กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร ?

อนัตตา กับ กรรม ขัดกันหรือไม่..?

ปัญหาหนึ่งซึ่งแม้จะมีผู้ถามขึ้นเพียงบางครั้งบางคราว แต่เป็นความสงสัยที่ค้างอยู่ในใจผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย คือ เรื่องที่ว่า หลักกรรมกับอนัตตาขัดกันหรือไม่ ? ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นอนัตตา คนเราทั้งกายและใจเป็นอนัตตา กรรมจะมีได้อย่างไร ? ใครจะเป็นผู้ทำกรรม ? ใครจะรับผลกรรม ? ความสงสัยในเรื่องนี้ มิใช่มีแต่ในบัดนี้ แม้ในครั้งพุทธกาล ก็ได้มีแล้ว ดังเรื่องมีอยู่ว่า...

ภิกษุรูปหนึ่งได้เกิดความคิดสงสัยเกิดขึ้นว่า...
“ทราบกันว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้
กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร ?”


ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงหยั่งทราบความคิดสงสัยของภิกษุนั้น จึงตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า...

“ภิกษุทั้งหลาย เป็นไปได้ที่คนเขลาบางคนในธรรมวินัยนี้ มีใจตกอยู่ในอวิชชา ถูกตัณหาครอบงำ อาจสำคัญว่า คำสอนของพระศาสดาเป็นสิ่งที่พึงคิดไกลล้ำเลยไปได้ว่า ทราบกันว่า ว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เป็นอนัตตา, แล้วดังนี้ กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จักถูกต้องตัวได้อย่างไร ? เธอทั้งหลาย อันเราแนะนำอย่างถี่ถ้วนด้วยการทวนถามในข้อธรรมทั้งหลาย ในเรื่องราวทั้งหลายแล้ว จะสำคัญเห็นเป็นไฉน :

รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ? “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง “ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า”
สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ หรือไม่เป็นสุข ?  “เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า”
สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ควรหรือจะมองเห็นสิ่งนั้นว่า “นั่นของเรา นั่นเป็นของเรา นั่นตัวตนของเรา” “ไม่ควรเห็นอย่างนั้น พระเจ้าข้า”
เพราะเหตุนั้นแล รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ฯลฯ ก็เป็นแค่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ, นั่นไม่ใช่ของเรา นั่นไม่ใช่เรา นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา  
เธอทั้งหลายพึงมองเห็นตามที่มันเป็นด้วยสัมมาปัญญา อย่างนี้ ; อริยสาวกผู้ได้เรียนรู้ มองเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหายติดในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ฯลฯ ย่อมหลุดพ้น ฯลฯ กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มี”


ที่สมมติเรียกกันว่า คน ว่า นาย ก. นาย ข. ว่าเรา เขา นั้น โดยสภาวะที่แท้จริงแล้วก็คือ กระบวนธรรมที่ไหลเนื่องเป็นกระแสสืบต่อกันไปไม่ขาดสาย มีองค์ประกอบต่างๆ เข้ามารวมสัมพันธ์กันอยู่มากมาย มีความเป็นไปปรากฏให้เห็นได้นานาประการสุดแต่เหตุปัจจัยทั้งหลายที่เกี่ยวข้อง ทั้งภายในกระบวนธรรมนั้นเอง และทั้งที่เนื่องด้วยภายนอก เมื่อมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์อย่างหนึ่งเกิดเป็นเหตุขึ้นแล้ว ก็ย่อมก่อให้เกิดผลเป็นความเปลี่ยนแปลงขึ้นในกระบวนธรรมนั้น สิ่งที่เรียกว่า “กรรม” และ “วิบาก” นั้น ก็คือความเป็นไปตามทางแห่งเหตุและผลที่เกิดขึ้นในกระบวนธรรมที่กล่าวนี้ มีความสำเร็จพร้อมอยู่ในกระบวนธรรมนั้นเอง โดยไม่ต้องอาศัยตัวสมมติมี นาย ก. นาย ข. เรา เขา นายสิบ นายพัน มารับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำหรือเป็นผู้รับผลแต่ประการใด อันนี้เป็นส่วนตัวสภาวะความจริงอันเป็นอยู่ตามธรรมดาของมัน

