พระลิขิตไม่ได้อยู่ในพระธรรมวินัย นี่คือ ความจริง !! กรณีปมพระลิขิตกับพระธัมมชโย

คลิกเพื่อดูคลิปวิดีโอ


พระลิขิตไม่ได้อยู่ในพระธรรมวินัย นี่คือ ความจริง !! และ พระลิขิต จะใช้ได้ก็ต่อเมื่อถูกต้องตามพระธรรมวินัยเท่านั้น คือ ต้องมีการอธิกรณ์ ตามขั้นตอนสงฆ์ ซึ่งขั้นตอนนี้ก็จบไปแล้ว พระลิขิต จึงไม่มีผล

การที่คนจะมาฟื้น ท่านลืม ไปแล้วหรือ ว่ามีพระลิขิตปลอม ที่เป็นคดี กี่ฉบับ และที่ค้างอยู่กี่ฉบับ ที่ปล่อยให้หมดอายุความอีกกี่ฉบับ ถ้าอยากรักษาพระเกียรติ ของพระสังฆราช องค์ก่อน เพราะพระราชอำนาจ ของพระสังฆราช ต้องไม่ขัดกับ พระธรรมวินัย !!  

จะเล่นอะไร โปรดระวัง เข้าตัว เพราะหน้าต่างมีหู ประตูมีช่อง

พระลิขิต พระวินิจฉัย พระดำริ
----------------------------------------------


ขอเอาหลังพิงโพสต์ของท่าน “เจ้าคุณเบอร์ลิน” และ “พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท” ช่วยผ่อนแรงหน่อย ท่านอธิบายไว้ได้ดี เกี่ยวกับเรื่องนานาสังวาส (มหานิกายและธรรมยุต) ถ้าท่านไม่ได้อ่าน กรุณาอ่านด้วย ตามที่ผมแชร์ไว้ในไทม์ไลน์ของผม เพราะผมจะขอขยายต่อจากโพสต์ท่านเลย.. ไม่ต้องเสียเวลาซ้ำซากในเนื้อหาที่เขียน

ยุคนี้ เป็นยุคที่มหาเถรสมาคมและสำนักพุทธฯ มีระยะห่างกันมากเกินไป ทำให้อะไรที่ต้องปรึกษาหารือเป็นการภายในหรือพิจารณาร่วมกัน ก่อนที่จะนำเสนอมหาเถรสมาคม เป็นไปอย่างแกนๆ แบบทำตามหน้าที่ แต่จะทำให้เกิดปัญหาตามมา เพราะเรื่องบางเรื่อง ไม่ใช่อำนาจของมหาเถรสมาคม สำนักพุทธฯ ก็จะโยนเข้ามหาเถรสมาคมให้ตัดสิน ให้พระเป็นไปแบบ “ตายเอาดาบหน้า” จึงต้องเร่งงานนี้ ออกมาก่อน เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินการขั้นต่อไป
อย่าลืมข้อตกลงนะครับว่า ผมไม่ต้องการเป็นผู้อำนวยการทุกระดับ อย่าโยนผมไปไหน ผมเพียงแค่พยายามจะเป็นนักวิชาการที่พูดกับคนรู้เรื่อง แต่ประเภทที่พูด/เขียนแล้ว คนไม่รู้เรื่อง ผมไม่เอา..
กรณีที่ บุคคลหลายท่าน หน่วยงานหลายหน่วย ออกหน้ากันไปรับ หรือได้รับข้อร้องเรียน/เรียกร้อง เกี่ยวกับสิ่งที่เรียกว่า พระลิขิต พระวินิจฉัย หรือพระดำริ เกี่ยวกับเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายแล้ว สิ่งที่ท่านจะต้องทำตามที่ควรจะเป็นคืออะไร
ท่านตรวจสอบหรือเปล่าว่า เรื่องที่ท่านได้รับนั้นเป็นเรื่องจริง มีความจริงแค่ไหน เมื่อมีการอ้างว่าเป็นของสมเด็จพระสังฆราช ท่านรีบสนองงานโดยทำตามเลยหรือ หรือว่าตรวจสอบก่อนว่า เรื่องนั้นจริงแค่ไหน เป็นไปได้อย่างไร

  เท่าที่ติดตาม ไม่มีใคร/หน่วยงานไหนพูดถึงเรื่องการตรวจสอบว่าเรื่องนี้จริงหรือไม่ มีแต่ว่า การตรวจสอบรถจะต้องใช้เวลา ๑ เดือน คงจะต้องมีคนไปขอรายละเอียดละครับว่า ใน ๑ เดือน ท่านทำอะไรบ้าง ในแต่ละวัน ทำไมต้องใช้เวลามากมายขนาดนี้
ประเด็นนี้ คือสิ่งที่ทุกท่าน/หน่วยงานพลาดไปอย่างน่าเสียดาย แม้จะทราบว่ามันอิงกับเรื่องการเมือง แต่ท่านต้องทำตามกระบวนการที่ควรจะทำ คือ การตรวจสอบที่มาก่อนว่าจริงหรือไม่ นั่นแหละดีที่สุด ถ้าไม่รู้ก็สอบถามพระหรือครูอาจารย์ตามมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง ก็ได้ แต่ไม่ควรถามสำนักพุทธฯ เพราะจะได้รับคำตอบคือไม่รู้ เพราะไม่รู้จริงๆ หรือเปล่านั้น ผมไม่ทราบ ขนาดนักกฎหมายสำนักพุทธฯ ยังถามผมว่า สมเด็จพระสังฆราชเป็นอะไรกับมหาเถรสมาคม ผมก็เงิบละ..

