เหล็กน้ำพี้ การศึกษาเกี่ยวกับเหล็กในตำนาน (เรื่องจากชุมชนคนรักมีดครับ)

ไปเจอกระทู้จากชุมชนคนรักมีดครับ เห็นว่าน่าสนใจและเป็นวิทยาศาสตร์มากๆ เลยเอามาเผยแพร่ต่อครับ

http://www.konrakmeed.com/webboard/upload/index.php?showtopic=16820&st=0

เนื่องจากในกระทู้มีความเห็นจากหลายๆท่าน ผมขออนุญาตสรุปเรื่องราวให้เข้าใจง่ายนะครับ

***ในวงเล็บจะเป็นความคิดเห็นของ จขกท นะครับ
***ในเครื่องหมายคำพูด " จะเป็นส่วนที่ จขกท copy มาจากในเว็บต้นฉบับนะครับ

ขอเกริ่นนะครับ ในเว็บบอร์ดของชุมชนคนรักมีด ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องราวของกลุ่มผู้ที่ชื่นชอบมีด ดาบ การทำมีด/ดาบ รวมไปถึงวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ อาวุธโบราณ ฯลฯ

เรื่องราวในกระทู้นี้เป็นเรื่องของการ ทำดาบเหล็กน้ำพี้ แท้ๆขึ้นมา โดยทำตั้งแต่ถลุงเหล็ก จนไปสิ้นสุดที่ตีเหล็กที่ถลุงออกมาเป็นดาบ

(เพื่อทำการศึกษาเกี่ยวกับภูมิปัญญาทั้งในด้านโลหะวิทยา และการทำดาบของช่างสมัยโบราณ เนื่องจาก จขกท หากระทู้ที่ไปถลุงเหล็กไม่เจอ ขอเริ่มจาก การได้ก้อนเหล็กที่ถลุงมาแล้ว และนำมาตีเป็นดาบนะครับ)



ในกระทู้มีรายละเอียดของการไปถลุงเหล็กอยู่นิดหน่อยครับ

"เริ่มจากก่อนที่ อ.Ed จะไปสอนการถลุง ชาวบ้านยังถลุงจากสายแร่เป้นเหล็กคุณภาพไม่ได้
ใช้การค้นหาเหล็กจากรอบๆเตาถลุงเก่ามาตีอัดเป็นก้อนขายกันหลักพันต้นๆ
ซึ่งเหล็กเหล่านี้อาจเป็นเหล็กที่ถลุงแล้วเหลือจากการคัดเลือก ตกหล่นอยู่โดยรอบๆเตา

มีผู้ถลุงแร่ขายเป็นวัตถุมงคล มีเตาถลุงแร่ แต่เมื่อผลิตจะปิดไม่ให้ชาวบ้านดู
ไม่สามารถระบุชัดเจนได้ว่าทำมาจากแร่เหล็กน้ำพี้มากน้อยแค่ไหน

ดาบที่ขายที่นั้นมักเอาเหล็กทั่วไปมาทำซื่อๆ มาเป่าไฟให้เป็นสีน้ำเงิน ดูดีๆเป็นเหล็กเนื้อเดี่ยว
ส่วนที่เอาแร่เหล็กก้อนๆที่เอาเหล็กข้างเตามาตี ผมยังไม่พบ อาจสั่งเป็นกรณีไป

พระเครื่องอาจเอาแร่มาบดใส่ผสมลงในมวลสารอื่นๆ

ส่วนที่เอามาทดลองในครั้งนี้มาจากการถลุงแร่ โดย อ.ED ครับ
แต่กระนั้นก็ต้องเอาไปยิงเพื่อตรวจสอบโครงสร้างพื้นฐานก่อน"

หลังจากนั้นนำเหล็กที่ถลุงมาได้ไปตรวจสอบส่วนประกอบ โดยการยิงสเป็คตรัม เพื่อหาแนวทางในการตีออกมาเป็นดาบ
(เหล็กที่มีส่วนประกอบของธาตุไม่เหมือนกัน จะมีอุณหภูมิการตี การอบ ชุบแข็ง ไม่เท่ากัน)



