ทำไมคนไทยรุ่นก่อนๆ ถึงกลัวการไปหาจิตแพทย์

เพราะเขาดูละครมากไปหรือเปล่า
จำได้ว่าสมัยก่อน ละครไทยเวลาตัวร้ายบ้าหรือมีอาการทางจิต ก็มักไปลงเอยในหลังคาแดง
แล้วก็ชอบฉายสร้างภาพบรรยากาศในนั้น ว่าเป็นสถานที่น่ากลัวๆ คนอื่นไม่อยากจะเข้าไปย่างกราย
มีคนเดินเตร็ดเตร่ล่องลอยอยู่เต็มไปหมด ทำให้คนทั่วไปอย่างเราๆ มองคนป่วยในนั้นเหมือนกับเขาไม่ใช่คน
เป็นเหมือน second class citizen

แต่จริงๆ เขากำลังได้รับการบำบัดให้ดีขึ้น ไม่ใช่หรอ ทำไมต้องไปเหยียดหยามเขาล่ะ
ส่วนตัวคิดว่า ตรงกันข้าม พวกที่ป่วยแต่กลับไม่รู้ว่าตัวเองป่วย หรือรู้ว่าป่วยแต่ปฏิเสธที่จะไปรักษา นี่สิ น่ากลัวกว่าอีก
เพราะวันดีคืนดีหากอาการกำเริบขึ้นมาไปฆ่าใครเข้าก็เป็นคดีให้เห็นเยอะแยะ หรือถ้ามีปัญหามากๆ น้อยใจ ฆ่าตัวตายอีก

เลยแอบอึ้ง เพื่อนเล่าให้ฟัง
เวลาจะพาผู้ใหญ่ที่เขาเครียดๆ ซึมเศร้า พอจะพามาโรงพยาบาลจิตเวช ดันไม่อยากมา ไม่กล้า ไม่รู้กลัวอะไร
ต้องอธิบาย กล่อมอยู่นาน
เพราะสมัยนี้ เขามียาจิตเวช ยาแก้โรคซึมเศร้า ให้มากินที่บ้านแล้ว มันช่วยปรับฮอร์โมนในสมองทำให้อารมณ์เปลี่ยนไปในทางที่ดี
ส่วนคนที่จะได้ไปพักฟื้นอยู่ในความควบคุมของจิตแพทย์ นั่นต้องเป็นคนที่ประสาทหลอน หลุดโลกไปแล้วอ่ะ หรือญาติดูแลไม่ไหวแล้ว ถึงจะได้ไปอยู่ในนั้น

แถมคนสงสัยว่ากินยาอะไร ผู้ใหญ่คนนั้นตอบไปว่า "ยาจิตเวช"
คนก็มองเขาแปลกๆ อะไรจะปานนั้น กับแค่กินยาเพื่อปรับให้สมองทำงานปกติดีขึ้น ไม่เห็นต้องระแวงเขาเลย

จริงๆ เคยดูหนังฝรั่ง หลายเรื่อง
บางบ้านเขามีนักจิตวิทยาประจำครอบครัวเลยนะ เอาไว้เป็นที่ปรึกษาทางใจ
ไม่รู้ประเทศเรามีไหม ถ้าเรามีตังค์เยอะๆ ก็คงจ้างมาสักคน สบายใจดี มีที่ระบาย ดีกว่าเก็บกด สังคมมันเครียดเยอะสมัยนี้
รู้สึกอยากให้คนไทยรุ่นเก่าๆ ที่เขาไม่ค่อยได้เรียนวิทยาศาสตร์ ลองปรับทัศนคติกันใหม่จังว่า การไปหาหมอจิตเวช ไม่ได้แปลว่าจะต้องบ้า หรือต้องเป็นไปอย่างละครน้ำเน่าโอเว่อร์เกินจริงแบบสมัยก่อนซักหน่อย เอาแค่มีเรื่องไม่สบายใจ แค่ช่วงนี้รู้สึกซึมเศร้าเหงาหงอย คิดมาก นอนไม่หลับ แมวตายแล้วเครียด ก็ไปหาหมอได้ ไปคุยแปปเดียว ก็กลับบ้านได้ เขาก็ให้ยามาแล้ว เพื่อช่วยได้อาการดีขึ้น
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 19
ขึ้นชื่อว่าละคร ก็คือละคร ไม่ใช่ สารคดี
ผู้ชมต้องใช้วิจารณญาณ แยกแยะเอาเอง
เพราะมันแต่งมาจากมโนภาพของคนเขียนบท




