Licence to Kill..เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กับข้อกังขาที่หาอ่านไม่ได้ในสำนักข่าวอิศราฯ

กระทู้ข่าว
ปัญหาอุบัติเหตุบนท้องถนนของประเทศไทย ถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวถึงบนเวทีสัมมนาในประเทศไทยนับครั้งไม่ถ้วน แม้แต่บนเวทีโลกยังเคยหยิบยกกรณีศึกษาในประเทศไทยขึ้นมากล่าวถึงเมื่อ 2 ปีก่อนหลัง 2 สามี-ภรรยานักปั่นจักรยานเลื่องชื่อของอังกฤษที่ปั่นจักรยานไปมาแล้วทั่วโลก ต้องมาจบชีวิตลง จากอุบัติเหตุบนท้องถนนในประเทศไทยเรา

ย้อนรอยไปดูสถิติแค่ช่วง 7 วันอันตรายในเทศกาลปีใหม่ 2557 วันที่ 27 ธันวาคม 56 - 2 มกราคม 57 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยรายงานมีสถิติอุบัติเหตุเกิดขึ้น 3,174 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 366 คน บาดเจ็บ 3,345 คน ใกล้เคียงกับสถิติในปี 56 ที่เกิด 3,176 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 365 ราย บาดเจ็บ 3,329 คน

แน่นอนในเทศกาลปีใหม่ 2558 นี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ยังคงเดินหน้าตีปี๊บมาตรการลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาล 7 วันอันตรายนี้เช่นเดิม และดูเหมือนมาตาการที่งัดออกมาใช้ก็คงจะเจริญรอบตามมาตรการเดิมๆ ที่ “ล้มเหลว” มาตลอด

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ “เมาแล้วขับ” ร้อยละ 32.42 ขับรถเร็วเกินกำหนด ร้อยละ 25.94 ซึ่งในช่วงเทศกาลสงกรานต์เมษายนนี้ เราคงได้เห็นรัฐบาลและหน่วยงานต่างๆ พากัน “ตีปี๊บ” เข็นมาตรการลดอุบัติเหตุสกัดกั้นการเข้าถึงแอลกอฮอล์กันออกมาอีกตามเคย ซึ่งข้อมูลเชิงลึกต่อไปนี้ ไม่เคยปรากฏในการรายงานข่าวของสำนักข่าวอิศราฯ ที่ขึ้นชื่อในการเสนอข่าวเชิงสืบสวนสอบสวน

ซึ่งต้องถาม “ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์” ผู้อำนวยการสำนักข่าวแห่งนี้ว่า ทำไมสำนักข่าวอิศราฯจึงไม่เคยขุดคุ้ยข้อมูลเหล่านี้มาตีแผ่ให้สังคมได้รับทราบ เหมือนกับที่ปัจจุบันได้ตีแผ่องค์กรอื่นๆ ชนิดกัดไม่ปล่อยมาโดยตลอด หรืออาจะเป็นเพราะว่ากองทุน สสส.สนับสนุนงบประมาณให้เฉียด 100 ล้านบาท มาตลอดระยะเวลา 7-8 ปี จึงทำให้ไม่กล้าตีแผ่ผลงานเน่าๆ ของกองทุน สสส.ที่ละเลงเงินจากภาษีของประชาชนไปร่วม 50,000 ล้านบาท ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยการรณรงค์ในโครงการเมาไม่ขับ แต่ผลปรากฏว่าผลงานกลับ “ห่วยแตก” ตัวเลขเยาวชนคนไทยดื่มเหล้าสูงขึ้นทุกปี คนบาดเจ็บล้มตายในช่วงเทศกาลจำนวนมาก แต่ความล้มเหลวของกองทุน สสส.เหล่านี้ ไม่เคยถูกสำนักข่าวอิศราฯนำไปรายงานให้สังคมได้รับทราบ..เศร้า (อ่านว่า..เศร้า)

คลัง : สาละวนอยู่กับการปรับภาษี

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณามาตรการต่างๆ ของรัฐในการสกัดกั้นการ “เข้าถึง” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในอดีตนั้น จะเห็นได้ว่า มาตรการทางภาษี โดยเฉพาะการไล่เบี้ยจัดเก็บภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ “เหล้า-เบียร์” ดูจะเป็นมาตรการหลักที่รัฐบาลใช้เป็น “สูตรสำเร็จ” มาโดยตลอด