ผลจากการยิงสเปคตรัม



"เริ่มจากผลการยิงสเปค
Fe เหล็ก เป็นธาตุหลักที่หลอมมาได้
C คาร์บอน ส่วนประกอบสำคัญในการชุบแข็ง ในการหลอมเมื่อโลหะสัมผัสคาร์บอนจากถ่านในเตาไฟ
ก็มีการแพร่มายังเหล็กแต่เป็นฟลิม์บางๆเข้าไม่ได้ลึก
มีผลต่อการชุบแข็งมาก น้อยไปชุบแข็งไม่ได้เช่นเหล็กก่อสร้างส่วนใหญ่(0.1%+/-)
มีมากไปก็จัดการยากเช่นเหล็กตะไบ(มีประมาณ 1%) ที่คนไม่ชำนาญชุบแล้วแตกราน
Si ซิลิคอน แก้วจากทรายที่ติดมาจากพิ้นดิน มักลอยตัวเมื่อมีการหลอม
S ซัลเพอร์ กำมะถัน เป็นตัวที่นักถลุงเหล็กไม่ชอบ มีมากทำให้เหล็กมีคุณภาพลดลง
Cu ทองแดง ดาบที่ขึ้นสนิมเขียวมักมีตัวนี้เยอะ
Ai อลูมิเนียม เป็นส่วนประกอบที่ติดมา ผลโดยตรงผมไม่รู้ครับ 55

ส่วน CR โครเมี่ยม อัลลอยชนิดหนึ่ง ถ้าเกิน 12%(ถ้าจำไม่ผิด) เรารู้จักเหล็กนั้นในนามสเตนเลส

คลาดเคลื่อนติท้วงได้ครับ "

(จากผลการยิงสเปคตรัม จขกท สังเกตว่าทำไมชิ้นที่ 2 มี C เป็นองค์ประกอบสูงกว่าชิ้นอื่นอย่างเห็นได้ชัด มาถึงบางอ้อเมื่ออ่าน ความเห็นของ อ.ปุ้ม ที่เป็นช่างตีดาบครับ)

"ชิ้นที่สอง น่าจะมีคาร์บอนใกล้เคียงกันกับชิ้นอื่น เพราะ สังเกตุจากความแข็งอ่อนและสะเก็ดไฟเวลาตัด ผมขอให้เขาขัดและยิงสเป็คใหม่เพราะกลัวว่ามลทินที่เกิดจากการบีบอัดชิ้นงานจากเตาผมเอง จะมีสแล็กจากไฮคาร์บอนติดฝังลึกไปด้วย

การยิงสเป็คของเจ้านี้ เชื่อถือได้ครับ

ผมใช้บริการน้าหนุ่มเพื่อยิงสเป็คเหล็ก เพื่อตรวจสอบล็อตเหล้กที่ซื้อมา หรือเมื่อเราสงสัยว่าเหล็กนั้นไม่ใช่สเป็คที่ต้องการ เมื่อผ่านขบวนการอบชุบแล้ว ซึ่งมันจะบ่งบอกจากธรรมชาติของเหล็กที่เราคุ้นเคยเช่น ความแข็ง หรือปรากฎการณ์การเกิดฮามอน ผมเคยเจอเหล็กผิดสเป็คอย่างน้อย 3 ครั้ง เราจึงค่อนข้างเข้มงวดในการใช้เหล็กและเลือกซื้อเหล็ก

ส่วนคำพูดที่ว่า แปลกใจไม่มีโครเมียม เพราะคนยิงคุ้นเคยแต่กับเหล็กอัลลลอยด์อ่ะครับ ส่วนตัวผมแปลกใจที่มันไม่มีแมงกานีส ซึ่งเป็นอัลลอยด์พื้นฐานในเหล็กกล้าชุบแข็งปรกติ อันนี้คงจะสามารถบอกได้ว่าเหล็กที่เรามีได้มาจากสินแร่ที่มีคุณภาพแค่ไหน"

(หลังจากนั้นก็เข้าสู่การตีดาบครับ โดยก่อนหน้าที่จะมีการศึกษาเรื่องนี้ ได้มีกระทู้พูดคุยเรื่องดาบน้ำพี้ในตำนานบ้าง ส่วนใหญ่จะมีคนพูดในทำนองว่า เคยลองทำแล้ว ไม่ดี ตีแล้วแตก)



(แต่คราวนี้ จขกท เข้าใจว่าเป็นเพราะทักษะของช่างตี (อ.ปุ้ม) ทำให้ผลงานออกมาสวยงามครับ)