แต่เพื่อสะดวกในการสื่อสารให้เข้าใจกันในหมู่ชาวโลก จะใช้พูดตามสมมติก็ได้ โดยตั้งชื่อให้แก่กระบวนธรรมที่ไหลเวียนอยู่นั้นว่า นาย ก. นาย ข. พ่อแม่ เป็นต้น เมื่อรับสมมติเข้าแล้ว ก็ต้องยอม รับสมอ้างเป็นเจ้าของ เป็นผู้ทำและผู้ถูกทำไปตามเรื่อง แต่ถึงจะสมมติหรือไม่สมมติ จะรับสมอ้างหรือไม่ กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะจริงก็เป็นไปอยู่ตามกฎธรรมดา ตามเหตุปัจจัยของมันนั่นเอง ข้อสำคัญก็คือจะต้องรู้เท่าทัน แยกสมมติกับตัวสภาวะออกจากกันได้ ของอันเดียวกันนั่นแหละ เมื่อใดจะพูดถึงสภาวะ ก็พูดไปตามสภาวะ เมื่อใดจะใช้สมมติ ก็พูดไปตามสมมติ อย่าไขว้เขว อย่าสับสนปะปนกัน และต้องมีความเข้าใจสภาวะเป็นความรู้เท่าทันรับรองยืนพื้นอยู่

    ทั้งตัวสภาวะ และสมมติ เป็นสิ่งจำเป็น ตัวสภาวะ นิยมเรียกกันว่า ปรมัตถ์ เป็นเรื่องของธรรมชาติ ส่วนสมมติเป็นเรื่องของประโยชน์ในทางปฏิบัติ สำหรับความเป็นอยู่ของมนุษย์ แต่ปัญหาเกิดขึ้นเพราะมนุษย์เอาสภาวะกับสมมติมาสับสนกัน คือ เข้าไปยึดเอาตัวสภาวะจะให้เป็นตามสมมติ จึงเกิดวุ่นวายขึ้น ตัวสภาวะไม่วุ่นเพราะมันเป็นไปอย่างนั้นเอง ตามปกติธรรมดา ไม่เกี่ยวกับใครจะไปยึดหรือไม่ มนุษย์เป็นผู้วุ่นไปฝ่ายเดียว และเพราะมันไม่วุ่นด้วย มนุษย์จึงยิ่งวุ่นวายใหญ่ เพราะขัดความปรารถนาถูกบีบคั้นจึงเกิดเป็นปัญหาแก่มนุษย์เอง

ตามเรื่องในบาลีที่ยกมาอ้างข้างต้นเห็นได้ชัดว่า ภิกษุที่เกิดความสงสัยนั้น เอาความรู้เกี่ยวกับสภาวะตามที่ตนฟังมา เรียนมา ไปสับสนกับสมมติที่ตนยึดถืออยู่ จึงเกิดความงุนงงตามข้อสงสัยของตน ถ้าคงศัพท์สำคัญไว้ตามเดิมจะแปลว่า “กรรมทั้งหลายที่อนัตตาทำ จะถูกต้องอัตตาได้อย่างไร ?”
ท่อนแรก ท่านพูดตามความรู้เกี่ยวกับสภาวะ
ท่อนหลัง ท่านพูดตามสมมติที่ตนยึดถืออยู่เอง จึงขัดกันเป็นธรรมดา ทั้งนี้พอสรุปได้ว่า...

