เปิดกลยุทธ์ลงทุน 3 ขาใหญ่ ปี′58

เปิดกลยุทธ์ลงทุน 3 ขาใหญ่ ปี′58 "เล่นยาก" ต้องเลือก "Super Stock Pick"

แม้การลงทุนในปี 2557 เหมือนจะโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะดัชนีทะยานตัวขึ้นต่อเนื่องมาปิดระดับสูงสุดที่ 1,600.16 จุด ในวันที่ 26 ก.ย. 57 จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 1,298.71 จุด หรือเพิ่มขึ้น 23.21% แต่ช่วงเดือนสุดท้ายตลาดกลับหักมุมจากปัญหาราคาน้ำมันร่วงและความกังวลต่าง ๆ ทำให้ดัชนีตกฮวบจนเกิดปรากฏการณ์ "แบล็กมันเดย์" ในวันที่ 15 ธ.ค. วันเดียวดัชนีได้ร่วงลงต่ำสุดในการซื้อขายระหว่างวันถึง 138.95 จุด เกือบ 10% เรียกได้ว่าทุนหายกำไรหด จนนักลงทุนหวั่นใจกับการลงทุนในปี 2558

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการลงทุนช่วงปี 2557 ยังสามารถสร้างผลตอบแทนที่เป็นบวกได้ โดยข้อมูลจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า นับตั้งแต่ปลายปีก่อนจนถึงปัจจุบัน (27 ธ.ค. 56-17 ธ.ค. 57) ดัชนีปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 1,480.20 จุด จากสิ้นปีก่อนที่อยู่ 1,298.71 จุด หรือเพิ่มขึ้น 13.97% ขณะที่อัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลอยู่ที่ 2.86% แต่ในมุมมองของตลาดหลักทรัพย์ฯถือว่าน่าพึงพอใจ แต่นักลงทุนยังค่อนข้างผิดหวัง โดยเฉพาะนักลงทุนรายใหญ่ที่พร้อมใจกันส่ายหัวกับปรากฏการณ์หุ้นลงท้ายปี

"นักข่าว" ได้สัมภาษณ์ 3 นักลงทุนขาใหญ่ที่มีพอร์ตลงทุนหลักพันล้านบาท มาช่วยวิเคราะห์กลยุทธ์การลงทุนในปี 2558 ว่าจะเป็นอย่างไร

ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา
แนะปรับลดพอร์ตลงทุนหุ้นไทย

"ปิยพันธ์ วงศ์ยะรา" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สต็อคทูมอร์โรว์ จำกัด ซึ่งเป็นนักลงทุนรายใหญ่ที่สร้างความมั่งคั่งจากการลงทุนแบบ "หุ้น 5 เด้ง" กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในปี 2557 เป็นปีแห่งการเก็งกำไรหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็ก ซึ่งช่วยให้นักลงทุนรายย่อยสามารถสร้างกำไรได้ 3-4 เท่าตัวจากเงินลงทุนเริ่มต้น แต่ภาพรวมการลงทุนวางกลยุทธ์ได้ค่อนข้างยาก เนื่องจากดัชนีมีความผันผวนมาก นับเป็นปีที่ยากต่อการสร้างผลตอบแทนในระดับสูง

สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในปี 2558 แนะนำให้ลดการลงทุนในหุ้นไทยลงประมาณ 5% ของพอร์ตเดิม และหันมาถือครองเงินสดมากขึ้น เพื่อรอจังหวะเข้าซื้อเมื่อตลาดปรับตัวลดลง อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ที่ต้องการจะเข้าลงทุนเพิ่มในตลาดหุ้นไทย ขั้นแรกแนะนำให้เลือกหุ้นที่มีมูลค่าทางบัญชี (Price Per Book Value : PBV) ต่ำกว่า 1 เท่าประมาณ 50 บริษัท โดยไม่ต้องสนใจว่าบริษัทจะมีกำไรหรือไม่ ขั้นต่อมาให้วิเคราะห์โอกาสการเติบโตรายบริษัทให้เหลือเพียง 10 บริษัท ซึ่งจะทำให้ได้บริษัทที่น่าลงทุนในระดับหนึ่ง

"การคัดเลือกหุ้นเข้าพอร์ต ไม่จำเป็นต้องเน้นว่าบริษัทต้องมีกำไร แต่ให้ใช้เกณฑ์มาตรฐานบางอย่างมากลั่นกรองก่อน ซึ่งผมมองว่าการใช้ PBV ยังถือเป็นเครื่องมือที่ดี หลังจากนั้น เราค่อยมาสกรีนหุ้นออกทีละตัว เอาแบบที่เรามองเห็นอนาคตจริง ๆ โดยวิธีนี้จะดีกว่าเมื่อเทียบกับการที่เราไปวิ่งไล่ตามหุ้นที่ปรับตัวขึ้นไปแล้ว" นายปิยพันธ์กล่าว

ธำรงชัย เอกอมรวงศ์
2 ปัจจัยบวกพยุงตลาด Sideway

"ธำรงชัย เอกอมรวงศ์" นักลงทุนขาใหญ่สไตล์เทคนิคอลกล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยปีนี้สร้างผลตอบแทนการลงทุนค่อนข้างผิดหวัง จากครึ่งปีแรกผลตอบแทนอยู่ระดับ 60-70% แต่ครึ่งปีหลังเกิดดราม่าตลาดเปลี่ยนไปแบบคนละภาพ ส่งผลให้ผลตอบแทนจากพอร์ตของผมลดลงเหลือประมาณ 30-40%

