ธรรมบท เรื่อง พระเถระแก่


รูปภาพจาก buddhanet.net/dhammapada



๖. เรื่องพระเถระแก่ [๒๐๙]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภภิกษุแก่หลายรูป ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า " วนํ ฉินฺทถ " เป็นต้น.

           พวกกุฏุมพีละฆราวาสออกบวชได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้นในเวลาเป็นคฤหัสถ์เป็นกุฎุมพี เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก ในกรุงสาวัตถี เป็นสหายกันและกัน ทำบุญร่วมกันฟังพระธรรมเทศนาของพระศาสดาแล้ว คิดว่า " พวกเราเป็นคนแก่,   ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือนของพวกเรา" ดังนี้แล้ว ทูลขอบรรพชากะพระศาสดา บวชแล้ว, แต่เพราะความเป็นคนแก่ ไม่สามารถเล่าเรียนธรรมได้ จึงให้คนสร้างบรรณศาลาไว้ในที่สุดวิหาร แล้วอยู่รวมกัน, แม้เมื่อเที่ยวไปบิณฑบาต โดยมากก็ไปเรือนของบุตรและภรรยานั่นแหละแล้วฉัน.   พวกภิกษุแก่ร้องไห้รำพันถึงอุบาสิกาในภิกษุเหล่านั้น ภิกษุรูปหนึ่งมีภรรยาเก่าชื่อว่านางมธุรปาณิกา.  นางได้มีอุปการะแก่ภิกษุเหล่านั้นแม้ทุกรูป; เพราะฉะนั้น ภิกษุแม้ทุกรูปถืออาหารที่ตนได้แล้ว ไปนั่งฉันที่เรือนของนางนั่นแหละ. ฝ่ายนางก็ถวายแกงและกับแก่ภิกษุเหล่านั้น ตามที่ตนจัดไว้.
(ต่อมา)
           นางอันอาพาธชนิดใดชนิดหนึ่งถูกต้องแล้ว ได้ทำกาละแล้ว. ลำดับนั้น พระเถระแก่เหล่านั้นประชุมกันในบรรณศาลาของพระเถระผู้สหายกอดคอกันและกันร้องไห้รำพันอยู่ว่า " อุบาสิกาผู้มีรสมืออันอร่อยทำกาละเสียแล้ว." และอันภิกษุทั้งหลายวิ่งเข้าไปโดยรอบ แล้วถามว่า " นี่เรื่องอะไรกัน  ? ท่าน " จึงกล่าวว่า " ท่านผู้เจริญ ภรรยาเก่าของสหายของพวกผมทำกาละเสียแล้ว, นางเป็นผู้มีอุปการะแก่พวกผมเหลือเกิน, บัดนี้พวกผมจักได้ผู้เห็นปานนั้นแต่ไหน, พวกผมร้องไห้เพราะเหตุนี้."   พระศาสดาตรัสกากชาดกแก่ภิกษุทั้งหลายภิกษุทั้งหลายสนทนากันในโรงธรรมแล้ว. พระศาสดาเสด็จมาแล้ว

           ตรัสถามว่า " ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอนั่งประชุมกันด้วยเรื่องอะไรหนอ ?
           ในบัดนี้ " เมื่อพวกภิกษุกราบทูลว่า " ด้วยเรื่องชื่อนี้ " จึงตรัสว่า

           " ภิกษุทั้งหลาย ไม่ใช่แต่ในบัดนี้เท่านั้น, แม้ในกาลก่อน เมื่อนางมธุรปาณิกานั้นเกิดในกำเนิดกา เที่ยวไปริมฝั่งสมุทร ถูกลูกคลื่นสมุทร (ซัด)   เข้าไปสู่สมุทรให้ตายแล้ว ภิกษุเหล่านั้น (เกิด) เป็นกา ร้องไห้ร่ำไรแล้ว,    คิดว่า ' พวกเราจักนำนางกานั้นไป,' จึงพากันวิดมหาสมุทรด้วยจะงอยปากลำบากแล้ว." ทรงนำอดีตนิทานมาแล้ว ตรัสกาก ชาดกให้พิสดารว่า :-
(ขุ. ชา. เอก. ๒๗/๔๒ อรรถกถา. ๒/๕๓๓. )

           " เออก็ คางของพวกเราล้าแล้ว, และปากซีด,
           พวกเราจงงดเสียเถิด พวกเรา (วิดต่อไปก็) ไม่
           สำเร็จ, เพราะห้วงน้ำใหญ่ยังเต็มอยู่อย่างเดิม."