ความเห็นของ อ.ปุ้ม ครับ

" การถลุงและการตีเอาชิ้นเหล็ก ฟังตามที่ อ.เอ็ดเล่ามา พบว่า มีการทำแบบนี้ในส่วนต่างๆของโลกที่คล้ายคลึงกัน
ผมติดตามเพื่อนฝรั่งที่อยู่ใน เฟซบุ๊คบางคน ยังนิยมหาเวลาไปทำเหล้กโบราณ ด้วยกรรมวิธีแบบเก่า รวมถึงเครื่องไม้เครื่องมือ เช่น ใช้ฟืน ใช้ท่อไม้หีบลมหนังสัตว์ ทั่งหินแกรนิต เป็นต้น

ทำให้มีแนวทางสำหรับการทำชิ้นงาน และขอบคุณ อ.โอ๊ต ที่สละเวลาล่วงหน้า ไปแนะนำและพาทำวูซท์เทียม เพื่อเป็นแนวทางประกอบในการจัดการเหล็ก

เหล็กมาในสภาพที่มีมลทินและมีรอยแยก ซึ่งก็คงไม่แปลกอะไรกับการถลุงเหล็กในยุคสมัยที่เครื่องไม้เครื่องมือมีแบบนั้น
การตีควบรวมเป็นสิ่งที่อาศัยความชำนาญ หากทำแบบนั้นมันต้องใช้เวลาและการฝึกฝน แต่เราก็พยายามหาคำอธิบายแบบวิทยาศาสตร์ หาเหตุและผลเพื่อปรับใช้ให้ได้ผล

หากเรารู้ว่าเขาทำเพราะอะไร เราก็จะสามารถใช้สิ่งที่มีอยู่ในปัจจุบันแก้ปัญหาของคนโบราณได้ เช่น ซัดทรายใส่รอยแยกแล้วเผาตาไฟ ก็เหมือนการโรยฟลักซ์แล้วเผาที่อุณหภูมิสูง เป็นการตีเก็บรอยแตกรานที่ได้ผล เป็นต้น

นอกนั้นเป็นเรื่องของการควบคุมอุณหภูมิตี ซึ่งพอเราส่งเหล็กยิงสเป็คเราก็พอจะรู้ว่าต้องตีมันยังไง อัลลอยด์ที่ไม่ได้มีอะไรพิเศษซับซ้อน ทำให้การตีไม่ยากแต่ที่ยากคือรอยมนทิลและรอยแยกที่เกิดจากการหลอมและตีควบชิ้นงานนั่นแหละ มันเลยทำให้มันขึ้นชื่อว่า "ตีแล้วแตก"

กรณีนี้มันไม่ใช่แค่กรณีเหล้กน้ำพี้เท่านั้น ในบ้านเราผมคิดว่า ช่างสมัยก่อนมีการทำเหล็กแค่สองอย่างคือ หลอมมาตี กับผสมเหล็กแล้วตี (เหมือนการตีเหล็กทบ) พอเรามีแค่นั้นเราก็เลยรู้แค่นั้น จริงๆ เหล็กทุกชนิดแม้แต่เหล้กในปัจจุบัน ตีไม่ดีไม่ถูกต้อง "แตกทั้งนั้นแหละครับ

เพียงแต่จะแตกแบบมงคลหรือจะแตกแบบหาชิ้นเหล็กไม่เจอก็อีกเรื่องหนึ่ง มันเลยเป็นเรื่องที่เอาช่างที่คุ้นเคยกับเหล้กสมัยใหม่ ไปตีเหล็กสมัยเก่าแล้วแตก ก็เลยบอกว่าตีแล้วมันแตก ถ้าเราเอาช่างสมัยเก่ามาตี D2 เขาก็คงบอกเหมือนเราๆว่า D2 ตีแล้วแตก

มันเป็นความรู้และภูมิปัญญาในแต่ละยุคสมัย ซึ่งปัจจัยก็แตกต่างกัน
แต่พอเราหาเหตุและผลในขั้นตอนการทำ เหตุและผลที่อยู่ในเหล็กได้

การจัดการกับมันก็สามารถเป็นไปได้ เพราะไม่ว่าเหล็กยุคไหนวิธีการใดมันก็มีคำอธิบายได้ทั้งนั้น เพียงแต่จะหาเจอหรือไม่"



ความเห็นของ อ.ปุ้ม (ต่อ) ครับ

"ความแข็ง....

