ตายแล้วเกิด - ตายแล้วสูญ - สูญก่อนตาย มีความหมายต่างกัน

กระทู้สนทนา
ตายแล้วเกิด จะหมายถึง มีตัวตน(อัตตา)ของคนที่ตาย แล้วจะมีตัวตนเกิดมาใหม่เหมือนตัวตนเก่าเพื่อรับผลกรรมที่ได้ทำไว้ก่อนตาย ซึ่งการเกิดใหม่นี้บางคนก็เชื่อว่า จิตหรือวิญญาณ หรือกายทิพย์ ฯลฯ ออกจากร่างที่ตายแล้วไปเกิดใหม่ ซึ่งกรณีนี้บางคนที่รู้ธรรมะมากหน่อยก็บอกว่าอย่างนี้ผิด เพราะเป็นลักษณะของอัตตาหรือตัวตนอมตะซึ่งเป็นคำสอนของพราหมณ์ แต่เขาจะบอกว่า ตัวตนหรือจิตจะดับที่นี่ แต่อวิชชาหรือกิเลสหรือวิบากจะไม่ดับ มันจะมาเป็นเหตุให้เกิดตัวตนใหม่ขึ้นมาเพื่อรับผลกรรมที่เคยทำไว้ในชาตินี้ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นการไปเกิดโดยตรง(คือจิตออกจากร่างไปได้) หรือเป็นการเกิดโดยอ้อม(คือจิตเก่าดับแต่จะเกิดจิตใหม่ที่เหมือนจิตเก่าขึ้นมาได้อีก) มันก็มีลักษณะของอัตตาของพราหมณ์ด้วยกันทั้งนั้น

ตายแล้วสูญ จะหมายถึง มีตัวตน(อัตตา)ของคนที่ตาย แล้วตัวตนนั้นจะหายไปเลย ซึ่งก็ทำให้คนที่ตายไม่ต้องรับผลใดๆจากที่เคยทำไว้ก่อนตาย ซึ่งนี่เป็นความเห็นที่ตรงข้ามกับพวกที่เชื่อว่าตายแล้วเกิด

สูญก่อนตาย จะหมายถึง มันว่างจากตัวตน(ไม่มีอัตตาอย่างของพราหมณ์)อยู่ก่อนแล้ว ไม่ว่าจิตจะมีอวิชชา(หรือกิเลส)หรือไม่ก็ตาม (อวิชชาและกิเลสทำได้เพียงทำให้จิตเกิดความทุกข์ชั่วคราวเท่านั้น) ส่วนความรู้สึกว่ามีตัวตนของเรานี้ มันเป็นแค่"สิ่งปรุงแต่ง" (คืออาศัยสิ่งอื่นมาปรุงแต่งหรือสร้างขึ้นมา)ที่น่าอัศจรรย์เท่านั้น  ซึ่งตัวตนปรุงแต่งนี้จะไม่ใช่สิ่งเที่ยงแท้ถาวร (ไม่เป็นอมตะ) มีสภาวะที่ต้องทนอยู่ตลอดเวลา เพราะมันไม่มีตัวตนเป็นของตนเอง(อนัตตา)  ซึ่งตัวตนปรุงแต่งนี้เมื่อทำสิ่งใดลงไป(คือทำกรรม) ไม่ว่าจะดีหรือไม่ดี(เลว)ก็ตาม ก็จะต้องได้รับผลเป็นความรู้สึกที่ดี(คือสุขใจอิ่มใจ สบายใจ ฯ)และไม่ดี(คือทุกข์ใจ ร้อนใจ เสียใจฯ)ไปตามการกระทำของตนอยู่แล้วในปัจจุบันนี่เอง

สรุปว่า ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อว่าตายแล้วเกิด หรือตายแล้วสูญ จะจัดเป็นความเห็นผิดทั้งสิ้น จะมีก็แต่ความเห็นว่า ไม่มีตัวตนตาย หรือสูญก่อนตายเท่านั้น ที่เป็นความเห็นที่ถูกต้องตามหลักพุทธศาสนา เพราะเป็นการแสดงให้เข้าใจว่ามันไม่ได้มีตัวตนของใครๆอยู่จริงเลยตามหลักอนัตตาของพระพุทธเจ้า ซึ่งหลักอนัตตานี้จะเป็นหัวใจของอริยมรรค(อันได้ก่ ปัญญา ศีล สมาธิ) ที่เป็นหลักในการปฏิบัติเพื่อดับทุกข์ในปัจจุบันของจิตใจมนุษย์(ที่เรียกว่าอริยสัจ ๔)
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่