จากโพสต์ของท่าน เจ้าคุณเบอร์ลิน และ พระมหาอภิชาติ ปุณฺณจนฺโท มีประเด็นที่ชวนให้คิดและต้องขยายต่อ คือ
๑. พระลิขิต พระวินิจฉัย หรือพระดำริ เป็นของจริง เพราะทำจาก “ห้องกระดก” จริงๆ และพระที่ทำเรื่องนี้ก็ยังอยู่ ให้ไปลากคอมาถามดูก็ได้… แต่ขอเถียงเจ้าคุณเบอร์ลินนิดว่า “ใครจะยอมรับว่าทำเองให้โง่” เพราะถ้ารับก็เท่ากับต้องเข้าคุกอีกรอบ เขาก็ต้องบอกว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงรับทราบหรือมีบัญชาให้ทำ ก็รอดคุกแล้ว.. เหมือนบางคนที่ชอบอ้างบ่อยๆ ว่า ทรงรับสั่งกับตนเป็นการส่วนตัว .. มันอ้างง่ายจะตายไป เพราะพูดเป็นการส่วนตัวแล้วใครจะไปรู้ และคนตายแล้วพูดเถียงไม่ได้.. รับได้ไหมล่ะท่านเจ้าคุณฯ

๒. เรื่อง นานาสังวาส หมายความว่า การมีธรรมเป็นเครื่องอยู่ร่วม (คืออุโบสถและสังฆกรรมเป็นต้นที่จะต้องทำร่วมกัน) ที่ต่างกัน กล่าวคือ สงฆ์ผู้ไม่ร่วมสังวาสคือไม่ร่วมอุโบสถและสังฆกรรมด้วยกัน เรียกว่าเป็นนานาสังวาสของกันและกัน โดยมีเหตุที่ทำให้เป็นนานาสังวาส ๒ อย่าง คือ ๑) ภิกษุทำตนให้เป็นนานาสังวาสเอง เช่น อยู่ในนิกายหนึ่งไปขอเข้านิกายอื่น หรือแตกจากพวกเพราะเหตุวิวาทาธิกรณ์อย่างหนึ่ง ๒) ถูกสงฆ์พร้อมกันยกออกจากสังวาส (สรุปจาก พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ. ปยุตฺโต))

กล่าวง่ายๆ คือ สมเด็จพระญาณสังวรเป็นธรรมยุติกนิกาย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายเป็นมหานิกาย การที่สมเด็จพระญาณสังวรจะไปปรับอาบัติเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกายจึงไม่ได้ เพราะต่างนิกายกัน..
ประเด็นนี้จึงน่าคิด

อีกประเด็นที่ว่า หลังจากมีพระลิขิต พระวินิจฉัย แล้ว สมเด็จพระสังฆราชก็ไม่ได้ทรงเข้าร่วมการประชุมมหาเถรสมาคมอีกเลย.. ตรงนี้ ผมรอคนพูด แต่ไม่มีใครพูดถึง.. ผมจึงขอกราบเรียนว่า หลังจากมีเรื่องนี้แล้ว สมเด็จพระสังฆราชทรงเข้าสู่ที่ประชุมมหาเถรสมาคม ที่นำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร รวม ๒ ครั้ง คือ การประชุมครั้งสุดท้าย ปลายปี ๒๕๔๔ พระองค์ทรงประทับรถเข็นเข้ามาที่ประชุม แล้วทรงอ่านคำขอบคุณมหาเถรสมาคมที่ดำเนินกิจพระศาสนาให้เป็นไปได้ด้วยดี และอีกครั้ง ในการประชุมครั้งแรกของปี ๒๕๔๕ พระองค์ก็ได้เสด็จมาอวยพรปีใหม่แก่มหาเถรสมาคม ด้วย นี้เป็นความจริงที่ผมอยู่ในเหตุการณ์ทั้ง ๒ ครั้ง ที่ผมไม่อาจลืมได้
จากนั้น พระองค์ก็ประชวร จนแพทย์ผู้ถวายการรักษาได้ถวายคำแนะนำ มิให้ทรงปฏิบัติศาสนกิจอื่น แต่ยกเว้นที่พระองค์ทรงปฏิบัติตามแพทย์ไม่ได้ คือ ในวันเข้าพรรษา พระองค์จะต้องเสด็จมาปวารณาเข้าพรรษาที่วัดบวรนิเวศวิหาร แล้วสัตตาหะไปประทับที่โรงพยาบาล และเสด็จมารับอรุณที่วัดบวรนิเวศวิหาร หลังจากสัตตาหะครบ โดยตลอด จนกระทั่งไม่สามารถเสด็จมาได้
สิ่งนี้ ผมถือว่าเป็นวาสนาของผมที่ได้ถวายงานพระองค์ท่าน แม้เวลาจะน้อยนิด ผมก็ไม่ลืม และได้ยืนยันมาตลอดว่า พระองค์จะไม่ทรงกระทำในสิ่งที่ขัดกับพระวินัยแน่นอน เพราะขนาดประชวรและมีพระชนม์ขนาดนี้ พระองค์ยังทรงเคร่งครัดในพระวินัยมาก จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะทรงทำในสิ่งที่เขาเรียกกันว่า พระลิขิต พระวินิจฉัย
จึงขอกราบเรียนยืนยันว่า

