พรบ.แอลกอฮอล์ แก้หรือสร้างปัญหาคงระบุยากแต่เรารับได้แค่ไหน

สถานการณ์ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการภายใต้ร่างกฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
เนื่องจากกระทรวงสาธารณสุขเห็นชอบกฎหมายควบคุมเหล้า 7 ฉบับ เตรียมประกาศใช้เดือนมกราคม 2558
…………………………………………………………………………………………………………………………………

เมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2557 ที่ผ่านมาสื่อหลายฉบับรายงานว่าการประชุมคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฯ ครั้งที่1/2557 โดยมีรองนายกฯ (ยงยุทธ  ยุทธวงศ์) เป็นประธาน  มีมติเห็นชอบร่างกฎหมายจำนวนทั้งสิ้น 7 ฉบับ ประกอบด้วย  

1.    ร่างประกาศคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข เกี่ยวกับฉลากของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. …
2.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางรถไฟ พ.ศ. ...
3.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง พ.ศ. …
4.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในท่าเรือโดยสารสาธารณะ พ.ศ. …
5.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแล ใช้สอยของราชการวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. …
6.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. ... เรื่องการห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในวันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษาและวันออกพรรษา โดยยกเว้นการขายเฉพาะร้านค้าปลอดอากรภายในท่าอากาศยานนานาชาติ
7.    ร่างประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทาง พ.ศ. ... สาระสำคัญของร่างประกาศฉบับนี้คือห้ามขายและห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บนทางสาธารณะที่ใช้ในการสัญจร  

(คำนิยามของ “ทาง”  ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522  นั้นหมายความว่า ทางเดินรถ  ช่องเดินรถ  ช่องเดินรถประจำทาง ไหล่ทาง ทางเท้า ทางข้าม ทางร่วมทางแยก ทางลาด ทางโค้ง สะพาน และลานที่ประชาชนใช้ในการจราจร และให้หมายความรวมถึงทางส่วนบุคคลที่เจ้าของยินยอมให้ประชาชนใช้ในการจราจร …)


ทั้งนี้  ร่างกฎหมายที่บัญญัติห้ามขายหรือห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะส่งผลกระทบต่อต่อร้านค้าในเขต ห้ามขาย ห้ามบริโภค อาทิ ถนนข้าวสาร, ถนนพัฒน์พงศ์,  ถนน Walking Street ของพัทยา,  ถนนบางลาของภูเก็ต, ถนนอาร์ซีเอ  ซึ่งผู้ประกอบการและบรรดานักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติจะไม่สามารถบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในบริเวณทางได้อย่างเด็ดขาด  โดยทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยวลด ร้านค้าต้องปิดกิจการ ทำให้เป้าหมายการผลักดันเรื่องการท่องเที่ยวของประเทศมีผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากหลายจุดเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของประเทศ

อนึ่ง การประกอบกิจการของร้านเหล่านี้ ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อ ปัญหาสังคมในเรื่อง อุบัติเหตุจากการเมาแล้วขับ การจำหน่ายให้เด็กและเยาวชน ดังนั้น การที่หน่วยงานรัฐออกกฎหมายในลักษณะดังกล่าวจะสร้างผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและบริการและส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์การท่องเที่ยวซึ่งถือเป็นรายได้หลักที่สำคัญของประเทศไทย

โดยร่างกฎหมายนี้จะมีการเสนอลงนามและประกาศใช้ในช่วงเดือนมกราคม 2558 อย่างแน่นอน  ดังนั้น หากภาคเอกชน สมาคมร้านค้าและบรรดาผู้ประกอบการไม่ได้มีส่วนแสดงความคิดเห็นต่อผู้บริหารประเทศ ในอนาคตธุรกิจท่องเที่ยวและบริการคงได้รับผลกระทบที่รุนแรงอย่างต่อเนื่องและไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้

*ทั้งนี้ตามความรู้สึก  การนั่งดื่มเล็กๆน้อยใน  side walk ถือเป็นเสน่ห์และความทรงจำมากกว่าในร้านอาหารที่ตกแต่งแบบเทียบกันไม่ได้
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่