(อรรถกถา) มตโรทนชาดก - ว่าด้วยร้องไห้ถึงคนตาย

อรรถกถา มตโรทนชาดก
ว่าด้วย ร้องไห้ถึงคนตาย



(บางส่วน )
               พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภกฎุมพีในนครสาวัตถีคนหนึ่ง จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้
มีคำเริ่มต้นว่า มตมตเมว โรทถ ดังนี้.


      ได้ยินว่า ภาดา (พี่ชายน้องชาย) ของกฎุมพีนั้นได้ทำกาลกิริยาตายไป เขาถูกความโศกครอบงำ เพราะกาลกิริยาของกฏุมพีนั้น
ไม่อาบน้ำ ไม่บริโภคอาหาร ไม่ลูบไล้ ไปป่าช้าแต่เช้าตรู่ ถึงความเศร้าโศกร้องไห้อยู่.


               พระศาสดาทรงตรวจดูโลกในเวลาปัจจุสมัย ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งโสดาปัตติผลของพี่ชายแห่งกฏุมพีนั้น จึงทรงพระดำริว่า
เราควรนำอดีตเหตุมาระงับความเศร้าโศก แล้วให้โสดาปัตติผลแก่พี่ชายกฏุมพีนี้ เว้นเราเสียใครๆ อื่นผู้สามารถย่อมไม่มี
เราเป็นที่พึงอาศัยของพี่ชายแห่งกฏุมพีนี้ จึงจะควร.


ในวันรุ่งขึ้นเสด็จกลับจากบิณฑบาต ภายหลังภัตแล้ว ทรงพาปัจฉาสมณะไปยังประตูเรือนของพี่ชายกฏุมพีนั้น ผู้อันกฏุมพีพี่ชายได้ฟังว่า
พระศาสดาเสด็จมา จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายจงปูลาดอาสนะแล้วนิมนต์ให้เสด็จเข้ามา
พระองค์จึงเสด็จไปแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่เขาปูลาดไว้. ฝ่ายกฏุมพีก็มาถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ส่วนสุดข้างหนึ่ง.


               ลำดับนั้น พระศาสดาจึงตรัสกะกฏุมพีนั้นว่า ดูก่อนกฎุมพี ท่านคิดเสียใจอะไรหรือ.
กฏุมพีกราบทูลว่า พระเจ้าข้า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์คิดเสียใจตั้งแต่เวลาที่ภาดา (พี่ชายน้องชาย) ของข้าพระองค์ตายไป.


               พระศาสดาตรัสว่า ดูก่อนผู้มีอายุ สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง สิ่งที่ควรจะแตกทำลาย ก็แตกทำลายไป ไม่ควรคิดเสียใจในเรื่องนั้น
แม้โบราณกบัณฑิตทั้งหลาย เมื่อพี่ชายตายไป ก็ไม่ได้คิดเสียใจว่า สิ่งที่ควรจะแตกทำลาย ได้แตกทำลายไปแล้ว
อันกฏุมพีนั้นทูลอาราธนาแล้ว  จึงทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-


               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
พระโพธิสัตว์บังเกิดในตระกูลเศรษฐีมีทรัพย์สมบัติ ๘๐ โกฏิ.  เมื่อพระโพธิสัตว์นั้นเจริญวัยแล้ว มารดาบิดาก็ได้ทำกาลกิริยาตายไป
เมื่อมารดาบิดานั้นทำกาลกิริยาตายไปแล้ว  พี่ชายของพระโพธิสัตว์จึงจัดแจงทรัพย์สมบัติแทน. พระโพธิสัตว์อาศัยพี่ชายนั้นเป็นอยู่.