credit รูป: https://www.facebook.com/permalink.php?story_fbid=425462320925491&id=220036768134715
สุดยอดความคิดเห็น
ความคิดเห็นที่ 37
สวัสดีครับทุกท่าน ขอตอบกระทู้ยาวหน่อยนะครับในฐานะที่เป็นคนทำงานด้านจิตวิทยา ถือว่าเป็นโอกาสในการสร้างความรู้ความเข้าใจให้กับคนทั่วไปด้วยครับ

ครับ จริงๆแล้วสาเหตุของปัญหาก็คือการที่สังคมขาดความรู้ความเข้าใจที่แท้จริงเกี่ยวกับงานด้านจิตวิทยา รวมถึงความเข้าใจเกี่ยวกับความเจ็บป่วยทางจิต ความไม่สบายใจ ความรู้สึกทุกข์ต่างๆ โดยที่ความเข้าใจของคนไทยโดยส่วนใหญ่อาจจะเป็นไปตามที่เจ้าของกระทู้กล่าวครับ

กล่าวคือรู้สึกกลัวกับคำว่าจิตวิทยา จิตเวช โรคจิต นักจิตวิทยา จิตแพทย์ ถ้าถามว่ามาจากไหน ผมคงบอกว่ามาจากสื่อที่เค้ารับ (สามารถอธิบายได้ตามหลักจิตวิทยาการเรียนรู้) ซึ่งสื่อส่วนใหญ่ก็จะเป็นละครไทยหลังข่าวที่จะมีภาพของผู้ป่วยจิตเวชที่ค่อนข้างจะหลุดโลก ล่องลอย และขาดสติสัมปชัญญะไปแล้ว และภาพของผู้ป่วยเหล่านี้มักจะมาคู่กับ โรงพยาบาล จิตแพทย์ (ที่ในฉากจะชอบยืนคุยกับพระเอกหรือนางเอกว่า คนนั้นเช่น ตัวร้าย เค้าหลุดโลกไปแล้ว) นี่ก็เป็นภาพหนึ่งที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้จากละคร ว่าจิตแพทย์จะคู่กับคนบ้า ดังนั้นพอเมื่อมีใครพูดถึงจิตแพทย์ หรือรับยาจิตเวชขึ้นมา แน่นอนครับว่าเจ้าตัวจะต้องรู้สึกต่อต้านโดยอัติโนมัติขึ้นมาว่า "ฉันไม่ได้เป็นบ้านะว้อย จะให้ฉันไปหาจิตแพทย์ทำไมวะ แกน่ะสิบ้า"
ซึ่งตรงนี้เป็นผลมาจากบริษัทสร้างละครที่ไม่ได้มีการ research เกี่ยวกับบริบทที่แท้จริงของงานด้านจิตเวช แต่ฉากที่สร้างในละครอาจเป็นไปเพียงเพื่อต้องการให้ฉากนั้นเป็น "จุดพีค" ของละคร โดยเลือกนำเสนอเพียงด้านเดียว (ที่แคบมาก) ของงานด้านจิตวิทยา
ยิ่งไปกว่านั้น นอกจากละครแล้วยังมีเรื่องของข่าว ที่มักจะลงเรื่องของคนที่มีความผิดปกติทางจิตแล้วไปไล่แทงคนต่างๆ นาๆ ซึ่งนี่ก็เป็นอีกภาพหนึ่งที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกกลัวเอามากๆ กับเรื่องของคนที่มีความเจ็บป่วยทางจิต (หลายๆ คนจึงมักจะทำท่าทางขยาดเมื่อรู้ว่าใครไปปรึกษานักจิตวิทยา ไปพบจิตแพทย์ หรือรับยาจิตเวชมา)

