จงมาคุยเรื่อง KILL la KILL กันให้สนุกสนานแล้วมองให้ทะลุถึงตับไตไส้พุงกันเถอะ!!![4]

กระทู้สนทนา
***ระวังโดนสปอยสำหรับใครที่ยังดูไม่ถึงตอนแปด***
***พิมพ์เยอะมาก(ส์ส์ส์ส์ส์+++) จึงขอภัยมา ณ ที่นี้ด้วย***
***ถ้าใครมาใหม่ อยากรู้ว่าเจ้าพวกนี้คุยเรื่องอะไรกันกลับไปอ่านกระทู้เก่านี้ได้***


กลับมาอีกครั้ง กับการวิเคราะห์และพร่ำพรรณนาที่ยืดยาวเช่นเคย (หรืออาจจะยาวกว่าที่เคย)
เพื่อไม่ให้เสียเวลา และให้ความเข้าใจตรงกันมากขึ้น ก่อนอื่นต้องขอทวนเนื้อหากระทู้เก่าล่าสุด ซึ่งถือได้ว่าเป็นตัวจุดประกายความน่าสนใจของเรื่องนี้ในหัวของจขกท.ได้สุดยอดเกินคาดมาก (แล้วเดี๋ยวจะค่อยลงประเด็นต่อในส่วนของตอนเจ็ด และแปดหากมีเวลา)

กระทู้เก่าอันนั้นเป็นกระทู้ฉบับพิเศษที่ตั้งใจเขียนขึ้นสำหรับซัตสึกิภายในระยะเวลาที่ไม่ค่อยมีมาก แต่การณ์กลับตาลปัตรเมื่อมีผู้มาแสดงความเห็นเกี่ยวกับเนื้อหาและรูปแบบโครงสร้าง กลไกตัวละครต่าง ๆ ของเรื่อง รวมไปถึงความเกี่ยวโยงกันกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น ทำเอาจขกท.ตะลึง บวกกับความดีใจที่ได้เห็นความคิดที่ละเอียด ตรงประเด็น และสามารถเปิดมุมมองของเรื่องนี้ได้กว้างขึ้นมากกว่าเก่า เป็นแรงบันดาลใจให้ไปคุ้ยเอาเอกสารเยอะแยะมานั่งทำความเข้าใจ อันนี้ก็ต้องยกความดีความชอบให้กับคห.นั้นด้วย จขกท.ขอแสดงความขอบคุณมา ณ ที่นี้

ถามว่าทำไมจขกท.ถึงต้องดีใจขนาดนั้น ก็จะไม่ให้ดีใจได้ยังไง ในเมื่อการวิเคราะห์ที่ดีจะต้องมีความสัมพันธ์ สอดคล้องกับตัวบริบท ซึ่งเป็นลักษณะทางสังคม เหตุการณ์สภาพแวดล้อมในปัจจุบันนั้น ๆ ซึ่งตรงจุดนี้เองที่มันขาดไปในมุมมองที่มีต่อเนื้อเรื่องของจขกท. มันเป็นวัตถุดิบที่ทำให้รสชาติมันเต็ม ชัดเจน และสมบูรณ์ขึ้นได้อย่างอัศจรรย์ และกุญแจสำคัญที่ก่อนหน้าดันลืมไปแล้วว่าอยู่ที่ไหนก็คือ “ความเป็นโชวะ” ของประเทศญี่ปุ่นนี่แหละ ดังนั้นสิ่งที่ต้องเน้นให้มากขึ้นไม่ใช่ความเป็น “ปัจจุบัน” คือเอาแต่เปรียบเทียบเรื่องกับสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่ต้องเปรียบเทียบกับ “อดีต” ที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วด้วย คราวนี้จึงมีเรื่องให้สาวอีกยาวเป็นกิโลเลยทีเดียว