สำหรับตลาดหุ้นไทยปี 2558 น่าจะมีลักษณะแกว่งตัวออกด้านข้าง (Sideway) หมายถึงดัชนียังไปต่อได้ แต่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นไปมากนัก และไม่ได้ปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงจนต่ำไปกว่าระดับ 1,400 จุด เนื่องจากประเทศไทยมี 2 ปัจจัยบวก ได้แก่ การเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงาน ทำให้จะได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง จนส่งผลให้ต้นทุนการเงินของบริษัทต่าง ๆ อยู่ในระดับต่ำ แม้ภาพรวมของยอดขายในปีหน้าจะหดตัว แต่บริษัทต่าง ๆ ก็ยังจะเติบโตต่อไปได้

ประเด็นถัดมาคือ การที่ประเทศไทยยังได้รับปัจจัยหนุนจากสภาพคล่องที่ธนาคารกลางแต่ละประเทศอัดฉีดออกมาเพื่อพยุงเศรษฐกิจด้วย จึงส่งผลให้หุ้นหลายบริษัทที่ไม่ได้เป็นผู้จำหน่ายพลังงานยังคงปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง

นอกจากนั้น ส่วนตัวมีมุมมองว่ายังสามารถเลือกลงทุนในหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กได้อยู่ เพียงแต่ความคาดหวังผลตอบแทนจากการลงทุนอาจจะลดลงจากปี 2557 เนื่องจากภาพรวมของดัชนีปรับตัวขึ้นได้ไม่มากนัก

ทั้งนี้ จะเลือกใช้กลยุทธ์คัดเลือกหุ้นแบบ "รายตัว" โดยยังให้ความสำคัญกับบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีประเด็น (Story) อยู่ แต่กระแสข่าวบวกที่ออกมาสนับสนุนต้องมีความชัดเจนขึ้น รวมถึงจะให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์ข่าวและผลสะท้อนที่ตามมา เช่น การลดทุน และเพิ่มทุน จะช่วยให้บริษัทได้รับผลอย่างไรบ้าง เป็นต้น

"ปี 2558 เราจะใช้วิธีอ่านงบฯอย่างเดียวคงไม่พอแล้ว แต่ต้องคาดการณ์และวิเคราะห์มากขึ้น คือเรียกว่าต้องใช้วิธีแบบ Super Stock Pick อ่านโอกาสโตของธุรกิจมากกว่าการดูงบการเงิน ดังนั้น การลงทุนปีหน้าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างมาก" นายธำรงชัยกล่าว

ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร
ปี′58 หุ้นไทยลงทุนยากขึ้น

"ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร" ต้นแบบนักลงทุนแบบเน้นคุณค่า (VI) มีความเห็นว่า ในปี 2558 การลงทุนในตลาดหุ้นจะทำได้ยากยิ่งกว่าปี 2557 เพราะแม้ตลาดจะปรับตัวลงบ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าราคาหุ้นในตลาดถูกลงจนน่าสนใจ

เห็นได้จากราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น (พี/อี) ตลาดหุ้นที่อยู่ประมาณ 15-16 เท่า ซึ่งสูงกว่ามากเมื่อเทียบกับช่วง 10 ปีก่อนที่พี/อีตลาดหุ้นไทยโดยเฉลี่ยจะอยู่ในระดับราว 10 เท่า

"การที่ตลาดหุ้นไทยมีพี/อีระดับนี้ไม่ได้ถือว่าตลาดอยู่ในช่วงที่น่าซื้อ สำหรับนักลงทุนสไตล์ VI จึงมองว่ายังไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน" ดร.นิเวศน์กล่าว

นอกจากนี้ ตลาดหุ้นไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องจับตา ได้แก่ ปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ภาพรวมยังไม่ถือว่าฟื้นตัวดีนัก อีกทั้งยังได้รับแรงกดดันจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องด้วย จึงทำให้การออกไปลงทุนต่างประเทศต้องใช้ความระมัดระวังสูง

ส่วนความเสี่ยงในประเทศ ควรจับตาในเรื่อง "ปัญหาการเมือง" โดยเฉพาะการเปลี่ยนถ่ายอำนาจที่จะเกิดขึ้น ประเด็นนี้ยังไม่มีความชัดเจน ทั้งยังต้องติดตามความคืบหน้าโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาลด้วยว่า จะเกิดได้จริงในช่วงไหน เพราะตลาดได้รับรู้ข่าวดังกล่าวไปแล้วเหลือเพียงรอให้เกิดขึ้นจริงเท่านั้น

"ดร.นิเวศน์" แนะนำว่า ในปี 2558 นักลงทุนควรจับตา "เมกะเทรนด์" ที่จะเกิดขึ้น ซึ่งส่วนตัวประเมินว่ากลุ่มหุ้นที่จะได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในปีหน้า คือ "กลุ่มอุปโภคบริโภค" อาทิ กลุ่มค้าปลีก, อาหาร, ผู้จัดจำหน่ายและให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นต้น

แต่แนะนำให้หลีกเลี่ยงกลุ่มสินค้าอุปโภคที่มีราคาแพง เช่น บ้าน ยานยนต์ ฯลฯ เพราะแม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มขยายตัว แต่ไม่ได้อยู่ในอัตราที่สูงนัก ซึ่งหมายความว่าผู้บริโภคมีแรงซื้อค่อนข้างจำกัด

ต้นแบบนักลงทุน VI ของไทยทิ้งท้ายว่า "การใช้วิธีลงทุนแบบรายกลุ่ม และลงทุนหุ้นขนาดกลาง-เล็ก โดยหวังว่าจะได้กำไรแบบปี′57 คงไม่พอแล้ว แต่ต้องมองรายละเอียด ปีหน้าการลงทุนจะยากขึ้น ต้องคัดหุ้นรายตัวแบบ Super Stock Pick"

ที่มา http://www.thaistockvi.com/2014/12/3-58.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่