ด้วยข้ออ้างเพื่อลดการดื่มสกัดกั้นการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มาโดยตลอด แต่ดูเหมือนยิ่งปรับก็ยิ่งทำให้ตลาดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ขยายตัว และทำให้เด็กและเยาวนไทยนักดื่มหน้าใหม่ตกเป็นเหยื่อเพิ่มมากขึ้น ไม่เคยลดน้อยถอยลงไปแม้แต่น้อย

ล่าสุดกรมสรรพสามิตกระทรวงการคลังได้ดำเนินการปรับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเหล้าเบียร์ไปเมื่อปลายปี 2556 โดยมีการปรับเปลี่ยนทั้งการขยายเพดานอัตราภาษีให้สูงขึ้น และการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บใหม่เพื่อสอดคล้องเป็นไปตามหลักสากล และเพื่อเตรียมความพร้อมเข้าสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558

อย่างไรก็ตามเมื่อย้อนกลับไปพิจารณารายได้จัดเก็บภาษบาปในแต่ละปี ที่อ้างว่าเพื่อสกัดกั้นการดื่มเหล้าเบียร์เพิ่มขึ้นนั้น เหตุผลเหล่านี้ดูจะไม่ได้ทำให้ยอดการ “ถอง” ของนักดื่มทั้งหน้าเก่า-หน้าใหม่ลดลงไปแม้แต่น้อย

สธ.กับมาตรการ “ม้าลำปาง”

ฟากฝั่งกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นั้นได้ผลักดัน พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 เพื่อสกัดกั้นการขยายตัวของผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ด้วยกลยุทธ์ทางการตลาดรูปแบบต่างๆ มีการผลักดันประกาศสำนักนายกฯห้ามโฆษณาเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามการทำโฆษณาแฝง เข็นมาตรการควบคุมการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปแล้วถึง 33 ฉบับ

อาทิ 1.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่อง การห้ามขายหรือห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในพื้นที่ประกอบกิจการ โรงงานตามกฎหมายว่าด้วยโรงงาน 2.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ หรือบริเวณห้ามบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บนทางสาธารณะขณะขับขี่หรือขณะโดยสารอยู่ในรถหรือบนรถทุกประเภท มีผลตั้งแต่วันที่ 8 สิงหาคม 55 3.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในรัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่นของรัฐ พ.ศ.2555 มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 22 สิงหา 55 เป็นต้นมา

ล่าสุดคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ได้เสนออนุมัติให้กระทรวงสาธารณสุขและรัฐออกประกาศสำนักนายกฯอีก 5 ฉบับ ประกอบด้วย 1.ประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องกำหนดสถานที่ห้ามขาย ห้ามบริโภคในท่าเรือโดยสารสาธารณะ 2.ห้ามขายหรือบริโภคในสถานที่ที่อยู่ในกำกับดูแลของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานของรัฐ 3.กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายห้ามดื่มบนทางรถไฟ 4.กำหนดวันห้ามขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในวันที่ 31 ธันวาคม และ 1 มกราคม และวันที่ 13-15 เมษายนของทุกปี และ 5.กำหนดสถานที่หรือบริเวณห้ามขายหรือบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในสถานีขนส่ง โดยจะใช้บังคับในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2558 ต่อเนื่องไปยังเทศกาลสงกรานต์ 2558

แต่ก็ดูเหมือนว่ามาตรการต่างๆ ของ สธ.เหล่านี้จะเป็นการไล่ “ตามเงา” เสียมากกว่า!

สสส.กับการ “ตำน้ำพริกละลายแม่น้ำ”

อีกหน่วยงานที่ยื่นมือเข้ามาดูแลสินค้าบาปทั้งหลายคือ “สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ” หรือ สสส.ซึ่งได้ป่าวประกาศความสำเร็จขององค์กรในการเผยกิจกรรมสร้างสิ่งแวดล้อมสังคมใหม่ว่า ได้ช่วยคนไทยควักกระเป๋าจ่ายค่าน้ำเมาลด 5 ปี ประหยัดไปแล้ว 50,000 ล้านบาท ปรับพฤติกรรมดื่มอันตรายน้อยลง
“แต่หากไม่มีการรณรงค์ลดดื่มแอลกอฮอล์ ค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์จะเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อคำนวณแล้วเท่ากับ ใน 5 ปีที่ผ่านมา สามารถประหยัดเงินค่าซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้เกือบ 50,000 ล้านบาท รวมทั้งอัตราการดื่มแบบอันตรายมีแนวโน้มลดลง จากร้อยละ 9.1 ในปี 2546-2547 เหลือร้อยละ 7.3 ในปี 2551-2552 โดย สสส.จะทำหน้าที่เป็นน้ำมันหล่อลื่นเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาแอลกอฮอล์อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับปัญหาใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคต” ทพ.กฤษดา กล่าว

