วิเวก ๓ ขอชาวพุทธผู้มีศรัทธาจงเข้าถึงในชาตินี้ด้วยเทอญ

เคยมีการถามกันว่า จะไปปฏิบัติธรรมทำไมที่วัดวาอารามไกลหูไกลตาชาวบ้าน ปฏิบัติธรรมอยู่ที่บ้านก็ได้
จริงๆแล้วก็ตอบไม่ยาก... เหมือนจะถามว่าแล้วไปเรียนหนังสือที่โรงเรียนทำไมละครับ อ่านเองอยู่ที่บ้านก็ได้
เคยมีครูบาอาจารย์ท่านกล่าวไว้ว่า ถ้าเริ่มปฏิบัติ ให้ปฏิบัติเป็นหมู่คณะ จะได้ผลดีกว่า เพราะจิตคนที่เพิ่งเริ่มจะอ่อนแอ
พร้อมยอมแพ้ แก่อำนาจของกิเลสตัณหา กิเลสบอกว่าพอก็พอ กิเลสบอกให้นอนก็นอน กิเลสบอกให้ดูทีวีก็จะดู
แต่ถ้าปฏิบัติในสถานที่ที่มีกฎระเบียบ มีหมู่คณะเพื่อนฝูง กำลังใจจะดีขึ้น อย่างที่ฝรั่งเขาเรียกว่า people power
อีกอย่างหนึ่ง สถานที่ปฏิบัติธรรมมักจะจัดให้เข้าถึงอารมณ์วิเวกได้ง่าย วิเวกที่สำคัญก็คือ กายวิเวก จิตตวิเวก
ไปลับฝีมือฝึกพลังใจให้ได้ซึ่งจิตตวิเวกในสถานที่ที่เกื้อหนุน เพื่อที่จะได้เอาเคล็ดวิชานั้นมาใช้ยามกลับเข้าเมือง
ให้จิตมันชินอยู่กับการอยู่คนเดียว การอยู่เงียบๆ การตั้งอยู่ในฌานต่างๆ และการเข้าถึงอริยมรรคอริยผล
ส่วนอุปธิวิเวกนั้น ไม่ต้องพูดกันมาก เป็นพระอรหันต์แล้วก็ได้อุปธิวิเวกแน่นอน

ขอให้ชาวพุทธผู้มีศรัทธาเข้าถึงวิเวกทั้ง ๓ ในชาตินี้กันทุกคนนะครับ
ปล.สำหรับคำถามว่า การปฏิบัติเป็นหมู่คณะนั้นไม่ขัดแย้งกับกายวิเวกหรือ..?
ก็ขอตอบว่า สถานที่ปฏิบัติธรรมที่ดีนั้น แม้ว่าเราจะอยู่หลายคนก็เหมือนอยู่คนเดียว
และบางสถานที่ก็มีพร้อมให้อยู่คนเดียวด้วย (แต่การปฏิบัติรวมก็ยังมีอยู่เพราะความสะดวกในการสอนการปฏิบัติ)
ยิ่งถ้าเข้าถึงจิตตวิเวกแล้ว คนเดียว ตัวเดียว อันเดียวที่เราคบก็คือ ใจ

พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส

ว่าด้วยวิเวก ๓ อย่าง

[๓๓] คำว่า นรชนเช่นนั้น ย่อมอยู่ไกลจากวิเวก มีความว่า วิเวก ได้แก่ วิเวก ๓อย่าง คือ กายวิเวก จิตตวิเวก อุปธิวิเวก.

กายวิเวกเป็นไฉน?
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ย่อมซ่องเสพเสนาสนะอันสงัด คือ
ป่า โคนต้นไม้ ภูเขา ซอกเขา ถ้ำ ป่าช้า ป่าชัฏ ที่แจ้ง ลอมฟาง และเป็นผู้สงัดด้วยกายอยู่
คือ เดินผู้เดียว ยืนผู้เดียว นั่งผู้เดียว นอนผู้เดียว เข้าบ้านเพื่อบิณฑบาตผู้เดียว กลับผู้เดียว นั่งอยู่ในที่เร้นลับผู้เดียว
อธิษฐานจงกรมผู้เดียว เป็นผู้เดียว เที่ยว อยู่ เปลี่ยนอริยาบถ ประพฤติรักษาเป็นไป ให้เป็นไป นี้ชื่อว่า กายวิเวก.

