๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗ น้อมรำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ปีที่ ๑๑ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)




๒๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๗

น้อมรำลึกวันคล้ายวันสิ้นพระชนม์ปีที่ ๑๑

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) 

สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ 





พระประวัติ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร มีพระนามเดิมว่า เจริญ คชวัตร ประสูติ เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ. ๒๔๕๖ ที่จังหวัดกาญจนบุรี เป็นบุตรคนโตของ พระชนกน้อย คชวัตร และ พระชนนีกิมน้อย คชวัตร พระองค์ได้มาอยู่ในความดูแลของ นางกิมเฮ้ง หรือ กิมเฮง ซึ่งมีศักดิ์เป็นป้าที่ได้ขอพระองค์มาเลี้ยงดู นางกิมเฮ้ง ได้ตั้งชื่อหลานชายผู้นี้ว่า “เจริญ” ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนประชาบาล วัดเทวสังฆาราม จนจบชั้นประถม ๕ (เทียบเท่าชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ และ ๒ ในปัจจุบัน)



บรรพชาและอุปสมบท

พระองค์ได้ทรงบรรพชาเป็นสามเณรในปี พ.ศ. ๒๔๖๙ ที่วัดเทวสังฆาราม โดยมีพระเทพมงคลรังษี (ดี พุทฺธโชติ) เจ้าอาวาสวัดเทวสังฆาราม เป็นพระอุปัชฌาย์ และพระครูนิวิฐสมาจาร (เหรียญ สุวณฺณโชติ) เจ้าอาวาสวัดศรีอุปลาราม เป็นพระอาจารย์ให้สรณะและศีล ภายหลังบรรพชาแล้วได้จำพรรษาอยู่ที่วัดเทวสังฆาราม ๑ พรรษา และได้มาศึกษาพระธรรมวินัยที่วัดเสน่หา จังหวัดนครปฐม หลังจากนั้น พระเทพมงคลรังษี (ดี พุทธฺโชติ) พระอุปัชฌาย์ได้พาพระองค์ไปยังวัดบวรนิเวศวิหาร และนำพระองค์ขึ้นเฝ้าถวายตัวต่อสมเด็จพระวชิรญาณวงศ์ เจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ณ ขณะนั้น (ต่อมาทรงพระกรุณาโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์) เพื่ออยู่ศึกษาพระปริยัติธรรมในสำนักวัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงได้รับประทานนามฉายาว่า “สุวฑฺฒโน” ซึ่งมีความหมายว่า “ผู้เจริญดี” จนกระทั่งพระชันษาครบอุปสมบท จึงทรงเดินทางกลับไปอุปสมบทที่วัดเทวสังฆารามเมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๖ ภายหลังจึงได้เดินทางเข้ามาจำพรรษา ณ วัดบวรนิเวศวิหาร เพื่อทรงศึกษาพระธรรมวินัย พระองค์ท่านได้เข้าพิธีอุปสมบทซ้ำเมื่อวันที่ ๑๕ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๗๖ โดยมีสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระเทพเมธี (จู อิสฺสรญาโณ) เป็นพระกรรมวาจาจารย์



การศึกษาพระปริยัติธรรม

พระองค์ทรงเริ่มเรียนพระปริยัติธรรมเพื่อกลับมาสอนพระปริยัติธรรมที่วัดเทวสังฆาราม โดยพระอุปัชฌาย์นำพระองค์ไปฝากไว้ ณ วัดเสน่หา หลังจากนั้น จึงเดินทางมายังกรุงเทพมหานคร เพื่อศึกษาพระปริยัติธรรมที่วัดบวรนิเวศวิหาร พระองค์ทรงสอบได้นักธรรมชั้นตรีได้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๒ และทรงสอบได้นักธรรมชั้นโทและเปรียญธรรม ๓ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๓ ต่อมา พระองค์จึงสอบได้ ทั้งนักธรรมชั้นเอกและเปรียญธรรม ๔ ประโยค ในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ 

ต่อจากนั้น พระองค์ทรงกลับไปสอนพระปริยัติธรรมที่โรงเรียนเทวานุกูล วัดเทวสังฆาราม เป็นเวลา ๑ พรรษา แล้วจึงทรงกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศวิหารเพื่อทรงศึกษาพระปริยัติธรรมต่อไป โดยทรงสอบได้เปรียญธรรม ๕ ประโยค ทั้งพระองค์ยังทรงศึกษาพระปริยัติธรรมอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๘๔ จึงทรงสอบได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค




สมเด็จพระสังฆราช

พ.ศ. ๒๕๑๕ พระองค์ได้รับพระราชทานสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะที่ สมเด็จพระญาณสังวร ซึ่งเป็นราชทินนามพิเศษที่โปรดพระราชทานสถาปนาแก่พระเถระผู้ทรงคุณทางวิปัสสนาธุระเท่านั้น เมื่อตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ในปี พ.ศ. ๒๕๓๒ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ สถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ในราชทินนามเดิม คือ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก





สิ้นพระชนม์

สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก สิ้นพระชนม์เมื่อวันที่ ๒๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ ณ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ได้เคลื่อนพระศพจากโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย มายังตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร

เมื่อวันศุกร์ที่ ๒๕ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๖ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จพระราชดำเนินแทนพระองค์ไปทรงสรงน้ำพระศพ ทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศกุดั่นใหญ่ทรงพระศพ ประดิษฐานภายใต้เศวตฉัตรสามชั้นแวดล้อมด้วยเครื่องประกอบ พระเกียรติยศ ณ ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร และให้มีพระพิธีธรรมสวดพระอภิธรรมพระศพ ๗ วัน

