"พนัส ทัศนียานนท์" ชี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ขาดสถานะนายกรัฐมนตรี



"อ.พนัส ทัศนียานนท์" โพสต์เฟซบุ๊ก ชี้ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจชี้ขาดสถานะนายกรัฐมนตรี  เหตุยุบสภาพ้นจากรัฐมนตรีแล้ว

อาจารย์พนัส ทัศนียานนท์  สมาชิกพรรคเพื่อไทย  และอดีตคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้โพสต์เฟซบุ๊ก Panat Tasneeyanond   ถึงกรณีที่วานนี้ (2เม.ย.57) ศาลรัฐธรรมนูญ มีมติรับคำร้องสถานภาพนายกรัฐมนตรีไว้วินิจฉัย กรณีการโยกย้ายตำแหน่ง นายถวิล เปลี่ยนศรี พ้นจากตำแหน่งเลขาฯ สมช.  โดยระบุว่า

ศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับคำร้องของนายไพบูลย์ นิติตะวันกับคณะไว้พิจารณา เพราะ

1.นายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีทั้งคณะพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีไปแล้วเมื่อมีพระราชกฤษฎีกายุบสภาผู้แทนราษฎรในวันที่ 9 ธันวาคม 2556 จึงไม่มีเหตุที่จะทำให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยได้อีกว่านายกรัฐมนตรีต้องพ้นจากความเป็นรัฐมนตรีเพราะเหตุได้กระทำผิดรัฐธรรมนูญมาตรา 268

2. การที่นายกรัฐมนตรีได้มีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เป็นการใช้อำนาจบริหารในการแต่งตั้ง โยกย้ายข้าราชการตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งนายกรัฐมนตรีมีอำนาจออกคำสั่งแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการระดับสูงได้ทุกตำแหน่ง แต่ต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามขั้นตอนและกระบวนการตามที่กฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกำหนดไว้ การที่นายกรัฐมนตรีออกคำสั่งโยกย้ายนายถวิล จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯมาเป็นที่ปรึกษาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นตำแหน่งระดับเดียวกัน จึงมีอำนาจกระทำได้โดยชอบด้วยกฎหมาย

3. การใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีออกคำสั่งย้ายนายถวิล จึงมิใช่เป็นการก้าวก่ายหรือแทรกแซงอำนาจการแต่งตั้งโยกย้ายของผู้อื่นซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 ประกอบกับมาตรา 266 แต่อย่างใด เพราะเป็นการใช้อำนาจของนายกรัฐมนตรีเอง หาได้ก้าวก่ายแทรกแซงอำนาจตามกฎหมายของบุคคลอื่นแต่อย่างใดไม่

4. ตามคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่ให้เพิกถอนคำสั่งย้ายนายถวิล มิได้เป็นการเพิกถอนเพราะเหตุนายกรัฐมนตรีใช้อำนาจก้าวก่ายหรือแทรกแซงอำนาจการสั่งแต่งต้ังโยกย้ายของบุคคลอื่นซึ่งต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญมาตรา 268 แต่เป็นการวินิจฉัยว่าการออกคำสั่งของนายกรัฐมนตรีให้โยกย้ายนายถวิลมาประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นการใช้ดุลพินิจในการใช้อำนาจโยกย้ายที่ไม่ชอบด้วยกระบวนการและขั้นตอนตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยข้าราชการพลเรือนและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง เนื่องจากมิได้แสดงเหตุผลให้ชัดแจ้งว่าทำไมจึงมีความจำเป็นต้องโยกย้ายนายถวิลออกจากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงฯ

5. คำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดในเรื่องนี้มีปัญหาเกี่ยวกับความถูกต้องชอบธรรมของกระบวนการชี้ขาดตัดสินคดี เพราะประธานศาลปกครองสูงสุดใช้อำนาจสั่งให้นำคดีเข้าสู่การพิจารณาของที่ประชุมใหญ่ และตุลาการซึ่งเป็นองคณะและเจ้าของสำนวนรวม 8 คน มีความเห็นแย้งกับความเห็นของที่ประชุมใหญ่ และได้ทำความเห็นแย้งคัดค้านไว้

สรุป การที่นายกรัฐมนตรีมีคำสั่งย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรีไม่เข้าข่ายเป็นการต้องห้ามตาม รธน. มาตรา 268 ความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีจึงไม่สิ้นสุดลงตาม รธน. มาตรา 182(7) ดังที่นายไพบูลย์ นิติตะวันกับพวกอ้างในคำร้อง และไม่ว่ากรณีจะเป็นอย่างไรก็ตาม ศาลรัฐธรรมนูญก็ไม่มีอำนาจตามมาตรา 182 วรรคสาม ที่จะวินิจฉัยได้ว่าความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 182 วรรคสามดังกล่าว เพราะความเป็นรัฐมนตรีของนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงนับแต่วันที่ได้มีการประกาศยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อ 9 ธันวาคม 2556 นั้นแล้ว (รธน.มาตรา 180(2)) จึงไม่มีความเป็นรัฐมนตรีที่จะต้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าได้สิ้นสุดลงตามมาตรา 182 วรรคสามอีกหรือไม่แต่อย่างใด



ที่มา :  http://news.voicetv.co.th/democracycrisis/101848.html
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่