ดูจิตให้รู้จักจิตด้วย "สัมมาทิฐิ"

เมื่อพูดถึง "สัมมาทิฐิ" ที่แปลว่า "ความเห็นชอบ" นั้น พระพุทธพจน์ในพระสูตร พระพุทธองค์ทรงใช้คำว่า "รู้เห็นตามความเป็นจริง" (ความเห็นชอบ) เป็นองค์หนึ่งในอริยมรรคมีองค์ ๘

แต่ยังมีพวกนักตำรานิยมทั้งหลาย ที่คิดเองเออเองว่า "สัมมาทิฐิ" (ความเห็นชอบ) นั้น เป็นสิ่งที่ต้องเรียนรู้และศึกษาจดจำให้ขึ้นใจก่อน จึงจะได้ชื่อว่ามี "สัมมาทิฐิ" ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว ตนเองนั้นก็ยัง "ภาวนา" ไม่เป็น เข้าไม่ถึงเรื่องการ "ภาวนามยปัญญา" ไม่รู้ว่าการปฏิบัติภาวนามยปัญญานั้น ให้ผลรู้เห็นตามความเป็นจริง (สัมมาทิฐิ) ได้อย่างไร

แต่กลับชอบนำเอามาแอบอ้างกันว่า ต้องมี "สัมมาทิฐิ" เสียก่อน จึงเป็นการตีความตามชอบใจของตนเอง ตีความกันเอาเอง จากความคิดที่ตนเองคิดๆๆ จนเกิดความเข้าใจขึ้นมา กลายพันธุ์ไปเป็น "ความเห็นชอบ" ในอริยมรรค ไปซะงั้น

ทั้งๆ ที่เป็นความคิดเห็นของตนเอง ที่คิดเองเออเองขึ้นมาว่า ได้คิดถูกต้องดีแล้ว จนความคิดที่ตกผลึกนั้น เป็น "สัญญาอารมณ์" กลับเข้าใจผิดว่านั่นเป็น "ปัญญา" ที่เรียกว่า "สัมมาทิฐิ" ในอริยมรรคมีองค์ ๘

และคิดว่า "สัญญาอารมณ์" นี้ทำให้ตนเองสามารถเข้าถึงมรรคข้ออื่นๆ ได้อย่างง่ายๆ สบายๆ แถมลัดสั้นด้วย ด้วยหลงเข้าใจผิดไปว่าตนมี "ปัญญา (สัมมาทิฐิ)" แล้ว ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกายใจในการปรารภความเพียร "เพ่งฌาน"


ทั้งๆที่ การปรารภความเพียร "เพ่งฌาน" นั้น เป็นข้อธรรมที่สำคัญอย่างยื่ง ที่จะนำผู้ปฏิบัติธรรมให้เข้าถึง "สัมมาทิฐิ" และรู้เห็นได้ด้วยตนเอง เป็นการรู้เห็นที่ถูกต้องตามความเป็นจริง (รู้อริยสัจ ๔) รู้ถึงสภาวธรรมต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของ "จิต"

การปรารภความเพียร "เพ่งฌาน" นั้น มีพระพุทธพจน์ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ดีแล้ว รับรองและเชื่อมโยง เพื่อให้ผู้ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั้งหลาย ได้ "รู้เห็นตามความจริง" อันเป็นสาระสำคัญยิ่งในการเข้าถึง "สัมมาทิฐิ" ที่ถูกต้องอย่างแท้จริง

"สัมมาทิฐิ" ที่มีความหมายว่า "ความเห็นชอบ" ในอริยมรรค ๘ นั้น คือ ความรู้เห็นอริยสัจ ๔ ตามความเป็นจริง ไม่ใช่ความคิดเห็นที่เกิดจาก "สัญญาอารมณ์" ว่า ตนรู้เห็นตามความเป็นจริงได้แล้ว อันเป็นความเข้าใจที่ต้องถือว่า "ผิด"ไปจากความเป็นจริง

ความคิดเห็นที่เกิดจาก "สัญญาอารมณ์" แล้วคิดเองเออเองว่าเป็น "สัมมาทิฐิ" ในอริยมรรค ๘ นั้น เป็นเพียง "ความคิดเห็น" ที่เกิดจากความศรัทธาที่ตนเองมีความเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เป็นพื้นฐาน จัดเป็นเพียง "ศรัทธาทิฐิ" ความเชื่อที่ตนเองได้เรียนรู้และศึกษาจดจำมาจากตำราเท่านั้น

"ศรัทธาทิฐิ" ยังจัดเป็น "สัมมาทิฐิ" ไม่ได้ เพราะยังขาดการสมาทาน นำไปลงมือปฏิบัติธรรมกรรมฐานภาวนา เพื่อพิสูจน์ทราบถึงความจริงอันประเสริฐ ที่เรียกว่า "อริยสัจ"

