“นิพพานัง ปรมัง สุขัง”. “พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง”

นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน น้อมจิตเข้าไปในอมตธาตุ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๙  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๑
ขุททกนิกาย มหานิทเทส

ว่าด้วยทำบุญต้องมุ่งนิพพาน
             [๘๒๕] คำว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน. อนึ่ง นรชนบังคับจิตให้กลับจากสังขารธาตุอันเป็นไปในไตรภูมิทั้งปวง น้อมจิตเข้าไปในอมตธาตะว่าธรรมชาติใด คือ ความสงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนแห่งอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความสำรอกตัณหา ความดับตัณหา ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัดธรรมชาตินี้สงบ ประณีต แม้ด้วยเหตุอย่างนี้ดังนี้ จึงชื่อว่า นรชนพึงเป็นผู้มีใจน้อมไปในนิพพาน.

พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “นิพพานัง ปรมัง สุขัง”. “พระนิพพานเป็นสุขอย่างยิ่ง” คือ ความสุขที่จิตใจเป็นอิสระภาพเสรีภาพ จากกิเลส อวิชชา คลายความยึดมั่นในขันธ์ 5 เป็นความสุขสงบ อันเป็นความเกษมศรี ที่เราท่านทั้งหลายพึงหมายประพฤติตนเพื่อพบนิพพานสุขนี้

นิพฺพานปฏิสํยุตฺตาย ความว่า อสังขตธาตุที่อาศัยอมตธาตุ เป็นไปด้วยอำนาจการประกาศให้รู้

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๒๐ พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๑๒
อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

อสังขตสูตร
             [๔๘๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม ๓
ประการนี้ ๓ ประการเป็นไฉน คือ ไม่ปรากฏความเกิด ๑ ไม่ปรากฏความ
เสื่อม ๑ เมื่อตั้งอยู่ไม่ปรากฏความแปรปรวน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย อสังขตลักษณะ
ของอสังขตธรรม ๓ ประการนี้แล ฯ

พระไตรปิฎกเล่มที่ ๓๐  พระสุตตันตปิฎกเล่มที่ ๒๒
ขุททกนิกาย จูฬนิทเทส

          อมตนิพพาน ความสงบสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา
ความคลายกำหนัด ความดับ ความออกจากตัณหาเป็นเครื่องร้อยรัด ท่านกล่าวว่านิพพาน อัน
ไม่กำเริบ ในคำว่า อสงฺกุปฺปํ ดังนี้.
             ความเกิดขึ้นแห่งนิพพานใด ย่อมปรากฏ ความเสื่อมแห่งนิพพานนั้นมิได้มี ย่อมปรากฏอยู่โดยแท้. นิพพานเป็นคุณชาติเที่ยง ยั่งยืน มั่นคง มิได้มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า อันอะไรๆ นำไปไม่ได้ ไม่กำเริบ.

อมตจิต ถ้าตายแล้วสูญมันก็สูญไปหมดแล้ว [5:37นาที]

"..ภพไหนก็ใจดวงนี้นะ ไปไหนมันตายเมื่อไหร่ใจดวงนี้ ไม่เคยตาย มีแต่ธาตุขันธ์ตาย เข้าไปอาศัยร่างใดก็เรียกว่าสัตว์ว่าบุคคลขึ้นมา ใจดวงเดียวนี้ละเข้าไป..

เรื่องที่จะรู้วิถีทางรู้จิตจริง ๆ ..วินิจฉัยใคร่ครวญด้วยจิตตภาวนาจะรู้แน่นอน นอกนั้นใครจะมีความรู้สูงต่ำขนาดไหนไม่มีทาง เป็นวิชาของกิเลสที่จะกลบความจริง ๆ คือใจดวงนี้ ให้ว่าตายแล้วสูญ ๆ ไปเท่านั้น ทั้ง ๆ ที่เจ้าของเป็นนักเกิดนักตายมันก็ปฏิเสธในเจ้าของว่าตายแล้วสูญ ๆ เพราะกิเลสพาปฏิเสธเนื่องจากเราหลงตามมัน เราก็ไม่รู้ เกิดกี่กัปกี่กัลป์ก็ปฏิเสธมาอย่างนั้น ว่าตายแล้วสูญ ๆ มันสูญยังไงพิจารณาซิ ถ้ามันสูญแล้วอะไรมีในโลกนี้ได้ มันก็สูญไปหมดแล้ว แล้วเวลานี้เต็มโลกไหม ตั้งแต่กัปไหนกัลป์ใดมันก็มีอยู่นี้..

จิตที่บริสุทธิ์เต็มที่ ท่านเรียกว่าอมตจิต อมตธรรม หรืออมตมหานิพพานคือใจดวงนี้ ที่ไม่ตายนี้แล ถึงขั้นนี้แล้วไม่ตาย เรียกว่าเที่ยงโดยถ่ายเดียว อย่างท่านว่านิพพานเที่ยงคือจิตดวงนี้ไม่มีสมมุติตัวเป็นอนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปแทรก ปัดออกหมดแล้วเป็น อมตจิต อมตธรรมขึ้นมา ไตรลักษณ์ อนิจฺจํ ทุกฺขํ อนตฺตา เข้าไปยุ่งไม่ได้ เพราะเหล่านี้เป็นสมมุติ นั่นละท่านว่าจิตเที่ยง จิตถึงนิพพานเป็นอมตจิต นี่เรียนวิชาจิตตภาวนาเข้าไปถึงนี้จะไม่ต้องทูลถาม นอกจากกราบพระพุทธเจ้าอย่างราบ.."

โอวาทธรรม หลวงตาพระมหาบัว ญาณสัมปันโน

แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่