ต้องอ่าน! ใครบอกว่าสหรัฐฯและประเทศทุนนิยมเสรีหลายประเทศ ยกเลิกภาษีมรดกแล้ว ??

จากมติชนออนไลน์

กานดา นาคน้อย

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์
มหาวิทยาลัยคอนเน็ตทิคัต สหรัฐอเมริกา


ภาษีมรดกและเมตตาจิต

ฉันอ่านบทความจากสื่อออนไลน์พบว่ามีการบิดเบือนว่าสหรัฐฯและหลายประเทศยกเลิกภาษีมรดกแล้ว   

ที่จริงแล้วประเทศทุนนิยมตะวันตกอย่างสหรัฐฯและอังกฤษยังไม่เลิกเก็บภาษีมรดก   ประเทศทุนนิยมในเอเชียอย่างญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ก็เช่นเดียวกัน   แม้ว่าภาษีมรดกทำรายได้ภาษีให้ไม่มากและประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาภาษีเงินได้ส่วนบุคคลเป็นรายได้หลัก (ต่างจากรัฐบาลไทยที่พึ่งพาภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นรายได้หลัก)   แต่ภาษีมรดกก็ยังไม่ได้โดนยกเลิก  บางประเทศกำลังจะขึ้นอัตราภาษีมรดกด้วยซ้ำ  

แน่นอนว่าในต่างประเทศมีเศรษฐีที่พยายามผลักดันให้ลดภาษีมรดกและยกเลิกภาษีมรดกโดยอ้างว่าเป็นภาษีซ้ำซ้อน (วาทกรรมยอดฮิตในหมู่คนที่ผลักดันการยกเลิกภาษีทุกรูปแบบ)   แต่ในขณะเดียวกันก็มีเศรษฐีที่คัดค้านการยกเลิกภาษีมรดก    ที่โด่งดังคือมหาเศรษฐีระดับโลกอย่าง วอเรน บัฟเฟต์และบิลล์ เกตต์  เขาคัดค้านการยกเลิกภาษีมรดกอย่างเปิดเผยด้วยเหตุผลที่ว่าภาษีมรดกคือการคืนให้สู่สังคม   มหาเศรษฐีร่ำรวยได้จากการจ้างแรงงานทั้งที่แรงงานมีทักษะและแรงงานไร้ทักษะ   การสร้างแรงงานมีทักษะก็ต้องใช้ทรัพยากรสาธารณะด้วย     


ภาษีกองมรดกและภาษีมรดกที่สหรัฐฯ

รัฐบาลกลางของสหรัฐฯจัดเก็บภาษีกองมรดก(Estate tax) หลังมรณกรรมก่อนที่มรดกจะโดนโอนไปสู่ทายาท    ภาษีดังกล่าวโดนจัดเก็บควบคู่ไปกับภาษีของขวัญ (Gift tax) เพื่อป้องกันไม่ให้ถ่ายเททรัพย์สินไปสู่ทายาทก่อนมรณกรรม    ภาษีกองมรดกมีชื่อเล่นว่าภาษีความตาย (Death tax)  ชื่อนี้เป็นที่นิยมในหมู่คนที่พยายามผลักดันให้ยกเลิกภาษีกองมรดกด้วยการนำเสนอว่าเป็นภาษีที่หากินกะความตายของพลเมืองฟังดูเป็นภาษีที่ใจร้ายใจดำ (ดราม่านิดหน่อย)

นอกจากภาษีมรดกที่จัดเก็บโดยสรรพากรของรัฐบาลกลางแล้วยังมีภาษีมรดกที่จัดเก็บโดยรัฐบาลมลรัฐด้วย   บางมลรัฐเก็บภาษีกองมรดกในลักษณะเดียวกัน   บางมลรัฐเก็บภาษีมรดกหลังโอนกรรมสิทธิ์ให้ทายาทแล้ว  (Inheritance tax)     ภาษีมรดกแตกต่างจากภาษีกองมรดกตรงที่ว่าถ้ามีทายาทหลายคน   มรดกที่ทายาทแต่ละคนได้รับก็จะน้อยกว่ากองมรดกทั้งหมด   อัตราภาษีก็จะแตกต่างกันไป    มีบางมลรัฐก็ไม่เก็บภาษีมรดกเลย    มหาเศรษฐีที่อยากลดภาระภาษีมรดกก็นิยมย้ายไปเกษียณและเสียชีวิตที่มลรัฐที่ไม่มีภาษีมรดก  

ปัจจุบันอัตราภาษีกองมรดกที่จัดเก็บโดยรัฐบาลกลางมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 40%  โดยยกเว้นภาษีให้กองมรดก 5.34 ล้านเหรียญแรก  (ประมาณ 150 ล้านบาท)   ส่วนอัตราภาษีกองมรดกในระดับมลรัฐสูงสุด 20% ที่มลรัฐวอชิงตันโดยยกเว้นกองมรดก 2.01 ล้านเหรียญแรก  [1]   