และที่ผมกล่าวไปข้างต้นก็คือ "ภาพลักษณ์แบบผิวเผิน" ของงานด้านจิตวิทยาที่คนทั่วไปเข้าใจครับ ซึ่งส่วนใหญ่จะเรียนรู้มาจากละครหรือข่าว (ประหนึ่งว่าเป็นสิ่งที่ร่ำลือกันมา บอกต่อกันมา โดยไม่ได้มีความเข้าใจที่แท้จริง) เมื่องานด้านจิตวิทยาไม่ได้รับความรู้ความเข้าใจที่แท้จริง คนก็ย่อมกลัวเป็นธรรมดาครับ เหมือนที่มืดที่เรามองไม่เห็น แต่เรารู้เพียงแต่ว่าในที่มืดๆนั่นอะ ใครๆ (ละคร+ข่าว) เค้าก็บอกว่ามันน่ากลัว
แน่นอนครับปัญหาที่เกิดขึ้นแบบนี้ นั่นก็เป็นเพราะวงการจิตวิทยาไทยยังไม่ได้ผลิตสื่อสาธารณะที่มีพลังมากพอที่จะให้ความรู้กับคนทั้งประเทศจนเกิดความรู้ความเข้าใจในงานด้านจิตวิทยา ซึ่งอาจมาจากปัจจัยหลายๆอย่างครับ เช่น กำลังคน ทรัพยากร ปัจจัยแวดล้อม โอกาสและเวทีต่างๆ ที่มีความจำกัด (แต่เชื่อว่าในอนาคตจะมีนักจิตวิทยารุ่นใหม่ๆ ที่พยายามผลักดันและผลิตสื่อตรงนี้มากขึ้น แต่อาจต้องใช้เวลามากหน่อย) แต่หากจะให้เร็วกว่านั้นก็คือทางกระทรวงศึกษาธิการอาจต้องมีการบรรจุความรู้ความเข้าใจในงานด้านจิตวิทยาลงไปในระบบการศึกษาตั้งแต่ระดับอนุบาลขึ้นไปเลยก็ได้ ที่จะให้เด็กรู้ว่า "ไม่สบายกายไปหาคุณหมอ ไม่สบายใจไปหาคุณนักจิตวิทยา" ทำให้เด็กๆ เกิดความเข้าใจว่า มนุษย์ไม่สบายกายได้ และไม่สบายใจก็ได้เป็นธรรมดา การไปหาคุณหมอเพื่อรักษาหวัดเป็นเรื่องธรรมดา และการไปหานักจิตวิทยาเพื่อปรึกษาและเยียวยาความไม่สบายใจก็เป็นเรื่องธรรมดาและเป็นเรื่องที่ดีงามด้วย และพอเด็กเหล่านี้โตขึ้นมาด้วยความรู้ความเข้าใจ เขาก็จะไม่กลัวเรื่องจิตวิทยาครับ แถมยังให้ความรู้กับผู้ใหญ่ในบ้านที่ยังมีความกลัวได้ด้วย

ทีนี้หากพูดถึงประเด็นที่ว่า จิตแพทย์? นักจิตวิทยา? เอ๊ะ มันอะไรยังไง ผมขอกล่าวถึงสายงานด้านจิตวิทยาเท่าที่ผมทราบดังนี้นะครับ
1. จิตแพทย์
2. นักจิตวิทยาคลินิก
3. นักจิตวิทยาการปรึกษา (ผมอยู่สายนี้)
4. นักจิตวิทยาพัฒนาการ
5. นักจิตวิทยาสังคม
6. นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ
7. นักจิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว
8. ฯลฯ

