JJNY : สินค้าขึ้นราคายกแผง│นพ.สสจ.พิจิตรห่วงงานลอยกระทง กาดตก│ซัดรถทหารขนอาหารทะเลไม่ได้│เตือนใต้เฝ้าระวังน้ำหลากดินถล่ม

สินค้าขึ้นราคายกแผง ต้นทุนแพง ค่าไฟ-น้ำมัน-ค่าขนส่ง พุ่งพรวด
https://www.prachachat.net/economy/news-805905
  
 
บาปซ้ำกรรมซัดส่งท้ายปี คนไทยอ่วมแบกค่าครองชีพอาน ของกิน-ของใช้แห่ปรับราคาขึ้นยกแผง ทั้ง “หมู-น้ำมันปาล์ม-ปลากระป๋อง-เบเกอรี่” ชี้ผู้ผลิตสุดอั้นต้นทุนพุ่งพรวดน้ำมัน-ค่าขนส่ง-วัตถุดิบ “นิ่มซี่เส็ง” ขึ้นค่าขนส่ง 5% กระทรวงพาณิชย์สกัดวุ่นให้ตรึงราคาถึงสิ้นปี ขู่ไม่ให้ความร่วมมือจะยกระดับมาตรการเข้มข้น แถมแจ็กพอตข่าวร้ายซ้ำ กกพ.มีมติปรับค่า Ft ขึ้นค่าไฟฟ้า 16.71 สตางค์ต่อหน่วย นักเศรษฐศาสตร์แนะรัฐดูแลปัญหาเงินเฟ้อ โฟกัสกลุ่มเป้าหมายช่วยค่าครองชีพ
 
วิกฤตน้ำมันแพงกำลังเป็นปัญหาใหญ่บั่นทอนบรรยากาศช่วงโค้งสุดท้ายปีนี้ ทำให้เศรษฐกิจที่เริ่มกระเตื้องหลังการเปิดประเทศมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาน้ำมันที่พุ่งขึ้นเพิ่มต้นทุนให้กับภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม
 
ขณะที่ประชาชนทั่วไปก็ได้รับผลกระทบจากราคาสินค้า และค่าครองชีพที่พุ่งขึ้นสูง ล่าสุดต้องแบกภาระค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีกทาง หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติ เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2564 ให้ปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) รอบเดือน ม.ค.-เม.ย. 2565 เพิ่มขึ้น
 
ของกิน-ของใช้ ต้นทุนเพิ่ม
 
นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.สหพัฒนพิบูล ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้าอุปโภคและบริโภครายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า บริษัทได้ติดตามสถานการณ์ราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเป็นระยะ ๆ เพราะเป็นตัวแปรที่มีผลต่อต้นทุนวัตถุดิบเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นระบบขนส่งโลจิสติกส์ ซัพพลายเชน
 
รวมถึงต้นทุนวัตถุดิบต่าง ๆ ทั้งผงซักฟอก อุปกรณ์ซักล้างต่าง ๆ รวมถึงน้ำมันปาล์มที่แม้อาจไม่เกี่ยวกับปิโตรเลียมโดยตรง แต่มีผลต่อต้นทุนสินค้ากลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป จึงกระทบเป็นห่วงโซ่ธุรกิจ และไม่ได้กระทบเฉพาะกลุ่มอาหารเท่านั้น ในส่วนของกลุ่มน็อนฟู้ดก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างพิจารณาในรายละเอียดในเรื่องของการปรับราคา
 
“สินค้ากลุ่มไหนปรับราคาเพิ่มได้ก็ต้องทำ เพราะสินค้าอุปโภคบริโภคไม่ได้ปรับราคาบ่อยครั้ง เพียงแต่การปรับเพิ่มราคาต้องคิดรอบด้าน เพราะแนวโน้มวัตถุดิบขึ้นราคาแล้วจะไม่ลง หรือถ้าไม่ปรับราคาสินค้าก็ต้องบริหารจัดการลดต้นทุนในกระบวนการผลิต”
 
