สินค้าราคาพุ่งลดขนาดลักหลับผู้บริโภค

รายงานพิเศษ : ทำใจรับสินค้า 'ราคาพุ่ง' จับตา 'ลดขนาด' ลักหลับผู้บริโภค

                         รอบปี 2556 ที่ผ่านมา การปรับขึ้นราคาสินค้าส่วนใหญ่ยังคงเป็นไปในรูปการ “ลดปริมาณ” และ “ลดขนาด” ของสินค้ามากกว่าการปรับขึ้นเป็นตัว “ราคา” เนื่องจากรัฐบาลยังคงใช้นโยบายขอความร่วมมือผู้ประกอบการผลิตสินค้าให้ตรึงราคาต่อเนื่อง ผู้ผลิตส่วนใหญ่จึงหลีกเลี่ยงด้วยวิธีการดังกล่าว รวมถึงวิธีการปรับสูตรและปรับราคาใหม่ จะมีที่ปรับราคาชัดเจนคือ น้ำปลาบรรจุขวด
                         ขณะที่ต้นทุนค่าครองชีพอื่นๆ ซึ่งมีผลกระทบต่อผู้บริโภคและเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ การปรับขึ้นราคาก๊าซแอลพีจี (ก๊าซหุงต้ม) ซึ่งกระทรวงพลังงานเริ่มทยอยปรับราคาก๊าซเดือนละ 50 สตางค์ต่อกิโลกรัม ตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2556 และจะปรับขึ้นต่อเนื่องทุกเดือนในอัตราเท่าๆ กัน ไปสู่เป้าหมายราคาที่กิโลกรัมละ 24.82 บาท จากเดิมตรึงราคาไว้ที่กิโลกรัมละ 18.13 บาท เช่นเดียวกับค่าเอฟที ซึ่งผลักดันค่าไฟฟ้าให้สูงขึ้น และอัตราค่าบริการทางด่วนเพิ่มขึ้นอีก 5 บาท เริ่มเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2556 เช่นกัน
                         สำหรับแนวโน้มราคาสินค้าอุปโภค-บริโภคในปี 2557 จะเป็นอย่างไรนั้น ในประเด็นความกังวลต่อมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซลถือว่าหมดไปแล้ว โดยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไฟเขียวการต่ออายุมาตรการออกไปอีก อย่างไรก็ตาม ยังมีต้นทุนในด้านอื่นๆ ที่ทำให้ราคาสินค้ายังคงมีแนวโน้มสูงขึ้น แต่จะออกมาในรูปแบบที่ผู้บริโภค "ไม่รู้เนื้อรู้ตัว" เช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ด้วยการขึ้นราคาทางอ้อม นั่นคือการลดขนาดและปริมาณของสินค้าลง
                         ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป แม้จะมีการปรับราคาอาหารจานด่วนกันไปบ้างแล้วช่วงปลายปี จานละ 5 บาท แต่ก็ยังมีปัจจัยที่ต้องเกาะติดสถานการณ์อีกด้วย

