$$... 10 คำถาม เตรียมความพร้อม ภาษีมรดก (ตอนที่ 1) ...$$

เป็นที่แน่ชัดแล้วถึงหนึ่งในพันธกิจของรัฐบาลรักษาการณ์ และ คสช. ที่มีต่อประเทศไทย นั้นก็คือ การปฎิรูปโครงสร้างภาษี นั้นเองนะครับ และความเคลื่อนไหวแรกที่เราได้ยินมาสักพักใหญ่ๆ โดยได้รับการยืนยันจากคนในรัฐบาลแล้วว่า กฎหมายดังกล่าวได้ออกใช้ภายในไตรมาส 3 ปีหน้าค่อนข้างแน่นอน นั้นก็คือ “ภาษีมรดก” นั้นเอง

บทความนี้ตั้งใจจะตีประเด็นนี้ให้ผู้อ่านได้เข้าใจ โดยพยายามจะใช้ภาษาง่ายๆตามสไตล์ของผม ถ้านักกฎหมายท่านใดเข้ามาอ่านแล้วเห็นว่า ไม่ถูกไม่ต้อง แปลความหมายผิด ก็ติงผมมาได้เลยนะครับ

คำถาม 1 : ตอนนี้กฎหมายอยู่ในขั้นตอนไหน?
ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จ และส่งไปที่ ครม. ได้ต้นปีหน้า ก่อนผ่าน สนช. และประกาศเป็นกฎหมาย
จากรูปด้านล่าง จะเห็นว่า หลังจากเรื่องภาษีมรดกแล้ว กฎหมายตัวต่อไปที่จะถูกปรับเปลี่ยนก็คือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งผมจะยังไม่ขอพูดถึงในบทความนี้นะครับ


คำถามที่ 2 : ไทยเรา เคยมีการใช้กฎหมายภาษีมรดกมาก่อนหรือเปล่า?
เคยครับ เรามีพระราชบัญญัติอากรมรดกและการรับมรดกบังคับใช้เมื่อปี พ.ศ. 2476 แต่ใช้ไปได้ไม่นาน ก็ถูกยกเลิกไปในปี พ.ศ. 2487 เนื่องจากภาษีที่จัดเก็บได้ไม่คุ้มค่ากับงบประมาณในการจัดเก็บ ผ่านมา 70 ปี กฎหมายนี้ ก็เพิ่งเกิดขึ้นอีกรอบ ตอนนั้น กฎหมายเข้มข้นครับ มีทั้งเก็บจากกองมรดก และเก็บจากผู้รับมรดก โดยเสียภาษีอัตราก้าวหน้า และจัดเก็บตั้งแต่ 1,000 บาทขึ้นไป โหดกว่าตอนนี้เยอะทีเดียว ส่วนตอนนี้จะเก็บเท่าไหร่ คงพอทราบกับแล้ว เด๋วผมไปลงรายละเอียดอีกที แต่ที่บอกว่า ยกเลิกจัดเก็บไป เพราะเก็บได้น้อยไม่คุ้มค่าเนี่ย ไม่คุ้มค่าขนาดไหน ลองดูตารางด้านล่างครับ


จะเห็นว่า รายได้จากการจัดเก็บภาษีมรดกในตอนนั้น น้อยมากๆ คิดเป็นส่วนสัดรวมกันยังไม่ถึง 0.5% ด้วยซ้ำ ก็สมควรจะต้องเลิกไปละครับ

คำถามที่ 3 แล้วคราวนี้ ไม่กลัวจัดเก็บได้น้อยเหมือนคราวนั้นหรอ ทำให้ถึงเอากลับมาใช้อีก?

ถ้าเอาเหตุผลของผู้บังคับใช้กฎหมาย ผมมองว่า มีทั้งหมด 3 ประเด็นด้วยกันครับ
1.    ต้องการให้เป็นในเชิงสัญลักษณ์ และลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ
2.    การกระจายภาระภาษี ให้เกิดความเป็นธรรม มากขึ้น
3.    กึ่งบังคับให้ผู้ที่มีทรัพยากรมากในครอบครอง ออกมาใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ข้อโต้แย้ง หรือผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับกฎหมายฉบับนี้ ก็มีหลายข้อครับ
1.    อย่างที่บอกว่า น่าจะเก็บได้น้อย เพราะเชื่อว่า จะมีการหนีภาษีและยากต่อการบังคับใช้ในระยะยาว
2.    เราอาจเห็นการเคลื่อนย้ายเงินทุนไปต่างประเทศ เพราะภาษีมรดก จะจัดเก็บเฉพาะทรัพย์สินที่อยู่ในประเทศเท่านั้น ดังนั้นเชื่อว่า คนรวยจะหาช่องทางขนเงินออกไปบางส่วน
3.    อาจเกิดเหตุการณ์ขายและจำหน่าย ทรัพย์สินในราคาถูกกว่าราคาที่ควรจะเป็น
แต่เอาละ ยังไงกฎหมายก็จะออกแน่ๆ ไม่มีประโยชน์ถ้าจะมาเถียงเรื่องนี้แล้วละครับว่าคุ้มไม่คุ้ม

