อำนาจของสมเด็จพระสังฆราช ตามพรบคณะสงฆ์ ขออนุญาตอธิบายครับท่าน

คือผมเห็นว่า มีสมาชิกบางท่าน กล่าวถึง พระอักษร(พระลิขิต)ของสมเด็จพระสังฆราช โดยพยายามเรียกว่า พระบัญชา แล้วอธิบายในทำนองว่า มหาเถรสมาคม พระเถรานุเถระ ฯลฯ ภิกษุทุกรูป จะต้องปฏิบัติตามพระอักษรนั้นโดยเคร่งครัด จะเป็นอื่นไปไม่ได้ เพราะพระอักษร มีฐานะเป็นกฏหมาย ซึ่งผมเห็นว่านั่นเป็นการพูดด้วยความเข้าใจไม่ถูกต้อง หรือไม่ก็อาจเป็นการพูดโดยมีเจตนาบิดเบือนข้อเท็จจริง สร้างความวุ่นวายแตกแยกในสังคมชาวพุทธ จึงขออนุญาต อธิบายนะครับท่าน

เรื่องแรก ผมพบว่ามีบางท่านอ้างว่า พระอักษรดังกล่าวคือพระบัญชา เป็นกฏหมาย โดยอ้าง พรบคณะสงฆ์ มาตราแปด

มาตรา ๘ สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฏหมาย พระธรรมวินัย และกฏมหาเถรสมาคม

อันนี้มันเป็นปัญหาเพราะท่านอ้างกฏหมายแบบแหว่งๆวิ่นๆ อ้างไม่ครบถ้วน น่ะครับ เนื่องจาก มาตราแปด ระบุว่า การตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช หมายถึง พระบัญชานั้น จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับ 1) กฏหมาย 2) พระธรรมวินัย และ 3) กฏมหาเถรสมาคม น่ะครับท่าน

ดังนั้น พระอักษรดังกล่าว จะถือว่าเป็นพระบัญชาตามมาตราแปด หรือไม่ ก็ต้องพิจารณาว่า ขัดหรือแย้งกับ 1) กฏหมาย 2) พระธรรมวินัย และ 3) กฏมหาเถรสมาคม หรือไม่ ? ถ้าไม่ขัด และ ไม่แย้ง ก็ถือว่าเป็นพระบัญชาตามพรบคณะสงฆ์มาตราแปด มีผลตามกฏหมาย แต่ถ้าปรากฏว่าขัดหรือแย้ง ก็ถือว่าเป็นเพียงพระมติส่วนพระองค์ ไม่มีผลผูกพันทางกฏหมาย ไม่เป็นกฏหมาย ไม่มีกฏหมายรองรับ นะครับท่าน

เรื่องต่อมา ที่ต้องพิจารณาก็คือ ประเด็นพระอักษร ที่ระบุถึงเรื่องปาราชิก จะถือว่าเป็นพระบัญชา มีผลทางกฏหมายหรือไม่ ? เรื่องนี้ พิจารณาไม่ยากครับท่าน ก็แค่พิจารณากฏหมาย พรบคณะสงฆ์ หมวดสี่ นิคหกรรมและการสละสมณเพศ เราก็จะทราบว่า อำนาจในการวินิจฉัยตัดสินอธิกรณ์ต่างๆ เป็นของผู้ใด ระหว่าง สมเด็จพระสังฆราช กับ มหาเถรสมาคม ?

มาตรา ๒๕ ภายใต้บังคับมาตรา ๒๔ มหาเถรสมาคมมีอำนาจตรากฏมหาเถรสมาคม กำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการปฏิบัติเพื่อให้การลงนิคหกรรมเป็นไปโดยถูกต้อง สะดวกรวดเร็ว และเป็นธรรม และให้ถือว่าเป็นการชอบด้วยกฏหมายที่มหาเถรสมาคมจะกำหนดในกฏมหาเถรสมาคม ให้มหาเถรสมาคมหรือพระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใดเป็นผู้มีอำนาจ ลงนิคหกรรมแก่พระภิกษุผู้ล่วงละเมิดพระธรรมวินัย กับทั้งการกำหนดให้การวินิจฉัยลงโทษนิคหกรรมให้เป็นอันยุติในชั้นใดๆ นั้นด้วย