จิตตวิเวกเป็นไฉน?
ภิกษุผู้บรรลุปฐมฌาน มีจิตสงัดจากนิวรณ์
บรรลุทุติยฌาน มีจิตสงัดจากวิตกและวิจาร
บรรลุตติยฌาน มีจิตสงัดจากปีติ
บรรลุจตุตตถฌาน มีจิตสงัดจากสุขและทุกข์
บรรลุอากาสานัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากรูปสัญญา ปฏิฆสัญญา นานัตตสัญญา
บรรลุวิญญาณัญจายตนฌาน มีจิตสงัดจากอากาสานัญจายตนสัญญา
บรรลุอากิญจัญญายตนฌาน มีจิตสงัดจากวิญญาณัญจายตนสัญญา
บรรลุเนวสัญญานาสัญญายตนฌานมีจิตสงัดจากอากิญจัญญายตนสัญญา

(เมื่อภิกษุนั้น) เป็นโสดาบันบุคคล มีจิตสงัดจากสักกายทิฏฐิ วิจิกิจฉา สีลัพพัตตปรามาส
ทิฏฐานุสัย วิจิกิจฉานุสัย และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับสักกายทิฏฐิเป็นต้น

เป็นสกทาคามีบุคคล มีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์ อย่างหยาบ กามราคานุสัย
ปฏิฆานุสัย อย่างหยาบ และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกันกามราคสังโยชน์อย่างหยาบ เป็นต้นนั้น

เป็นอนาคามีบุคคลมีจิตสงัดจากกามราคสังโยชน์ ปฏิฆสังโยชน์อย่างละเอียด
กามราคานุสัย ปฏิฆานุสัย อย่างละเอียด และจากกิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับกามราคสังโยชน์อย่างละเอียด เป็นต้นนั้น

เป็นอรหันตบุคคลมีจิตสงัดจากรูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ อวิชชา มานานุสัย ภวราคานุสัย อวิชชานุสัย
กิเลสที่ตั้งอยู่ในเหล่าเดียวกันกับรูปราคะเป็นต้นนั้น และจากสังขารนิมิตทั้งปวงในภายนอก นี้ชื่อว่าจิตตวิเวก.

อุปธิวิเวกเป็นไฉน? กิเลสก็ดี ขันธ์ก็ดี อภิสังขารก็ดี เรียกว่าอุปธิ.
อมตะ นิพพานเรียกว่าอุปธิวิเวก ได้แก่ธรรมเป็นที่ระงับสังขารทั้งปวง เป็นที่สละคืนอุปธิทั้งปวง
เป็นที่สิ้นตัณหา เป็นที่สำรอก เป็นที่ดับ เป็นที่ออกไปจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด นี้ชื่อว่าอุปธิวิเวก.

ก็กายวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้มีกายหลีกออกแล้ว ยินดียิ่งในเนกขัมมะ
จิตตวิเวกย่อมมีแก่บุคคลผู้มีจิตบริสุทธิ์ ถึงซึ่งความเป็นผู้มีจิตผ่องแผ้วอย่างยิ่ง
อุปธิวิเวก ย่อมมีแก่บุคคลผู้หมดอุปธิถึงซึ่งนิพพานอันเป็นวิสังขาร.

คำว่า ไกลจากวิเวก มีความว่า นรชนนั้นใด เป็นผู้ข้องอยู่ในถ้ำอย่างนี้ อันกิเลสมากปิดบังไว้อย่างนี้ หยั่งลงในที่หลงอย่างนี้
นรชนนั้นย่อมอยู่ไกลแม้จากกายวิเวก ย่อมอยู่ไกลแม้จากจิตตวิเวก ย่อมอยู่ไกลแม้จากอุปธิวิเวก
คืออยู่ในที่ห่างไกลแสนไกล มิใช่ใกล้ มิใช่ใกล้ชิด มิใช่เคียง มิใช่ใกล้เคียง.
คำว่า อย่างนั้น คือ ผู้หยั่งลงในที่หลง ชนิดนั้น เช่นนั้น ดำรงอยู่ดังนั้น แบบนั้น เหมือนเช่นนั้น
เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า นรชนเช่นนั้นย่อมอยู่ไกลจากวิเวก.

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๙ บรรทัดที่ ๕๕๖ - ๕๘๙. หน้าที่ ๒๔ - ๒๕.
http://www.84000.org/tipitaka/read/v.php?B=29&A=556&Z=589&pagebreak=0

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่