รูปาวจรภูมิ-อรูปาวจรภูมิและโลกุตตรภูมิ ภาค4

ขึ้นอรูปาวจรภูมิ
      แต่นี้จะกล่าวถึงอรูปาวจรภูมิ  ผู้บำเพ็ญเจริญรูปฌานได้แล้ว ปรารถนาจะเจริญอรูปฌานให้เพิกกสิณทั้ง 7 เสียไว้แต่อากาศ  ให้เพ่งอากาศว่างเปล่าเป็นอารมณ์  ทำบริกรรมว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด โยคาวจรก็อาจเข้าสู่อรูปฌานเป็นประถมได้เมื่อโยคาวจรวางเสียซึ่งอากาศ  ถือเอาวิญญาณเป็นอารมณ์บริกรรมว่า  วิญญาณไม่มีที่สิ้นสุด ๆ ก็อาจเข้าสู่ทุติยอรูปฌานที่ 2 ได้
       เมื่อโยคาวจรวางวิญญาณ เสียถือเอาสิ่งที่ไม่มีวิญญาณว่าอะไร ๆไม่มี ก็อาจเข้าตติยอรูปฌานที่ 3 ได้ เมื่อโยคาวจรวางสิ่งที่ไม่มีวิญญาณ  ถือเอาสิ่งที่ประณีตจะว่ามีวิญญาณก็ไม่ใช่ จะว่าไม่มีวิญญาณก็ไม่ใช่ ก็อาจจะเข้าสู่จตุตถอรูปฌานที่ 4 ได้ รูปาวจรภูมิ  อรูปาวจรภูมิ เป็นดรุกรรม เป็นกรรมหนักกว่ากรรมอื่น ทั้งสิ้น จะให้ผลก่อน
ฌานเสื่อมอย่างไร
       ถ้าปรารถนาจะไปเกิดในพรหมโลกก็ให้รักษาไว้ อย่าให้เสื่อม ฌานเสื่อม กับฌานไม่เสื่อมเป็นอย่างไร ฌานจะเสื่อมอาศัยผู้นั้นยินดีในกามารมณ์  ผู้ที่ได้อัปปนาฌานไม่เสื่อมนั้นจิตของผู้นั้นหลุดพ้นจากกาม
         ถ้าอยากรู้ฌานไม่เสื่อมหรือเสื่อมนั้น  ให้ดูตัวทวารสมมุติกับทวารวิมุติ  อันเป็นเครื่องสืบต่อกัน คือในเวลา เรานั่งทำสมาธิฌานเกิด  นี้เป็น ทวารสมมุติ  เรียกว่า  ชวนะจิต  เสพอารมณ์ครั้นเวลาเหนื่อยเรานอน เวลาเรานอนเราก็เพ่งอยู่ในฌานนี้เป็นทวารสมมุติ  เวลาหลับเป็นทวารวิมุติ
        ถ้าทวารวิมุติเป็นผู้รับต่อ  นอนหลับไม่ฝัน  ตื่นขึ้นก็ยังเพ่งอยู่ในฌาน เป็นผู้ละถีนะมิทธะ ไม่ติดในการนอน  นี้จึงเรียกว่า ฌานไม่เสื่อม ถ้าทวารวิมุติไม่รับต่อ  นอนหลับฝันเพราะละถีนะมิทธะไม่ได้ ตี่นขึ้นจิตเปลี่ยนเป็นกามารจร  นี้ฌานเสื่อม แต่ผู้ที่มีฌานเสื่อมดีกว่าผู้ไม่มีฌาน
จะไปนิพพานได้หรือไม่ได้ในชาตินี้
       ฝ่ายผู้ที่ได้อัปปนาชวนะโลกุตตระ  คือถือเอาพระนิพพานเป็นอารมณ์นั้นก็ดี ถ้าอยากรูเว่าจะไปนิพพานได้หรือไม่ได้ในชาตินี้ก็ให้ดูทวารสมมุติกับทวารวิมุติ  ในขณะนั่งทำสมาธิจิต  จิตหลุดพันออกจากสังขารนิมิตได้นี้เป็นทวารสมมุติ ในขณะนอนหลับตัวทวารวิมุตไม่รับต่อ  นอนหลับแล้วฝัน  เพราะละถีนะมิทธะไม่ได้นี้เป็น จิต  ของพระเสขะ ยังไปนิพพานไม่ได้ เป็นตทังควิมุติ หลุดได้ชั่วคราว  ทั้งนี้เป็นเพราะอะไร
       เป็นเพราะเสขะมีกามาวจรญาณสัมปยุตกุศลเป็นที่ตั้งแห่งองค์อริยมรรค ถ้าจิตหลุดพ้นในการยืม เดิน นั่ง เวลานอนหลับ ทวารวิมุติรับต่อ  นอนหลับจิตก็หลุดพ้น  ตื่นขึ้นใหม่ไม่มีการฝัน เพราะละถีนะมิทธะได้ทวารวิมุติไม่กำเริบ  นี้เป็นของพระอเสขะ เพราะท่านมีกามาวจรญาญสัมปยุตกิริยา  เป็นที่ตั้งแห่งองค์อริยมรรค  ผู้ที่มีฌานไม่เสื่อมย่อมไปเกิดในพรหมโลกที่ได้ฌานชั้นต่ำก็ไปเกิดในชั้น ต่ำ ผู้ที่ได้ชั้นสูงก็ไปเกิดชั้นสูง  ตามชั้นตามภูมิของตน
