รัฐบาลแห่งชาติ ถึงเวลาแล้วหรือยัง

ข่าวเก่า ที่เคยมีคนว่า รัฐบาลแห่งชาติ ยังไม่ถึงเวลา แต่สถานการณ์ตอนนี้ ถึงเวลาแล้วหรือยัง

จากข้อเสนอ "รัฐบาลแห่งชาติ" ที่ น.พ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโส เสนอให้มีการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ในกรณีที่สถานการณ์ความขัดแย้งในบ้านเมืองดำเนินมาถึงจุดวิกฤติ และหาทางออกอื่นใดไม่ได้แล้ว ทั้งนี้ เพื่อออกจากห้วงเวลาของการต่อสู้กันของแต่ละฝ่ายมาเป็นความร่วมมือกันทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นพรรคพลังประชาชน พรรคประชาธิปัตย์ ตลอดจนพรรคอื่นๆ ทุกพรรค รวมถึงนักวิชาการ สื่อมวลชนทุกแขนง ที่จะมาช่วยกันดูแลประเทศชาตินั้น

         ทั้งหมดที่กล่าวมาแม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ในภาวะที่ประเทศเต็มไปด้วยความขัดแย้ง เอาชนะคะคานกันไม่มีที่สิ้นสุด หลายฝ่ายก็เงี่ยหูฟังแนวคิดนี้ด้วยความสนใจไม่น้อย แต่จะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ ลองไปฟังมุมมองจากคนการเมือง-นักวิชาการ ดังนี้

         นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า ข้อเสนอของ นพ.ประเวศเป็นการสะท้อนความห่วงใยว่าความขัดแย้งหรือความแตกแยกมีอยู่มาก แต่จริงๆ แล้วขณะนี้ปัญหาคงไม่ได้อยู่ที่ว่ารัฐบาลมีเสียงไม่พอหรือพรรคฝ่ายค้านไปสร้างปัญหาอะไร แต่วันนี้ปมขัดแย้งน่าจะมาจากเรื่องรัฐธรรมนูญ เพราะฉะนั้น คงจะบอกว่าเห็นด้วยกับข้อเสนอของ นพ.ประเวศไม่ได้ เพราะเท่ากับเป็นการเรียกร้องให้ไปร่วมรัฐบาล ผมไม่มีข้อเรียกร้องนั้นเลย แต่มีข้อเรียกร้องอย่างเดียวว่ารัฐบาลควรหยุดเรื่องรัฐธรรมนูญที่เป็นความขัดแย้งแล้วมาทำงานใน กมธ.ร่วมกัน โดยรัฐบาลต้องชี้แจงในส่วนของพรรครัฐบาลเอง

         ด้าน พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ไม่มีอะไรเกิดภาวะฉุกเฉิน ทำไม่ได้หรอก เพราะเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ถ้ารัฐบาลอยู่ได้ก็อยู่ไป ถ้าอยู่ไม่ได้ก็ยุบสภา การตั้งรัฐบาลแห่งชาติต้องเป็นเรื่องฉุกเฉิน จำเป็นจริงๆ และที่ผ่านมาไม่เคยมีการพูดคุยเรื่องนี้ในวงนักการเมือง

         ขณะที่ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ระบุว่า วันนี้จะไปถึงจุดนั้น เพราะยังไม่เป็นปัญหาที่เราเผชิญวิกฤตรุนแรง หรืออับจนชนิดที่เราไม่ต้องการให้มีฝ่ายค้านอีกแล้ว วันนี้เรายังคิดว่าการมีรัฐบาล มีฝ่ายค้านเป็นผู้ตรวจสอบก็ยังเป็นเรื่องที่จำเป็น เพราะประชาธิปไตยนั้นเราอยากให้มีผู้คอยดูแลและให้ความเห็นในการตรวจสอบ หากมีรัฐบาลแห่งชาติแล้วไม่มีผู้ตรวจสอบจะเหมาะสมหรือไม่ แต่หากเราเผชิญวิกฤตรุนแรงแล้วไม่มีทางเลือกอื่น ตรงนั้นอาจจะเป็นทางเลือกได้

         ทางด้าน ร.ท.กุเทพ ใสกระจ่าง โฆษกพรรคพลังประชาชน กล่าวว่า นพ.ประเวศเป็นบุคคลที่มีต้นทุนทางสังคมสูง เป็นที่เคารพของคนในสังคม ซึ่งพรรคพลังประชาชนก็น้อมรับฟังข้อเสนอแนะ แต่ภายใต้รัฐธรรมนุญฉบับปัจจุบันไม่มีช่องทางให้มีรัฐบาลแห่งชาติได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดว่าจะต้องมีฝ่ายค้านและรัฐบาลคอยตรวจสอบถ่วงดุลซึ่งกันและกัน หรือถ้าจะต้องยกเลิกรัฐธรรมนูญบางมาตราเพื่อมีรัฐบาลแห่งชาตินั้น ขณะนี้ก็ยังไม่มีประเด็น  