ตั้งแต่ตอนแรกจนถึงตอนแปดมานี้ (เป็นที่น่าสังเกตว่าตอนหลัง ๆ มันก็ตะลุยหนักเอา ๆ เหมือนกับพยายามจะเร่งเรื่อง จะรีบปูพื้นเรื่องเพื่ออะไรบางอย่าง) สภาพแวดล้อมที่แสดงออกมามันก็มีทั้ง uniform และ anti-uniform มันมีเทพและปีศาจ มันมีน้ำเงินและแดง มันมีผู้คุมกฎและกบฏที่พยายามจะแหกกฎ มันมีเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ต่าง ๆ เหล่านี้ก็คือการมีอยู่ของสองคู่กัดระหว่างขั้วอำนาจที่ต่อต้านกันและกัน จะเห็นได้ว่ามันมีความชัดเจนในตัวมันอยู่แล้วเหมือนกับที่พวกเรามักจะคุ้นเคยในอนิเมทั่วไป หรือแม้แต่นิทานปรัมปราที่มีพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของโครงสร้าง ซึ่งก็คือคู่ขัดแย้ง (opposition) แต่ก็ต้องคลี่คลายความขัดแย้งให้จบลงในแบบใดแบบหนึ่ง


(เห็นใช่ไหมละว่ามันคือคู่ขัดแย้ง เห็นใช่ไหมล่าาาา)


แรกสุดจขกท.พยายามวิเคราะห์ในส่วนนี้มากเกินไป เลยทำให้ลืมมองภาพรวมจากในระยะไกลที่เป็น full shot และทำให้พลาดที่จะไปทำความเข้าใจ “เป้าหมาย” หรือ “ความตั้งใจ” ของคนเขียนเรื่องที่เป็น “ชาวญี่ปุ่น” ที่อยู่ใน “ประเทศญี่ปุ่น” และในยุคสมัยของ “คริสต์ศตวรรษที่ 21” (ซึ่งหากจะให้ตรงจุดแบบทะลุไปเลย ก็จะต้องบอกว่าเป็น “Studio Trigger” และ “Kazuki Nakashima” คนเขียนเรื่องกับ “Hiroyuki Imaishi” ผกก.ของเรื่องนี้ด้วย แต่จขกท.ยังสาวไม่ถึง ใครมีข้อมูลแชร์กันได้นะ) แน่นอนว่าการวิเคราะห์ในเรื่องของเครื่องแบบนักเรียนเป็นองค์ประกอบส่วนย่อยที่จะทำให้เรามองเนื้อเรื่องได้แจ่มชัดมากขึ้น แต่จขกท.ลืมไปว่าตัวเองนั้นอยู่ในบริบทของความเป็นผู้ชม “คนไทย” และอยู่ใน “ประเทศไทย” ถึงแม้จะอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน แต่สถานการณ์ภายในสังคมระหว่างไทย กับญี่ปุ่นนี้ต่างกันอย่างเห็นได้ชัด หากเจาะลงไปในเรื่องของเครื่องแบบ ก็จะเป็นคำถามที่ว่า “คนญี่ปุ่นจะดึงเอาเรื่องของเครื่องแบบนักเรียนออกมานำเสนอเพื่ออะไร?” คืออย่างไทยเรานี้เพิ่งเถียงกันไปหมาด ๆ เลยทำให้เห็นถึงอิทธิพลของเครื่องแบบที่นำเสนอในเรื่องได้ชัดเจนมาก แต่สำหรับพวกคนแดนอาทิตย์อุทัยแล้วมันไม่ใช่ ในสังคมพวกเขามันมีการประยุกต์เครื่องแบบให้เข้ากับยุคสมัยและการรับใช้สังคมตั้งนานแล้ว หลายคนอาจจะมองว่าเป็น “ความโหยหาอดีต” ซึ่งโดยส่วนตัวแล้วก็คิดว่ามีส่วนจริงอยู่บ้าง แต่มันน่าจะต้องมีอะไรที่ลึกมากกว่านั้นที่เป็นสาเหตุสำคัญที่พวกเขาพยายามนำเสนอประเด็นนี้ และองค์ประกอบที่เกี่ยวกันอย่างที่แยกกันไม่ออกขึ้นมาอีกครั้ง อาจจะง่าย ๆ ว่าเป็นแค่ความสนุก หรืออาจจะเป็นความตั้งใจที่จะเล่าอะไรให้ฟังก็ได้ สิ่งเหล่านี้จะจริงแท้แค่ไหนก็ต้องพิจารณากันต่อไป ซึ่งก็จะขอไปพูดต่อใน “ความเป็นโชวะ” ที่ได้มีการใช้พื้นที่แสดงความเห็นไปเมื่อกระทู้ที่แล้ว


(เออนี่สิ ค่อยดูเข้าเค้าความเป็นคู่กัดหน่อย)