โดยขออธิบายดังนี้ครับ
1. จิตแพทย์ (Psychiatrist) เป็นแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในด้านจิตเวชศาสตร์และได้รับการรับรองให้ทำการรักษาความผิดปกติทางจิต จิตแพทย์ทุกคนถูกฝึกให้วินิจฉัยโรคและจิตบำบัด เนื่องจากจิตแพทย์ต้องเป็นแพทย์อยู่เองด้วย และสามารถวินิจฉัยโรคผู้ป่วยได้ จิตแพทย์จึงเป็นหนึ่งในกลุ่มสาขาผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตที่สามารถจ่ายยาเพื่อรักษาอาการทางจิตของผู้ป่วยได้ ตลอดจนสามารถสั่งตรวจร่างกาย สั่งและอธิบายการทดลองในห้องปฏิบัติการและตรวจคลื่นไฟฟ้าสมอง และสั่งให้มีการถ่ายภาพสมอง อย่างเช่น การตรวจเอกซ์เรย์คอมพิวเตอร์ การสร้างภาพด้วยเรโซแนนซ์แม่เหล็ก และการสแกนโพซิตรอนอีมิสชันโทโมกราฟีให้ผู้ป่วยได้ ในขณะที่ผู้ชำนาญการด้านสุขภาพจิตสาขาอื่น เช่น นักจิตวิทยา นักจิตบำบัด พยาบาลจิตเวช ฯลฯ ซึ่งมิใช่แพทย์ จะไม่สามารถสั่งจ่ายยาและสั่งการรักษาดังกล่าวได้เอง ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับกฎระเบียบในแต่ละประเทศด้วย โดยปกติจิตแพทย์จะร่วมทำงานเป็นทีมกับบุคลากรสาธารณสุขสาขาอื่นๆ ในการรักษาผู้ป่วยรายหนึ่งๆ

ข้อมูลข้างต้นผมนำมาจาก (http://th.wikipedia.org/wiki/จิตแพทย์) ซึ่งเขาก็พูดถูกทุกอย่างครับ และดูเหมือนว่าคุณหมอจะเน้นไปที่การวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร ประเภทไหน โดยวินิจฉัยผ่านการดูอาการทางกาย ทางสมองเป็นหลัก และทำการจ่ายยาให้ถูกกับประเภทของโรคนั้น เช่น ถ้าหมอวินิจฉัยว่าเป็นซึมเศร้า (Depression) ก็จะจ่ายยาจำพวกยาต้านซึมเศร้า (Antidepressant) หรือถ้าเป็น Bipolar ก็จะจ่ายยาที่เหมาะกับโรคนี้ ถ้าสารเคมีในสมองไม่สมดุลย์ ก็จะจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลย์
ซึ่งนี่เป็นภาพหลักตามที่หลายๆ คนที่เคยเข้ารักษากับจิตแพทย์จะพบครับ คือการวินิจฉัยว่าเป็นโรคอะไร และรับยามาทาน
แต่ส่วนที่จิตแพทย์อาจจะขาดไปเท่าที่ผมเข้าใจคือ งานเกี่ยวกับการปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับความไม่สบายใจเพื่อแก้ไขปัญหาที่มาจากใจจริงๆ (ซึ่งผมจะพูดถึงในหัวข้อนักจิตวิทยาการปรึกษานะครับ)

2. นักจิตวิทยาคลินิก (Clinical Psychologist) คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาด้านจิตวิทยาสาขาจิตวิทยาคลินิก (Clinical psychology) ซึ่งมีใบประกอบโรคศิลปะ และปฏิบัติงานในสถานพยาบาลต่างๆ นักจิตวิทยาคลินิกเป็นส่วนหนึ่งของทีมผู้ให้การรักษาทางการแพทย์ ส่วนใหญ่มักประจำอยู่ในงานจิตเวชศาสตร์ (Psychiatry) บางส่วนอยู่ในงานอื่นๆ เช่น งานเวชกรรมป้องกัน หรือ งานเวชศาสตร์ฟื้นฟู เป็นต้น

ข้อมูลข้างต้นผมนำมาจาก (http://th.wikipedia.org/wiki/จิตวิทยาคลินิก) ซึ่งก็เป็นไปตามนั้นครับ ดังนั้นนักจิตวิทยาคลินิกก็จะทำงานร่วมกับคุณจิตแพทย์ในสถานพยาบาลต่างๆ และทำหน้าที่ประเมินคนไข้ด้วยแบบทดสอบแบบประเมินทางจิตต่างๆ (เป็นผู้ใช้แบบทดสอบตามหมอสั่ง) ให้คำปรึกษาและการรักษาทางจิตวิทยาร่วมกับจิตแพทย์

3. นักจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychologist) เป็นผู้ที่ศึกษาศาสตร์เกี่ยวกับการปรึกษาเชิงจิตวิทยา (Counseling) โดยการปรึกษาเชิงจิตวิทยาเป็นกระบวนการที่มุ่งให้ผู้มีปัญหาได้ทำความเข้าใจกับปัญหาของตน และมองเห็นแนวทางในการแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง โดยนักจิตวิทยาการปรึกษา (Counselor) มีหน้าที่เป็นผู้เอื้อให้ผู้มีปัญหาได้เข้าใจปัญหาของตนอย่างชัดเจนที่สุด นักจิตวิทยาการปรึกษาจะไม่เข้าไปบงการ แนะนำ หรือ แทรกแซง ผู้รับบริการ แต่ละช่วยให้เค้าสามารถจัดการปัญหาได้ด้วยตัวเอง ผู้เข้ารับบริการการปรึกษาเชิงจิตวิทยาจะได้รับประโยชน์ ในแง่ของการเกิดความเข้าใจในตนเอง และสามารถวางแนวทางการดำเนินชีวิตตนเองได้อย่างเหมาะสม สามารถเผชิญสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้อย่างมั่นคง และสามารถจัดการปัญหาของตนได้อย่างสอดคล้องและเหมาะสมกับความเป็นจริง และยังช่วยให้ค้นพบศักยภาพได้อย่างเต็มที่ ในการพัฒนาตนเองไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ ขยายทัศนะการมองโลก และชีวิตก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตนเองในทางที่ดี

ข้อมูลข้างต้นผมนำมาจาก (http://www.psy.chula.ac.th/psy/branch/about_cou.php) เว็บไซต์ของคณะจิตวิทยา จุฬาฯ ครับ พูดให้เข้าใจง่ายๆ ก็คือ ปัญหาทุกอย่างที่คนจะมีความไม่สบายใจได้ตั้งแต่ระดับเล็กถึงใหญ่ เช่น ของหาย ทะเลาะกับเพื่อน มีปัญหากับพ่อแม่ เลิกกับแฟน ปรับตัวไม่ได้ วิตกกังวลกับเหตุการณ์ต่างๆ ปัญหาที่ทำงาน ไม่เข้าใจตัวเอง หาความเป็นตัวของตัวเองไม่เจอ มีความกดดันในชีวิต เกิดความรู้สึกเศร้าหมอง หดหู่ อารมณ์รุนแรง ใจร้อน ถึงระดับมีความคิดจะฆ่าตัวตาย เหล่านี้ล้วนเป็นงานที่นักจิตวิทยาการปรึกษาจะทำงานด้วยครับ
นอกจากแก้ปัญหาในใจแล้ว ยังช่วยทำให้ผู้มาปรึกษาได้ค้นพบศักยภาพที่แท้จริงของตัวเอง และก้าวเดินไปในเส้นทางที่ตัวเองเลือกเดินได้อย่างมั่นใจครับ (สรุปคือได้ทั้งสายรักษาและสายสนับสนุน)

นักจิตวิทยาการปรึกษาโดยหลักจะเชื่อว่า ใจคือ "ราก" ของปัญหา เมื่อใจไม่อยู่ในภาวะที่สมดุลย์อันเกิดมาจากการขาดความเข้าใจเกี่ยวกับความเป็นจริงของโลกและชีวิต หรือไม่สามารถปรับตัวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตได้ ก็จะทำให้เจ้าของใจนั้นเกิดความทุกข์ และเมื่อเกิดความทุกข์ก็จะเกิดสิ่งที่เรียกว่า "อาการ" ซึ่งเปรียบเหมือนกิ่งก้านสาขาของต้นไม้ที่เรา "มองเห็นได้" เช่น ร้องไห้ เศร้าหมอง วิตกกังวล อารมณ์เกรี้ยวกราด หรือเฉื่อยชา และหลายๆครั้งที่เรามักจะยึดอยู่กับอาการ แล้วประเมินว่าตัวเองเป็น "โรคซึมเศร้า" บ้าง "โรคบุคลิกภาพแปรปรวน" บ้าง (ซึ่งมักมาจากการค้นหาตามเว็บไซต์ด้วยตัวเอง เพื่อที่จะตีตราตัวเองว่าตกลงฉันเป็นอะไร) และเราก็จะเริ่มรู้สึกแย่กับตัวเองว่าฉันเป็นคนโรคจิต (ซึ่งจริงๆแล้วมันไม่ถึงขนาดนั้น) และเรื่องมักจะไปจบที่การรับยาจากแพทย์ แต่ตัวปัญหาซึ่งเป็น "รากที่ฝังอยู่ใต้ดิน" และเจ้าตัว "มองไม่เห็น" ก็ยังไม่ได้รับการขุดรากถอนโคนให้สิ้น