         ในส่วนของ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย แสดงความเห็นว่า คงเป็นการแสดงความคิดเห็นเพราะเป็นห่วงบ้านเมือง แต่ถ้าทำแบบนั้นจริง จะเอารัฐธรรมนูญไปไว้ไหน จะให้เอาไปไว้ในตุ่มหรือ เพราะต้องดูพื้นฐานความเป็นจริงด้วย ในเมื่อพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยบอกว่ารัฐธรรมนูญฉบับ 2550 ดี ไม่ให้แก้ไข เมื่อ นพ.ประเวศระบุเช่นนี้ ตกลงจะเอาอย่างไรกันแน่ ผมเห็นว่าอย่าไปยุ่งกันนักเลย แค่นี้ประเทศก็จะแย่แล้ว แต่ผมก็ไม่กล้าวิจารณ์หรอก เพราะถ้าไปวิจารณ์คนกลุ่มนี้เมื่อไหร่ ผมจะกลายเป็นคนชั่วในพริบตาเดียว โดยส่วนตัวเห็นว่าการจะเป็นรัฐบาล จะต้องมีฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาล หากเป็นรัฐบาลกันหมด ใครจะทำหน้าที่ตรวจสอบ

         ขณะที่ นายจตุพร พรหมพันธุ์ ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน กล่าวว่า นพ.ประเวศ เสนอเรื่องรัฐบาลแห่งชาติมาหลายครั้งและนานแล้ว แต่ไม่เคยมีใครยอมรับหรือนำไปปฏิบัติ เพราะในสังคมประชาธิปไตยจะไม่สามารถมีรัฐบาล โดยไม่มีฝ่ายค้านได้ เนื่องจากเป็นหนทางนำไปสู่เผด็จการรัฐสภาของจริง และจะทำให้เกิดเผด็จการเสียงข้างน้อยขึ้นในอนาคต เพราะเมื่อมีการเลือกตั้งและฝ่ายที่พ่ายแพ้การเลือกตั้งไม่ยอมรับผลการเลือกตั้ง ก็จะตั้งตัวเองเป็นเผด็จการเสียงข้างน้อยเพื่อรอให้ นพ.ประเวศ ออกมาเสนอแนวคิดเรื่องรัฐบาลแห่งชาติอีกไม่รู้จบ

         ด้านนายพิภพ ธงไชย แกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย กล่าวว่า พันธมิตรเห็นด้วยกับหลักการรัฐบาลแห่งชาติ เพราะ นพ.ประเวศเป็นบุคคลที่หวังดีต่อชาติบ้านเมือง ต้องการให้บ้านเมืองมีทางออก แต่แกนนำพันธมิตรต้องมาหารือกันอีกครั้ง เพราะการตั้งรัฐบาลแห่งชาติไม่ได้มีจุดประสงค์ที่ให้ประนีประนอมหรือเกี้ยเซี้ยกัน แต่ในความหมายของนพ.ประเวศ รัฐบาลแห่งชาติต้องเข้ามาทำในสิ่งที่ถูกต้อง โดยปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมโดยปราศจาการแทรกแซง

         นายแวมาฮาดี แวดาโอะ รองหัวหน้าพรรคเพื่อแผ่นดิน กล่าวถึงการตั้งรัฐบาลแห่งชาติว่า การตั้งรัฐบาลแห่งชาติในแง่กฎหมายสามารถทำได้ แต่มีข้อเสียอยู่ว่ากลไกการตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลจะหมดไป การทำงานของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยยังต้องมีระบบการตรวจสอบเดินคู่ขนานกันไป แต่หากตั้งแล้วคงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด เป็นเพียงการลดบรรยากาศทางการเมืองที่ร้อนแรงให้ลดน้อยลงเท่านั้น ซึ่งปัญหาอยู่ที่ทัศนคติและแนวคิดของพรรคการเมืองทั้ง 2 พรรคใหญ่ ที่เห็นต่างกันสุดขั้ว ยึดโยงไปยังม็อบหนุนและม็อบต้าน นำไปสู่การแบ่งข้างชัดเจน ฉะนั้นต้องลดทัศนคติหรือแนวคิดตรงนี้ไป ถ้าลดได้รับรองความสงบสุขของประเทศเกิดขึ้นแน่นอน โดยไม่ต้องพึ่งการจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติ

