ปัญหาการเมืองไทยโดยความคิดเล็กๆหนึ่งความคิด

ปัญหาการเมืองไทยโดยความคิดเล็กๆหนึ่งความคิด
๑ ขั้วอำนาจสองขั้วมีจุดยืนที่ไม่สามารถเป็นจุดที่ร่วมกันได้  หรือแม้ว่าจะมีจุดร่วมกันได้ก็จะพยายามที่จะไม่ร่วมเนื่องจากทิฐิหรือกลัวว่าจะเสียเชิงว่ากันง่าย ๆ
๒ ขาดความเชื่อมั่น  ขั้วอำนาจทั้งสองไม่ไว้วางใจกัน โดยมีอคติว่า  ถ้าฝั่งใดได้เป็นผู้คุมอำนาจก็ทำทุกอย่างเข้าข้างฝั่งตนเอง  ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมาย หรือการปฏิรูปต่าง ๆ  (ซึ่งที่ผ่านมาก็เป็นอย่างนั้นจริง ๆ)
๓ ระบบเลือกตั้งไม่มีประสิทธิภาพ  โดยเราต้องยอมรับสิ่งที่เป็นจริงว่าคนในประเทศเราหลายคนเลือกตั้งผู้แทนหรือพรรคการเมือง  โดยไม่ได้สนใจนโยบาย  หรือวิเคราะห์นโยบายต่างๆที่พรรคการเมืองได้นำเสนอว่าจะมีผลกระทบต่อตัวเราเองและต่อประทศชาติอย่างไร  หรือเลือกตามนโยบายที่มีลักษณะให้ผลระยะสั้น เช่น นโยบายประชานิยม  เป็นต้น  หรือแม้กระทั่งการเลือกผู้แทนโดยไม่คำนึงถึงความรู้  ความสามารถ  ความรับผิดชอบชั่วดี  ของผู้แทน  และถ้าจะให้พิจาณาตัวผู้แทน  ผู้แทนหลายๆ คนก็ไม่มีประสิทธิภาพพอที่จะเป็นตัวแทนของประชาชนได้จริง ๆ ผู้แทนหลายคนเป็นคนที่มีอำนาจ มีเงินเยอะ มีพวกเยอะ  มีเส้นสาย  ฯลฯ  สิ่งเหล่านี้ล้วนทำให้การเลือกตั้งที่อยู่ในระบอบประชาธิปไตยของประเทศไทยไม่มีประสิทธิภาพจริงอย่างที่เราคาดหวัง
๔ การทุจริต  เป็นผลจากข้อที่ ๓ โดยผู้แทนบางคนเข้ามาก็ทุจริตด้วยความตั้งใจเลย  หรือบางคนเข้ามาด้วยความตั้งใจทำงานแต่พอมาเจอผลประโยชน์ต่าง ๆ ก็ทนกิเลสตัวเองไม่ไหว  หรือบางคนตั้งใจเข้ามาจริงๆพอมาเจอระบบทุจริตก็ต้องตามน้ำเพื่อให้เดินหน้าต่อไปได้

การแก้ปัญหาการเมืองไทยโดยความคิดเล็กๆหนึ่งความคิด
๑ การแก้ปัญหาจากข้อที่ ๑ กับ ๒ จากปัญหาข้างต้น  นั้นเปลี่ยนแปลงได้ค่อนข้างลำบาก  เนื่องจากเป็นทัศนคติส่วนบุคคล  ระบบความคิด  และประสบการณ์ของแต่ละบุคคลจะแก้ไขต้องใช้เวลาในการปลูกฝัง  แต่เรื่องที่สามารถทำได้ก็คือการสร้างระบบที่ทุกคนยอมรับและยอมทำตามเพื่อให้เราทุกคนเดินหน้าต่อไปได้
๒ การแก้ปัญหาจากข้อที่ ๓ กับ ๔  จากปัญหาข้างต้นสิ่งที่ควรจะแก้ที่สำคัญคือ คนที่เป็นผู้แทนเข้ามาทำงานต้องเป็นคนดี  มีความสามารถ  แต่ก็เป็นไปได้ยากทีจะเป็นอย่างนั้นทั้งหมด  จึงต้องมาแก้ไขที่ระบบ  โดยระบบที่น่าจะแก้ไขมี ๕ หัวข้อดังนี้
๒.๑ ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เกี่ยวกับการเลือกตั้ง  และระบบต่างๆ ในสภา  โดยทำให้ทุกคนเข้าใจได้ง่ายๆ  เช่น Animation หรือ ภาพวาด อย่างเข้มข้นและต่อเนื่อง รวมทั้งประชาสัมพันธ์ถึงการเลือกคนดี-คนไม่ดีเข้ามาบริหารจะก่อให้เกิดผลอย่างไร ให้เห็นภาพชัดเจน เพื่อให้เกิดจิตสำนึกที่ดีในการเลือกตั้ง
๒.๒ ระบบเลือกตั้ง
๑) ประเภทของการเลือกตั้ง สส  แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ ๑ บัญชีรายชื่อ  ๒ แบ่งเขต เหมือนเดิม
๒) การเลือกตั้ง สว มาจากนักวิชาการตัวแทนจากองค์กรและมหาวิทยาลัยต่างๆ  โดยในส่วนที่เป็นนักวิชาการต้องไม่สังกัดพรรคการเมืองใดๆ และมีการคัดเลือกจากองค์กรต่างๆ และมาคัดเลือกจากประชาชนอีกครั้งในวันเลือกตั้ง สว