แนวโน้มราคาสินค้าขึ้น5-10%

                         นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แนวโน้มราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในปี 2557 สัญญาณการปรับตัวเพิ่มขึ้นยังมีให้เห็น แต่เชื่อว่าน่าจะเริ่มปรับขึ้นหลังจากไตรมาสที่ 1 ไปแล้ว คือเริ่มตั้งแต่ไตรมาสที่ 2 หลังจากภาวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ซึ่งน่าจะเป็นสัญญาณที่ชัดเจน
                         "ปัจจัยที่ทำให้ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ต้นทุน ที่จะเป็นแรงผลักค่อนข้างเยอะหลังจากที่ผู้ผลิตสินค้าถูกอั้นการขึ้นราคาสินค้ามานาน ขณะเดียวกันเมื่อเศรษฐกิจดีขึ้น แน่นอนว่าในส่วนความต้องการของผู้บริโภคในปีหน้าย่อมจะมีความพร้อมจ่ายมากขึ้นด้วย และนอกจากภาวะเศรษฐกิจแล้ว สถานการณ์ต่างๆ ก็น่าจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติด้วย ถือเป็นช่วงที่เหมาะสมกันพอดี"
                         พร้อมขยายความว่า ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นนั้น จะมาจากค่าน้ำมัน ค่าก๊าซ รวมทั้งค่าจ้างแรงงาน ซึ่งในช่วงเดือนมกราคมปีหน้า หรือช่วงที่จะมีการปรับค่าแรงก็จะต้องมาดูกันอีกว่าจะมีการปรับขึ้นค่าแรงให้สูงกว่าวันละ 300 บาทหรือไม่ และจะปรับขึ้นเท่ากันหรือไม่ อย่างไรก็ตาม ในช่วงภาวะปกติ จะมีการปรับขึ้นค่าแรงในช่วงต้นเดือนมกราคมของทุกปี แต่ว่าปีนี้ เนื่องจากเกิดสถานการณ์ทางการเมืองขึ้น การพูดคุยในเรื่องนี้จึงยังค่อนข้างเงียบอยู่ แต่ก็เชื่อว่าแรงงานจะมีการเรียกร้องให้ปรับเพิ่มค่าแรง
                         โดยการปรับขึ้นค่าแรงนั้น มีแนวโน้มว่านักธุรกิจเองจะมองในลักษณะของการปรับขึ้นที่ไม่เท่ากัน แต่สุดท้ายก็ต้องมาดูว่าจะขึ้นเท่ากันหรือไม่อีกครั้ง
                         นายวชิร กล่าวถึงการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นวันละ 300 บาท ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ว่า ในปีแรกหรือปี 2555 เป็นการขึ้นค่าแรงเฉพาะเขตกรุงเทพฯ และจังหวัดใหญ่ๆ ซึ่งยังไม่กระทบกับต้นทุนการผลิตมากนัก เพราะโรงงานใหญ่ๆ จะมีวัตถุดิบมาจากต่างจังหวัด ดังนั้นเมื่อต้นทุนเริ่มต้นที่มาจากต่างจังหวัดไม่ได้สูงมากนัก ผลกระทบจึงยังมีไม่มาก
                         พอมาปี 2556 ซึ่งการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท มีผลบังคับใช้ทั่วประเทศ ทำให้ผลกระทบมีความชัดเจนมากขึ้น อีกทั้งกระบวนการด้านโลจิสติกส์ เช่น การขนย้ายสินค้าจากต่างจังหวัดเข้ามาในโรงงานที่จะผลิตก็เพิ่มสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ยังได้เห็นการปรับตัวของบางโรงงานที่ออกไปตั้งในต่างจังหวัดและปิดโรงงานในกรุงเทพฯ กลายเป็นการลงทุนที่เดียวเพื่อลดต้นทุนลง
                         ส่วนผลกระทบต่อการปรับขึ้นราคาสินค้านั้น จะพบว่า ลักษณะการปรับด้านราคาจะมีไม่มากนัก แต่จะเป็นลักษณะของการปรับลดปริมาณ ลดขนาดลงเสียมากกว่า เพราะผู้ผลิตไม่สามารถปรับขึ้นราคาสินค้าได้ตามอำเภอใจ ยังมีกระทรวงพาณิชย์คอยควบคุมดูแล ซึ่งจะเห็นได้จากช่วงที่ผ่านมา “เงินเฟ้อ” อยู่ในระดับต่ำ นั่นแสดงให้เห็นว่า ราคาสินค้าในภาพรวมแล้วไม่ได้ปรับสูงขึ้นมากนัก แต่ไม่ได้มีการพูดถึงปริมาณว่าปริมาณของสินค้านั้นๆ ลดลง
                         สำหรับทิศทางราคาก๊าซ และราคาน้ำมันดีเซลที่มีแนวโน้มสูงขึ้นนั้น จะมีผลกระทบค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในส่วนของราคาน้ำมันดีเซล ที่หากดูตามโครงสร้างแล้ว ประเทศไทยมีสัดส่วนการใช้สูงถึง 70% และในโรงงานผลิตมีการใช้ดีเซลค่อนข้างมาก และถือเป็นต้นทุนหลักในหลายอุตสาหกรรม ดังนั้นหากรัฐบาลไม่ตรึงราคาต่อ ปล่อยให้เป็นไปตามกลไก ปีหน้าก็อาจจะได้เห็นภาคธุรกิจออกมาร้องขอการปรับขึ้นราคากันมาก แต่ผู้ผลิตก็ยังจะมีอุปสรรคที่กระทรวงพาณิชย์ยังต้องห้ามการปรับขึ้นราคาอยู่ดี ที่ทำให้สุดท้ายแล้วทางออกของนักธุรกิจก็คือ การปรับลดปริมาณสินค้าลง
                         โดยหากคิดเป็นสัดส่วนการปรับขึ้นราคา คาดว่าจะสูงสุดเฉลี่ย 5% แต่เชื่อว่าในบางธุรกิจที่อั้นมานานแล้วก็น่าจะปรับสูงขึ้นถึง 10%