ตรงส่วนนี้จะเริ่มเจาะแล้วนะ อยากให้ตั้งใจอ่าน เพราะเราต้องเข้าใจให้ดี ๆ ก่อนว่า “ยุคโชวะ” นี้คืออะไร และมันจะไปเกี่ยวกับคีย์เวิร์ดต่อ ๆ ไปที่สัมพันธ์กัน โดยสรุปพอประมาณได้ดังนี้คือ 1.)ยุคโชวะ 2.)จักรวรรดินิยม 3.)สงครามโลกครั้งที่ 2 4.)Post-apocalyptic fiction และที่ขาดไม่ได้เดี๋ยวจะเสียอรรถรส 5.)Postmodernism (โดยคีย์เวิร์ดทั้งหมดนี้จะสังเกตได้ว่ามันอยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน นั่นก็คือคริสต์ศตวรรษที่ 20 ที่อยู่ระหว่าง 1901-2000 และแน่นอนว่ามันยังมีกระแสที่ส่งผลมาถึงปัจจุบันด้วย)

ยุคโชวะคือช่วงหนึ่งในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น เป็นยุคก่อนยุคเฮเซย์ (ปัจจุบัน) มีกษัตริย์เพียงรัชกาลเดียวก็คือสมเด็จพระจักรพรรดิโชวะ (ฮิโรฮิโตะ) ซึ่งนับได้ว่าเป็นช่วงรัชกาลที่ยาวที่สุดในประวัติศาสตร์ของประเทศ ระยะเวลาคือระหว่าง 1926-1989 ยุคโชวะนี้แบ่งออกได้เป็นสามส่วน เริ่มกันที่ (1)1926–1945 ส่วนแรกนี้แหละที่สำคัญเอามาก ๆ เพราะมันเกี่ยวพันกับรูปแบบการปกครองของญี่ปุ่นในขณะนั้น ซึ่งจขกท.คิดจริง ๆ ว่ามันสอดคล้องกันอย่างน่าเหลือเชื่อกับยุคสมัยที่ถูกนำเสนอในเนื้อเรื่องช่วงนี้ของ Kill la Kill ที่ผู้ชมหลายคนก็น่าจะเห็นได้ชัดว่ามันมีอะไรบนกระดานเกมแห่งอำนาจบ้าง เช่นว่า ขั้วอำนาจข้างหนึ่งคือ “ซัตสึกิ” หรือแม้กระทั่ง “Mistress Ragyo” แม่ของซัตสึกิที่อยู่เหนือขึ้นไปอีก เป็นต้น ทีนี้ละพอจะเริ่มเห็นเค้าลางอะไรบ้างไหม ใช่แล้ว... นี่คือยุคสมัยแห่งการปกครองในรูปแบบของ “จักรวรรดินิยม” (Imperialism) อันเกรียงไกรของญี่ปุ่น มีกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญบวกกับสภาขุนนางญี่ปุ่นที่ยังคงแสดงรูปแบบของระบบศักดินาได้อย่างเข้มข้นต่อมาจากสมัยเมจิ อีกทั้งยังอยู่ในช่วง “สงครามโลกครั้งที่ 2” (World War II) ที่มีระยะเวลาตั้งแต่ 1939-1945 ซึ่งพวกเราคงจำกันได้อยู่แล้วกับประวัติศาสตร์การเคลื่อนพลเข้ารุกรานเอเชียอาคเนย์อย่างเป็นล่ำเป็นสัน เนื่องด้วยเพราะการพัฒนากับความทะเยอทะยานเพื่อความเป็นเจ้าจักรวรรดินิยมในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ซึ่งแม้แต่ไทยเราเองก็ไม่อาจรอดพ้นจากอิทธิพลของมหาอำนาจประเทศนี้ไปได้ อันว่าที่ซัตสึกิพูดถึงการแผ่อำนาจของตระกูลคิริวอิน ที่ไล่ยึดครองเหล่าหัวเมืองที่เป็นโรงเรียนต่าง ๆ ตั้งแต่เขตคันโตและขยายไปยังคันไซเรื่อย ๆ ก็คือการสื่อถึงความนัยอันนี้ที่เป็นการปกครองในแบบจักรวรรดิ หรืออาณานิคมนี้แหละ ซึ่งดูเหมือนจะมีการสร้างความชอบธรรมในการครอบครองดินแดนเหล่านั้นด้วยนะ เพราะจักรวรรดินิยมนี้แสดงถึงนัยความเชื่อที่ว่า “การเข้าถือสิทธิยึดครองดินแดนต่างชาติ และการคงอยู่ของจักรวรรดิเป็นสิ่งดีงาม” ดังนั้นต่อให้ไม่มองการเชิดชูเผ่าพันธุ์อารยันของเยอรมันที่อยู่ในช่วง WWII (คือมองซัตสึกิเทียบตรง ๆ กับฮิตเลอร์ไปเลย) แต่มองในแง่ของญี่ปุ่นที่อยู่ในฝ่ายเดียวกันที่เป็นอักษะ มันก็คือ “ความคลั่งชาติ” ที่ปฏิเสธได้ยากว่ามันมาจากความเชื่อของศาสนาชินโต ที่เชื่อว่าพระจักรพรรดิองค์แรกของญี่ปุ่นสืบเชื้อสายมาจากเทพเจ้าแห่งดวงอาทิตย์ และชาวญี่ปุ่นก็ล้วนได้รับการคัดเลือกจากเทพเจ้า ประเทศญี่ปุ่นจึงเป็นเสมือนดินแดนอันศักดิ์สิทธิ์ของเทพเจ้า แล้วมันก็เลยขยายแนวความคิดไปสู่การครอบครองโลกดังที่เกิดขึ้น ไม่ต่างอะไรไปจากยุคล่าอาณานิคมของฝั่งตะวันตก ที่ก็ยึดถือแนวคิด “ภาระคนขาว” (The White Man’s Burden) นั่นแหละ... พิมพ์เอง เงิบเอง... นี่มันช่างตรงเหลือหลายกับอุดมการณ์ที่ซัตสึกิกำลังแบกรับอยู่ (ถ้าหากไม่มีการกลับลำในภายหลังนะ 5555 เพราะว่าในบันทึกประวัติศาสตร์อีกหลายฉบับเขียนไว้ว่า หากมองจากภายนอก ประชาชนอาจคิดว่าพระจักรพรรดิของพวกเขาเป็นกษัตริย์นักรบ เพราะพระราชกรณียกิจที่ทรงปฏิบัติในระหว่างสงครามกระตุ้นให้ประชาชนฮึกเหิม แต่แท้จริงแล้วเป็นการสร้างภาพต่างหาก เพราะลึก ๆ แล้วพระองค์มีพระราชประสงค์ให้สงครามยุติลงโดยเร็ว)