แต่ก็ยังมีพวกนักคิดค้น(อิกคิว) ได้จดจำอริยสัจมาจากตำรา มักนำมาแอบอ้าง เพื่อเป็นการหลีกเลี่ยงในการต้องลงมือทำ "สมาธิกรรมฐานภาวนา" มีการสอนกันว่า ทุกข์ให้ตามรู้ ดูมันไปเฉยๆ ไม่ต้องแทรกแซงใดๆ เพียงเท่านี้ก็มี "สัมมาทิฐิ" แล้ว ไม่รู้คิดขึ้นมาได้ยังไง การตามดูมันไปเฉยๆ ที่เกิดจาก "สัญญาอารมณ์" นั้น เป็นเฉยโง่...

ในอริยสัจ ๔ นั้น ชัดเจนว่า ทุกข์ควรกำหนดรู้ เมื่อรู้แล้ว ให้ละเหตุแห่งทุกข์นั้นเสีย ด้วยการ "ภาวนามยปัญญา" จึงจะเกิด "สัมมาทิฐิ" ที่แท้จริง

มีพระพุทธพจน์ ที่พระพุทธองค์ได้ทรงตรัสรับรองไว้อย่างชัดเจน มากมายหลายพระสูตรว่า "ปัญญาต้องเกิดจากการประกอบ กระทำภาวนานุโยค" เท่านั้น

และมีพระพุทธพจน์ ที่ทรงตรัสรับรองเรื่อง "เพ่งฌาน" ไว้ดังนี้

"มุนีนั้นเที่ยวไปรับบิณฑบาตแล้ว พึงไปยังชายป่า เข้าไปนั่งอยู่ที่โคนต้นไม้ พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ ยินดีแล้วในป่า พึงทำจิตให้ยินดียิ่ง เพ่งฌานอยู่ที่โคนต้นไม้..."

(นาลกสูตรที่ ๑๑)


พระพุทธองค์ทรงเน้นชัดเจนว่า เมื่อบวชเป็นภิกษุแล้ว เสร็จจากบิณทบาตกลับมา ฉันจังหันเรียบร้อย ให้หาที่สงัดเข้าที่ "ภาวนา" พึงเป็นผู้ขวนขวายในฌาน เป็นนักปราชญ์ จะเห็นได้ว่าบุคคลที่ขวนขวายใน "ฌาน" นั้น ได้เชื่อว่าเป็น "นักปราชญ์" ไม่ใช่ให้ขวนขวายในตำรา แล้วจะเป็นนักปราชญ์ได้

มีพระพุทธพจน์ที่ทรงตรัสเชื่อมโยง ถึงผลของการ "เพ่งฌาน" ให้เห็นว่า บุคคลที่ขวนขวายเป็นนักปราชญ์นั้น สามารถข้ามโอฆะเบื้องต้นได้อย่างชัดเจน ดังนี้

"พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า บุคคลมีกายอันสงบแล้ว มีจิตหลุดพ้นดีแล้ว เป็นผู้ไม่มีอะไรๆ เป็นเครื่องปรุงแต่ง มีสติ ไม่มีความอาลัย ได้รู้ทั่วซึ่งธรรม มีปรกติเพ่งอยู่ด้วยฌานที่ ๔ อันหาวิตกมิได้ ย่อมไม่กำเริบ ไม่ซ่านไป ไม่เป็นผู้ย่อท้อ ฯ

ภิกษุในศาสนานี้ เป็นผู้มีปรกติอยู่ด้วยธรรมเป็นเครื่องอยู่อย่างนี้มาก จึงข้ามโอฆะทั้ง ๕ ได้แล้ว บัดนี้ได้ข้ามโอฆะที่ ๖ แล้ว กามสัญญาทั้งหลายย่อมห้อมล้อมไม่ได้ ซึ่งภิกษุผู้เพ่งฌานอย่างนี้มาก ฯ"

(เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๔๐๑๐-๔๑๓๖ หน้าที่ ๑๗๔-๑๗๙)



เมื่อพระพุทธองค์ทรงเน้นถึงผลที่ปรากฏให้เห็นชัดแล้ว ยังทรงเกรงไปว่าภิกษุที่เป็นสาวกทั้งหลาย จะเกิดความย่อหย่อนในการปรารภความเพียร "เพ่งฌาน" ในภายหลัง พระพุทธองค์ยังทรงตรัสเน้นย้ำให้ชัดเจนลงไปอีกว่า เรื่องการเพียร "เพ่งฌาน" นั้น เป็นสิ่งพระพุทธองค์ทรงพร่ำสอน เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา แถมยังการันตีว่า จะได้ไม่เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง

ซึ่งผู้ที่จะไม่เดือดร้อนในภายหลังได้นั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นบุคคลที่มี "สัมมาทิฐิ" แล้ว ส่วนพวกที่หลงว่าตนมี "สัมมาทิฐิ" ความเห็นชอบ จากความรู้สึกนึกคิดเอาเอง บุคคลพวกนี้ ย่อมยังเป็นผู้เดือดร้อนในภายหลังอยู่นั่นเอง

"ดูกรอานนท์กิจใดอันศาสดาผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้อนุเคราะห์ อาศัยความอนุเคราะห์พึงทำแก่สาวกทั้งหลาย กิจนั้นเราทำแล้วแก่พวกเธอ

ดูกรอานนท์ นั่นโคนไม้นั่นเรือนว่าง เธอทั้งหลายจงเพ่งฌาน อย่าประมาท อย่าได้เป็นผู้เดือดร้อนในภายหลัง นี้เป็นคำพร่ำสอนของเราแก่พวกเธอ ฯ"

(อาเนญชสัปปายสูตร)


ในปัจจุบันนี้กาลกลับเป็นตรงข้าม กุลบุตรที่ขานนาคเข้ามา เพื่อสืบต่อพระศาสนา กลับสอนตามตำรา ที่มีความเชื่อตามๆกันมาในภายหลัง แบบต่อต้าน "การปฏิบัติสมาธิกรรมฐานภาวนา" เพราะเห็นว่าเป็นการเหนื่อยเปล่าและเนิ่นช้า และยังจัดว่าเป็นเรื่องสุดโต่งฝ่าย "อัตกิลมถานุโยค" ...ไปซะงั้น

แถมยังสอนให้ปฏิบัติโดยข้ามขั้นตอน "สมถะภาวนากรรมฐาน" ไป แต่ให้ปฏิบัติ "วิปัสสนากรรมฐาน" โดยตรงเท่านั้น โดยสอนว่าแค่ตามรู้ตามเห็นกายใจ จากความรู้สึกนึกคิดของตน ที่คิดขึ้นเอง จนตกผลึกว่าเป็น "สัมมาทิฐิ" เพียงเท่านี้ก็พอ แล้วเหตุใกล้ทั้งหลาย จะทำให้สติ สมาธิ เกิดขึ้นมาเองโดยอัตโนมัติ ...เป็นไปไม่ได้ครับ


สรุปสุดท้าย เรื่อง ความเพียร "เพ่งฌาน" (สัมมาสมาธิ) นั้น เป็นสาระสำคัญในพระพุทธศาสนา จะด้วยความเขลาเบาปัญญา หรือเพราะอวิชชาครอบงำ วนอยู่ในวัฏฏะมานาน จนวัตรปฏิบัติหย่อนยานไปหมดกระมัง บางพวกจึงมักหาข้ออ้างเพื่อให้เข้าทางตนเอง อาทิเช่นจากพระสูตรบางพระสูตร

เป็นที่ทราบกันอย่างกว้างขวางแล้วว่า พระไตรปิฎกมีการสืบทอดต่อกันมาอย่างยาวนานมาก และในบางช่วงเวลาก็มีการขาดหายไปเป็นระยะ ซึ่งต้องมีข้อผิดพลาด ขาดตก ยกเว้น ฯลฯ เป็นธรรมดา

และในการแปลเป็นภาษาต่างๆนั้น ได้มีท่านอรรถกถาจารย์แต่ละคณะ ที่รับผิดชอบไปแปลในแต่ละส่วนของตน มีการเปลี่ยนแปลงจนมีข้อขัดแย้งในการแปล และถกเถียงกันเอง ในหมู่ท่านอรรถกถาจารย์ด้วยกัน จนต้องทำหนังสือรับรองเพื่อหาข้อยุติ (ไม่ขอก้าวล่วง)

มาว่าถึงพระสูตรที่พวกนัก "วิปัสสนากรรมฐาน" ที่ไม่เอา "สมถะกรรมฐาน" โดยมาก มักนำมาอ้างคือ "โอฆตรณสูตรที่ ๑" วลีเด็ดที่อ้างคือ "ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้วอย่างนี้แล ฯ"

โดยไม่คำนึงถึงประโยคก่อนหน้า ในพระสูตรเดียวกัน ที่ทรงตรัสอธิบายไว้อย่างชัดเจนถึงผลว่า "พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้ เมื่อใดเรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้"

การจะข้ามโอฆะสงสารได้นั้น ต้องมีความเพียร อยู่ในสภาวะลอย เท่านั้น ซึ่งสอดคล้องกับพระสูตรข้างต้นที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึง "ความเพียร เพ่งฌาน" ดังที่ยกมา


เจริญในธรรมทุกๆท่าน
ธรรมภูต
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่