ครั้นถึงวาระพระราชทานเพลิงพระศพระหว่างวันที่ ๑๕-๑๗ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร จึงทรงพระกรุณาโปรดถวายพระโกศทองน้อยทรงพระศพ และให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้นกางกั้นพระโกศ ซึ่งถือเป็นกรณีพิเศษเพราะยังไม่เคยปรากฏการพระราชทานเลื่อนพระโกศถึงสองครั้งมาก่อน





ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิ เป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร

วันที่ ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ประกาศว่า

สมเด็จพระญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราช วัดบวรนิเวศวิหาร ทรงเป็นพระราชกรรมวาจาจารย์ มีพระคุณูปการอย่างยิ่งแด่พระองค์ ทั้งเมื่อครั้งที่ทรงผนวชและที่ทรงลาสิกขาแล้ว ได้ทรงสอนพระธรรมวินัยและคิหิปฏิบัติ ถวายให้ทรงเข้าพระราชหฤทัยอย่างลึกซึ้ง นับว่าทรงดำรงอยู่ ในฐานะอภิปูชนียบุคคลแห่งพระมหากษัตริย์ ทรงกอปรด้วยพระศีลาจารวัตรบริสุทธิ์บริบูรณ์มิหวั่นไหวต่อโลกามิส ทั้งพระฉันทจริตก็เพียบพูนด้วยสมณคุณธรรมยากจะหาผู้ใดเสมอ ทรงพระสุตญาณลึกซึ้งสามารถในธรรมวิจารณธรรมวินิจฉัยได้ถูกต้องเด็ดขาด ทรงบริหารคณะสงฆ์และการพระศาสนาให้เจริญก้าวหน้ามาโดยลำดับ ในที่สุดทรงดำรงตำแหน่งสกลมหาสังฆปริณายกนานถึง ๒๔ ปี ทรงบำเพ็ญพระกรณียกิจ ใหญ่น้อยเพื่อยังประโยชน์แก่พุทธจักรและอาณาจักรอย่างไพศาล แม้เสด็จสิ้นพระชนม์ไปแล้วนับแต่วันที่ ๒๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๕๖ แต่พุทธบริษัททุกหมู่เหล่าก็ยังเฝ้ารำลึกถึงพระเดชพระคุณอยู่มิเลือนหาย สมควรที่จะสถาปนาพระเกียรติยศพระอัฐิขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร เพื่อเป็นศรีศุภมงคลแด่พระบวรพุทธศาสนา และเป็นที่เฉลิมพระราชศรัทธาสืบไป

การนี้ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เจ้าพนักงานจัดฉัตรตาดเหลือง ๕ ชั้นถวายกางกั้นพระรูปบรรจุพระสรีรางคาร ณ วัดบวรนิเวศวิหาร กับทรงพระกรุณาโปรดเกล้า โปรดกระหม่อมให้แบ่งพระอัฐิบรรจุลงพระโกศทองคำ เชิญมาประดิษฐานในหอพระนาก วัดพระศรีรัตนศาสดาราม เพื่อเป็นที่ทรงสักการบูชาและทรงบำเพ็ญพระราชกุศลอุทิศถวาย ในพระฐานะพระบุพการีทางธรรมสืบไป




ลำดับสมณศักดิ์

- พ.ศ. ๒๔๙๐ พระราชาคณะชั้นสามัญ ที่ พระโศภณคณาภรณ์

- พ.ศ. ๒๔๙๕ พระราชาคณะชั้นราช ในราชทินนามเดิม

- พ.ศ. ๒๔๙๘ พระราชาคณะชั้นเทพ ในราชทินนามเดิม

- พ.ศ. ๒๔๙๙ พระราชาคณะชั้นธรรม ที่ พระธรรมวราภรณ์ บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกคุณวิภูสิตธรรมวิทิตคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

- พ.ศ. ๒๕๐๔ รองสมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในหิรัญบัฏว่า พระสาสนโสภณ วิมลญาณสุนทร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกธรรมาลังการวิภูสิต ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

- พ.ศ. ๒๕๑๕ สมเด็จพระราชาคณะ มีราชทินนามตามจารึกในสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติสาธก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา สัปตวิสุทธิจริยาสมบัติ อุดมศีลจารวัตรสุนทร ธรรมยุตติกคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี อรัณยวาสี

- ๒๑ เมษายน พ.ศ. ๒๕๓๒ ทรงได้รับการสถาปนาเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระญาณสังวร บรมนริศรธรรมนีติภิบาล อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัตติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนภิธานสงฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร สุขุมธรรมวิธานธำรง วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร บวรธรรมบพิตร สรรพคณิศรมหาปธานาธิบดี คามวาสี อรัณยวาสี สมเด็จพระสังฆราช

- ๒๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๖๒ ทรงได้รับการสถาปนาพระอัฐิเป็น สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร วชิราลงกรณราชาภินิษกรมณาจารย์ สุขุมธรรมวิธานธำรง อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสังฆปริณายก ตรีปิฎกปริยัติธาดา วิสุทธจริยาธิสมบัติ สุวัฑฒนวิธานสังฆวิสุต ปาวจนุตตมพิสาร วชิรญาณวงศวิวัฒ พุทธบริษัทคารวสถาน วิจิตรปฏิภาณพัฒนคุณ วิบุลสีลาจารวัตรสุนทร สรรพคณิศรมหาสังฆาธิบดี ศรีสมณุดมบรมบพิตร


#สมเด็จพระสังฆราชเจ้ากรมหลวงวชิรญาณสังวร
#สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่๑๙
#ที่นี่พระของประชาชน
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่