ถ้ายังเข้าใจผิดว่า มีตัวเรา แล้วบอกว่า ไม่ให้ยึดถือ ก็เท่ากับโกหกตัวเอง

การที่พระพุทธองค์ได้ทรงสรุปคำสอนทั้งหมดไว้ในประโยชคที่ว่า "สิ่งทั้งหลายทั้งปวงไม่ควรยึดถือว่าเป็นตัวตน" ก็เป็นเพราะว่า สิ่งทั้งปวง (คือทั้งร่างกายและจิตใจ) ที่สมมติเรียกว่าเป็นตัวเรานี้ มันไม่ได้มีอยู่จริง มันเป็นเพียงแค่ "สิ่งปรุงแต่ง" (หรือสิ่งประกอบ) เท่านั้น เมื่อมันเป็นสิ่งปรุงแต่งมาจากสิ่งอื่น ดังนั้นมันจึงมีสภาพที่ไม่เที่ยง คือเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และต้องแตกดับหายไปในที่สุดไม่ช้าก็เร็ว

ดังนั้นถ้าจิตใดไปโง่ไปยึดถือว่าเป็นตัวเราเข้า จิตโง่นี้ก็จะเป็นทุกข์  แต่จิตที่มีปัญญา (คือเข้าใจแล้วว่ามันไม่มีเราอยู่จริง จากการพิจารณาเรื่องการเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับหายไปของขันธ์ ๕ ตามที่เป็นอยู่จริง) และสมาธิ ก็จะไม่ยึดถือว่าเป็นตัวเรา เมื่อไม่ยึดถือเพราะเข้าใจแล้วว่ามันไม่มีตัวตนที่เที่ยง (อมตะ) ให้ยึดถือได้ จิตนี้ก็จะไม่มีความทุกข์ (หรือนิพพาน แม้เพียงชั่วคราว)

แต่ผู้ที่ไม่เข้าใจก็จะคิดว่า "ขันธ์ ๕ (คือร่างกายและจิตใจ) นี้คือตัวเรา และพระพุทธเจ้าสอนว่าไม่ให้ยึดถือขันธ์ ๕ เพราะมันไม่เที่ยง ยึดถือแล้วจะเป็นทุกข์เท่านั้น" ซึ่งนี่เป็นความเข้าใจผิด เพราะถ้าสมมติขันธ์ ๕ นี้จะเป็นตัวเราจริง มันจะต้องเที่ยง หรือเป็นอมตะ และยึดถือได้ แต่นี่กลับบอกว่า ขันธ์ ๕ นี้คือตัวเรา แต่บอกว่า มันไม่เที่ยง  ซึ่งเป็นข้อความที่ขัดแย้งกันอย่างมาก

สรุปได้ว่า เมื่อบอกว่า มีตัวเรา แล้วบอกว่า ไม่ให้ยึดถือ ก็เท่ากับโกหกตัวเอง ซึ่งจิตใต้สำนึกมันก็รู้ว่าโกหก ดังนั้นมันจิตจึงไม่ยอมปล่อยวางความยึดถือ เพราะมันก็เข้าใจผิดว่ามีตัวตนอยู่จริง มันจึงไม่ยอมปล่อยวาง เมื่อไม่ปล่อยวาง จิตก็ยังคงมีความทุกข์อยู่ แล้วก็ไม่นิพพานจริง  จะต้องเกิดความเข้าใจอย่างแจ่มชัดก่อนว่า "มันไม่มีตัวเราอยู่จริงในขันธ์ ๕" จิตจึงจะยอมรับและปล่อยวางความยึดถือได้อย่างง่ายดายโดยไม่ต้องใช้สมาธิมากเลย
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่