ยกตัวอย่าง การปรับราคาสินค้าช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สหพัฒน์เคยปรับราคาสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาม่า จาก 5 บาท เป็น 6 บาท ก็คิดหนัก แต่อีกด้านหนึ่งได้ลอนช์มาม่า ราคา 5 บาท รสซุปไข่และรสโปรตีนไข่ ออกมาทดแทน ปรากฏว่าผู้คนหันไปนิยมซื้อในราคา 6 บาท ตั้งแต่นั้นมาม่ายืนราคาในระดับเดิมมาตลอด เพราะหากปรับราคาขึ้นแล้ว จะมีผลต่อกลไกการแข่งขันในตลาด อาจทำให้สูญเสียโอกาสในการขาย
 
นายเวทิตระบุว่า ความท้าทายอีกอย่างหนึ่งในการขึ้นราคาสินค้า คือ การสื่อสารถึงกลุ่มผู้บริโภคให้เข้าใจสภาพตลาดที่เป็นอยู่ ผู้ประกอบการจะขึ้นราคาสินค้าแบบเงียบ ๆ ไม่ได้ สมัยนี้ผู้บริโภคเข้าถึงสื่อโซเชียลทุกช่องทาง แต่ถ้าจำเป็นต้องปรับราคาให้สอดรับกับต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ก็ต้องทำ หากไม่ปรับบริษัทก็ไม่สามารถอยู่รอดได้เหมือนกัน
 
ปรับราคาขายส่ง
 
แหล่งข่าวจากวงการค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสานกล่าวว่า ปัญหาราคาน้ำมันที่แพงขึ้นตลอดช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา และมีแนวโน้มที่ทรงตัวอยู่ในเกณฑ์สูงจนถึงต้นปีหน้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้า หรือซัพพลายเออร์ สินค้าที่เป็นกลุ่มของกินของใช้ได้เริ่มทยอยแจ้งการปรับขึ้นราคาขายส่งกับยี่ปั๊วซาปั๊วบ้างแล้ว เช่น กลุ่มน้ำมันพืช ปลากระป๋อง รวมถึงกลุ่มสินค้าที่มีแพ็กเกจจิ้งเป็นพลาสติก หลัก ๆ จะมีการลดส่วนลดหรือของแถมลง เช่น เดิมเคยให้ส่วนลดการค้า 8% ก็ลดเหลือ 5% บางสินค้าเดิมซื้อ 100 ลัง แถม 10 ลัง ก็ลดของแถมเหลือ 5 ลัง เนื่องจากซัพพลายเออร์มีต้นทุนเพิ่มขึ้น
 
“น้ำมันเป็นปัจจัยสำคัญ และเป็นต้นทุนหลักของสินค้าทุกอย่าง โดยเฉพาะเรื่องการขนส่ง โลจิสติกส์ หรือในส่วนบรรจุภัณฑ์ที่เป็นพลาสติก เมื่อราคาน้ำมันสูงขึ้น เม็ดพลาสติกก็สูงขึ้นด้วย ดังนั้น อะไรที่มีแพ็กเกจจิ้งเป็นพลาสติก ต้นทุนจะเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าอะไรจะขึ้นราคามากน้อยอย่างไร ขึ้นอยู่กับสถานการณ์การแข่งขันของสินค้านั้น ๆ เป็นหลัก”
 
พร้อมย้ำว่า หากสถานการณ์ราคาน้ำมัน และต้นทุนอื่นยังมีแนวโน้มสูงต่อเนื่อง ซัพพลายเออร์ก็ต้องปรับตัวและเร่งหาทางออก โดยเฉพาะช่วงนี้เศรษฐกิจและกำลังซื้อไม่ดี แต่ที่ผ่านมาทุกครั้งที่มีปัญหาราคาน้ำมัน ซัพพลายเออร์ก็จะปรับตัว เน้นให้ผู้บริโภคไม่รู้สึกว่าได้รับผลกระทบ เช่น ลดปริมาณลงแต่ขายในราคาเดิม
 