จากประสบการณ์ของผม มีผู้ที่มาปรึกษากับผมหลายรายเล่าว่าเคยรับยาจิตเวชมาทานเป็นปีๆ แล้วยังไม่ดีขึ้น โดยหลังจากที่คุยกับผมซักพัก ผมก็จะพบว่าจริงๆแล้วพวกเขามีเรื่องราวที่ไม่สบายใจและยังหาทางออกไม่ได้ค้างคาอยู่ในใจครับ เมื่อดำเนินกระบวนการพูดคุยปรึกษาพวกเขาก็จะเกิดความเข้าใจในความคิดความรู้สึกของตัวเอง เข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างถ่องแท้ และมักจะจบลงว่าเขาสามารถหาทางออกให้กับปัญหาที่ค้างคามาเป็นปีได้แล้ว

จริงๆ แล้ว 3 สายงานข้างต้นควรทำงานร่วมกันครับ คือ จิตแพทย์ นักจิตวิทยาคลินิก และนักจิตวิทยาการปรึกษา เพราะในคนไข้บางรายมีความผิดปกติทางกายหรือทางสมองจริงๆ ตรงนี้จิตแพทย์จะช่วยจ่ายยาเพื่อปรับสมดุลย์ในสมองให้มีความคงที่ หรือกลับมาอยู่ในระดับที่ปกติ (คุยกันรู้เรื่อง) หลังจากนั้นก็จะเป็นงานของนักจิตวิทยาการปรึกษาที่จะเข้าไปจัดการกับ "รากของความทุกข์ที่มาจากใจ" ผ่านกระบวนการปรึกษาเชิงจิตวิทยา ซึ่งอาจเรียกว่า Counseling บ้าง Psychotherapy บ้าง และเมื่อจัดการได้แล้ว ปริมาณยาก็สามารถลดลงได้จนถึงหยุดยาได้ครับ
ผมเคยมีประสบการณ์ช่วยผู้มาปรึกษาที่รับยาจิตเวชมาทาน และหลังจากการปรึกษาจำนวน 2 ครั้ง คุณหมอทางโรงพยาบาลก็ประเมินว่าอาการดีขึ้นจึงให้ลดยาครับ

ดังนั้นปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งที่คนที่มีบอกว่าตัวเองเป็นซึมเศร้า ฯลฯ ไม่รู้สึกว่าตัวเองจะหายจากโรคนั้นได้ อาจเป็นเพราะการพาตัวเองไป "ผิดที่" ครับ ซึ่งจริงๆแล้วจะโทษก็ไม่ได้ เพราะว่าโดยทั่วไปคนก็จะเข้าใจว่า มีแค่จิตแพทย์ กับนักจิตวิทยาคลินิกเท่านั้น (นักจิตวิทยาการปรึกษาคงต้องทำงานประชาสัมพันธ์และสร้างงานเพื่อรองรับความต้องการเหล่านี้ให้มากขึ้น)

4. นักจิตวิทยาพัฒนาการ (Developmental Psychologist) 5. นักจิตวิทยาสังคม (Social Psychologist) 6. นักจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ (Industrial and Organizational Psychologist) 7. จิตวิทยาการศึกษาและการแนะแนว (Educational Psychology and Guidance) ส่วนนี้ขออนุญาตยังไม่พูดถึงนะครับ ยาว

หวังว่าจะมีประโยชน์อันทำให้เกิดความเข้าใจในงานจิตวิทยาไม่มากก็น้อยนะครับ
from นักจิตวิทยาการปรึกษา
ความคิดเห็นที่ 26
ถ้ารักษาในโรงพยาบาลเอกชนก็ค่อนข้างแพง ยาจิตเวชมันแพงอยู่แล้ว เพราะหาซื้อไม่ได้ทั่วไป
โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ค่ายาสำหรับ 2 สัปดาห์ของไบโพล่าก็ประมาณ 4,000 บาท
ส่วนค่าปรึกษาก็เริ่มต้นที่ ชม. 1,500 บาทต่อ ชม. ปกติหมอจะไม่คุยเกิน 2 ชม.
แต่ถ้าไปโรงพยาบาลรัฐ ที่ศรีธัญญา ค่ายา 2 สัปดาห์ โรคเดียวกัน ไม่เกิน 1,000 บาท ค่าปรึกษาจำไม่ค่อยได้ น่าจะประมาณ 50บาท
ที่โรงพยาบาลโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ค่ายา 3 สัปดาห์ 1,500 บาท ไบโพล่าเหมือนเดิม ค่าปรึกษา 300บาท ให้ 1 ชม.