                  สรุปความลงก็คือ ถ้าโลกีย์วิมุติไม่เสื่อม ก็ไปเกิดในรูปพรหม และอรูปพรหมได้ ถ้าเสื่อมก็ไปเกิดในกามโลก ฝ่ายโลกุตตรวิมุติก็เหมือนกัน ถ้าไม่เสื่อมก็ไปนิพพานได้ ถ้าเสื่อมก็ยังไปไม่ได้ ก็ต้องเกิดในกามโลกก่อน
ธาตุของจิต  และวัตถุอันเป็นที่ตั้งของจิต
         อนึ่งวัตถุอันเป็นที่ตั้งแห่งวิญญาณในภพ 3 ในกามภพมีวัตถุ 6 มีจักขุวัตถุเป็นต้น มีหทัยวัตถุเป็นที่สุด  มีธาตุจิต 7 คือ จักขุวิญญาณธาตุ 1 โสตะวิญญาณธาตุ 1 มานะวิญญาณธาตุ 1 ชิวหาวิญญาณธาตุ 1 กายวิญญาณธาตุ 1 มโน ธาตุ 1 มโนวิญญาณธาตุ 1
       ในรูปภพมี วัตถุ 3 จักขุวัตถุ 1 โสตะวัตถุ 1 หทัยวัตถุ 1 มีธาตุจิต  4 คือจักขุวิญญาณธาตุ 1 โสตะวัญญาณธาตุ 1 มโนธาตุ 1 มโนวิญาณธาตุ 1
        ในอรูปภพ ไม่มีวัตถุ เป็นที่ตั้ง มีแต่มโนวิญญาณธาตุอย่างเดียว วัตถุธาตุก็ดี มโนวิญญาณธาตุก็ดี เป็น สังขตะธาตุ
        พระนิพพานเป็น อสังขตะธาตุ ออกจากธาตุเหล่านี้
       การทำฌานเป็นของทำยาก ทำแล้วก็มักจะเสื่อมถึงไม่เสื่อมไปเกิดในพรหมโลก แล้วกลับมาเกิดในโลกนี้ ก็เป็นของไม่แน่นอน มาเกิดเป็นมนุษย์ อาจเปลี่ยนแปลงไปสู่อบายภูมิไม่มีการกำหนดกฎเกณฑ์ คล้ายกับทหารไปนอนอยู่ในหลุม เพลาะสบายชั่วคราว  ยังไม่ได้ประจัญบานถึงขั้นแตกหัก
                    หรือดุจคนเป็นหนี้หลบหนีจากเจ้าหนี้ (ยังไม่พ้นหนี้สิน )  จึงไม่ควรเพลินในฌานมากนัก จักเป็นเหตุให้ล่าช้า ทำเอาแต่อุปจารสมาธิ  อันเป็น กามาวจร  มีวัตถุ 6 เป็นที่ตั้งแล้วดำเนินทาง วิปัสสนา  ใช้ปัญญา  ค้นหาเหตุผล ตัวของเราเป็นตัวผล ซึ่งเป็นตัวชาติ ชาติต้องมาจากภพ  กรรมภพฝ่ายบาปก็นำไปเกิดที่อบายภูมิ 4 กรรมภพฝ่ายกุศลอย่างต่ำ ก็นำให้ไปเกิดเป็นมนุษย์ 1 สวรรค์ 1 ชั้น
         กรรมภพอย่างหนักก็นำไป รูปภพ  อรูปภพ ภพเหล่านี้มาจากอุปาทานการเข้ายึดถือ ถ้าถอนเสียซึ่งอุปาทานการยึดถืออุปาทานดับภพก็ดับ  ภพดับชาติก็ดับ ชาติความเกิดเปรียบเหมือนไฟเพราะไฟร้อนไปด้วยทุกข์  ความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ตัวกรรมภพเปรียบเหมือนเชื้อของไฟ  ตัวอุปาทานเป็นผู้ยึดเชื้อของไฟไว้ การที่นำเอารูปาวจร  อรูปาวจรภูมิมาลงไว้ในฐานที่ 2 เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการ ของนักปฏิบัติธรรมทุกชั้นทุกภูมิ จะเดินทางลัด  หรือจะเดินทางอ้อม  แล้วแต่ชอบใจ  
                     สรุปลงในฐานที่ 1 ให้เพ่งหทัยวัตถุ เพื่อให้รู้สังขารแต่วางสังขารยังไม่ได้ จึงเป็นแต่กามาวจรภูมิเท่านั้น ๆ  ฐานที่ 2  เมื่อเพ่งดูหทัยวัตถุ เป็นของว่างเปล่าไม่มีความคิดในสามกาล ดับสังขารที่เป็นกามาวจรได้แล้ว แต่ยังติดความรู้อันมีอยู่ในปัจจุบัน  ออกจากอารมณ์ในปัจจุบันยังไม่ได้  จึงลงเคราะห์ลงในรูปาวจร  และอรูปาวจรภูมิเท่านั้น เป็นขั้นสมถอุบายเครื่องสงบใจ  ที่กล่าววิปัสสนาเจือไว้ด้วย ก็เป็นแต่ชีแนวทาง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่