แล้วตรัสเรียกภิกษุเหล่านั้นมา ตรัสว่า " ภิกษุทั้งหลาย พวกเธออาศัยป่า คือราคะ โทสะ และโมหะ จึงถึงทุกข์นี้, การที่พวกเธอตัดป่านั้นเสีย ควร, พวกเธอจักเป็นผู้หมดทุกข์ได้ด้วยอาการอย่างนั้น" แล้ว

           ได้ทรงภาษิตพระคาถาเหล่านี้ว่า:-

๖. วนํ ฉินฺทถ มา รุกขํ วนโต ชายตี ภยํ
เฉตฺวา วนญฺจ วนกญฺจ นิพฺพนา โหถ ภิกฺขโว.
ยาวํ หิ วนโถ น ฉิชฺชติ
อณุมตฺโตปิ นรสฺส นาริสุ
ปฏิพทฺธมโน ว ตาว โส
วจฺโฉ ขีรปโกว มาตริ.

           " ท่านทั้งหลายจงตัดกิเลสดุจป่า อย่าตัดต้นไม้,
           ภัยย่อมเกิดแต่กิเลสดุจป่า, ภิกษุทั้งหลาย ท่าน
           ทั้งหลาย จงตัดกิเลสดุจป่า และดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ใน
           ป่าแล้ว เป็นผู้ไม่มีกิเลสดุจป่าเถิด; เพราะกิเลสดุจ
           หมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า ถึงมีประมาณนิดหน่อยของนรชน
           ยังไม่ขาดในนารีทั้งหลายเพียงใด, เขาเป็นเหมือน
           ลูกโคที่ยังดื่มน้ำนม มีใจปฏิพัทธ์ในมารดาเพียงนั้น."

แก้อรรถ
           บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มา รุกฺขํ ความว่า ก็เมื่อพระศาสดาตรัสว่า " ท่านทั้งหลายจงตัดป่า,' ภิกษุเหล่านั้นผู้บวชยังไม่นาน ความคิดในความเป็นผู้ใคร่เพื่อตัดต้นไม้จะเกิดขึ้นว่า " พระศาสดาย่อมให้พวกเราถือมีดเป็นต้นตัดป่า;" เมื่อเป็นเช่นนั้น พระศาสดาเมื่อจะทรงห้ามภิกษุเหล่านั้นว่า " เราพูดคำนั่น หมายเอาป่าคือกิเลสมีราคะเป็นต้น (ต่างหาก ) มิได้พูดหมายเอาต้นไม้ " จึงตรัสว่า "อย่าตัดต้นไม้."    บทว่า วนโต ความว่า ภัยแต่สัตว์ร้ายมีสีหะเป็นต้น ย่อมเกิดจากป่าตามปกติ ฉันใด; แม้ภัยมีชาติเป็นต้น ย่อมเกิดจากป่าคือกิเลสฉันนั้น.

           ในสองบทว่า วนํ วนฏฺฐญฺจ(บาลีเป็น วนถญฺจ.) นี้ พึงทราบวินิจฉัยว่า ต้นไม้ใหญ่  ชื่อว่าป่า, ต้นไม้เล็กที่ตั้งอยู่ในป่านั้น ชื่อว่าหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า อีกอย่างหนึ่ง ต้นไม้ที่เกิดก่อนชื่อว่าป่า ที่เกิดต่อ ๆ กันมา ชื่อว่าหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า (ฉันใด); กิเลสใหญ่ ๆ อันคร่าสัตว์ไว้ในภพ ชื่อว่ากิเลสดุจป่า,  กิเลสที่ให้ผลในปัจจุบัน ชื่อว่ากิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า; อีกอย่างหนึ่งกิเลสที่เกิดก่อน ชื่อว่ากิเลสดุจป่า ที่เกิดต่อ ๆ มา ชื่อว่ากิเลสดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่าฉันนั้นเหมือนกัน . ก็กิเลสชาตแม้ทั้งสองอย่างนั้น อันพระโยคี

            พึงตัดด้วยญาณที่สัมปยุตด้วยมรรคที่ ๔, เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า " จงตัดกิเลสดุจป่า และดุจหมู่ไม้ตั้งอยู่ในป่า."  สองบทว่า นิพฺพนา โหถ แปลว่า ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่มีกิเลสเถิด.     สองบทว่า ยาวญฺหิ วนฏฺโฐฑ(ยาวํ หิ วนโถ.) ความว่า หมู่ไม้ที่ตั้งอยู่ในป่า คือ กิเลสนั่น ถึงมีประมาณนิดหน่อยของนรชน ยังไม่ขาดในนารีทั้งหลายเพียงใด, เขาก็เป็นเหมือนลูกโคตัวยังดื่มน้ำนม มีใจปฏิพัทธ์ คือมีจิตข้องในมารดาเพียงนั้น.     ในเวลาจบทศนา พระเถระแก่เหล่านั้นตั้งอยู่ในโสดาปัตติผลแล้ว,   เทศนาได้มีประโยชน์แม้แก่บุคคลผู้ประชุมกันแล้ว ดังนี้แล.

เรื่องพระเถระแก่ จบ.
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่