมีพันธมิตรกี่ราย ส.ค.นี้ อาจบริษัทเดียวหรือหลายบริษัทก็ได้ แต่ต้องจบก่อนคลื่น 900 MHz หมดสัมปทาน ก.ย.นี้ เพราะมีผลต่อมูลค่าทรัพย์สินที่ประเมินไว้
          
"ทีโอที" มองว่า สิทธิในการใช้คลื่นควรยังอยู่จึงคัดค้านการนำคลื่นไปจัดสรรใหม่และว่า ได้รับการจัดสรรคลื่นมาก่อนมี กสทช. โดยไม่มีการระบุวันสิ้นสุด ซึ่ง "มนต์ชัย หนูสง" รักษาการกรรมการ ผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที ระบุว่า กำลังพิจารณาแนวทางดำเนินการ แต่ไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้
          
และตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมาสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจ บมจ.ทีโอทีเดินสายยื่นหนังสือคัดค้านการนำคลื่นไปประมูลกับ กสทช.และกระทรวงไอซีที ทั้งเตรียมยื่นเรื่องถึงรองนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า หาก กสทช.นำคลื่น 900 MHz ไปประมูล จะไม่มีคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ ต่อเนื่อง เนื่องจากตามเงื่อนไขสัมปทานลูกค้าเป็นทรัพย์สินที่ทีโอทีต้องได้รับจากเอกชน ที่ผ่านมาเอไอเอสดำเนินการโอนลูกค้าออกจากระบบโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย และอยู่ระหว่างดำเนินการทางกฎหมายเพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย และนำลูกค้ากลับคืนมา เป็นของรัฐ รวม 30 ล้านราย
          
การที่ "ทีโอที" ไม่มีคลื่นมาให้บริการลูกค้าต่อเนื่องส่งผลให้รัฐเสียหายกว่า 2.37 แสนล้านบาทใน 5 ปี ทำให้โครงข่ายตามสัมปทานเป็นทรัพย์สินด้อยค่าทันที และสร้างความเสียหายต่อรัฐอีก 2.1 หมื่นล้านบาท ทำให้ตลาดไม่มีหน่วยงานรัฐมาให้บริการถ่วงดุล ลดการผูกขาดของเอกชน และประชาชนจำเป็นต้องเปลี่ยนเครื่องใหม่เพื่อรองรับ 3G 4G ทั้งที่เทคโนโลยี GSM ในโลกมีผู้ใช้บริการถึง 58% และจะมีการใช้ต่ออีกมากกว่า 5 ปี
          
คลื่น 900 MHz ไม่เหมาะจะนำมาให้บริการ 4G จากแถบคลื่นกว้าง 17.5 MHz แต่ 4G เชิงพาณิชย์ต้องการคลื่น 20 MHz เหมาะกับการให้บริการเพื่อสังคม (USO) ในพื้นที่ห่างไกล ทั้ง "ทีโอที" จัดทำแผนการใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินสัมปทาน โดยจะนำมาให้บริการ 2G ร่วมกับ 3G ของทีโอทีเชื่อมต่อกับประเทศอาเซียนตามแผน Mobile same rate roaming for AEC ของกระทรวงไอซีทีเพื่อทำซิมการ์ดใช้ระหว่างประเทศสมาชิกในราคาถูกกว่าปัจจุบัน 5-10 เท่า รวมถึงแผนให้บริการอินเทอร์เน็ตเพื่อสังคมรองรับดิจิทัลอีโคโนมี และพัฒนาสังคมความมั่นคงของประเทศ

ขอขอบคุณแหล่งข่าว

หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2558
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่