กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก
ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา “ถูก” การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา “ไม่แพง” เป็นแนวลงทุนแบบ Super Stock จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน ปัญหาของผมก็คือ ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน? และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด นั่นก็คือ กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์
ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า ค่า PE ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม “ตลาดอาจจะผิด” ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว ดังนั้น กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น หลัก ๆ แล้วก็คือ พยายามหาหุ้นที่ “ถูกมาก” ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่ “เลวร้าย” อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ ไปคิด ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้
หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ หดตัวลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า “ตะวันตกดิน” อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก
หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง “อิ่มตัว” และมีคู่แข่งมาก อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้น โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง แต่ถ้าโชคดี ค่า PE ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้ “สองเด้ง” ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ถ้ามีการปรับขึ้นแรง ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง เช่นเดียวกัน ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร
หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร เงินทุน และหลักทรัพย์ หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง” ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า
กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว นอกจากนั้น เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป นอกจากนั้น ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ เช่น เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่ แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์
หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว กำไร “ปกติ” ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย นอกจากนั้น การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า ข้อแรก ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก ข้อสอง การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด
ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนนี้ สำหรับผมแล้ว มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า “Second Best” คือ ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่ “ถาวร” แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และดังนั้น มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา
Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor
กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก
ในช่วงที่ผมเริ่มเป็น VI ใหม่ ๆ เกือบ 20 ปีมาแล้วนั้น ผมเน้นซื้อหุ้นที่มีราคาถูก เหตุผลก็เพราะว่าในช่วงนั้นตลาดหุ้นตกต่ำมาก หุ้นในตลาดแทบทุกตัวต่างก็มีราคา “ถูก” การซื้อหุ้นที่มีราคาถูกจึงทำได้ง่าย กลยุทธการลงทุนของผมในตอนนั้นก็คือการซื้อหุ้นที่มีคุณภาพพอใช้ได้แต่มีราคาถูกมาก หรือไม่ก็เป็นหุ้นที่มีคุณภาพดีราคาถูกพอสมควรทีเดียว ต่อมาเมื่อตลาดหุ้นปรับตัวดีขึ้นพร้อม ๆ กับภาวะเศรษฐกิจของประเทศ ราคาหุ้นทั่วไปในตลาดก็ไม่ถูกเหมือนเดิมแต่ก็ยังค่อนข้างถูก กลยุทธการลงทุนของผมก็เปลี่ยนแปลงไป ผมหันมาลงทุนในหุ้นที่มีคุณภาพดีมากที่มีราคาถูกหรือราคา “ไม่แพง” เป็นแนวลงทุนแบบ Super Stock จวบจนถึงปัจจุบันที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวเป็นปกติแล้วและตลาดหุ้นก็ปรับตัวขึ้นมาเต็มที่ตามพื้นฐานที่ควรจะเป็น ส่งผลให้หุ้นจำนวนมากโดยเฉพาะหุ้นซุปเปอร์สต็อกมีราคาแพงขึ้นมากจนแทบจะไม่เหลือ Margin of Safety หรือส่วนเผื่อความปลอดภัยในการลงทุน ปัญหาของผมก็คือ ถ้าเราได้รับปันผลมาหรือขายหุ้นบางตัวทิ้งเราควรจะเอาเงินไปลงทุนแบบไหน? และนี่นำมาสู่ประเด็นที่ผมจะพูด นั่นก็คือ กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์
ในภาวะปัจจุบันของตลาดหุ้นนั้น เรายังมีกลุ่มธุรกิจหลายกลุ่มที่มีหุ้นราคาถูกอยู่ในความหมายที่ว่า ค่า PE ยังต่ำกว่าหรือประมาณ 10 เท่าต้น ๆ ค่า PB ไม่ถึง 1 หรือหนึ่งเท่าเศษ ๆ และผลตอบแทนเงินปันผลมากกว่า 3-4% ของปีล่าสุด การที่หุ้นมีราคาถูกนั้น ส่วนใหญ่แล้วก็เป็นเพราะว่าหุ้นอยู่ในอุตสาหกรรมที่ไม่ดีหรืออาจจะมีปัญหาการทำกำไรในอนาคตทำให้ตลาดไม่ให้คุณค่ามันเท่ากับธุรกิจกลุ่มอื่น ๆ อย่างไรก็ตาม “ตลาดอาจจะผิด” ในบางอุตสาหกรรมหรือในหุ้นบางตัว ดังนั้น กลยุทธการลงทุนในหุ้นถูกของผมนั้น หลัก ๆ แล้วก็คือ พยายามหาหุ้นที่ “ถูกมาก” ที่ตัวธุรกิจหรือกิจการอาจจะไม่ “เลวร้าย” อย่างที่ตลาดหรือนักลงทุนทั่ว ๆ ไปคิด ลองมาดูกันไปทีละกลุ่มที่อาจจะเป็นเป้าหมายในการลงทุนเนื่องจากว่าเป็นหุ้นกลุ่มที่ยังมีราคาถูกหรือไม่แพงในยามนี้
หุ้นกลุ่มแรกที่ยังถูกอยู่และก็คงถูกไปเรื่อย ๆ ก็คือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม “ตะวันตกดิน” เช่น กลุ่มอุตสาหกรรมการเกษตร ผู้ผลิตสิ่งทอที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่มแฟชั่น และอุตสาหกรรมเหล็ก เป็นต้น หุ้นในกลุ่มนี้มีปัญหาว่าในระยะยาวแล้วอาจจะไม่สามารถแข่งขันได้กับประเทศอื่นซึ่งทำให้ธุรกิจต้องค่อย ๆ หดตัวลง ดังนั้น การลงทุนในหุ้นถูกกลุ่มนี้จึงไม่มีประโยชน์ โอกาสที่จะได้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจะยากมาก กลยุทธก็อาจจะเป็นว่าเราไม่สนใจจะดู อย่างไรก็ตาม คนที่เข้าใจกิจการอย่างลึกซึ้งก็อาจจะหาหุ้นที่ไม่ได้ผลิตสินค้า “ตะวันตกดิน” อย่างที่คนอื่นคิดแม้ว่าจะอยู่ในกลุ่มธุรกิจเหล่านั้น ถ้าพบบริษัทที่มีอนาคตแต่ราคาถูกมากก็สามารถลงทุนได้ ประเด็นสำคัญก็คือ เราไม่ควรมองผลประกอบการระยะสั้นแล้วเข้าไปซื้อหุ้นในกลุ่มตะวันตกดินแม้ว่าหุ้นจะมีราคาถูกมาก
หุ้นกลุ่มต่อมาที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็คือหุ้นกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ประเภทสร้างบ้านขายอานิสงค์จากการที่ราคาหุ้นในกลุ่มปรับตัวลงเมื่อเร็ว ๆ นี้จากผลกระทบเรื่องภาวะเศรษฐกิจของประเทศที่อ่อนตัวลง การที่หุ้นขายบ้านจัดสรรหรือทำคอนโดมีราคาถูกนั้นเป็นเพราะธุรกิจนี้อาจจะค่อนข้าง “อิ่มตัว” และมีคู่แข่งมาก อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่มีความผันผวนสูงตามภาวะเศรษฐกิจและอัตราดอกเบี้ยในประเทศ ดังนั้น โดยปกติที่หุ้นอสังหาริมทรัพย์ประเภทนี้มีราคาถูกจึงเป็นเรื่องที่สมเหตุผล การที่จะหวังให้หุ้นมีค่า PE ที่สูงขึ้นจึงอาจจะหวังไม่ได้มากนัก ดังนั้น ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ นอกจากหุ้นจะต้องถูกมากแล้ว ผมคิดว่าจะต้องเป็นบริษัทที่จะมีกำไรมากขึ้นอย่างน้อยในช่วงหนึ่งถึงสองปีข้างหน้าอย่างค่อนข้างแน่ เพราะถ้าเป็นอย่างนั้น ด้วยกำไรที่เพิ่มขึ้น ราคาหุ้นก็น่าจะเพิ่มขึ้นตาม โดยที่ค่า PE ก็ยังเท่าเดิมหรือไม่น่าจะต่ำลง แต่ถ้าโชคดี ค่า PE ก็เพิ่มขึ้นด้วยเราก็จะได้ “สองเด้ง” ส่วนข้อที่ต้องระวังก็คือ อัตราดอกเบี้ยกู้ซื้อบ้าน ถ้ามีการปรับขึ้นแรง ราคาหุ้นก็มักจะปรับตัวลง เช่นเดียวกัน ถ้าเศรษฐกิจตกต่ำลงไปอีก การซื้อบ้านก็อาจจะลดลงมาก และนั่นทำให้การลงทุนในหุ้นอสังหาริมทรัพย์มีความเสี่ยงพอสมควร
หุ้นกลุ่มใหญ่มากกลุ่มหนึ่งที่ยังมีหุ้นราคาถูกอยู่พอสมควรก็คือหุ้นธุรกิจการเงินซึ่งรวมถึงหุ้น ธนาคาร เงินทุน และหลักทรัพย์ หุ้นในกลุ่มนี้ที่นักลงทุนให้คุณค่าน้อยทำให้มีค่า PE PB ไม่สูง และปันผลตอบแทนค่อนข้างดีนั้น เป็นเพราะเรื่องของความเสี่ยงที่ “รุนแรง” ในกรณีของบริษัทที่อิงอยู่กับการปล่อยกู้อย่างธนาคารพาณิชย์และบริษัทให้สินเชื่อเช่าซื้อทั้งหลาย โดยที่บริษัทเหล่านี้อาจจะประสบกับปัญหาหนี้เสียที่รุนแรงซึ่งจะทำให้บริษัทขาดทุนหนักหรืออาจจะล้มละลายได้เนื่องจากจำนวนเงินปล่อยกู้นั้นสูงมากเมื่อเทียบกับส่วนทุนของบริษัทเอง ส่วนในกรณีของธุรกิจหลักทรัพย์เองนั้น การแข่งขันในธุรกิจรุนแรงและมักเป็นการแข่งขันกันทางด้านของราคาเป็นหลัก ในอีกด้านหนึ่งนั้น ปริมาณการซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ซึ่งเป็นรายได้หลักของบริษัทโบรกเกอร์เองนั้น ก็มีความไม่แน่นอนสูงขึ้นอยู่กับภาวะของตลาด ซึ่งทำให้รายได้และกำไรของบริษัทมีความไม่แน่นอนสูงมาก ดังนั้นราคาหุ้นของบริษัทหลักทรัพย์จึงไม่สามารถจะแพงเหมือนธุรกิจอื่นที่มีความแน่นอนกว่า