(รอยยิ้มนั้นคืออะไร??? เธอต้องการจะบอกอะไรกับฉันงั้นหรือ...)


นอกจากนี้ ถามว่าทำไมจขกท.ต้องพูดถึง “Ragyo” แม่ของซัตสึกิด้วย อันนี้เป็นความจงใจนะ เพราะมันเป็นส่วนเสริมที่จะไปยืนยันความเป็นจักรวรรดินิยมที่สื่อในเรื่อง โดยจุดที่น่าสนใจก็คือ นักมาร์กซิสต์ ดังเช่น เลนิน ได้ให้คำจำกัดความของจักรวรรดินิยมเอาไว้ว่า “สภาวะ/ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม” ทีนี้แหละ มันจะยิ่งมันส์ทวีคูณ เพราะคำว่า “ทุนนิยม” (Capitalism) นี้ มันก็คือเบื้องหลังจริง ๆ ของความทะยานอยากของเหล่าประเทศจักรวรรดิ ที่ต้องการจะเข้าควบคุมแหล่งทรัพยากร และตลาดทั่วโลกเอาไว้ พออ่านแล้วหลายคนน่าจะจินตนาการไปได้ไกลทีเดียวถึงเมืองอันศิวิไลซ์ และท่านแม่ที่โผล่ออกมาในตอนหก จริงไหมละ... นี่แหละสุดยอดแห่ง “ทุนนิยมเสรี” (Economic liberalism) ที่ครอบงำโลกของเรามานานนนนน ดังนั้นไอ้คำว่าจะปลดปล่อยมนุษยชาติดังอุดมการณ์ที่กล่าวถึงในตอนสอง แท้จริงแล้วมันคือการแข่งขันอย่างเสรีในระบบของ Free Economy หรือเปล่าก็ไม่ทราบได้


("REVOCS" งั้นเหรอ มันคืออะไรกันนะอยากรู้จังเลย)
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่