สาเหตุที่วันนี้หุ้นตัวเล็กๆโดนทุบ...

กระทู้สนทนา
หุ้นปั่น-ค่าพีอีเกิน 40 เท่า จ่อโดนเชือด “จรัมพร” ขู่หากเล่นไม่เลิกเจอไม้เรียวหวดแน่
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์ 22 มกราคม 2556 08:33 น.

ตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมปรับเกณฑ์คุม “หุ้นปั่น” เพิ่มความเข้มข้น เน้นหุ้นที่ราคาพุ่งแรงเกินเหตุโดยไม่มีพื้นฐานรองรับ และหุ้นที่ค่าพีอีสูงกว่า 40 เท่า “จรัมพร” ยอมรับ นักลงทุนยังติดใจแห่เก็งกำไรโดยเล่นกันไม่ยอมเลิก เตือนความเสี่ยงสูง และให้ระมัดระวังลงทุน เพราะอาจทำให้ตลาดเสียหาย

นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯ ยังจับตาดูความเคลื่อนไหวหุ้นที่มีราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พีอี) สูงเกิน 40 เท่า และหุ้นที่มีความร้อนแรงสูงอย่างต่อเนื่อง หากสัปดาห์นี้ยังพบหุ้นที่มีพีอีสูงเกิน 40 เท่า โดยไม่มีปัจจัยพื้นฐานรองรับ รวมถึงหุ้นอื่นๆ ที่ยังร้อนแรงผิดปกติ ตลาดหลักทรัพย์ฯ อาจมีการปรับเกณฑ์ให้เข้มงวดมากขึ้น เพราะต้องการให้การซื้อขายในตลาดหุ้นไทยเป็นไปอย่างถูกต้อง และเหมาะสม ไม่ต้องการให้เกิดการเก็งกำไรจนทำให้ตลาดเสียหาย

“ถ้าการดำเนินการทุกอย่างเป็นไปตามกฎระเบียบที่ได้ขอความร่วมมือกับโบรกเกอร์ไปอย่างถูกต้องแล้ว ก็ถือว่าตลาดได้ดูไประดับหนึ่ง แต่ถ้ายังร้อนแรงอยู่ก็ต้องมาดู ถ้าติดบัญชีซื้อขายด้วยเงินสด แคชบาลานซ์แล้วยังร้อนแรง จนต้องติดเกณฑ์ซ้ำ เท่ากับว่ากฎเกณฑ์ข้อบังคับที่มีใช้ไม่ได้ผล ต้องปรับให้เข้มงวดมากขึ้น หรือดูเกณฑ์อื่นแทน เพราะว่า ตลท.มีอำนาจในการปรับกฎเกณฑ์ได้อยู่แล้ว”

ด้าน นายชนิตร ชาญชัยณรงค์ รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการสำรวจการซื้อขายหลักทรัพย์ในเดือน ม.ค. พบว่า หุ้นขนาดกลาง และขนาดเล็ก หรือหุ้นที่ไม่ได้อยู่ใน 100 อันดับแรก (NON-SET100) พบว่าปริมาณการซื้อขาย (วอลุ่ม) เพิ่มขึ้นสูงมาก ส่งผลให้วอลุ่มเฉลี่ยในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปีนี้เกิน 5 หมื่นล้านบาทต่อวัน

โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกของปี (2 ม.ค.-16 ม.ค.) พบว่า วอลุ่มการซื้อขายของตลาดหุ้นไทยเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์ โดยสัปดาห์แรกมูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันอยู่ที่ 4.57 หมื่นล้านบาท สัปดาห์ที่ 2 อยู่ที่ 4.82 หมื่นล้านบาท (ไม่รวมรายการซื้อขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น (INTUCH)) และสัปดาห์ล่าสุด อยู่ที่ 5.74 หมื่นล้านบาท

ทั้งนี้ ผู้ลงทุนจะต้องระมัดระวัง และประเมินมูลค่ากิจการอย่างรอบคอบ หลีกเลี่ยงการลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีมูลค่าไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน และไม่ตัดสินใจบนข้อมูลที่ขาดความน่าเชื่อถือ หรือข่าวลือที่ปล่อยในห้องค้า

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่