๓) การหาเสียง  เป็นระบบที่ลักษณะแบบทุนนิยม ใครมีต้นทุนมากทั้งคน เงิน และเส้นสาย ก็จะได้เปรียบ  ทางแก้ไขคือไม่ต้องมีการหาเสียง  แต่ให้ส่วนกลางอาจจะเป็น กกต หรือ หน่วยงานอื่นที่ไม่ขึ้นตรงกับรัฐบาล  ประชาสัมพันธ์อย่างเท่าเทียมกันทุกพรรคการเมืองแทน  ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย หรือคุณสมบัติต่างๆ  และห้ามไม่ให้มีหัวคะแนน  หรือการไปประชาสัมพันธ์ของพรรคเอง  และตัดสิทธิผู้ที่มีการละเมิดข้อบังคับในส่วนนี้ด้วย  เพื่อลดการได้เปรียบเสียเปรียบกัน  ถ้าเป็นรูปแบบนี้ก็จะส่งผลให้ผู้ที่มีความรู้ความสามารถ  แต่ไม่มีเงินทุน  และเส้นสายใดๆ ก็จะสามารถเข้ามาแข่งขันได้  และจะช่วยลดการทุจริตได้อีกทางเนื่องจาก พรรคการเมืองไม่ต้องลงทุนในการหาเสียงที่ต้องใช้เงินเป็นจำนวนมาก  ทั้งเงินที่ซื้อเสียงและการประชาสัมพันธ์ติดป้ายโฆษณาต่าง ๆ  อีกทั้งการที่เข้าไปหาเสียงเองหรือผ่านหัวคะแนน  ก็จะทำให้ง่ายต่อการซื้อเสียงด้วย  ดังนั้นเมื่อมีการลงทุนน้อยหรือไม่มีการลงทุนเลยก็จะลดความคิดที่จะเข้ามาถอนทุน  หรือการทุจริตต่างๆ เพื่อเตรียมเงินไว้เลือกตั้งครั้งต่อไป  และเมื่อไม่มีหัวคะแนนของผู้แทนแต่ละคน  พรรคการเมืองก็ไม่จำเป็นต้องซื้อผู้แทนที่หัวคะแนนมากๆในพื้นที่นั้นๆ เพราะได้คนมาก็ต้องประชาสัมพันธ์จากส่วนกลางอยู่ดี  ผู้แทนที่ได้เปรียบในพื้นที่มากที่สุดก็ต้องเป็นผู้แทนที่ได้สร้างคุณงามความดีไว้
๔) มีการประเมินความเป็นไปได้  รวมทั้งข้อดีและข้อเสียของนโยบายต่างๆ ให้ประชาชนได้รับทราบในช่วงการประชาสัมพันธ์อย่างเข้าใจง่ายๆ
๒.๓ ประชาชนต้องสามารถยื่นถอดถอนรัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ได้โดยอาจจะกำหนดจำนวนประชาชนที่มาเข้าชื่อเพื่อถอดถอนในจำนวนที่เหมาะสมอีกที
๒.๔ ถ้ามีความผิดเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งจากการเลือกตั้งและการบริหารงานต้องเพิ่มโทษที่หนักกว่านี้  เช่น การตัดสิทธิทางการเมืองต้องเป็นระยะเวลาที่ยาวนานกว่านี้
๒.๕ ปรับปรุงระบบราชการ  ต้องยอมรับรับว่าระบบราชการนั้นเอื้อให้เกิดการทุจริตในทั้งส่วนข้าราชการและ    รัฐมนตรีต่างๆ โดยต้องเริ่มจากส่วนการรับคนเข้าทำงานเนื่องจากการเริ่มต้นจากการทุจริตเมื่อเข้ามาทำงานได้ก็จะทุจริตอีกเหมือนกัน  โดยคณะกรรมการการคัดสรร  ต้องมีความโปร่งในมากกว่าขึ้น  ส่วนการแต่งตั้งและโยกย้ายในระดับสูงของส่วนราชการนั้นมีความสำคัญเพื่อให้เกิดการยุติธรรม  และลดการทุจริต  รัฐมนตรีก็ต้องมีส่วนในการตัดสินใจด้วยไม่เช่นนั้นแล้วอำนาจในการบริหารงานให้เป็นไปตามนโยบายก็จะไม่ได้ผลเท่าที่ควร  แต่ก็ไม่ควรที่จะมากเกินจนถึงขั้นที่จะก่อให้เกิดการกลั่นแกล้งกันและการทุจริตได้  โดยอาจจะเป็นลักษณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอชื่อแต่งตั้งหรือโยกย้ายพร้อมเหตุผลและให้กรรมการที่มาจากการคัดสรรและอิสระจากทางการเมืองมาพิจารณาอีกที  ในส่วนการปรับปรุงระบบราชการนั้นน่าจะมีอะไรให้แก้ไขมากกว่านี้  ก็ต้องรอให้ท่านผู้รู้และมีประสบการณ์ไปพิจารณาอีกที
                            โดย  ลูกชายพระอาทิตย์
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่