รูปาวจรภูมิ – อรูปาวจรภูมิ และโลกุตตรภูมิ ภาค 2

กระทู้สนทนา
(พระป่า)
อปุญญาภิสังขาร  คือ  บาป  เปรียบเหมือนธาตุเบื่อธาตุเมา  ปุญญาภิสังขาร  เปรียบเหมือนธาตุเปรี้ยว  ธาตุหวาน  มีประโยชน์แก่ผู้ดื่ม  ส่วน อเนญชาภิสังขาร  เปรียบกับธาตุที่มิใช่เปรี้ยวใช่หวาน  ใช่เบื้อใช่เมา  สังขารที่กล่าวมาทั้งนี้  ประชุมลงในจิตสังขารคือเกิดขึ้นพร้อมกัน  เวลาดับก็พร้อมกัน  มีอารมณ์อันเดียวกัน  มีวัตถุเดียวกัน
         อปุญญาภิสังขารเป็นของที่ควรละ  ปุญญาภิสังขารเป็นของที่ควรบำเพ็ญ  อเนญชาภิสังขารเป็นสังขารกลางเป็นไปในบุญก็ได้ในบาปก็ได้  อปุญญาภิสังขาร มีในกามาวจรจิตอย่างเดียว  ผู้ที่จะบำเพ็ญกรรมฐานเข้าถึงรูปาวจรภูมิ  ควรให้รู้จักกามาวจรจิต  เพราะผู้เข้าถึงรูปาวจรจิต  กามาวจรจิตต้องดับไปก่อนจึงเข้าถึงรูปาวจรจิต
         กามาวจรจิตกับรูปาวจรจิต  ถ้าบำเพ็ญเพียร  เพิก  กามาวจรจิตไม่ได้แล้ว  รูปปาวจรจิตก็เกิดไม่ได้  การที่จะเพิกกามาวจรจิตก็ต้องให้รู้จักกามาวจรจิตก่อน  กามาวจรจิตเกิดขึ้นที่ไหน  เกิดขึ้นในทวารทั้ง 6  แต่ปัญจทวาร  คือ  ตา  หู  จมูก  ลิ้น  กาย  รับอารมณ์ได้แต่ปัจจุบันอารมณ์เท่านั้นไม่สามารถรับเอาอดีตอนาคตได้  แต่มโนทวารรับอารมณ์ในอดีต  ปัจจุบัน  อนาคตได้สิ้น

ภวังคจิต – วิถีจิต
         อีกประการหนึ่งให้ผู้บำเพ็ญรู้จักภวังคจิต และวิถีจิต  วิถีจิตหมายเอาจิตที่รับรู้ทางทวาร 6  เมื่อจิตหยุดรับรู้ทางทวาร 6 เป็นภวังคจิต  ดังเวลานอนหลับเป็นภวังคจิตแท้
         อนึ่ง  ให้รู้จักทวารสมมุติและทวารวิมุติ  ทวารสมมุติหมายเอาทวารทั้ง 6  ทวารวิมุติหมายเอาเวลานอนหลับ  ฝันเห็นสิ่งนั้นสิ่งนี้  อาการที่นอนหลับนั่นแหละเป็นทวารวิมุติจิต  ชื่อว่าทวารวิมุติเกิดพ้นทวาร 6  นั้นให้สำเร็จกิจเป็น จุติ  ปฏิสนธิภวังค์  ถือเอาอารมณ์ทั้ง 6  อันเกิดแต่ทวารสมมุติได้กามาวจรชวนะเกิดในมรณาสันนวิถี  แต่ชาติก่อนนั้นถือเอาสิ่งไรเป็นอารมณ์  จิตที่เป็นปฏิสนธิ  ภวังค์ในชาตินี้ก็ถือเอาสิ่งนั้นเป็นอารมณ์  อารมณ์ที่เป็นมรณาสันนชวนะในชาติก่อนนั้น  เป็นปัจจุบันก็ดี  เป็นบัญญัติก็ดี  พระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่า   กัมมนิมิต  คตินิมิต