อย่างไรก็ตาม มาตรการรณรงค์ของ สสส.ได้ผลดั่งที่ป่าวประกาศไปหรือไม่นั้น ทุกฝ่ายต่างก็รู้แก่ใจกันดี ข้อมูลการบริโภคแอลกอฮอล์ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับองค์การอนามัยโลก (WHO) และเครือข่ายนโยบายแอลกอฮอล์ระดับโลก เคยแถลงไปเมื่อกลางปีที่แล้ว

สถิติการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในประเทศไทย จากการสำรวจประชากรในเยาว์วัยที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไป ที่นัยว่า มีมากกว่า 16.2 ล้านคัน และมีอัตราการดื่มเหล้า-เบียร์สูงเฉลี่ย 58 ลิตร/คน/ปี อยู่ในอันดับที่ 40 ของโลก และสูงกว่าอัตราการดื่มเฉลี่ยของโลกที่อยู่ใน ระดับ 6.13 ลิตร/ปีถึง 9 เท่า โดยเฉพาะเหล้ากลั่นที่ดื่มมากเป็นอันดับ 5 ของโลก โดยมีปริมาณ 13.59 ลิตร/คน/ปี

เป็นเครื่องสะท้อนให้เห็นถึงผลงานกันชัดเจนว่า มาตรการทั้งหลายแหล่เหล่านั้นไม่สามารถจะลดจำนวนนักดื่มหน้าใหม่ได้แม้แต่น้อย!

และหากจะพิจารณาท่าทีของกระทรวงการคลัง ที่มีต่อบทบาทหน้าที่ของกองทุน สสส.ก่อนหน้านี้ จะเห็นได้ว่า หลังจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติขึ้นอัตราภาษีสุราและยาสูบ เมื่อปลายปี 55 ซึ่งจะมีส่วนทำให้รายได้ของกองทุน สสส.มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นด้วยนั้น กระทรวงการคลังเองเริ่มตั้งคำถามต่อบทบาทของกองทุน สสส.หลังจากตรวจพบว่า โครงการรงณรงค์ลดละเลิกยาเสพติดของ สสส.ไม่ประสบความสำเร็จและมีการใช้จ่ายเงินอย่าง “ไม่คุ้มค่า”

ล่าสุดโรงงานยาสูบถึงกับทำเรื่องถึงกระทรวงการคลัง เพื่อขอจ่ายเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุน สสส.เพื่อส่งให้แก่กระทรวงการคลังโดยตรงด้วยเช่นกัน

Licence to Kill : ถูกกว่าน้ำเปล่า

หากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณารายได้จัดเก็บภาษีบาปเหล้า-เบียร์ ของกรมสรรพสามิต ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จ-ล้มเหลวในการสกัดกั้นการเข้าถึงสินค้าบาปของประชาชนคนไทยนั้น จะเห็นว่า ในแต่ละปีกรมสรรพสามิตสามารถจัดเก็บภาษีจากสินค้าบาปได้เพิ่มมากขึ้นทุก

โดยในปี 55 จัดเก็บภาษีสุราได้ 53,499 ล้าน และเบียร์ 61,998 ล้านบาท หรือรวมแล้วกว่า 117,000 ล้านบาท ปี 2556 ยังคงมียอดจัดเก็บภาษีเหล้า-เบียร์เพิ่มขึ้นไป 121,757 ล้านบาท แยกเป็นภาษีเหล้า 52,640 ล้านบาท และเบียร์ 69,119 ล้านบาท ปี 2557 ยอดจัดเก็บยังคงเพิ่มขึ้นเป็น 141,213 ล้านบาทแยกเป็นภาษีสุรา 64,654 ล้านบาท และภาษีเบียร์ 69,119 ล้านบาท

