*** ปัญหาและความเข้าใจผิด ว่าด้วยศาลรธน. เศรษฐกิจพอเพียง และรถไฟความเร็วสูง ***

"พ.ร.บ. ฉบับนี้ เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่"

"รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย เป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน"


เป็นประเด็นที่ร้อนระอุมากทีเดียวครับ กับกรณีศาลรธน. นัดไต่สวนนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ รมว.กระทรวงคมนาคม เกี่ยวกับ พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานฯ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งก็มีกระแสการสนับสนุนและต่อต้านก็มีกันให้เห็นหลากหลาย เรียกได้ว่าเป็นเรื่องฮอตของการเมืองไทยในขณะนี้เลยก็ว่าได้

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ผมเชื่อว่ามีคนจำนวนไม่น้อย ที่ตั้งข้อสงสัยในความชอบธรรมของศาลรธน. ผมเองในฐานะที่เป็นคนเรียนกฎหมายธรรมดาๆ คนหนึ่ง ขอเสนอแนวคิดที่อาจจะเป็นประโยชน์ หรืออย่างน้อยก็เป็นความรู้ให้กับคนที่สนใจ ต้องออกตัวก่อนว่า ครั้งนี้ผมไม่ได้มาเพื่อตัดสินว่าใครถูกผิดอย่างไร หากข้อมูลใดที่บิดเบื่อนผิดพลาดไป ผมยินดีแก้ไข และน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์เต็มที่ครับ

ในความเข้าใจของผม เรื่องที่เราควรทำความเข้าใจให้กระจ่างเกี่ยวกับประเด็นปัญหานี้ แบ่งออกเป็น 2 เรื่องใหญ่ๆ ด้วยกัน

=== ปัญหาในตัวรัฐธรรมนูญ : เศรษฐกิจพอเพียง (?) ===

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 ถือเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีการแก้ไขจากฉบับเดิมคือปี พ.ศ.2540 ในหลายประเด็นมาก ในที่นี้ผมขออ้างถึงหมวด 5 แนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ซึ่งเรียกได้ว่ามีการแก้ไขใหม่เกือบจะทั้งหมดจากฉบับเดิม

คำว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ปรากฏในรธน. 2550 อยู่ 2 ที่ด้วยกัน ดังนี้

รธน. 2550 หมวด 5 ส่วนที่ 7 แนวนโยบายด้านเศรษฐกิจ
มาตรา 83 รัฐต้องส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการดำเนินการตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

นอกจากนี้ยังมีปรากฏในส่วนที่ 3 อีกด้วย
มาตรา 78 รัฐต้องดำเนินการตามแนวนโยบายด้านการบริหารราชการแผ่นดิน ดังต่อไปนี้
(1) บริหารราชการแผ่นดินให้เป็นไปเพื่อการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และความมั่นคงของประเทศอย่างยั่งยืน โดยต้องส่งเสริมการดำเนินการตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติในภาพรวมเป็นสำคัญ

รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ถือเป็นฉบับแรกที่มีการนำหลัก "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" มาบัญญัติไว้เป็นข้อกฎหมาย ในฉบับปี 2540 หากลองไปเปิดดูจะพบว่าไม่มีคำนี้อยู่ ซึ่งเป็นที่ถกเถียงกันอย่างยิ่งว่า คำว่า "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" ในทางกฎหมายนั้นหมายความว่าอย่างไร แต่ในความเข้าใจของผม ความหมายของ "ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" เป็นนิยามที่ยึดถือมาจากหน่วยงานที่รับผิดชอบเกี่ยวข้องกับการกำหนดแนวนโยบายของรัฐโดยตรง นั่นก็คือ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์นั่นเอง ซึ่งอันที่จริงกว่า พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานฯ จะมาถึงจุดนี้ ก็ได้ผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒน์เรียบร้อยแล้ว ว่ามีความเหมาะสมและสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับปัจจุบัน (ซึ่งก็มีแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเขียนอยู่ในนั้น) จึงจะส่งให้สภาอนุมัติเป็นขั้นตอนสุดท้าย เป็นวิธีการปกติที่จะต้องกระทำทุกครั้ง หากจะมีการเสนอร่าง พ.ร.บ.ใดๆ ก็ตามที่เกี่ยวกับการพัฒนาเศรษฐกิจเข้าสู่สภาเพื่อขอความเห็น ดังนั้นปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ก็เป็นการยึดตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯ ซึ่งเป็นการนำเอาพระราชดำริมาปรับใช้อีกทีหนึ่ง รายละเอียดลองไปศึกษาในนั้นดูได้ครับ


=== ปัญหาของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ===


ทีนี้มาถึงเรื่องที่ตกเป็นประเด็นมากที่สุดกันครับ

ก่อนอื่นขอทำความเข้าใจในที่มาของตุลาการศาลรธน. กันก่อน

ตำแหน่งตุลาการศาลรธน. ประกอบด้วย ผู้พิพากษาศาลฎีกา ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ และด้านรัฐศาสตร์ ตำแหน่งละ 2 คน รวมเป็น 8 คน

ประเด็นปัญหาเกี่ยวกับว่า พ.ร.บ.โครงสร้างพื้นฐานฯ นั้น สอดคล้องกับหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เป็นการตั้งกระทู้ถามจากตุลาการท่านหนึ่ง

จริงๆ แล้วเรื่องนี้ผมคิดว่า ไม่มีอะไรที่ดราม่าเลยสักนิด เพราะหน้าที่ของตุลาการศาลในการไต่สวน จำเป็นจะต้องยึดเอาตัวบทบัญญัติมาอ้างอิงประกอบการไต่สวน ซึ่งก็คือมาตรา 83 ที่ผมได้อ้างถึงไปเมื่อตอนที่แล้ว การไต่สวนว่าพ.ร.บ. นี้เป็นไปตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ เป็นการยกบทบัญญัติเพื่อการไต่สวนตามปกติ เป็นไปเพื่อตอบข้อสงสัยบางประการของศาลฯ ซึ่งถือเป็นอำนาจที่กระทำได้ ไม่ใช่เรื่องของความเห็นของตัวตุลาการแต่อย่างใด

ประเด็นที่เป็นข้อถกเถียงกันอย่างมาก กับประโยคเด็ดของคุณสุพจน์ ไข่มุกด์ที่ว่า
"รถไฟความเร็วสูงยังไม่จำเป็นสำหรับไทย และเป็นไปได้ควรให้ถนนลูกรังหมดไปจากประเทศก่อน"

ในเรื่องนี้ผมเข้าใจว่า ด้วยความที่คุณสุพจน์ ไข่มุกด์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากฝั่งผู้ทรงคุณวุฒิทางด้านรัฐศาสตร์ จึงทำให้การไต่ส่วนของท่านเป็นไปในลักษณะตั้งประเด็นข้อสงสัยทางการเมือง มากกว่าการตั้งประเด็นที่เป็นข้อกฏหมาย อีกทั้งยังกล่าวในลักษณะที่เป็นความเห็นมากจนเกินไป ไม่มีการยกบทบัญญัติมาตั้งเป็นกระทู้ถามเลยแม้แต่น้อย ซึ่งโดยส่วนตัว ความเห็นของคุณสุพจน์ เกี่ยวกับรถไฟความเร็วสูงและถนนลูกรัง ผมก็ยังรับไม่ค่อยได้เท่าไหร่ อันนี้ล่ะครับที่ผมว่าดราม่า

..................

จบแล้วครับ สุดท้ายนี้อยากจะฝาก การที่เราจะเข้าใจอะไรสักอย่าง เราจำเป็นต้องแยกแยะองค์ประกอบให้ชัดเจน อย่าไปด่วนตัดสินแบบเหมารวมว่า ศาลไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ เราโตๆ กันแล้วนะครับ รู้จักการใช้หลักเหตุและผลอย่างจริงจังกันสักหน่อย และต้องทำจริงๆ นะครับ ไม่ใช่เอาแต่พูดว่าตัวเองมีเหตุผล แล้วเที่ยวไปเหมารวมใครต่อใคร

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับทุกท่านครับ เยี่ยม
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่