•    จิตที่รับอิฏฐารมณ์   และอนิฏฐารมณ์ในทวารทั้ง 5 เรียกว่า ทวิปัญจวิญญาณ 10 นั้นมีอารมณ์ 5  มีรูปเป็นต้น  และละสิ่ง ๆ เป็นอารมณ์ ฝ่ายว่ามโนธาตุ  3  นั้น  ยึดหน่วงเอาอารัมมณปัจจัย 5  เมื่อเกิดในทวารวิถีทั้ง 5 เป็นอารัมมณปัจจัยทุก ๆ ทวารวิถีกามาวจรวิบากอันเหลือ  คือ  สันตีรณ 3  มหาวิบากหสิตุปบาท 1  ทวิปัญจวิญญาณ 10  มโนธาตุ 3  รวมเป็นจิต 25  ย่อมยึดหน่วงได้แต่อารมณ์ที่เป็นกามาวจร  จะยึดหน่วงอารมณ์ที่เป็นรูปาวจร  อรูปาวจร  และโลกอุดรไม่ได้
•    อกุศลจิต  12  ญาณวิปปยุตกุศล 4  ญาณวิปปยุตกิริยา 4 รวม 20 จิตนี้  บางคราวมีอารมณ์  เป็นกามาวจร  บางคราวเป็นรูปาวจร  และอรูปาวจร   แต่ไม่อาจถือเอาโลกอุดรเป็นอารมณ์ได้
•    กามาวจรกุศลญาณสัมปยุต 4    ปัญจมฌานกุศล 1 รวม 5 จิตนี้  บางคราวเป็น  รูปาวจร อรูปาวจร โลกอุดร  แต่ไม่อาจถือเอาอรหัตตมรรคจิต อรหัตตผลจิตเป็นอารมณ์ได้
•    กามาวจรกิริยาญาณสัมปยุต 4  ปัญจมญานกิริยา 1  โวฏฐัพพนะจิต 1  รวมเป็น6 จิตนี้  ถือเอาอารมณ์ได้ทุกสิ่งไม่มีเว้น
•    วิญญานัญจายตนะ 3  เนวสัญญานาสัญญายตนะ  3  รวมเป็น 6 จิตนี้  ถือเอา  มหัคคตาเป็นอารมณ์  
•    รูปาวจรจิต 15  ปฐมรูปจิต 3  ตติยรูปจิต 3  รวมเป็น 21 จิต  จิตนี้ถือเอาบัญญัติเป็นอารมณ์
•    โลกุตตรจิต 8  ถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์
อารมณ์ของจิต  89  ดวง
         อารมณ์ของจิต  89  ดวงแบ่งออกเป็น 7  หมวดคือ
        จิต  25     มีกามาวจรเป็นอารมณ์
        จิต  6       มีมหัคคตาเป็นอารมณ์
        จิต  21     มีบัญญัติเป็นอารมณ์
        จิต  8       มีนิพพานเป็นอารมณ์
        จิต  20     เว้นจากมรรคผล
        จิต  5       เอาสิ่งทั้งปวงได้  เว้นอรหัตตมรรค  อรหัตตผล
        จิต  6       เอาสิ่งทั้งปวงเป็นอารมณ์ได้  ไม่มีเว้น
         อารมณ์ของจิตที่นำมาแสดงทั้งนี้  ย่อมประชุมลงในหทัยวัตถุ  ตัว  มโนวิญญาณ  เป็นผู้รู้ในขณะที่  เพ่งหทัยวัตถุ  อยู่นั้น  เรียกว่าถือเอา  บัญญัติ  เป็นอารมณ์เป็น  รูปาวจรจิต  แต่รูปาวจรจิต จะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัย  จิตหยุดคิด  ในอารมณ์ภายนอกก่อน  คิดในอดีต อนาคต  ทั้งในปัจจุบันก็ดีเป็นกามาวจรจิต
