วิเคราะห์ // แถลงการณ์ ศอ.รส. ฉบับ 3 จุดเปลี่ยนสถานการณ์?

http://www.peopleunitynews.com/web02/2014/%E0%B8%A7%E0%B8%B4%E0%B9%80%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B8%B2%E0%B8%B0%E0%B8%AB%E0%B9%8C-%E0%B9%81%E0%B8%96%E0%B8%A5%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C-%E0%B8%A8%E0%B8%AD-%E0%B8%A3/

สำนักข่าวออนไลน์ พีเพิล ยูนิตี้ - แถลงการณ์ของ ศอ.รส. ฉบับที่ 3 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2557 ซึ่งอ่านโดย นายธาริต เพ็งดิษฐ์ ในฐานะเลขานุการ ศอ.รส. แม้จะอ้างว่าเป็นอำนาจและภารกิจของ ศอ.รส. ที่จะต้องป้องกัน ระงับยับยั้ง แก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่เกิดขึ้น แต่เนื้อหาส่วนใหญ่ของแถลงการณ์กลับส่อไปในทางกดดันศาลรัฐธรรมนูญ และดูคล้ายจะข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญในคดีการแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี

เพราะแทนที่ ศอ.รส. จะเรียกร้องให้ทุกฝ่ายในความขัดแย้งลดราวาศอกการเผชิญหน้ากันหรือหลีกเลี่ยงการใช้ความรุนแรงต่อกัน อันเป็นอำนาจหน้าที่หรือภารกิจของ ศอ.รส. ที่จะต้องทำในการป้องกัน ระงับยับยั้ง แก้ไขหรือบรรเทาเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง แต่ ศอ.รส. กลับเรียกร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตัดสินคดีให้ดีๆ เพื่อมิให้นำไปสู่เหตุการณ์ความรุนแรง

ประการต่อมา ศอ.รส. ถือเป็นเครื่องมือของรัฐบาลซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการตัดสินวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การเรียกร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญของ ศอ.รส. จึงเป็นการกระทำที่ไม่เหมาะสมและหมิ่นเหม่เข้าข่ายแทรกแซงการทำหน้าที่ของศาล

ประการถัดมา แถงการณ์ของ ศอ.รส. ออกมาโดยพลันภายหลังที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เสร็จสิ้นการเข้าให้ปากคำต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญนัดฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 7 พฤษภาคม เวลา 12.00 น. ซึ่งทำให้แถลงการณ์ของ ศอ.รส. หมิ่นเหม่ต่อการกดดันศาลมากขึ้น

ลองมาดูกันว่าเนื้อหาของแถลงการณ์กดดันหรือข่มขู่คุกคามการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่

แถลงการณ์กล่าวว่า ศอ.รส. มีข้อห่วงใย และข้อวิตกกังวลต่อการวินิจฉัยขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ โดยเฉพาะศาลรัฐธรรมนูญที่มีการพิจารณาและวินิจฉัยชี้ขาดคดีที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง ซึ่งจะทำให้การแก้ไขปัญหาความไม่สงบเรียบร้อยไม่อาจบรรลุผล ดังนี้

1.ในการใช้อำนาจพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ยังคงใช้วิธีพิจารณาและทำคำวินิจฉัยตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 ซึ่งเป็นข้อกำหนดที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้กำหนดขึ้นเอง ทั้งๆที่รัฐธรรมนูญกำหนดให้วิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญต้องเป็นไปตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ และต้องตราพระราชบัญญัติดังกล่าวให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญ ซึ่งนับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 24 ส.ค.2550  จนถึงปัจจุบัน แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ดำเนินการผลักดันให้มีการตราพระราชบัญญัติดังกล่าว ทั้งนี้ การกำหนดวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญในรูปของกฎหมายก็เพื่อควบคุมการใช้อำนาจของศาล เมื่อวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดไว้ในรูปของกฎหมาย จึงทำให้สาธารณชนเกิดความสับสนต่อการทำหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการไม่มี พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญที่ออกโดยรัฐสภา อาจส่งผลให้การพิจารณาวินิจฉัยคดีไม่มีมาตรฐาน

2.จากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่สำคัญในหลายคดีที่ผ่านมา มักถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากว่า มีปัญหาในเรื่องความยุติธรรม หลายคดีวินิจฉัยก้าวล่วงการใช้อำนาจอธิปไตยขององค์กรอื่นโดยไม่มีอำนาจ ขัดต่อหลักการแบ่งแยกอำนาจ

3.กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง โดยเห็นว่ากระทำการก้าวก่าย หรือแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี นั้น จากการตรวจสอบพบว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยคำร้องขอให้ความเป็นรัฐมนตรีของนายสมัคร  สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลง โดยให้เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว ทำให้รัฐมนตรีในคณะรัฐมนตรีที่เหลือจึงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป หากผลของคำวินิจฉัยแตกต่างกัน ก็จะทำให้เกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ถึงการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญที่ขาดมาตรฐานอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

4.ศอ.รส.ได้รับทราบข้อมูลด้านการข่าวว่า มีความพยายามของกลุ่มบุคคลที่สนับสนุนแนวทางที่จะทำให้เกิดสุญญากาศทางการเมือง เรียกร้องให้การวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในคดีร้องขอให้วินิจฉัยความเป็นรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมาย แล้ววินิจฉัยให้เกินเลยไปที่จากรัฐธรรมนูญบัญญัติไว้ ถึงขั้นยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ดังนั้น การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเกินเลยไปถึงการยกเว้นการใช้รัฐธรรมนูญบางมาตราจึงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง และไม่สามารถกระทำได้

ฯลฯ

ศอ.รส.จึงขอเรียกร้องศาลรัฐธรรมนูญด้วยความเคารพต่อองค์กร และเห็นถึงความสำคัญ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณาและวินิจฉัยคดีอย่างตรงไปตรงมา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญโดยยึดถือจริยธรรมตามรัฐธรรมนูญ และคำถวายสัตย์ปฏิญาณที่ไห้ไว้ต่อพระมหากษัตริย์ก่อนเข้ารับหน้าที่ ทั้งนี้ ศอ.รส.ขอยืนยันว่ามิได้มีเจตนาที่จะก้าวล่วงหรือกดดันการพิจารณาวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด แต่ขณะนี้มีกลุ่มมวลชนจำนวนมากทั้งสองฝ่ายกำลังรอคอยผลการพิจารณาพิพากษาของศาลรัฐธรรมนูญ หากคำพิพากษาไม่เป็นไปตามรัฐธรรมนูญดังกล่าวมาแล้ว ย่อมจะเกิดความไม่พอใจขยายตัวในวงกว้าง และเกิดการใช้กำลังเข้าปะทะกัน

กดดันหรือไม่กดดันก็ลองพิจารณาดู ส่วนแถลงการณ์ฉบับนี้จะมีผลต่อการวินิจฉัยคดีของศาลรัฐธรรมนูญหรือไม่ และให้ผลเป็นบวกหรือลบต่อนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลหรือไม่ ไม่มีใครรู้

โดย – อาทิตย์ สิงหา

7 พฤษภาคม 2557
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่