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช ไม่ได้ทรงกระทำสิ่งที่เจ้าคุณชั้นราชฯ เรียกว่า พระวินิจฉัย แน่นอน จะเป็นใครทำนั้น ก็ต้องบอกไว้ตามที่กล่าวมา
เหตุผลตามลำดับ ดังนี้
๑. สิ่งที่เรียกว่า พระวินิจฉัย ทั้งหมดนั้น ขัดกับมาตรา ๘ แห่งพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ฯ ที่ว่า สมเด็จพระสังฆราชทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปรินายก ทรงบัญชาการคณะสงฆ์ และทรงตราพระบัญชาสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม
เพราะสิ่งที่เรียกว่า พระวินิจฉัย ทั้งหมดนั้น ขัดกับกฎมหาเถรสมาคม ฉบับที่ ๑๑ (พ.ศ.๒๕๒๑) ว่าด้วยการลงนิคหกรรม เพราะพระองค์ทรงดำรงตำแหน่ง ประธานกรรมการมหาเถรสมาคม จึงเท่ากับ เป็นประธานศาลฎีกา เพราะมหาเถรสมาคมมีอำนาจในการลงนิคหกรรมชั้นฎีกา (กฎข้อ ๒๖) ดังนั้น ประธานศาลฎีกาจะไปวินิจฉัยเรื่องที่ยังไม่มาถึงมหาเถรสมาคมพิจารณาไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นเหตุให้มหาเถรสมาคมไม่ได้พิจารณาอธิกรณ์เรื่องทรัพย์สินตามที่กล่าวหากัน แม้เมื่อศาลสงฆ์ชั้นต้นพิพากษาไปแล้ว ไม่มีการอุทธรณ์ จากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ศาลฎีกาจึงพิจารณาไม่ได้
ใครบังอาจจะบังคับให้มหาเถรสมาคมพิจารณาคดีนี้ ทบทวนให้ดีว่า ถูกต้องหรือไม่ แม้จะนำเรื่องที่หน่วยงานต่างๆ เสนอมา มหาเถรสมาคมก็ได้แต่เพียงรับทราบหรือให้ถอนออกไป เพราะไม่ใช่เรื่องที่จะมานำเสนอมหาเถรสมาคม (เรื่องยังไม่ถึงขั้นที่จะนำเสนอ) และที่จะให้สำนักพุทธฯ แจ้งให้มหาเถรสมาคมดำเนินการกับคณะผู้สอบสวนชั้นต่างๆ นั้น จะรอดูว่า ใครจะโดนก่อนใคร..?
๒. การที่บางคน/บางหน่วยงาน อ่านมติมหาเถรสมาคม มติที่ ๑๙๓/๒๕๔๒ เมื่อวันที่ ๑๐ พฤษภาคม ๒๕๔๒ ว่า มหาเถรสมาคมมีมติยืนยันพระวินิจฉัย และว่ามหาเถรสมาคมเปลี่ยนคำว่า วินิจฉัย เป็น พระดำริ นั้น (มติมีดังนี้ : ที่ประชุมรับทราบพระดำริที่สมเด็จพระสังฆราชประทานมาทั้งหมด มหาเถรสมาคมสนองพระดำริมาโดยตลอดให้ชอบด้วยกฎหมาย พระธรรมวินัย และกฎมหาเถรสมาคม)
มติแบบนี้ หมายความว่าอย่างไร เจ้าหน้าที่ที่ทำเรื่องเคยปรึกษาใครบ้างหรือเปล่าว่า หมายถึงอะไร ทำไมมหาเถรสมาคมจึงเปลี่ยนคำว่า พระวินิจฉัย เป็น พระดำริ .. สอบถามผู้รู้บ้างไหม มันไม่เสียหายหรอก แต่นี่เล่นเอามาบังคับพระ ใครจะโดนกันแน่..
Cr : พิศาฬเมธ แช่มโสภา
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่