         ส่วนนายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล รองหัวหน้าพรรคชาติไทย กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวไม่ใช่เรื่องใหม่ เคยมีคนเสนอมาหลายครั้งแล้ว มักเป็นข้อเสนอที่เกิดขึ้นในยามที่บ้านเมืองไม่ปกติ การที่ราษฎรอาวุโสเสนอขึ้นมานี้ถือเป็นแนวคิดที่มีความปรารถนาดี แต่ในทางปฏิบัติบนความจริงเป็นไปได้แค่ไหน เรื่องนี้แล้วแต่ใครจะมองอย่างไร หมอประเวศอาจมองว่าถึงเวลาแล้ว แต่ฝ่ายการเมืองอาจมองว่ายังไม่ถึงขั้นนั้น แต่ผมยังมีความเชื่อในระบบกลไกรัฐสภาตามระบอบประชาธิปไตย อย่าฝืนดีกว่า คงเป็นไปได้ยากที่จะไม่มีระบบถ่วงดุลตรวจสอบ เรื่องนี้คงเป็นไปได้ยาก

         ขณะที่ พล.อ.เชษฐา ฐานะจาโร หัวหน้าพรรครวมใจไทยชาติพัฒนา เปิดใจว่า เป็นข้อเสนอที่ผมพอใจมาก เหมาะสมที่สุด หากปล่อยให้ประเทศแตกแยกต่อไปจะไม่เป็นผลดี ทางออกดีที่สุดคือตั้งรัฐบาลแห่งชาติ ผมเคยชูประเด็นนี้ตั้งแต่ตอนหาเสียงแต่ไม่มีใครรับลูก เรื่องนี้ไม่น่าขัดรัฐธรรมนูญ วันนี้เรามีรัฐบาล มีรัฐสภา ที่มาจากการเลือกตั้งอย่างถูกต้องตามรัฐธรรมนูญปี 50 หากจะตั้งรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมา มีเพียงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเท่านั้นที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 171 กำหนดให้ต้องมาจาก ส.ส. ส่วนรัฐมนตรีสามารถเชิญคนนอกเข้ามาเป็นได้ และการบริหารงานของรัฐบาลแห่งชาติต้องอยู่ในกรอบของรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว ไม่น่ามีปัญหา  

         ทางด้านนายสุจิต บุญบงการ อดีตคณบดีคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงความคิดเห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลแห่งชาติเคยมีที่ประเทศอังกฤษสมัยปี ค.ศ.1931-1940 โดยคราวนั้นมีภาวะเศรษฐกิจตกต่ำรุนแรงมาก แต่สำหรับประเทศไทยคราวนี้มีปัญหา 2 มิติ คือ ปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองระหว่าง 2 กลุ่มคือ เอากับไม่เอาทักษิณ ซึ่งก็จะคาราคาซังอยู่อย่างนี้ไปอีกนาน อีกปัญหาคือ เศรษฐกิจตกต่ำรุนแรง อัตราเงินเฟ้อสูงมาก น้ำมันขึ้นราคาเกือบทุกวัน ของทุกอย่างแพงขึ้นหมด ข้อเสนอของ นพ.ประเวศ ให้มีรัฐบาลแห่งยิ้มคราวจึงน่าสนใจ ซึ่งหากมีแล้วไม่ดีก็ยุบสภาได้ การตั้งรัฐบาลแห่งชาติในบ้านเรามีปัญหาในทางปฏิบัติแน่ เพราะหัวหน้ารัฐบาลคุมทุกพรรคให้กลมเกลียวสมานฉันท์ไม่ได้ ผมจึงคิดว่าแนวคิดรัฐบาลแห่งชาติทำได้ลำบาก และเชื่อว่ารัฐบาลคงไม่ยอมแน่

         ปณิธาน วัฒนายากร นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แสดงทัศนะคติว่า รูปแบบรัฐบาลแห่งชาติทำได้ยากในประเทศไทย ปกติแล้วรูปแบบลักษณะนี้จะเกิดในภาวะสงคราม มีการคุกคามอธิปไตยจากต่างชาติ ผู้นำต้องมีความเข้มแข็งมากจึงจะสามารถบริหารประเทศในรัฐบาลแห่งชาติได้ แต่ปัจจุบันแต่ละพรรคการเมืองมีความคิดเห็นและปรัชญาการเมืองที่แตกต่างกันมาก หากการเมืองไทยเข้าสู่ขั้นวิกฤตจริงยังมีทางออกอื่นที่จะรองรับ เช่น การออกพ.ร.บ.ความมั่นคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ฯลฯ ข้อเสนอของหมอประเวศ จึงมองไปในเชิงป้องกันวิกฤตทางการเมืองไม่ให้เกิดขึ้น เพื่อตัดไฟแต่ต้นลมมากกว่า

ที่มา http://hilight.kapook.com/view/24850
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่