ทำสมาธิโดย เพลงหรือเสียงพูด

กระทู้คำถาม
ขอผู้ชี้แนะ และผู้รู้ให้คำกระจ่างด้วยค่ะ เข้าใจว่าการฝึกสมาธิ คือการที่ให้เรารู้ลมหายใจ เข้าออก ติดต่อกันโดยที่ไม่เอาจิตไปคิดหรือถ้าเป็นไปได้เคยมีพระนักปฏิบัติสอนว่า แม้แต่พระพุทธเจ้าก็ไม่ได้สอนให้มีคำ บริกรรมใดๆ ให้ตามรู้ลมหายใจอย่างเดียวไปเรื่อยๆ แล้วอย่างนี้ กรณีที่ เวลาตามสำนักปฏิบัติคนมาฝึกเยอะๆ นั่งสมาธิพร้อมกันโดยมีเปิดเพลงเบาๆ และมีการพูดให้คล้อยตามว่า ให้เรานึกถึงน้ำทะเลใสๆ ป่าเขียวๆ พระแก้วมรกตใสๆ ให้มโนไปเรื่อยๆ ตามคำพูด ฟังเสียงเพลงไปแบบนี้  ถือว่าเป็นการเอาจิตไปคิดถึงสิ่ง ต่างๆ ตามนั้นแล้ว จะเรียกว่า สมาธิโดยทำจิตให้ว่างยังไงค่ะ
คำตอบที่ได้รับเลือกจากเจ้าของกระทู้
ความคิดเห็นที่ 1
ไม่ใ่ช่ผู้รู้มาก เลยขอตอบเท่าที่ทราบละกันนะครับ

1. สมาธินั้น จริงๆ มีสองแบบ
1.1 แบบแรก เป็น สมาธิเพื่อการพักผ่อน ทำไปเพื่อความสุข ให้จิตมีกำลัง เป็นสมาธิแบบเดียวกับที่อาฬารดาบส กับ อุทกดาบส สอนให้กับพระพุทธเจ้า
1.2 แบบสอง เป็นสมาธิแบบตั้งมั่น  อันนี้เป็นสมาธิเพื่อเป็นฐานของการเจริญวิปัสนา

2. สมาธิโดยทั่วไปที่เขาทำๆกัน รวมถึงที่คุณกำลังถามอยู่ เป็นสมาธิแบบแรก หรือเรียกว่า การทำสมถะกรรมฐาน (ซึ่งต่างจากวิปัสนากรรมฐานนะครับ คนละอย่างกัน)

3. หลักการของการทำสมถะกรรมฐาน คือการหาอารมณ์ที่ไม่ยั่วกิเลส ที่จิตชอบ เอามาล่อ เพื่อให้จิตจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้น เหมือนเราชอบทำอะไร เราจะสามารถทำสิ่งนั้นได้นานๆ  อันนี้ก็เหมือนกัน เราไม่อยากให้ิจิตฟุ้งซ่านไปในสารพัดอารมณ์ (อารมณ์เป็นศัพท์ทางธรรมมะ หมายถึงสิ่งที่จิตไปรู้)  เราก็เอาอารมณ์ดีๆ ที่จิตชอบมาล่อ เพื่อให้จิตไม่วิ่งไปหาอารมณ์อื่น เพื่อให้จิตมีอารมณ์อันเดียว จดจ่ออยู่กับอารมณ์อันเดียว  (การที่จิตวิ่งไปอารมณ์โน้น อารมณ์นี้ เรียกว่า ฟุ้งซ่าน)

4. เมื่อทราบหลักการในข้อ 3 แ้ล้ว ก็จะพบว่า วิธีการทำสมาธินั้น มีได้หลายแบบ ตามที่ท่านผู้รู้ได้รวบรวมเป็นตัวอย่างไว้ในคัมภีร์วิสุทธิมรรค จำแนกไว้เป็น 40 แบบ เรียกว่า สมถะกรรมฐาน 40  ซึ่งสมถะกรรมฐานแต่ละอย่าง ก็เหมาะกับจริตนิสัยคนแตกต่างกันไป (ซึ่งท่านได้แยกจริตนิสัยคนเพื่อการฝึกสมาธิให้เหมาะกับจริตนั้น ๆออกเป็น 6 อย่าง คือ ราคะจริต โทสะจริต โมหะจริต พุทธจริต วิตกจริต ศรัทธาจริต)  เพราะแต่ละคนจริตนิสัยไม่เหมือนกันนั่นเอง