มีชิ้นงานที่ตัดออกมานำไปชุบแข็ง มันให้ความแข็งเพิ่มขึ้นจากไม่ชุบ แต่ไม่แข็งมาก

ก็ไม่ได้แปลกใจอะไรเพราะคาร์บอนที่อยู่ในตัวมันมีน้อย
มันสอดคล้องกับวิธีการทำดาบโบราณ ซึ่งผมเชื่อว่าวิธีนี้ไม่ได้มีแค่ในดาบแต่รวมถึงเครื่องมือเครื่องใช้อย่างอื่นด้วย คือ การตีย้ำจุด หรือการตีย้ำในส่วนคมหรือส่วนที่ต้องการความแข็งแรง

การตีเย็นด้วยน้ำหนักสม่ำเสมอไม่แรงจนเกินไปจนทำให้เหล็กแตก จะทำให้เหล็กตึงตัวขึ้นเรื่อยๆ จนรู้สึกแข็ง แต่ความแข็งนี้จะแข็งขึ้นแค่ประมาณหนึ่ง

สอดคล้องกับสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคือ มีดครัวสแตนเลสราคาถูกที่ชาวบ้านทำขายบางเจ้า ก็ใช้วิธีทำจากเหล้กชุบไม่แข็งแล้วตีไห่คมแบบนี้ ซึ่งมันก็แข็งตึงขึ้นเพียงพอที่จะขีดครกใช้งานในครัวได้

เนื้อหา....

ผมค่อนข้างโชคดีที่ อ.ปริญญา มอบดาบชะเกย มาให้ 1 เล่ม ข้อมูลบอกว่าเป็นเหล็ก วิลันดา (ไม่แน่ใจว่าเหล้กผลิตที่ไหน แต่วิลันดาคงเป็นเจ้าของเหล็ก)

ผมจัดการขัดผิวออกจนเหลือเนื้อแท้ แล้วเก็บไว้ มันมีลักษณะทางกายภาพที่คล้ายคลึงกันในเรื่องการลื่นไหลของแนวมลทินที่อยู่ในเนื้อเหล็ก ความแข็งก็ใกล้เคียงกันวิลันดาออกจะแข็งกว่า แต่ เหล็กวิลันดามีเนื้อหาที่สะอาดกว่ามาก รอยปริแยกมีน้อยกว่าเยอะ

ซึ่งอาจจะจะบ่งบอกถึงเทคโนโลยีการผลิตเหล็ก นั่นหมายถึงคุณภาพเหล็กที่เราผลิตเองเปรียบเทียบกับประเทศที่ผลิตโลหะมาก่อนเราในยุคสมัยของมัน ก็น่าจะมีความแตกต่างไม่น้อย

หากเราใช้ปัจจุบันย้อนอดีต หากเราไม่คิดเข้าข้างตัวเอง ก็น่าจะพอมองออกว่าเทคโนโลยีการผลิตเหล็กของเราในอดีต ดีมากน้อยแค่ไหน"



ความเห็นของ อ.ปุ้ม (ต่อ) ครับ

"การศึกษาเรื่องนี้
มันทำให้เรารู้ว่า ในยุคสมัยหนึ่ง ที่องค์ความรู้ เทคโนโลยี และเครื่องไม้เครื่องมือ ที่มีอยู่อย่างจำกัด

แต่คนเราก็พยายามหาวิธีการที่จะเสาะแสวงหาแหล่งเหล็กและนำมันมาเป็นเครื่องมือเครื่องใช้ที่ดีกว่าโลหะในยุคก่อนหน้ามันได้ เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าทึ่ง และน่ายกย่อง ผมคิดว่าเป็นเรื่องที่น่าศึกษาและทำให้มันดำรงอยู่

แต่การยกย่องในคุณภาพเหล็กและคุณสมบัติของมันที่ปรากฎตามสื่อต่างๆ ผมคิดว่ามีความคลาดเคลื่อนอยู่มาก

มันเป็นเรื่องที่เราต้องทำความเข้าใจเพื่อให้คนเข้าถึงสินค้าเหล็กในมุมที่ถูกต้อง จะให้อยู่เป็นเรื่องราวของของเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีประวัติศาสตร์หรือวิวัฒนาการ

หรือจะเอาให้เป็นเรื่องเครื่องมือเครื่องใช้ที่มีคุณภาพ ก็ให้มันชัดๆลงไป ผู้บริโภคจะได้ในสิ่งที่ถูกต้องสัมผัสได้ มากกว่าเรื่องเล่าหรือเรื่องหลับไหล(ไสย)"





แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่