คำถามที่ 4 แล้วในต่างประเทศ มีการจัดเก็บภาษีมรดกไหม เวิร์คไม่เวิร์คยังไง แชร์กันหน่อย?
ภาษีมรดก จะมาควบคู่กับ ภาษีการให้นะครับ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้เจ้าของมรดกยกให้ลูกหลานของตัวเองก่อนเสียชีวิตเพื่อเลี่ยงภาษี สำหรับไทยเรา คาดว่า ภาษีการให้จะบังคับใช้ก่อนเจ้าของมรดกเสียชีวิต 2 ปี นั้นหมายความว่า ถ้าให้ไปก่อน และระยะเวลานานกว่า 2 ปี ก่อนเสียชีวิต ภาษีการให้จะถูกยกเว้น และแน่นอน ก็ไม่เกิดภาษีมรดกเช่นกัน ดังนั้น เราจะเห็นการยักย้ายถ่ายเททั้งหุ้น ทั้งที่ดินของเจ้าสัวทั้งหลายเพื่อส่งต่อลูกหลานในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา

สำหรับในต่างประเทศนั้น ประเทศที่เก็บโหดสุด เห็นจะเป็นญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ โดยญี่ปุ่นนั้นถือว่าเก็บหนักกว่า เพราะเก็บจากกองมรกดทันทีเลย แต่ถ้าในแง่ของความโหดด้านอัตราภาษี เห็นจะต้องยกให้อังกฤษ ที่เก็บภาษีมรดกแบบ Flat Rate 40% ไปตลอด ส่วนสิงคโปร์ก่อนหน้านี้ก็เก็บนะครับ แต่ยกเลิกไปแล้ว เพราะเขาต้องการเป็น Financial Hub ของ AEC เลยจูงใจให้คนรวยมาฝากเงินที่ประเทศเขาเยอะๆด้วยการลดหย่อนผ่อนผันเต็มที่ (คาดว่าเศรษฐีในไทย ก็มีเงินอยู่ที่นั้นไม่น้อยทีเดียว)


คำถามที่ 5 แล้วไทยเรา จะจัดเก็บภาษีมรดกแบบไหน?
ยังไม่มีการยืนยันแบบ 100% นะครับ แต่ถ้าไม่พลิกโผผิดความคาดหมายคาดว่า จะเก็บจากผู้รับมรดก โดยเก็บเฉพาะส่วนที่เกิน 50 ล้านบาทขึ้นไป ในอัตราภาษี 10% คงที่ เพราะฉะนั้น ถ้าสมมติเจ้าของมรดกมีสินทรัพย์รวมกันทั้งสิ้น 100 ล้านบาท และมีทายาท 2 คน เมื่อเสียชีวิตลง มรดกโอนไปให้ทายาทคน 50 ล้านบาท ก็ไม่ต้องโดนภาษีมรดกแต่อย่างใดนะ ทั้งนี้ ภาษีมรดก น่าจะออกพ่วงมาด้วยภาษีการให้ เช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ โดยคาดว่า จะเก็บจากส่วนที่ให้เกิน 10 ล้านบาท ที่อัตราภาษีแบบ Flat Rate 5.0% ส่วนกองมรดกที่ยังไม่โอนไปยังทายาท ต้องเอาไปรวมคำนวณภาษีเงินได้ในปีภาษีนั้นแทน

ถ้าเอาแบบเข้าใจง่ายๆ โพสต์ทูเดย์ เขารวบรวมแนวทางการเก็บภาษีมรดกมาให้ไว้แล้วครับตามรูปด้านล่าง

ตอนนี้ เอาไปก่อน 5 คำถามแรก ตอนหน้าจะเอา 5 คำถามถัดไป ซึ่งแน่นอนว่า รวมถึงวิธีการวางแผนมรดกด้วยแน่นอนครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่