เสียงสะท้อนคำพูด "ปู" ใช้กม. "ไล่ล่า-ห้ำหั่น" กัน ที่มา มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 15 มีนาคม 2557

กระทู้สนทนา
หมายเหตุ - เสียงสะท้อนคำสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรี
และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กรณีศาลรัฐธรรมนูญมีมติว่าร่าง พ.ร.บ.ให้อำนาจ
กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ พ.ศ. ...
หรือร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ขัดต่อรัฐธรรมนูญ โดยระบุว่า มีการอาศัยข้อกฎหมาย
ในการไล่ล่ากันทุกวันแล้วจะหาความสงบในบ้านเมืองนี้ได้อย่างไร และขอร้องอย่าใช้กฎหมาย
หรือใช้องค์กรต่างๆ มาเพื่อตัดสิทธิหรือห้ำหั่นกัน

สุขุม นวลสกุล

อดีตอธิการบดี มหาวิทยาลัยรามคำแหง


ท่านคงพูดตามความรู้สึกของท่าน แต่ในท่าทีของการเมืองการพูดแบบนี้เรียกได้ว่า "เสียท่า" คือเราต้อง
แน่ใจว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิดพลาด ถ้าเราคิดว่าสิ่งที่เราทำไม่ผิดต่อให้คุณจะใช้องค์กรอะไรมากระทำก็ไม่กลัว
คือถ้าเราเป็นนายกรัฐมนตรีแล้วเรากลัวกับคำตัดสิน คำวินิจฉัยในสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วเราจะทำทำไม

ทุกวันนี้กฎหมายอาจจะบิดเบี้ยวไปก็ว่ากันไปตามเรื่อง แต่เราต้องไม่กลัวว่าสิ่งที่เราทำผิด สิ่งที่เราทำส่งผล
ทำให้คนอื่นมากระทำเราได้ แสดงว่าเรามีช่องโหว่ให้เขากระทำ คือ หมายความว่าเราต้องสู้ นายกฯทำ
แบบนี้ไม่ได้ มันเสียเชิงต้องแข็งแกร่งโดนแล้วต้องเฉย เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั่วไปของคนที่เป็นผู้นำ เมื่อโดน
กล่าวหาก็ขึ้นศาลต่อสู้ ไม่ใช่ไม่ยอมรับตั้งแต่ต้นแล้วไปบอกว่าไม่ยุติธรรมหรือห้ำหั่นหรือไปขอความเมตตา
แต่ต้องยืนยันในสิ่งที่เราทำ เชื่อในสิ่งที่เราทำหากเราคิดว่าสิ่งที่เราทำนั้นถูก เพราะความผิดบางอย่างไม่ได้
เป็นการติดคุกติดตะราง เป็นการดูกฎหมายผิดต่างกัน เมื่อผิดแล้วต้องแก้ไขก็เท่านั้นเอง แต่เราเคารพคำ
ตัดสินของศาลก็เท่านั้นแล้วก็ไปต่อสู้กันต่อหากเรารู้สึกว่าเราไม่ได้รับความยุติธรรมจากสิ่งที่เกิดขึ้นแล้วหา
เหตุผลทางข้อกฎหมายมาหักล้างกันต่อไป



สดศรี สัตยธรรม

อดีต กกต.


จากประโยคนี้คงเป็นเรื่องที่เราต้องมองดูกันว่าองค์กรอิสระต่างๆ ในตอนนี้มีการพิจารณา 2 มาตรฐาน
จริงหรือไม่ เพราะนายกฯคงมองว่าสำหรับพรรคเพื่อไทยทำไมจึงมีการตัดสินในลักษณะหนึ่ง ในขณะที่
อีกพรรคหนึ่ง คือพรรคประชาธิปัตย์ จึงมีการตัดสินในอีกลักษณะหนึ่ง พอเกิดสิ่งที่เรียกว่า 2 มาตรฐานขึ้น
ก็คงจะต้องถามองค์กรอิสระและศาลด้วยว่าเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ เพราะคนที่จะตอบได้ดีที่สุดคือคนที่
ถูกวิพากษ์วิจารณ์หรือองค์กรนั้นๆ ซึ่งก็มีฝ่ายประชาสัมพันธ์อยู่แล้วก็น่าจะออกมาชี้แจงได้