5. การดูลมหายใจนั้น เ็ป็นวิธีการฝึกสมาธิที่เหมาะกับคนเป็นโมหะจริต หรือวิตกจริต  แต่พื้นฐานคนโดยทั่วไป มีโมหะเป็นพื้นอยู่แล้วแทบทุกคน ดังนั้น วิธีการดูลมหายใจจึงเป็นวิธีที่เหมาะกับกลุ่มคนค่อนข้างกว้างครับ

6. จะมีวิธีการฝึกสมาธิอีกแบบหนึ่ง ที่เอาวัตถุมาเป็นอารมณ์ เรียกว่า กสิณ  การที่คุณไปเจอผู้สอนสมาธิที่บอกให้นึกถึงน้ำทะเลใสๆ นั่นก็สามารถจัดได้ว่าเป็นการฝึกกสิณแบบหนึ่งเรียกว่า กสิณน้ำ หรืออาโปกสิณ (ซึ่งกสิณพวกนี้ เรียกว่า กสิณธาตุ มี 4 อย่าง ดิน น้ำ ลม ไฟ เหมาะกับจริตต่างๆไม่เฉพาะเจาะจง)

ส่วนการบอกให้นึกถึงป่าเขียวๆ ก็สามารถจัดได้เป็นกสิณสีเขียว หรือนิลกสิณ ได้ครับ ซึ่งเหมาะกับคนเป็นโทสะจริต (คนโทสะจริต เหมาะกับฝึกกสิณสี ซึ่งมี 4 อย่าง ขาว เขียว เหลือง แดง และ เจริญเมตตาพรหมวิหาร)

การนึกถึงองค์พระ ถ้าสีเขียวมรกต ก็น่าจะจัดเป็นกสิณเขียว แบบเดียวกัน

ถ้านึกองค์พระใสสว่าง ก็เป็นกสิณแสงสว่าง หรือ อาโลกกสิณ

6. จริงๆ จิตไม่ว่างหรอกครับ การทำสมาธิคือ เอาอารมณ์อันนึงที่เราเลือกแล้ว ให้จิตมันจดจ่ออยู่กับสิ่งนั้นครับ   บางสำนัก ก็ใช้คำบริกรรม ให้จิตจดจ่อกับคำบริกรรม  ก็เป็นหลักการทำสมถะกรรมฐานเหมือนกัน ต่างกันแค่รูปแบบครับ

7. การคิด หรือบาลีเรียก วิตก คือการตรึก ถ้าเราคิดถึงสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างเดียว อารมณ์เดียว จิตก็เกิดสมาธิได้เหมือนกันครับ  จะมีลำดับขั้นของมัน  ถ้าครบองค์ประกอบ 5 อย่างที่เรียกว่า องค์ฌาน 5 ก็จะทำให้กำราบ หรือกดข่มนิวรณ์ 5 ได้พอดี ก็จะเกิดปฐมฌาน ขึ้นครับ

8. ส่วนการทำสมาธิโดยเพลงที่คุณถาม ผมไม่ทราบในรายละเอียดว่าเขาทำอย่างไร เลยตอบให้ไม่ถูกเหมือนกันครับ

9. ส่วนการใช้เสียงพูด ถ้าหมายถึง ให้คนทำสมาธินึกคำพูดในใจ เรียกว่าการบริกรรม เช่น พุทโธ สัมมาอะระหัง อันนี้ก็เป็นการทำสมาธิโดยให้จิตจดจ่อกับคำบริกรรมในใจนั้นๆ

แต่ถ้าเป็นการให้ฟังคำพูดของผู้สอน ที่พูดเหมือนจูงจิตไปเรื่อยๆ อันนั้น ดูเหมือนคล้ายๆการสะกดจิตแล้วมั้งครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่