โบรกชี้คุมพีพีแก้ปัญหาปั่นหุ้นไม่ถูกจุด

กระทู้ข่าว
โบรกเกอร์ประเมินออกกฎเกณฑ์เพิ่มทุนพีพี ช่วยลดการเก็งกำไร - เอาเปรียบนักลงทุน แต่ไม่แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ

แหล่งข่าวโบรกเกอร์ เปิดเผยว่า มาตรการควบคุมหุ้นเพิ่มทุนแบบเจาะจง (PP) ที่ตลาดหลักทรัพย์จะออกมาบังคับใช้ ให้ผู้ลงทุนที่ได้สิทธิจองซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเจาะจง ราคาต่ำกว่าในกระดานมากกว่า 10 % จะถูกให้ห้ามขายหุ้นดังกล่าวในระยะเวลา 1 ปี นั้น มองว่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ เพราะเป็นการควบคุมการเข้ามาเก็งกำไรของนักลงทุนรายบุคคล และการเพิ่มทุนระดับต่ำ ทั้งที่แท้จริงแล้วตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ที่เห็นข้อมูลการซื้อขายของนักลงทุนแต่ละราย ที่มีการซื้อขายผิดปกติ ซึ่งเป็นต้นเหตุที่แท้จริง

"การออกมาตรการต่างๆเข้ามานั้นจะกระทบกับนักลงทุนรายบุคคลที่เข้ามาทำการซื้อขายให้อาจเสียหายได้ ทั้งที่จริงตลาดหลักทรัพย์เป็นผู้ที่เห็นการส่งคำสั่งที่ซื้อขายผิดปกติทั้งหมด แต่ทำไมถึงไม่ไปเลือกแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ น่าจะช่วยแก้ปัญหาได้ตรงจุดมากกว่า ซึ่งการออกมาตรการต่างๆ เพื่อควบคุมการเก็งกำไรอาจส่งผลกระทบกับมูลค่าการซื้อขายให้ปรับลดลงได้"

การออกมาตรการควบคุมการเพิ่มทุนแบบเจาะจงนั้นมองว่า จะช่วยลดการเอาเปรียบกับนักลงทุนรายบุคคลได้ เพราะที่ผ่านมามีหลายบริษัทจดทะเบียนที่เพิ่มทุนให้กับนักลงทุนรายใหญ่ในราคาถูกกว่าการซื้อขายในปัจจุบันค่อนข้างมาก และเมื่อได้รับหุ้นก็เทขายออกมาในกระดานอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักลงทุนรายย่อยเสียหายอย่างหนัก และเอาเปรียบนักลงทุนอย่างมาก

การออกมาตรการดังกล่าวจะช่วยแก้ไขการเอาเปรียบนักลงทุน หากราคาหุ้นเพิ่มทุนต่ำกว่ามากๆ จะติดการห้ามซื้อขายหุ้น ทำให้หุ้นเหล่านี้จะไม่ถูกขายออกมาในระยะเวลา 1 ปี และในขณะเดียวกัน บริษัทจดทะเบียนก็จะได้ประโยชน์เช่นเดิม ได้เงินเพิ่มทุนเพื่อขยายธุรกิจ ซึ่งการเพิ่มทุนแบบเจาะจงเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับภาคธุรกิจเพราะในช่วงที่ผ่านมามีความพยายามในหลายบริษัทที่ต้องการขยายธุรกิจ แต่ขอมติเพิ่มทุนแบบทั่วไปนักลงทุนไม่อนุมัติให้เพิ่มทุน หรือไม่ได้เม็ดเงินที่มากพอ การเพิ่มทุนแบบเจาะจงจะช่วยให้บริษัทเสนอขายกับผู้ที่เห็นด้วยกับแผนธุรกิจจริงๆ และบริษัทก็จะได้รับเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคม บริษัทหลักทรัพย์ไทย เปิดเผยว่า สำหรับกฎเกณฑ์การเพิ่มทุนแบบเจาะจงนั้น ยังไม่เห็นรายละเอียดที่ตลาดหลักทรัพย์เสนอการออกกฎเกณฑ์ดังกล่าวว่าจะมีข้อกำหนดอะไรบ้าง ซึ่งล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ในวันที่ 17 ก.พ.2558 จะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าพิจารณา ซึ่งเป็นฝั่งทางตลาดหลักทรัพย์เสนอวาระดังกล่าว และต้องรอดูรายละเอียดอีกครั้ง จึงยังไม่อยากให้ความเห็นอะไรเรื่องดังกล่าว เพราะอาจกระทบกับความเชื่อมั่นนักลงทุน

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยนางเกศรา มัญชุศรี กรรมการและผู้จัดการ ได้ประเมินการใช้มาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรงใน 1 เดือนแรก ว่า มาตรการดังกล่าวได้ผลเป็นอย่างดี ทำให้รอบในการหมุนเวียนของหุ้นปรับตัวลดลง 2-3 % ซึ่งการใช้มาตรการควบคุมหุ้นร้อนแรง 3 ระยะนั้นไม่ได้ส่งผลกระทบกับมูลค่าการซื้อขายต่อวัน เห็นได้จากเดือนม.ค.ที่มูลค่าการซื้อขายยังมีทิศทางเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับดัชนีตลาดหุ้นที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ต่อเนื่อง  

มาตรการคุมหุ้นร้อนนั้น ตลาดหลักทรัพย์จะใช้มาตรการ 3 ระยะ 1. หากหลักทรัพย์ใดมีการซื้อขายผิดปกติ และถูกให้ชี้แจงพัฒนาการของ
บริษัทที่อาจส่งผลกระทบกับราคาหุ้น จะถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสด หรือ บัญชีแคชบาลานซ์ 3 สัปดาห์ ระยะที่ 2 หากครบกำหนดแล้วยังมีความร้อนแรงต่อเนื่อง ตลาดหลักทรัพย์จะสั่งห้ามนำหุ้นดังกล่าวค้ำประกันบัญชีหลักทรัพย์ และถูกให้ซื้อขายด้วยเงินสดอีก 3 สัปดาห์ ระยะที่ 3 หากไม่หยุดความร้อนแรงอีกจะใช้มาตรการแรงสุด ห้ามการหักลบราคาค่าซื้อกับราคาค่าขายหลักทรัพย์เดียวกันในวันเดียวกัน หรือ Net settlement และให้ซื้อขายด้วยบัญชีซื้อขายด้วยเงินสดอีก 3 สัปดาห์

cr. http://www.bangkokbiznews.com/news/detail/634826
------------------------------------------------------------------------------

สงสัยจะมี ผบห. บางบริษัทเริ่มเดือดร้อน ประมาณว่าอุตส่าห์วางแผนลากหุ้นมาแล้ว  กำลังจะออกเพิ่มทุน pp  แต่ดันโดนสะกัดขาซะก่อน เงินที่ลงทุนไว้อาจจะขาดทุนได้  เจ้าคิกคัก

เหตุผลก็ประหลาดไปนิด  เพราะการติด silent period  ไม่ได้ขัดขวางการขายหุ้น pp ให้ผู้สนใจหรือเห็นด้วยกับแผนธุรกิจซะหน่อย  ถ้าคนที่ได้หุ้นไปซื้อเพราะอยากลงทุนจริง  ก็ควรจะถือไว้นานหน่อย เพราะตัวกิจการไม่ได้เปลี่ยนเร็วขนาดนั้น

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่