    หลักอนัตตากับกรรมไม่ขัดกันเลยตรงข้ามอนัตตากลับสนับสนุนกรรม เพราะสิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา กรรมจึงมีได้ กรรมจึงเป็นได้ เมื่อกระบวนธรรมดำเนินไป องค์ประกอบทุกอย่างต้องเกิดดับเข้าสัมพันธ์เป็นเหตุปัจจัยต่อเนื่องกันไป กระแสสัมพันธ์แห่งเหตุปัจจัยจึงจะดำเนินไปได้ ไม่ใช่มีอะไรมาเป็นตัวเที่ยงคงที่ ลอยทื่อกั้นขวางอยู่กลางกระแสจะไปไหนก็ไม่ไป จะเป็นอย่างไรก็ไม่เป็นไป ถ้ามีอัตตากรรมก็ไม่มี เพราะอัตตาไม่เป็นไปตามเหตุปัจจัย อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่มีผลให้อัตตาเปลี่ยนแปลงไป

    ที่เราทำกรรมและรับผลกรรมกันอยู่ทุกวันนี้ ก็ทำและรับผลกรรมกันอยู่โดยไม่ต้องตัวผู้ทำกรรม และไม่มีคนรับกรรมอยู่แล้ว ในสิ่งทั้งหลายที่ประชุมกันอยู่และดำเนินไปเป็นกระบวนธรรมนั้น ต้องพิจารณาในแง่ที่ว่า มีอะไรบ้างเข้าไปเป็นปัจจัย อะไรไปสัมพันธ์กับอะไร แล้วมีผลอะไรเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้น ทำให้กระบวนธรรมนั้นผันแปรเป็นไปอย่างไร เมื่อมีเหตุที่เรียกว่าการกระทำเกิดขึ้นเป็นปัจจัยแล้ว ก็ย่อมมีผลที่เรียกว่าวิบากเกิดขึ้นในกระบวนธรรมนั้นเอง เรียกว่ามีการกระทำและมีผลการกระทำเกิดขึ้น โดยไม่ต้องมีเจ้าของกรรมที่มาเป็นผู้ทำกรรมและเป็นผู้รับผลกรรมนั้นอีกชั้นหนึ่ง กรรมคือความเป็นไปตามเหตุและผลในกระบวนธรรมนั้นอันต่างหากจากสมมติที่เราเองไปสวมใส่ครอบให้มัน เมื่อตกลงจะสมมติเรียกกระบวนธรรมที่ดำเนินอยู่นั้นว่า เป็น นาย ก. นาย ข. ก็ย่อมมี นาย ก.  นาย ข. เป็นเจ้าของกรรม เป็นผู้ทำกรรมและรับผลกรรม แต่กระบวนธรรมที่เป็นตัวสภาวะ ก็ดำเนินไปตามปกติของมัน เป็นเหตุเป็นผลพร้อมอยู่ในตัวโดยสมบูรณ์อยู่แล้ว ไม่ต้องอาศัย นาย ก. นาย ข. จึงจะมีผลเกิดขึ้น

เมื่อจะพูดในแง่กระบวนธรรมว่าดำเนินไปอย่างไร ด้วยเหตุปัจจัยอะไร เป็นผลอย่างไร ก็พูดไป หรือจะพูดในแง่ นาย ก. นาย ข. ทำกรรมนั้นแล้ว รับผลกรรมอย่างนี้ก็พูดไป เมื่อพูดในแง่สมมติก็ให้รู้ว่ากำลังพูดในแง่สมมติ เมื่อพูดในแง่สภาวะหรือปรมัตถ์ ก็ให้รู้ว่า กำลังพูดในแง่สภาวะ เมื่อรู้เท่าทันความเป็นจริง และความมุ่งหมายในการพูดแบบนั้นๆ ไม่เข้าไปยึดติดถือมั่น ไม่เอามาปะปนกัน ก็เป็นใช้ได้

ข้อมูลในการเรียบเรียง จาก : การศึกษาเชิงวิเคราะห์แนวคิดเรื่องอนัตตาในพุทธปรัชญาเถรวาท มจร.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่