ค่าใช้จ่ายก็ประมาณนี้อะ แต่ถ้าเครียดกังวล ธรรมดา โทรหา 1323 เค้าก็คุยดีนะ
ถ้าใครที่ป่วยอยู่แล้ว ให้บอกชื่อโรคเค้าไป เค้าจะมีเจ้าหน้าที่เฉพาะของโรคเราให้จ๊ะ

รีบไปหาหมอก่อนที่จะอาการหนักดีกว่า อาจจะแค่ทำจิตบำบัด ยังไม่ต้องกินยาก็ได้
กินยาทุกวัน ทุกมื้อ เป็นปีๆ นี่ไม่สนุกเลย

//คนป่วยโพสเองจ๊ะ

จะตอบ ความเห็นที่ 14 มันเด่งมา15 แปะให้อีกรอบนะ น่าจะเป็นข้อมูล
ความคิดเห็นที่ 27
เราเป็นวิตกกังวล  panic disorder  + ซึมเศร้า ไปหาหมอแล้วดีขึ้นเยอะ
อาการก้อมาเต็มมาครบชัดมาก กินยามา4ปีแล้ว กำลังปรับลดขนาดยา (หมอสั่งนะคะไม่ได้ลดเอง กินวันเว้นวัน)
ใช้ชีวิตปกติ ทำงานได้
อยู่ในสังคมได้ปกติ  โรคทางกายที่สมัยก่อนเป็น สาวไปมาๆเกิดจาก อาการทางจิตหมด เช่น  ปวดท้อง ปวดหัว. ใจสั่น  หายใจไม่ออก
เวลาpanic กำเริบ เหมือนมันจะตาย จะบ้า


อยากจะแชร์ว่า ไปหาหมอก่อนที่จะ กลายเป็นหนัก
ลำบากคนข้างตัว
ความคิดเห็นที่ 24
อยู่ในสังคมเล็กๆ แต่....ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ก็มีคนรู้จักถึง 3 คนแล้ว ที่ผูกคอตาย อีกคนไม่รู้จัก ผูกคอตายใกล้บ้าน ผลคือ ช่วยทันแค่คนเดียว
คุยกับคนที่ช่วยทัน ตอนผูกคอตายเค้าไม่รู้ตัว จำไม่ได้ว่าคิดอย่างไรจึงตัดสินใจแบบนั้น
หลังจากรอดมาคณะแพทย์ให้พบจิตแพทย์ จึงทราบว่าเป็นโรคซึมเศร้าและไบโพล่าร์
พอแพทย์คุยให้ฟังว่าอาการแบบนี้ๆๆๆๆ เลยทราบว่าเขาเป็นมานานแล้ว
อีกคนไปงานศพ ญาติบอกว่าเขาเป็นโรคซึมเศร้ามานาน แต่อาย ไม่อยากให้ใครทราบ และหยุดยาเอง ไม่อยากไปหาหมอ
คนที่ไม่รู้จักยิ่งน่าสงสาร เพื่อนบ้านบอกเค้าเป็นผู้ใช้แรงงาน รู้ตัวว่าป่วย รับการรักษาและกินยาต่อเนื่อง
แต่...ไปหาหมอลำบาก จังหวัดที่เขาอยู่ไม่มีรพ.จิตเวช ต้องเสียค่ารถมาอีกจังหวัด เขาสู้ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ไม่ไหวเลยผูกคอตายในห้องน้ำสาธารณะใกล้ รพ. (ใกล้บ้านเรา)
อยากให้สังคมมองว่าคือการเจ็บป่วยอย่างหนึ่ง ทุก รพ.ควรมีแผนกนี้
แพทย์อายุรกรรมก็น่าจะให้การรักษาเบื้องต้นได้บ้าง
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่