กลยุทธการลงทุนในธุรกิจปล่อยเงินกู้ไม่ว่าจะเป็นแบงค์หรือบริษัทให้กู้เช่าซื้อนั้น ผมคิดว่าการที่หุ้นมีราคาค่อนข้างถูกในช่วงนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความกลัวเรื่องหนี้เสียที่อาจจะเพิ่มขึ้นมากโดยเฉพาะในด้านของบุคคลธรรมดา ดังนั้น กลยุทธที่ควรใช้ก็คือ เราควรเลือกหุ้นที่มีราคาถูกมากเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มที่ราคาก็ถูกอยู่แล้ว นอกจากนั้น เราควรต้องดูว่าหนี้เสียของบริษัทนั้นจะสามารถควบคุมได้ไม่สูงเกินไป นอกจากนั้น ความสม่ำเสมอของผลงานในอดีตก็ควรจะต้องเป็นปัจจัยประกอบในการวิเคราะห์ด้วย ส่วนธุรกิจหลักทรัพย์นั้น ผมคิดว่าถ้าจะลงทุนควรจะเน้นที่ความถูกมาก ๆ เช่น เฉพาะเงินสดที่มีในบริษัทก็อาจจะมากกว่าราคาหุ้นแล้ว ซึ่งนั่นหมายความว่าถ้าเลิกบริษัทเอาเงินมาแบ่งกันก็อาจจะคุ้มแล้ว ผมเองไม่ทราบว่ายังมีหุ้นหลักทรัพย์ที่ถูกขนาดนั้นหรือไม่ แต่นี่ก็คือกลยุทธหนึ่งที่จะซื้อหุ้นหลักทรัพย์
หุ้นพลังงาน “ดั้งเดิม” บางตัว นี่คือหุ้นขนาดใหญ่ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับพลังงานที่มีมานาน หุ้นบางตัวนั้นขนาดใหญ่มากและทำธุรกิจหลากหลายเกี่ยวกับพลังงาน แม้ว่ากิจการจะมีกำไรผันผวนตามราคาวัตถุดิบที่ปรับตัวไปเรื่อย ๆ แต่ในระยะยาวแล้ว กำไร “ปกติ” ของบริษัทก็อยู่ในระดับที่ใช้ได้ อย่างไรก็ตาม หุ้นในกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ทำให้ขาดแรง “เก็งกำไร” จากนักลงทุนรายย่อย นอกจากนั้น การเติบโตของกิจการเองก็ไม่สูง ทำให้ตลาดไม่ใคร่ให้คุณค่ามากนัก ถ้าจะลงทุนในหุ้นกลุ่มนี้ที่ถือว่ายังมีหุ้นราคาถูกอยู่บ้างก็ควรจะต้องเข้าใจว่า ข้อแรก ราคานั้นไม่ได้ถูกมาก ข้อสอง การจะได้ผลตอบแทนมากและเร็วน่าจะยาก การลงทุนควรจะหวังว่าจะได้ผลตอบแทนพอสมควรและความเสี่ยงไม่สูง ส่วนกลยุทธการลงทุนก็เช่นเคย ต้องเน้นที่หุ้นที่มีราคาถูกเมื่อเทียบกับหุ้นในกลุ่มเดียวกัน ขณะเดียวกัน ผลประกอบการก็จะต้องมีความสม่ำเสมอมั่นคงพอสมควร และปันผลที่ได้ก็ต้องค่อนข้างดี อย่างน้อยควรจะได้ถึง 4%ในปีล่าสุด
ทั้งหมดนั้นก็คือกลยุทธคร่าว ๆ ของการลงทุนในหุ้นถูก—ที่ยังเหลืออยู่บ้างในตลาดหลักทรัพย์ การลงทุนนี้ สำหรับผมแล้ว มันเป็นการเลือกที่เรียกว่า “Second Best” คือ ไม่มีทางเลือกที่ดีกว่านี้ และจริง ๆ ก็ไม่ใช่เรื่องที่ตนเองชอบหรือถนัด แต่มันยังดีกว่าการเก็บเป็นเงินสดไว้ในธนาคาร การลงทุนในหุ้นถูกแบบนี้ อาจจะไม่ใช่การลงทุนที่ถือไว้ยาวนานมาก เราต้องคอยเฝ้าดูอยู่เสมอว่ามันถึงเวลาขายหรือยัง ไม่ใช่แค่ดูหุ้นตัวที่เราลงทุน แต่ต้องดูว่ามีโอกาสที่จะพบหุ้นตัวใหม่ที่ดีกว่าและถือลงทุนระยะยาวกว่าได้หรือไม่ ดังนั้น สำหรับผมแล้ว นี่คือการลงทุนที่อาจจะไม่ “ถาวร” แต่พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงได้ และดังนั้น มันจะไม่ใช่ส่วนใหญ่ของพอร์ตของเรา
Posted by nivate at 10:37 AM in โลกในมุมมองของ Value Investor