         ส่วนในรูปาวจรจิตไม่มีความคิด  มีแต่ความเพ่งอยู่ในจุดอันเดียว  ฌาน  แปลว่าความเพ่งเผากิเลส  คือ  ตัวกามตัณหา  เมื่อตัณหาอยากในสิ่งไร  ก็คิดไปในสิ่งนั้น  เมื่อเป็นดังนี้ผู้บำเพ็ญจึงควรรู้จุดประสงค์ในการกระทำ  จุดประสงค์คือให้วางความคิด  วางความคิดได้หรือไม่ได้  ถ้าวางไม่ได้ก็แปลว่า  ไม่สำเร็จ  ประโยชน์ในการกระทำ  คือ  ไม่เห็นผลดังคนหาทรัพย์ภายนอก  ไม่รู้จักทางหาทรัพย์  จึงไม่รวยทรัพย์กับเขาสักที  “ ผู้ที่หาทรัพย์ภายในก็เช่นเดียวกัน  ถ้าไม่ฉลาดก็ไม่ได้ทรัพย์ภายในเช่นกัน  เหตุนั้นจึงได้มี”

คำอธิบายใน  ฐานที่ 2  เป็นเครื่องพิสูจน์
ให้วางความคิด
        ให้รู้จักจุดประสงค์การกระทำ  คือ  ให้วางความคิด  ไม่ให้คิดไปในอารมณ์ภายนอก  ให้เพ่งอยู่ในจุดอันเดียว  ให้  รวม  เห็น  จำ  คิด   รู้  4  อย่างนี้ลงในจุดอันเดียวกัน  ไม่ให้พรากจากกันให้อาศัยปัญญา  เป็นนายสารถี  ให้เอาสติ  เป็นเชือกผูก  ผูกจิตไว้ที่ดวงหทัยวัตถุ  ให้เอาสัมปชัญญะความรู้ตัวเป็นรั้วกั้น  ให้เอาวิริยะ  ความเพียรเป็นปฏักทิ่มแทงจิตไม่ให้กระดิกตัวไปได้
         การฝึกจิตไม่ใช่เป็นของง่าย บางพวกยังหาลูกประคำมานับให้ได้จำนวนเท่านั้นเท่านี้  เมื่อหยุดการนับจิตก็คิดอีก ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะความเคยชินของจิต จิตไม่ได้รับการฝึกเพียงพอฝึกแต่เพียงชั่วครั้งชั่วคราว จิตจึง หยุดคิดไม่ได้ จิตของผู้ฝึกใหม่เปรียบเหมือนช้างที่เขาจับมาได้จากป่า  มาฝึกให้เป็นช้างพาหนะ ไม่ใช่เป็นของง่าย เขาย่อมผูกไว้ที่เสาตลุง ไม่ให้กินอาหารให้มันอ่อนกำลัง เวลาจะฝึกเขาต้องอาศัยขอ อาศัยช้างบ้านเป็นผู้หัดเมื่อช้างหนีไปไม่พ้นก็ยอมให้ฝึก เมื่อฝึกชำนาญแล้วย่อมใช้ทำการทำงานได้ ให้สำเร็จประโยชน์จะปล่อยทิ้งไว้ที่ไหนก็อยู่

การฝึกจิตให้ตั้งอยู่ในสมาธิ