หรืออีกวิธีหนึ่งที่ใช้มาก คือ ออกสินค้าไซซ์ใหม่-ราคาใหม่ เพิ่มเข้ามาในตลาด รวมถึงมีโปรโมชั่นเสริมเข้ามาช่วยเพื่อให้รู้สึกว่าคุ้มค่า คาดว่าในภาวะเช่นนี้ หลาย ๆ ค่ายจะหันมาเน้นผลิตสินค้าไซซ์เล็กออกมาจำหน่ายมากขึ้น ให้สอดรับกับกำลังซื้อ รวมถึงนำเสนอโปรโมชั่นเพื่อเพิ่มความคุ้มค่าให้ผู้บริโภค
  
น้ำมันพืช-เบเกอรี่อั้นไม่ไหว
 
แหล่งข่าวจากวงการน้ำมันพืชรายใหญ่ให้ข้อมูลทิศทางเดียวกันว่า นอกจากต้นทุนวัตถุดิบและการขนส่งเพิ่มแล้ว ราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นส่งผลโดยตรงกับเม็ดพลาสติกที่นำมาผลิตขวด หรือกรณีน้ำมันบรรจุปี๊บ ตอนนี้ต้นทุนเหล็กก็เพิ่ม หลาย ๆ ค่ายจึงทยอยปรับราคาขายส่งขึ้นเป็นระยะ ๆ ตั้งแต่เดือน ก.ย.ที่ผ่านมา เช่น น้ำมันปาล์ม ตามช่องทางต่าง ๆ ได้ทยอยปรับราคาขายปลีกมาอยู่ที่ 44 บาท/ขวด (1 ลิตร) จากนั้นขยับเป็น 49 บาท และบางช่วงราคาสูงสุดที่ 54-55 บาท ส่วนพื้นที่ห่างไกล ราคาอาจอยู่ที่ 57-58 บาท หรือมากกว่านี้ ตอนนี้ธุรกิจหลาย ๆ อย่างที่ใช้น้ำมันปาล์มในการผลิต ต่างมีต้นทุนเพิ่มขึ้น ยกตัวอย่างกรณีของบะหมี่สำเร็จรูป
 
แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการธุรกิจเบเกอรี่กล่าวว่า ปัญหาค่าขนส่ง รวมถึงราคาวัตถุดิบที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดธุรกิจเบเกอรี่หลายรายเริ้มทยอยปรับราคาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ถือเป็นความท้าทายอย่างมาก เพราะวันนี้พฤติกรรมผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกสินค้าโดยมองจากความคุ้มค่าเป็นหลัก
 
นายสุวิทย์ วังพัฒนมงคล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บจ.ไฮคิวผลิตภัณฑ์อาหาร ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายปลากระป๋องภายใต้แบรนด์ โรซ่า กล่าวว่า ต้นทุนค่าน้ำมัน โลจิสติกส์ วัตถุดิบที่สูงขึ้น กระทบกับผู้ประกอบการทุกค่าย ซึ่งบริษัทได้ประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ ที่ผ่านมาได้ทำหนังสือถึงกรมการค้าภายใน เพื่อขออนุญาตปรับขึ้นราคาสินค้า และกำลังรอคำตอบ เบื้องต้นยังไม่มีการปรับขึ้นราคาสินค้า หันมาเน้นการบริหารจัดการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น
เช่นเดียวกับแหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายรายระบุทิศทางเดียวกันว่า ราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในเกณฑ์สูงกระทบกับการขนส่งสินค้ารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะสินค้าขนาดใหญ่และมีน้ำหนัก เช่น ตู้เย็น เครื่องซักผ้า ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้หลายค่ายพยายามตรึงราคาด้วยกลยุทธ์ต่าง ๆ เช่น เน้นขายสินค้าพรีเมี่ยม รัดเข็มขัดลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ชะลอการขึ้นราคาเป็นรอบที่ 2 จากก่อนหน้านี้เครื่องใช้ไฟฟ้าได้ปรับขึ้นราคาไปแล้ว 1 รอบ ช่วงต้นปีนี้ เช่น ทีวี ปรับเพิ่มขึ้น 30% หรือเครื่องใช้ไฟฟ้าชิ้นใหญ่ขยับขึ้น 5-10% จากปัญหาชิปคอมพิวเตอร์ โลหะ พลาสติก รวมถึงการขนส่งสินค้า
 