การที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยหรือองค์กรอิสระจะดำเนินการสิ่งใดก็ตามคงจะต้องมีคำตอบอยู่แล้ว
และคำตอบเหล่านี้คงมาอธิบายประชาชนฟังได้ว่าการวินิจฉัยเหล่านั้นเป็นอย่างนั้นจริงหรือไม่ ศาล
เองจะทำให้สิ่งที่กังขาอยู่และสิ่งที่ไม่ชัดเจนชัดเจนมากยิ่งขึ้น คนที่จะตอบคำถามและชี้แจงกับ
ประชาชนได้ดีที่สุดคือศาลและองค์กรอิสระ

หากสิ่งที่นายกฯพูดเกิดขึ้นจริงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในสังคมคือศรัทธาของประชาชน เพราะศรัทธา
ของประชาชนที่มีต่อองค์กรต่างๆ เป็นสิ่งที่สำคัญ ศรัทธาในที่นี้ไม่ใช่เป็นศรัทธาเฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
แต่หมายถึงศรัทธาของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ เมื่อการตัดสินใดขององค์กรอิสระได้ดำเนินการ
ไปแล้วเกิดเป็นที่วิจารณ์ถึงความยุติธรรมในสังคม ศาลและองค์กรอิสระต้องอธิบายให้ได้ ณ ขณะนี้ความ
ศรัทธาของประชาชนกลุ่มหนึ่งได้เพิ่มพูนความไม่พอใจเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดความเสื่อมศรัทธาใน
คำตัดสินหรือวินิจฉัยขององค์กรอิสระหรือศาล ดังนั้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่องค์กรอิสระต่างๆ จะต้องสามารถ
อธิบายให้ได้ว่าการกระทำของตนนั้นถูกต้องอย่างไร ผิดจริงอย่างไร ตอบข้อข้องใจต่างๆ ของประชาชน
ให้ได้ ไม่ใช่ปล่อยปละละเลยให้หายไป และไปสร้างความไม่พอใจให้เหมือนกับโคลนตมที่สะสมขึ้นมาเรื่อยๆ

นพดล ปัทมะ

กรรมการยุทธศาสตร์พรรคเพื่อไทย


การใช้กฎหมายคือต้องใช้กฎหมายโดยเที่ยงธรรม ถ้ารัฐบาลทำผิด หรือพรรคเพื่อไทยทำผิด พรรคเพื่อไทย
อยู่ใต้กฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ขอให้ใช้กฎหมายอย่างเที่ยงธรรม ไม่ใช่ใช้กลไกขององค์กรอิสระมาตัดสิน
กฎหมายอย่างไรก็ได้ เช่น การตีความคำว่าลูกจ้าง โดยเปิดพจนานุกรมมิชอบด้วยกฎหมาย หรือการไปเติม
ถ้อยคำในมาตรา 68 ที่บอกว่าหากใครใช้เสรีภาพล้มการปกครองให้ยื่นต่ออัยการก่อน เพราะกฎหมายใช้คำ
ว่าให้ยื่นต่ออัยการ และศาลรัฐธรรมนูญ กฎหมายไม่ได้เขียนว่าให้ยื่นต่ออัยการหรือศาลรัฐธรรมนูญ แต่ศาล
กลับไปตีความว่าไม่ต้องยื่นไปที่อัยการก็ได้ ให้ยื่นมาที่ตนเลย อันนี้ถือว่าเป็นการตีความที่มิชอบด้วยกฎหมาย
เป็นต้น อันนี้ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีที่บอกว่าไม่อยากให้ใช้กฎหมายมาห้ำหั่นกัน ท่านคงหมายความเช่นนี้ คือ
การใช้กฎหมายต้องใช้อย่างเที่ยงธรรมและต้องไม่มีผลต่อการเมือง

ชูศักดิ์ ศิรินิล

ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย


ผมมองว่าปรากฏการณ์ที่ผ่านมาชี้ให้เห็นอยู่ เรื่องแรก คือ มีการใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง โดยผิดต่อ
เจตนารมณ์ ผิดต่อวัตถุประสงค์ของกฎหมายโดยชัดแจ้ง เช่น กรณีที่เกี่ยวข้องกับมาตรา 68 ซึ่งมีการ
ระบุเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต้องร้องผ่านอัยการสูงสุด เพราะเกี่ยวข้องกับคดีอาญา และที่ผ่านมาก็
ร้องผ่านอัยการสูงสุดมาตลอด แต่เอาไปเอามาก็มีการให้ร้องโดยตรงได้ อย่างนี้เรียกใช้กฎหมายผิด
วัตถุประสงค์ ขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้ร่าง ใช้โดยบิดเบือนเพื่อประโยชน์ของตนเอง หรือใช้ขยายอำนาจ
ของตนเอง เช่น เอาเรื่องการแก้ไขกฎหมาย มาตีความว่าเป็นเรื่องการใช้สิทธิเสรีภาพ ซึ่งความจริง
แล้วเป็นเรื่องของการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญ พยายามจะตีความกฎหมายเพื่อให้เกิด
ช่องว่าง ทั้งที่กฎหมายก็เขียนเป็นลายลักษณ์อักษรไว้ชัดเจนแล้ว เช่น การพยายามทำให้เกิดนายก
มาตรา 7 ให้ได้ เป็นต้น