     ฉันใดจิตของคนเรา  ถ้าฝึกให้ดี แล้วจะนำความสุข มาให้คือ เราจะห้ามไม่ให้คิดก็ไม่คิด หรือเราจะใช้ให้คิดก็ได้จะห้ามไม่ให้รักไม่ให้ชัง ไม่ให้โกรธไม่ให้หลง  ได้ทั้งสิ้น ส่วนผู้ที่ไม่ได้ฝึกจิตแล้วย่อม ห้ามไม่อยู่ บางคนโกรธขึ้นมาไม่ได้ด่าว่า ไม่ได้ทุบตี ไม่ได้แก้แค้นแล้วไม่หายโกรธ ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร เป็นเพราะใจไม่มีเรือนอยู่ เป็นเพราะไม่มีเครื่องห้าม เมื่อผู้ฝึกจิตมีเครื่องห้าม คืออาศัยธรรม 4 อย่าง ดังกล่าวแล้ว ( ปัญญา  สิต สัมปชัญญะวิริยะ)จิตก็จะอยู่คงที่คือ
•    นอนลงอยู่กับ หลัก – สมถะ
•    จิต  ท่านเปรียบเหมือนดัง ลูกโค
•    อารมณ์ภายนอก เปรียบดัง แม่โค
•    ปัญญา เหมือนนาย  สารถี
•    สติ  เหมือน  เชือกผูก ลูกโค
•    สัมปชัญญะ เหมือน  รั้วกั้น  ลูกโค
•    วิริยะ  เหมือน  ปฏัก

       ถ้าเชือกขาดโคย่อมวิ่งหนี  ถ้ารั้วไม่หักปฏักยังมี โคยังไปไม่ได้ ถ้าเชือกก็ขาดรั้วก็หักปฏักหมุน โคย่อมวิ่งหนีไปหาแม่ ถ้าปัญญาดี  สติตั้งมั่น รั้วไม่หัก ประตูก็ยังมี โคก็ลงนอนกับหลัก
       ถ้าโคคือจิตยังไม่หยุดคิด จะทำอย่างไรอีก ถ้าเขาชอบคิดลองปล่อยให้คิดดู  แต่ตัวเราให้เพ่งหทัยวัตถุ อยู่อย่างเดียวเท่านั้น ถ้าเราจะให้คิดจริง ๆ มันก็ไม่คิดดอก ถ้าเรามีสติมั่นอยู่เอง ถ้าเขาชอบคิดจริง ๆ ให้คิดกำหนดอาการ 32 ให้เป็นอนุโลมปฏิโลมกลับไปกลับมาถ้าคิดอย่างนี้มีประโยชน์มาก
        หรือบางคนชอบใช้คำบริกรรมว่า พุทโธ ๆ ก็มี หรือจะกำหนดลมหายใจเข้าออก ลมหายใจเข้าออก ก็อยู่ที่หทัยวัตถุนั่นเองการกำหนดลมหายใจเข้าออก กับการเพ่งก็อันเดียวกัน การกำหนดลม จะกำหนดได้เฉพาะอยู่ในที่สงัด หรือใน อิริยาบถ นั้น แต่การ เพ่ง เพ่งได้ทุกเวลา  ทั้งการยืม เดิน นั่ง นอน เมื่อจิตหยุดคิดแล้ว จิตก็สบาย  จิตสบาย ก็เพราะจิตหยุดทำงานจิตของคนเราทุกคนย่อมทำงานอยู่เป็นนิจคือ
1. จิตเปิดทวาร  5 รับอารมณ์  - ปัญจทวาราวัชชนะจิต
2. จิตเห็นรูป  จิตฟังเสียง จิตดมกลิ่น  จิตลิ้มรส จิตถูกต้อง โผฏฐัพพะ –  ทวิปัญจวิญญาณ
3. จิตรับธรรมารมณ์  - สัมปฏิจฉันนจิต
4. จิตพิจารณาอารมณ์  - สัมตีรณจิต
5. จิตตัดสิน ( กำหนดว่าจะทำอะไร – อย่างไรกัน ) อารมณ์ โวฎฐัพพนจิต
6. จิตเสพอารมณ์  - ชวนะจิต
7. จิตยึดหน่วงอารมณ์  - ตทาลัมพณจิต