ท่านทั้งหลาย จะเห็นว่า จากกฏหมายพรบคณะสงฆ์ มาตรา 25 กำหนดว่า อำนาจในการพิจารณาอธิกรณ์ เป็นของ มหาเถรสมาคม ไม่ใช่อำนาจของสมเด็จพระสังฆราช โดยมหาเถรสมาคม จะใช้อำนาจนี้โดยตรากฏมหาเถรสมาคมขึ้นมา เพื่อกำหนดวิธีการ ขั้นตอนในการพิจารณานิคหกรรม

ทีนี้ ในมาตรา 25 ระบุว่า ผู้มีอำนาจ(ลงนิคหกรรม) คือ 1) มหาเถรสมาคม 2) พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใด คำว่า พระภิกษุผู้ปกครองสงฆ์ตำแหน่งใด ก็ไม่ได้หมายถึง สมเด็จพระสังฆราช แต่หมายถึง เจ้าอาวาส หรือ เจ้าคณะปกครอง ตามกฏมหาเถรสมาคม ซึ่ง แบ่งอำนาจการพิจารณาวินิจฉัยอธิกรณ์ ออกเป็นสามชั้นคือ

1) การพิจารณาชั้นต้น เป็นอำนาจของเจ้าอาวาส ถ้าผู้ถูกร้องคือเจ้าอาวาส ผู้มีอำนาจในการพิจารณาในชั้นนี้ ก็คือ เจ้าคณะ หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ ที่เหนือขึ้นไปอีกชั้นหนึ่ง เช่น เจ้าคณะตำบล เป็นต้น
2) การพิจารณาชั้นอุทธรณ์ ผู้มีอำนาจในการพิจารณาในชั้นนี้ ก็คือ เจ้าคณะ หรือผู้ปกครองคณะสงฆ์ ที่เหนือขึ้นไปอีก เช่น เจ้าคณะอำเภอ ฯ เจ้าคณะภาค ฯ เป็นต้น
3) การพิจารณาชั้นฎีกา เป็นอำนาจของมหาเถรสมาคม โดยเมื่อพิจารณาถึงชั้นนี้ ให้ถือว่าเป็นที่สุด ครับท่าน

เมื่อพิจารณาข้อกฏหมายมาตามลำดับ ท่านจะพบว่า กฏหมาย พรบคณะสงฆ์ ไม่ได้ให้อำนาจในการวินิจฉัยอธิกรณ์แก่สมเด็จพระสังราช แต่กำหนดว่าอำนาจนั้นเป็นของ เจ้าอาวาส เจ้าคณะปกครอง และ มหาเถรสมาคม จึงหมายความว่า ถ้าหากบางท่านจะดึงดัน ยืนยันว่า พระอักษรของสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระบัญชา ย่อมเป็นการกล่าวผิดข้อเท็จจริง เพราะมาตราแปด ระบุว่า พระบัญชาจะขัดกฏหมายไม่ได้ แต่กฏหมายระบุชัดเจนว่า อำนาจการวินิจฉัยอธิกรณ์เป็นของ 1) เจ้าอาวาส 2) เจ้าคณะปกครอง และ 3) มหาเถรสมาคม ไม่ได้เป็นของสมเด็จพระสังฆราช นี่ครับท่าน

ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจว่า พระเถรานุเถระ รวมไปถึง วิญญูชน และปัญญาชนชาวพุทธทั้งหลาย ไม่มีผู้ใดเรียกพระอักษรนี้ว่า พระบัญชา เพราะท่านเหล่านั้นทราบดีว่า หากเรียกแบบนี้ จะเท่ากับเป็นการหมิ่นพระเกียรติสมเด็จพระสังฆราชว่า ทรงตราพระบัญชาที่ไม่ชอบด้วยกฏหมาย โดยทั่วไปจึงเรียกพระอักษรนี้ว่า พระลิขิต โดยถือว่าเป็นพระมติส่วนพระองค์เท่านั้น ไม่มีผลทางกฏหมาย ครับท่าน