ประเด็นที่สองคือ คนหรือองค์กรที่ใช้กฎหมายต้องมีหลักความสุจริต หลักนิติธรรม ต้องคำนึงถึงความยุติธรรม
และความเสมอภาค ไม่ให้เกิด 2 มาตรฐาน ก็ขอยกตัวอย่างเรื่องการยุบพรรค ซีกนี้ก็ยุบมาตลอด ไม่ว่าไทยรักไทย
พลังประชาชน รวมไปถึงพรรคเล็กพรรคน้อยต่างๆ แต่บางพรรคเราก็รู้สึกว่ามียาดีเหลือเกิน เป็นต้น นอกจากนี้
ผมคิดว่าการใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายในการบริหารประเทศ ซึ่งรัฐบาลก็มีนโยบายที่จะบริหารประเทศ
ซึ่งนโยบายนั้นก็ได้แถลงต่อรัฐสภา ถ้าเราจะมีองค์กรอื่นใดที่จะมาทำให้นโยบายที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชน
อย่างมากต้องล้มลุกคลุกคลาน หรือทำไม่ได้ เช่น พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ผมคิดว่าเกี่ยวข้องกับนโยบาย
บริหารประเทศที่จะสร้างความเจริญให้กับประเทศ แต่ท้ายที่สุดก็ต้องสะดุดไปโดยคำวินิจฉัยของศาล

อย่างไรก็ตาม ประเทศจะต้องเดินไปด้วยกฎหมาย ไม่ใช้กฎหมายไม่ได้ แต่ถ้าใช้ไม่ถูกต้อง ผิดเจตนารมณ์
ผิดวัตถุประสงค์ ไม่สุจริต เสมอภาค ตีความกันแบบเลอะเทอะ ก็เหมือนกับเอากฎหมายมาห้ำหั่นกันนั่นเอง
ดังนั้น จึงไม่ควรใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือทางการเมือง

สุจิต บุญบงการ

อดีตตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ


สถานการณ์ในตอนนี้ไม่ได้รุนแรงถึงขนาดนั้น และคิดว่าการที่นายกฯพูดในลักษณะนี้เป็นเพราะว่าท่านอาจจะ
น้อยใจ ถ้ารัฐบาลออกมาทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่มีความผิด ใครจะไปสามารถใช้กฎหมายหรือองค์กรอิสระห้ำหั่น
รัฐบาลได้ แต่เป็นเพราะมีข้อเท็จจริงที่ได้เกิดขึ้นจึงได้มีการใช้กฎหมาย จากการที่ได้ดูเนื้อหาจากทั้ง 2 ทาง
สิ่งที่เกิดขึ้นไม่ได้เป็นการห้ำหั่นกันแต่อย่างใด เพราะสิ่งที่รัฐบาลได้ทำแล้วมีการวินิจฉัยออกมาว่าขัดกับ
รัฐธรรมนูญบ้าง ต้องถูกสอบว่ามีมูลความผิดบ้าง เป็นสิ่งที่มีหลายฝ่ายเคยเตือนมาก่อนหน้านี้แล้วทั้งสิ้น แต่
รัฐบาลยังคงดื้อดึงที่จะทำต่อไปไม่ว่าจะเป็นเรื่องกรณี พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท หรือกรณีจำนำข้าว มีหลายฝ่าย
ได้ออกมาเตือนรัฐบาลอยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายการเมือง หรือฝ่ายที่ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องเกี่ยวกับการเมือง อาทิ
ทีดีอาร์ไอ เองก็ได้เคยออกมาเตือนแล้ว แต่ก็ยังทำต่อ สุดท้ายพอมีปัญหาสิ่งที่เกิดจึงไม่ใช่การห้ำหั่นแต่เป็น
เรื่องการถูกวินิจฉัยตามกฎหมายจนเกิดสถานการณ์เช่นในปัจจุบัน