และหากทุกฝ่ายจะได้ย้อนกลับไปพิจารณาตลาดของผู้ค้าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมืองไทย และจะเห็นต้นตอที่ทำให้เมืองไทยกลายเป็น “สวรรค์ของนักดื่ม” ก็เพราะจำนวน “ผู้ค้า” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่ได้รับใบอนุญาตให้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเมืองไทยนั้น ตัวเลขที่เคยมีการจัดเก็บข้อมูลไว้ในปี 2550 มีผู้ได้รับใบอนุญาตขายเหล้าทั่วประเทศ 530,000 ร้าน เทียบกับประชากรไทย 65 ล้านคน หรือเฉลี่ย 1 ร้านค้าต่อประชากร 120 คน และคาดว่าตัวเลขผู้ได้รับใบอนุญาตขายเหล้าเบียร์อาจสูงกว่านี้อีกหลายเท่า เพราะตัวเลขนี้เป็นตัวเลขที่เก็บสถิติไว้ตั้งแต่ปี 2550 หรือเมื่อกว่า 7 ปีมาแล้ว

ตัวเลขดังกล่าว ยังไม่รวมร้านขายเหล้าประเภทหาบเร่ แผงลอย เพิงหมาแหงน ที่ตั้งอยู่ตามตรอกซอกซอย ย่านชุมชนต่างๆ อีกเรือนหมื่นเรือนแสนรายที่ไม่มีใบอนุญาตปูเสื่อ ตั้งโต๊ะขายลาบ น้ำตก ซกเล็กส้มตำกันเต็มไปหมด ซึ่งแน่นอนว่าทุกร้านต้องมีบริการเหล้าเบียร์เป็นของแถม

“ในต่างประเทศนั้นไม่เพียงแต่ห้ามจำหน่ายและดื่มเหล้า-เบียร์ในที่ทางสาธารณะแล้ว แม้แต่ร้านค้าที่จำหน่ายยังถูกกำหนดเอาไว้เข้มงวด ไม่ใช่นึกจะตั้งที่ไหนก็ตั้ง คนที่เข้าไปดื่มก็ใช่จะสั่งได้ตามอำเภอใจ เขาจำกัดการดื่มเอาไว้ค่อนข้างเข้มงวด หากเห็นว่าเมาแล้วเขาจะไม่ขายเหล้าเพิ่มให้ แม้แต่หน้าบ้านก็ใช่ว่าจะตั้งโต๊ะเปิดปาร์ตี้ดื่มเหล้านี้กันตามอำเภอใจได้”

ล่าสุดเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการจำหน่ายเหล้า-เบียร์ และยาสูบ กระทรวงการคลังยังแจกของขวัญปีใหม่ด้วยการเพิ่มการอำนวยความสะดวกในการให้บริการต่อใบอนุญาตขายสุรา ยาสูบ และไพ่ (ต่ออายุ) โดยสามารถยื่นขออนุญาตได้ที่เคาน์เตอร์เซอร์วิสต่างๆ ทั่วประเทศ จากปัจจุบันที่เปิดให้บริการขอใบอนุญาตดังกล่าวล่วงหน้าผ่านทางไปรษณีย์อยู่แล้ว

ไม่แปลกใจเหตุใดเมืองไทยถึงได้ชื่อว่า “สวรรค์ของนักดื่ม” ทำอะไรก็ได้คือไทยแท้ ไม่เพียงแต่เราจะสามารถหาซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เหล้า-เบียร์ หรือเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมแอลกอฮอล์ได้ง่ายดายเสียยิ่งกว่าหาซื้อ “นมกระป๋อง” หรือ “ปลาทูเข่ง”

การบังคับให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของกฎหมาย (Enforce) กฎหมายในเมืองไทยยังล้าหลัง และไร้กฎเกณฑ์ประเภททำอะไรก็ได้คือไทยแท้เสียอีก แม้แต่มาตรการล่าสุดที่สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พยายามตีปี๊บจะเป็น “ยาหม้อ” สกัดกั้นปัญหาการลุกลามและเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างได้ผลก็เช่นกัน

กับมาตรการห้ามจำหน่ายเหล้า-เบียร์บนทางเท้าที่ทุกฝ่ายรู้แก่ใจกันดีว่า ร้านข้าวต้ม เพิงหมาแหงน ร้านค้าริมทางที่ขายอาหารตามสั่ง ลาบ น้ำตก ส้มตำ ล้วนยึดทำเลทองริมทางเท้าเป็นจุดขาย เพราะกฎหมายมีความคลุมเครือ นิยามคำจำกัดความที่ยังคงสามารถตีความออกน้ำออกทะเลได้ ทำให้ไม่สามารถบังคับใช้ได้ผลในทางปฏิบัติ!
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่