น้ำมันปาล์ม-หมูขึ้นพรวดพราด
 
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับราคาน้ำมันปาล์มขวดขนาดบรรจุ 1 ลิตร ขณะนี้ปรับขึ้นไปเป็นขวดละ 51-55 บาท เท่ากับราคาน้ำมันถั่วเหลืองบรรจุขวด จากเดิมในช่วงเดียวกันของปี 2563 ราคาน้ำมันปาล์มขวดอยู่ที่ขวดละ 46 บาท มาจากผลผลิตปาล์มน้ำมันในแหล่งผลิตสำคัญอย่างอินโดนีเซีย-มาเลเซียลดลง
 
ราคาน้ำมันปาล์ม CPO ในตลาดโลกปรับสูงขึ้น ประกอบกับช่วงปลายฤดูผลปาล์มน้ำมันในไทย ส่งผลให้ราคาผลปาล์มทะลายขณะนี้อยู่ที่เฉลี่ย 8.84 บาท/กก. น้ำมันปาล์มดิบอยู่ที่ 44.66 บาท/กก. เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่ 28.10 บาท/กก. และราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์อยู่ที่ 46.48 บาท/กก.
 
มีข้อน่าสังเกตว่า “ส่วนต่าง” ระหว่างราคาน้ำมันปาล์มดิบกับราคาน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ห่างกันแค่ 1.82 บาท/กก. หรือจากเดือนที่ผ่านมาห่างกันถึง 2.49 บาท/กก. เป็นผลมาจากการสั่งให้ตรึงราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดของกรมการค้าภายใน สะท้อนว่าราคาน้ำมันปาล์มขวดที่แท้จริงจะต้องปรับราคาขึ้นมากว่า 55 บาท/ขวดในเร็ว ๆ นี้
 
ด้านราคาหมูเนื้อแดงที่ก่อนหน้านี้ได้ปรับขึ้นราคามาตลอด จากปริมาณการเลี้ยงหมูที่ลดลงกว่า 30% เหลือ 15.86 ล้านตัว, การเกิดโรคระบาดร้ายแรงในหมู และราคาอาหารสัตว์ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์อยู่ที่ กก.ละ 10-11 บาท กากถั่วเหลือง 19.80 บาท
ส่งผลให้ผู้เลี้ยงประกาศปรับราคาหมูมีชีวิตหน้าฟาร์มเป็น 80-82 บาท/กก. มีผลทำให้ราคาหมูไม่ตัดแต่งอยู่ที่ 135-140 บาท/กก. ราคาหมูตัดแต่ง 145-150 บาท/กก. และราคาหมูในห้างค้าปลีกอยู่ที่ 119-122 บาท/กก.
 