กรณีธรรมกายนี้ ไม่ว่าจะถูกใจ หรือไม่ถูกใจก็ตาม ขอให้ท่านทั้งหลายจงยอมรับความจริงเถอะว่า มันจบแล้วครับท่าน อย่าได้พยายามดื้อดึงต่อไปอีกเลยครับ มันไม่มีประโยชน์อะไร ท่านไม่สามารถเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงตามกระบวนการทางกฏหมาย ได้หรอกครับ แต่ถ้าหากท่านยอมรับไม่ได้จริงๆ ทางเดียวที่เป็นไปได้ ก็คือ ท่านต้องไปแก้กฏหมาย พรบคณะสงฆ์ ไม่ใช่ไปล่ารายชื่อถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคม อย่างที่พยายามสร้างกระแสกันอยู่นะครับ ทำแบบนั้น น่าอายมากครับ เพราะท่านควรทราบว่า กรรมการมหาเถรสมาคม ส่วนหนึ่งเป็นโดยตำแหน่ง อีกส่วนหนึ่ง สมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้งมา ครับท่าน และในประเทศนี้ ก็ไม่มีกฏหมายใด ให้อำนาจแก่ท่านในฐานะประชาชน ว่าสามารถถอดถอนกรรมการมหาเถรสมาคมได้ ดังนั้น ในฐานะที่เป็นชาวพุทธ ก็อย่าทำเรื่องขายหน้าแบบนั้นเลยครับ กรุณาเจริญสติให้มากๆ นะครับท่าน

ในส่วนที่เกี่ยวกับกรณี มีนักการเมืองหลากหลายสถานะ พยายามหยิบยกพระอักษรของสมเด็จพระสังฆราชขึ้นมาอ้างในลักษณะนี้ ผมไม่ทราบหรอกครับว่าเขาเหล่านั้น มีเจตนา หรือ วัตถุประสงค์อะไรแน่ แต่ที่ทราบชัดๆ ก็คือ เขาอ้างผิด ครับท่าน และการอ้างแบบผิดๆอย่างนี้ ไม่ส่งผลดีต่อพระเกียรติยศของสมเด็จพระสังฆราชเลยครับ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว เรื่องนี้จึงดูเหมือนกับว่า เขาเหล่านั้น พยายามอ้างสมเด็จพระสังฆราช เพื่อใช้เป็นเครื่องมือ โดยประสงค์ต่อผลประโยชน์บางอย่าง ไม่ใช่การอ้างด้วยความเคารพในพระองค์ท่าน หรือเพื่อปกป้องพระศาสนา อย่างที่พูดๆกันหรอกครับ อันนี้ เป็นความเห็นส่วนตัวนะครับท่าน

สำหรับท่านที่พยายามอ้างพระวินัย ก็ขอให้กลับไปพิจารณาดีๆ ด้วยใจเป็นกลาง และเป็นธรรม ด้วยครับท่าน หลักอธิกรณ์สมถะ คือการระงับอธิกรณ์ ก็มีอยู่ครับ ท่านจะไปปรักปรำกล่าวหาผู้อื่นส่งเดชตามใจชอบไม่ได้หรอกครับ พระพุทธเจ้า และ พระธรรมวินัย ไม่ได้อนุญาตให้พวกท่านสามารถทำอะไรๆ ได้ตามใจชอบอย่างนั้นเสียหน่อย ถ้าท่านรักพระพุทธศาสนาจริง คิดจะปกป้องพระธรรมวินัยจริง ก็ขอให้ยอมรับและปฏิบัติตามพระธรรมวินัยด้วยครับ อย่าเอาแต่ใจตนเองกันนักเลย ขออนุญาตบอกกล่าวข้อเท็จจริงทางกฏหมาย(พรบคณะสงฆ์) ต่อท่านทั้งหลายเพียงเท่านี้ นะครับท่าน

เม่าปัดรังควานเม่าฝึกจิตเม่าปัดรังควาน
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่