วิรัตน์ กัลยาศิริ

ประธานคณะกรรมการกฎหมาย พรรคประชาธิปัตย์


น.ส.ยิ่งลักษณ์พูดแบบนี้ถือเป็นการพูดเอาแต่ได้ เพราะการที่ประเทศไทยจะดำรงคงอยู่ได้อย่างถูกต้อง ทุกคน
ต้องเคารพกฎหมายรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อ น.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพราะ
พ.ร.บ. 2 ล้านล้านบาท มีเจตนาลดและเลิกอำนาจในการตรวจสอบทุกประเภท และหลบหลีกภาระยอดหนี้ที่เกิน
วงเงินตามกำหนดของหนี้สาธารณะ เสมือนการจงใจโกงทุกรูปแบบ ตัดอำนาจการตรวจสอบทางกฎหมายอย่าง
มีนัยยะ ศาลจึงมีมติเอกฉันท์ให้ พ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านล้านบาท ไม่ชอบด้วยสาระ

นอกจากนี้การให้สัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังระบุว่าคนที่ถูกรังแกจะออกมาต่อสู้นั้น ถือว่านายกฯได้เปิดเผย
ธาตุแท้ของระบอบทักษิณ การสัมภาษณ์ของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ใครได้ฟังได้ดูก็อ่านออก เพราะเขามีกองกำลังอยู่
ทั้งในและนอกประเทศ คือถ้าอะไรที่ไม่พอใจก็พร้อมจะใช้กำลังข่มขู่ เช่น การใช้อาวุธระเบิดยิง การออกมา
เปิดเผยเบอร์โทรศัพท์และที่อยู่ของตุลาการเพื่อเจตนาให้ตุลาการถูกใส่ร้ายโจมตี เป็นต้น คนกลุ่มนี้พร้อมจะใช้เงิน
ซื้อทุกอย่าง ถ้าซื้อไม่ได้ก็จะหากระบวนการโจมตีเพื่อกดดัน แต่สำหรับองค์กรอิสระนั้นระบอบทักษิณไปซื้อไม่ได้
องค์กรอิสระจึงถูกข่มขู่ทุกรูปแบบ

การทำงานขององค์กรอิสระคงไม่ลำบาก ไม่มีปัญหาแน่นอน เพราะองค์กรอิสระเห็นธาตุแท้ของคนกลุ่มนี้
ที่พูดเอาแต่ได้ ไม่ยอมรับการตรวจสอบของกระบวนการยุติธรรม คนที่คิดว่าข้าจะโกงเอ็งอย่ามายุ่งไม่สมควร
ที่จะมีที่ยืนในประเทศอีกต่อไปและถ้าองค์กรอิสระถูกระบอบทักษิณซื้อไปได้ประเทศนี้คงหมดทางเดิน

ร่วมคลิกไลค์แฟนเพจมติชนออนไลน์ได้ที่ http://www.facebook.com/MatichonOnline

http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1394887306&grpid=&catid=01&subcatid=0100


เรียกว่า   หลากมุมมองจริงๆ   มุมมองของคนกลางอย่าง   อ.จ.สุขุม  และ  อดึตกกต.อย่าง คุณสดศรี
มุมมอง  ของฝั่งเพื่อไทย   และมุมมองจากฝั่งประชาธิปัตย์  และอดีต ศาลรธน. ...
อ้าว  ศาลรธน. กับ  ปชป. ทำไมถึงเห็เหมือนกันได้   ไม่แปลกใจใช่ไหม?
เพื่อนๆ ล่ะ ชอบ  มุมมองของใคร   ยอมรับ คคห.ของ  คุณสดศรี   และอ.จ.สุขุม  กันไหม ?
หรือหัวชนฝา  ต้อง  ปชป. และ  คุณสุดจิต  เท่านั้น   ถูกต้องที่สุด  มาบอกกันหน่อยไหม?
เชิญคุณตระการฟ้า ...   คุณอดีตหัวหน้าเผ่า  และเพื่อนที่  ชอบคำตัดสินศาล เป็นพิเศษ  นะคะ  
อยากให้ออกมาวิจารณ์  คุณสดศรี  หน่อยค่ะ  ฐานบังอาจ  วิจารณ์ศาล องค์การสูงสุดของประเทศ   
...... ยิ้ม

สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่