โดยวงการผู้เลี้ยงหมูคาดการณ์ว่า ราคาหมูมีโอกาสที่จะปรับขึ้นไปถึง กก.ละ 200 บาท หากยังไม่สามารถแก้ปัญหาราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ อาทิ ข้าวโพด-ข้าวสาลี-ถั่วเหลืองได้
 
พาณิชย์ให้ตรึงราคาถึงสิ้นปี
 
นายวัฒนศักย์ เสือเอี่ยม อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กรณีผู้ประกอบการยื่นโครงสร้างราคามาที่กรมการค้าภายใน “ถือเป็นการแจ้งโครงสร้างราคาปกติ ยังไม่ได้มีการปรับราคา” เพราะขณะนี้ กระทรวงพาณิชย์ได้ขอความร่วมมือผู้ประกอบการ ผู้ผลิตสินค้า “ตรึงราคา” จำหน่ายไปจนถึงสิ้นปี 2564 ก่อนทบทวนสถานการณ์อีกครั้ง นโยบายตรึงราคาสินค้านี้ กรมได้พิจารณาจากปัจจัยรอบด้าน
 
รวมถึงการปรับขึ้นค่าขนส่งที่จะมีผล 1 ธ.ค.นี้ คิดเป็นต้นทุนในสัดส่วนไม่มาก ประกอบกับรัฐบาลเพิ่งเปิดประเทศและผ่อนคลายให้จัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ขณะที่การส่งออกปรับตัวดีขึ้น จะทำให้การผลิตสินค้ากลับสู่ภาวะปกติ เมื่อผลิตได้เป็นปกติจะทำให้เกิด Economy of Scale มากขึ้น ต้นทุนผลิตต่อหน่วยลดลง
 
“หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตาม กรมพร้อมจะเพิ่มระดับมาตรการเข้มข้นขึ้นกับผู้ผลิตรายนั้น ซึ่งทางเลือกนี้จะเป็นหนทางสุดท้าย ส่วนกรณีน้ำมันปาล์มขวดยังขอให้ผู้ผลิตตรึงราคาไว้ที่ขวดละ 51-54 บาท เพราะถ้าคิดตามต้นทุนที่แท้จริง ราคาจะสูงกว่านี้มาก” นายวัฒนศักย์กล่าว
 
สินค้าขาด-แบกต้นทุนไม่ไหว
 
ด้านนายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ขณะนี้ต้นทุนของภาคเอกชนปรับขึ้นสูงมาก ทั้งจากราคาพลังงาน ต้นทุนน้ำมัน ค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า ทำให้ผู้ผลิตสินค้าเริ่มปรับราคาขึ้น และจะขยับต่อเนื่องตามกลไกตลาด
ซึ่งได้เตือนให้ทุกฝ่ายเตรียมการให้พร้อมรับมือ จะประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) เร็วที่สุดเดือนนี้ หรือต้นเดือน ธ.ค. 2564 เพื่อหารือถึงแนวทางการบริหารจัดการเรื่องค่าครองชีพ เพราะถ้าฝืนความจริงนานจะไม่ได้ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ หากเอกชนไม่สามารถแบกรับภาระต้นทุนได้จะเกิดปัญหาขาดทุน และหยุดผลิต นำไปสู่ปัญหาสินค้าขาดแคลนได้

“ตอนนี้ซัพพลายเชนมีปัญหา จากที่ผ่านมาเอกชนไม่กล้าสต๊อกสินค้า แต่ตอนนี้เริ่ม restock สินค้า เริ่มกลับมาบิลด์อัพสต๊อก แต่ซัพพลายไซด์ ดีมานด์เพิ่มขึ้น เพราะผู้ผลิตบางประเทศโดยเฉพาะจีน มุ่งเน้นดูแลปัญหาสิ่งแวดล้อม ทำให้โรงงานที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมต้องหยุด ราคาสินค้าปรับขึ้นทั้งสินค้าในประเทศและส่งออก บางสินค้าถือว่าดี เช่น น้ำตาล ราคาสูงส่งผลดีกับเกษตรกร แต่ต้องส่งสัญญาณให้เตรียมรับมือ การที่ราคาสินค้าสูงขึ้นมีผลต่อเงินเฟ้อสูงบ้าง แต่ไม่กระทบเศรษฐกิจ ส่วนการบริหารจัดการเรื่องตรึงราคาสินค้าต้องหารือกระทรวงพาณิชย์” นายสนั่นกล่าว
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่