         ในกาลต่อมา พี่ชายนั้นได้ทำกาลกิริยาตายไปด้วยความป่วยไข้เห็นปานนั้น. ญาติมิตรและอำมาตย์ทั้งหลายพากันประคองแขน
คร่ำครวญร้องไห้ แม้คนเดียวก็ไม่อาจดำรงอยู่โดยภาวะของตนได้ ส่วนพระโพธิสัตว์ไม่คร่ำครวญ ไม่ร้องไห้


คนทั้งหลายพากันติเตียนพระโพธิสัตว์ว่า ดูเอาเถิดท่านผู้เจริญทั้งหลาย เมื่อพี่ชายของผู้นี้ตายไปแล้ว อาการแม้สักว่าหน้าสยิ้วก็ไม่มี
เขามีใจแข็งกระด้างมาก เห็นจะอยากให้พี่ชายตายด้วยคิดว่า เราเท่านั้นจักได้ใช้สอยทรัพย์สมบัติทั้งสองส่วน.


     ฝ่ายญาติทั้งหลายก็ติเตียนพระโพธิสัตว์นั้นเหมือนว่า เมื่อพี่ชายตาย เจ้าไม่ร้องไห้.
พระโพธิสัตว์นั้นได้ฟังคำของญาติเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ท่านทั้งหลายไม่รู้จักโลกธรรม ๘ ประการ เพราะความที่ตนเป็นคนบอดเขลา
จึงพากันร้องไห้ว่า พี่ชายของเราตาย แม้เราเองก็จักตาย เพราะเหตุไรท่านทั้งหลายจึงไม่ร้องไห้ถึงเราบ้างว่า ผู้นี้ก็จักตาย
แม้ท่านทั้งหลายก็จักตาย เพราะเหตุไรจึงไม่ร้องให้ถึงตนเองบ้างว่า แม้เราทั้งหลายก็จักตายๆ สังขารทั้งปวงย่อมเป็นของไม่เที่ยง
แม้สังขารอย่างหนึ่งซึ่งสามารถดำรงอยู่ตามสภาวะนั้นนั่นแหละย่อมไม่มี ท่านทั้งหลายเป็นผู้บอดเขลา ไม่รู้จักโลกธรรม ๘ ประการ
จึงพากันร้องไห้  เพราะความไม่รู้ เราจักร้องไห้เพื่ออะไรกัน.
แล้วกล่าวคาถาเหล่านี้ว่า :-


  ท่านทั้งหลายย่อมร้องไห้ถึงแต่คนที่ตายแล้วๆ ทำไมจึงไม่ร้องให้ถึงคนที่จักตายบ้างเล่า สัตว์ทุกจำพวกผู้ครองสรีระไว้
ย่อมละทิ้งชีวิตไปโดยลำดับ. เทวดา มนุษย์ สัตว์จตุบาท หมู่ปักษีชาติ และพวกงู ไม่มีอิสระในสรีระร่างกายนี้
ถึงจะอภิรมย์อยู่ในร่างกายนั้น ก็ต้องละทิ้งชีวิตไปทั้งนั้น. สุขทุกข์ที่เพ่งเล็งกันอยู่ในหมู่มนุษย์ เป็นของผันแปร ไม่มั่นคงอยู่อย่างนี้
ความคร่ำครวญ ความร่ำไห้ ไม่เป็นประโยชน์เลย เพราะเหตุไร กองโศกจึงท่วมทับท่านได้.
พวกนักเลง และพวกคอเหล้า ผู้ไม่ทำความเจริญ เป็นพาล ห้าวหาญ ไม่มีความขยันหมั่นเพียร ไม่ฉลาดในธรรม
ย่อมสำคัญนักปราชญ์ว่าเป็นคนพาล.

พระโพธิสัตว์ ครั้นแสดงธรรมแก่ญาติเหล่านั้นด้วยประการอย่างนี้แล้ว ได้กระทำญาติแม้ทั้งหมดนั้นให้หายโศกแล้ว.


พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว จึงทรงประกาศสัจจะ แล้วทรงประชุมชาดก
ในเวลาจบสัจจะ กฏุมพีดำรงอยู่แล้วในโสดาปัตติผล.

               บัณฑิตผู้แสดงธรรมแก่มหาชนแล้วกระทำให้หายโศกเศร้าในครั้งนั้น คือ เราตถาคต ฉะนี้แล.



Ref.
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=27&i=566
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่