     จิตทำงานไม่หยุดจึงลำบาก  ดังร่างกายทำงานมาก ก็เหน็ดเหนื่อย แต่เป็นอย่างไรใจจึงต้องคิด

มารเข้าประจญในเวลาทำสมาธิ
               แต่เป็นอย่างไรใจจึงต้องคิด  ร่างกายจึงชอบทำงาน คิดวันยังค่ำ ร่างกายทำงานวันยังค่ำ ตากแดดตากลมก็ยังทำได้ การทำสมาธิ เพียง 30 นาที หรือ 1 ชั่วโมง เกิดอึดอัดรำคาญบางคนนั่งสมาธิจนเหงื่อไหล คิด ๆ ดูก็น่าขัน นั่งสมาธิอยู่ที่ร่มที่เงาไม่ต้องใช้กำลังเหมือนการทำงานเป็นอะไรจึงทำไม่ได้นาน
               พึงเข้าใจเถิด การรักษาศีลก็ดี การทำสมาธิก็ดี การใช้ปัญญาพิจารณาสังขาร
ก็ดี มารเขาไม่ชอบให้ทำ คือเขากลัวเราจะพ้นจากอำนาจ ของเขา พระยามารองค์นี้ย่อม ครอบงำสัตว์โลก นับตั้งแต่มนุษย์โลกถึงพรหมโลกตกอยู่ในอำนาจของเขา พึงเห็นในสมัยที่พระพุทธองค์จะทรงตรัสรู้ ยังถูกพระยามารให้ ลูกสาวสามาคนเข้ามาหลอกลวงให้   ลุ่มหลง เมื่อไม่สำเร็จจึงต้องเข้ามาต่อสู่เอง กระทำอิทธิฤทธิ์ บันดาลให้ฝนตกเป็นหอกดาบ เป็นก้อนกรวดก้อนหิน เป็นฝนเถ้าลึง ( ขี้เถ้าขี้ฝุ่นร้อน ๆ ) ให้ตกลงมาแต่บนอากาศ สู้  บารมี  ของ พระองค์ไม่ได้ มารจึงปราชัย ตัวของเราที่สู้มารไม่ได้ก็เพราะ บารมี ของเราไม่แก่กล้า เมื่อประกอบ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าแล้วจึงเกิดความหนักอกหนักใจ อยู่ไม่ได้ จึงต้องลาศีล สมาธิ ปัญญา ส่วนพระองค์ที่มีชัย ชนะมาร พระองค์ตั้งพระทัยไว้ใน จตุรงคประธานทั้ง 4  คือ เลือด เนื้อ เอ็น กระดูก จะแตกทำลายก็ยอมให้แตก ถ้า คุณความดี อันหนึ่งอันใด  ซึ่งบุรุษผู้มีกำลังจะได้ด้วย ความเพียร คุณความดี อันนั้นยังไม่เกิด จะไม่ลุกขึ้น
                พระองค์ทรงกำจัดมารได้แต่เวลาพลบค่ำ พระองค์จะได้ตรัสรู้ก็เจริญ อานาปานสติกรรมฐาน นี้เอง คือพระองค์ใช้วิตกตรึกนึกในลมหายใจเข้าออก สั้นก็ให้รู้ว่าสั้น ยาวก็ให้รู้ว่า ยาว วิตก ตรึกนึกในลม วิจาไตร่ตรองในลม เมื่อ จิตหยุด คิดในอดีตอนาคต วางอารมณ์สัญญาภายนอก อันเป็น บ่วงของมาร ใจเพ่ง อยู่ในจุดอันเดียว  จึงเกิด ปีติ ความอิ่มกาย อิ่มใจ สุข  ความสุขกายสุขใจ เอกัคคตา จิตเป็นหนึ่ง ประกอบด้วยองค์ 5 ถึง จิตวิเวกสงบจากนิวรณ์ เป็นปฐมฌาน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่