ยกตัวอย่าง   สมมุติว่า นายโจ (นามสมมุติ) เสียชีวิตที่มลรัฐวอชิงตันและมีมรดกมูลค่า 4 ล้านเหรียญ    กองมรดกจะได้รับการยกเว้นภาษีที่จัดเก็บโดยรัฐบาลกลาง  แต่กองมรดกนายโจต้องเสียภาษีกองมรดกให้รัฐบาลมลรัฐวอชิงตัน   ถ้ากองมรดกนายเจมีมูลค่า 6 ล้านเหรียญก็ต้องเสียภาษีให้ทั้งรัฐบาลกลางและรัฐบาลมลรัฐวอชิงตัน

อัตราภาษีกองมรดกสูงสุด 40% นั้นต่ำกว่าอัตราสูงสุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯมาก   สหรัฐฯเคยจัดเก็บภาษีกองมรดกสูงสุดด้วยอัตรา 77% ในระยะเวลา 35 ปี  ตั้งแต่ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงหลังจบสงครามเวียดนาม [2]   หลังสงครามเวียดนามอัตราภาษีมรดกลดลงมาที่ 70% จนถึงยุคประธาธิบดีเรแกน   หลังจากนั้นภาษีมรดกก็ปรับตัวลงมาเรื่อยๆ   ปัจจุบันสหรัฐฯมีภาระทางการคลังมาก  และการใช้ภาษีอุ้มสถาบันการเงินช่วงวิกฤตการเงินที่ผ่านมาทำให้มีกระแสเรียกร้องให้ขึ้นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลและภาษีกองมรดก  การผลักดันให้ยกเลิกภาษีกองมรดกจึงกลายเป็นความฝันที่ยากจะเป็นจริงในอนาคตอันใกล้


เมตตาจิตของผู้มีฐานะ

ฉันคิดว่าอัตราภาษีกองมรดกเป็นดัชนีที่บ่งชี้ระดับเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมชาติของผู้มีฐานะ  เพราะภาษีกองมรดกเป็นสัญญาประชาคมที่ผู้มีฐานะยินยอมว่าจะไม่โอนทรัพย์สินส่วนหนึ่งให้บุตรหลานตามสายเลือดแต่จะโอนให้สังคมแทน เป็นการให้ที่ผู้ให้ไม่มีโอกาสได้รับคืนทั้งทางตรงและทางอ้อม   เนื่องจากผู้ให้เสียชีวิตแล้วและไม่มีใครตามไปกราบไหว้ตอบแทนบุญคุณบุตรหลานของผู้ให้   นอกจากนี้การทำบุญหรือบริจาคให้สถาบันทางศาสนานำไปหักลดภาษีได้  ซึ่งตรงข้ามกับการจัดเก็บภาษีกองมรดกที่เพิ่มภาษี   ผู้ที่ยินยอมจ่ายภาษีมรดกจึงมีเมตตาจิตยิ่งกว่าคนทำบุญหรือบริจาคเพื่อหักลดภาษีมากมายนัก

เมื่อเปรียบเทียบอัตราภาษีกองมรดกสูงสุดใน4 ประเทศที่ฉันกล่าวถึงในข้างต้น   ญี่ปุ่นมีอัตราภาษีกองมรดกสูงสุด    ปัจจุบันอยู่ที่ 50% และจะปรับขึ้นเป็น 55% ในต้นปีหน้า [3]    นับได้ว่าผู้มีฐานะญี่ปุ่นมีเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมชาติมากกว่าผู้มีฐานะชาวอเมริกัน  และผู้มีฐานะชาวอเมริกันมีเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมชาติมากกว่าผู้มีฐานะชาวไทย   เนื่องจากการผลักดันภาษีมรดกในไทยเป็นไปอย่างล่าช้าและผลักดันอัตราที่ต่ำเพียง 10% เท่านั้น [4]

การพร่ำเพ้อสอนเยาวชนให้มีเมตตาจิตหรือการประดิษฐ์วาทกรรมธรรมะฉาบฉวยไม่ช่วยสร้างสังคมที่มีเมตตาจิต  ในเมื่อผู้ใหญ่ไม่มีเมตตาจิตก็ย่อมสอนเยาวชนไม่ได้    การประกาศตนเป็นคนดีมีคุณธรรมแต่ต่อต้านภาษีมรดกก็เป็นพฤติกรรมที่ย้อนแย้ง   ตราบใดที่ไม่มีการจัดเก็บภาษีมรดกด้วยอัตราที่ทัดเทียมกับประเทศทุนนิยมสากล   ก็ยากที่จะปฎิเสธความจริงที่ว่าผู้มีฐานะที่ไทยไม่มีเมตตาจิตต่อเพื่อนร่วมชาติและนิยมการประชาสัมพันธ์สร้างภาพนักบุญเท่านั้น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่