เกาะติดต้นทุนอาหารจานด่วน

                         ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป ซึ่งเป็นที่จับตา เพราะเป็นผลกระทบโดยตรงต่อผู้บริโภค และเมื่อราคาปรับสูงขึ้นก็จะมีผลกระทบในทันที อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการปรับขึ้นราคาอาหารสำเร็จรูปนั้น ยังไม่ค่อยเด่นชัดนัก แต่ก็จะเป็นไปตาม "ต้นทุน" ในการประกอบการเป็นหลัก
                         โดย นางธนิวรรณ กุลมงคล นายกสมาคมภัตตาคารไทย กล่าวถึงผลกระทบจากสถานการณ์การเมืองก่อนว่า ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายอาหารในร้านอาหารทั่วไปให้ลดลง ซึ่งหลายร้านยอดขายลดลงไปกว่าครึ่ง หรือ 50% เนื่องจากผู้บริโภคไม่มั่นใจสถานการณ์การเมืองที่ส่อแววยืดเยื้อไปถึงปีหน้า และหลังการเลือกตั้ง จึงไม่มีอารมณ์ใช้จ่ายเพื่อความรื่นเริง รวมทั้งใช้ความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้น
                         "ปัจจัยการเมืองมีผลกระทบต่ออารมณ์การใช้จ่ายของประชาชนมากกว่าผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ซึ่งในกรณีเศรษฐกิจไม่ดี แต่ในช่วงเทศกาลคนก็ยังกินอาหารกัน แต่ตอนนี้คนไม่อยากจะเลี้ยงสังสรรค์เพื่อความรื่นเริงกันเลย"
                         อย่างไรก็ตาม ยอดขายที่ลดลงไม่ได้หมายถึงว่าผู้ประกอบการจะต้องปรับราคาสูงขึ้น เพราะไม่ใช่ว่าผู้ประกอบการร้านอาหารจะปรับขึ้นราคาได้ง่ายนัก ทุกอย่างขึ้นอยู่กับผู้บริโภคที่สามารถเลือกใช้จ่ายได้ เพราะมีการแข่งขันสูง ดังนั้นการจะปรับขึ้นราคาของร้านอาหารแต่ละครั้งจะต้องมีการปรับคุณภาพให้ดีขึ้นด้วย เพื่อยังคงรักษาคุณภาพของร้านค้า
                         แต่หากเป็นร้านค้าจำหน่ายอาหารสำเร็จรูปทั่วไป การปรับราคาอาจจะเห็นได้ในรูปแบบของการปรับ ลดปริมาณ ปรับเปลี่ยนวัตถุดิบประกอบอาหารมากกว่าการปรับในรูปของราคา เพราะการแข่งขันในแต่ละพื้นที่ก็สูงขึ้นเช่นกัน
                         ส่วนปัจจัยที่จะส่งผลกระทบต่อการปรับราคาอาหารสำเร็จรูปได้ คือ "ราคาก๊าซหุงต้ม" ที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งระยะแรกดูจะยังไม่มีผลกระทบนัก แต่เมื่อปรับมาเข้าสู่เดือนที่ 5 ผลกระทบเริ่มเห็นชัดมากขึ้น รวมทั้งปัจจัยที่มีผลกระทบหนักๆ อย่างที่เคยเกิดขึ้น เช่น ช่วงที่ราคาน้ำมันปรับสูงขึ้นมาก ส่วนวัตถุดิบในการประกอบอาหารอื่นๆ เช่น ข้าว หรือ ไข่ ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงถึงขั้นจะต้องปรับราคา
                         นางณัจยา แก้วนุ้ย ผู้จัดการโครงการอาหารปลอดภัยเพื่อสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) กล่าวว่า ผลกระทบหลักต่อราคาอาหารปรุงสำเร็จ คือวัตถุดิบ ที่มีต้นทุนที่สูงขึ้นจากต้นทาง ส่งต่อเป็นทอดๆ มา ซึ่งเมื่อตามถึงสาเหตุที่มีการปรับขึ้นราคาวัตถุดิบก็ได้รับคำตอบเกี่ยวกับราคาน้ำมันที่แพงขึ้น และภาวะเศรษฐกิจไม่ดี ซึ่งที่ผ่านมาก็พบว่าวัตถุดิบในการประกอบอาหารขึ้นราคาเกือบทุกอย่าง
                         ประกอบกับค่าแรงที่สูงขึ้นด้วย อย่างสมัยก่อนค่าแรง 200-250 บาทต่อวัน มาตอนนี้ถ้าไม่ใช่วันละ 300 บาท ลูกจ้างก็ไม่อยู่ ทั้งยังมีค่าล่วงเวลาอีกด้วย ซึ่งต้นทุนที่สูงขึ้นมานั้น ก็ถูกผลักดันไปสู่ผู้บริโภค
                         “เราจะเห็นได้ว่า ก่อนหน้านี้ราคาอาหาร เช่น ราดหน้า ราคาจานละ 25-30 บาท แต่มาสมัยนี้ ราคาที่จานละ 40-45 บาท ซึ่งเท่าที่คุยกับสมาชิกมา ก็พบสาเหตุที่มาจากองค์ประกอบคือต้นทุนวัตถุดิบและค่าแรงเป็นหลัก” นางณัจยา กล่าว
                         ทั้งนี้ มองว่าสาเหตุมาจากภาครัฐไม่ส่งเสริมภูมิปัญญาท้องถิ่น และไม่ส่งเสริมให้เกิดการส่งผลผลิตไปสู่บริโภคโดยตรง ซึ่งถือว่าเราขาดในส่วนนี้ และมีพ่อค้าคนกลาง โดยภาครัฐไม่ได้เข้าไปควบคุมราคาในส่วนนี้เลย นอกจากนี้ จากภาวะที่เศรษฐกิจไม่ดีนัก ยอดขายของร้านอาหารลดลงอย่างมาก ก็อาจจะมีส่วนผลักดันให้มีการปรับราคากันได้อีก โดยการปรับราคาอาการจะออกมาในรูปแบบที่ผู้บริโภคไม่ค่อยรู้ตัวนัก

เครดิต http://www.komchadluek.net/detail/20140102/175942.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่