แถลงการณ์สุดอัปยศและแสนบัดซบ กวนน้ำให้ไส สารส้ม แนวหน้าออนไลน์

กระทู้สนทนา
พรรคร่วมรัฐบาล ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคชาติพัฒนา
และพรรคพลังชล ออกแถลงการณ์สนับสนุนให้ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาร่าง
พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับของนายวรชัย เหมะแถลงการณ์ร่วมฉบับนี้ คือ ความอัปยศ
และแสนบัดซบของการเมืองไทย

1) แถลงการณ์ร่วม อ้างว่า “สภาพสังคมไทยในปัจจุบันเกิดความขัดแย้ง แตกแยก
แบ่งฝักแบ่งฝ่ายกันมาเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดความขัดแย้งที่ฝังลึกในสังคมไทย
ทำให้เกิดการกระทำและแสดงความคิดเห็นทางการเมืองที่ขัดต่อกฎหมาย
เป็นผลให้เกิดการดำเนินคดี
ซึ่งสร้างความเดือดร้อนให้แก่ประชาชนเพียงเพราะมีความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างกัน...”
ในความเป็นจริง ความคิดเห็นทางการเมืองที่แตกต่างไม่ได้เป็นปัญหาเลยสำหรับสังคมไทย
เราคิดต่างกันได้ ชอบต่างกันได้ แต่จะต้องไม่ไปกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง
ไม่ละเมิดสิทธิ และชีวิตร่างกายของผู้อื่น
คดีที่ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวจะล้างผิดให้นั้น ไม่ใช่เพราะคิดต่างทางการเมือง
แต่เป็นเรื่องกระทำผิดทางอาญาแผ่นดินหลายสถาน อาทิ ดูหมิ่นสถาบันเบื้องสูง
ยิงวัดพระแก้ว ยิงระเบิด ใช้อาวุธสงครามโจมตีผู้อื่น เผาศาลากลาง
ก่อการร้ายในบ้านเมือง หมิ่นประมาทผู้อื่น ฯลฯ
อย่าได้มาอ้างว่า “กระทำไปเพราะมีเหตุจูงใจทางการเมือง” เพราะถ้าเช่นนั้น
หากมีโจรไปปล้นธนาคาร โดยอ้างว่าจะเอาเงินมาเคลื่อนไหวทางการเมือง
มันก็อ้างได้เช่นกัน หรือจะฆ่านักการเมืองเสียก็กระทำได้เช่นกัน  

2) แถลงการณ์ร่วม อ้างว่า
“ประชาชนส่วนใหญ่มีความเบื่อหน่ายต่อความขัดแย้งที่เกิดขึ้น
ต่างมีความต้องการที่จะให้ประเทศชาติหลุดพ้นจากวิกฤตดังกล่าว
ต้องการเห็นคนในสังคมไทยมีความปรองดอง สมานฉันท์
แต่ขณะเดียวกันมีประชาชนจำนวนมากต้องตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญา มีทั้งถูกจำคุก
ไม่ได้ประกันตัว และหลบหนี ส่งผลให้เผชิญกับความทุกข์ยากลำบาก ขาดความเป็นอิสระ
พลัดพรากจากครอบครัว และสูญเสียอาชีพการงาน  และบางส่วนยังมีผลกระทบไปถึง
บุคคลในครอบครัว เกิดสภาพบ้านแตกหรือเป็นภาระที่ทำให้การดำเนินชีวิตของครอบครัว
ต้องเผชิญกับภาวะวิกฤต เกิดปัญหาครอบครัว ส่งผลให้เกิดปัญหาในสังคม...”
ประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศน่าจะเบื่อหน่ายกับรัฐบาลที่มีอำนาจบริหารประเทศ
แต่กลับไม่ทำหน้าที่แก้ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศ
ไม่ว่าจะปัญหาไฟใต้ ค่าครองชีพแพง ราคายางพาราตกต่ำ ปาล์มน้ำมันตกต่ำ ลำไยตกต่ำ
มันสำปะหลังแย่ จำนำข้าวรั่วไหล นโยบายหาเสียงของพรรคเพื่อไทยไม่เป็นไปอย่างคำคุยโว
การส่งออกถดถอย ขาดดุลการค้า ขาดดุลเดินสะพัด เศรษฐกิจอ่อนแรง
หนี้ท่วมประเทศ ฯลฯรัฐบาลกลับอาศัยอำนาจรัฐสร้างปัญหาความขัดแย้ง
โดยเร่งรัดเอากฎหมายนิรโทษกรรมดังกล่าวเข้าสู่สภา ทำตามใบสั่งของนายใหญ่
โดยไม่สนใจแม้แต่เสียงของญาติคนเสื้อแดงที่ตายเมื่อปี 2553  
นายกฯ พยายามลอยตัวอยู่เหนือทุกปัญหา เที่ยวเดินสายไปต่างประเทศ
หลบเลี่ยงการตรวจสอบตามระบบรัฐสภา ให้ท้ายมวลชนคนเสื้อแดงบางกลุ่ม
คุกคามข่มขู่ฝ่ายตรงข้ามรัฐบาล องค์กรอิสระตามรัฐธรรมนูญ
รัฐบาลสามารถช่วยเหลือประชาชนที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาได้หลายวิธี
เพื่อให้ได้รับการประกันตัว หรือได้หลักประกันว่าจะสามารถต่อสู้คดี
พิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตนเองในชั้นศาลยุติธรรมได้อย่างเต็มที่
แต่ไม่ใช่จะมาล้างผิด ลบล้างคดีทั้งปวงให้เสียดื้อๆ
เสมือนฆ่าตัดตอนการพิสูจน์ข้อกล่าวหาที่สำคัญ ประชาชนที่หลบหนี
คดีอยู่นั้น ก็มีอยู่ไม่กี่คน นับเป็นส่วนน้อยของผู้ชุมนุมทั้งหมด
และล้วนแต่เป็นคดีร้ายแรง เช่น ฆาตกรรม ก่อการร้าย เผาศาลากลาง ฯลฯ
โดยต่างก็หลบหนีคดีไปเอง ไม่ยอมมาสู้คดีเอง ทั้งๆ ที่ หากเชื่อมั่นใน
ความบริสุทธิ์ของตนก็ควรกลับมาสู้คดี ขณะนี้รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็เอนเอียง
เข้าข้างเสื้อแดงชัดเจนอยู่แล้วเว้นเสียแต่ว่าจะรู้ตัวว่ากระทำผิดจริงๆ
จำนนด้วยหลักฐานและข้อเท็จจริง

3) แถลงการณ์ร่วม อ้างว่า “พรรคร่วมรัฐบาลเห็นว่า
แนวทางการแก้ไขปัญหาฝังลึกดังกล่าวคือ การให้โอกาสประชาชน
เป็นการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนและสิทธิพลเมืองตามระบอบประชาธิปไตย
เป็นการลดความขัดแย้งทางการเมือง อันจะเป็นพื้นฐานเบื้องต้น
ที่จะนำไปสู่ความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติ
ที่ผ่านมาประเทศไทยมีบทเรียนจากการแก้ไขปัญหาด้วยความรุนแรงมาแล้ว ทั้งการปฏิวัติ
การสลายการชุมนุม ซึ่งล้วนแต่เป็นการเพิ่มความขัดแย้ง เพิ่มความไม่เข้าใจกัน
การให้โอกาสประชาชนดังกล่าวคือการแก้ปัญหาโดยการให้อภัยทุกฝ่ายไม่ใช้ความอาฆาตแค้น...”
ถ้าคนกระทำผิดกฎหมายบ้านเมือง แล้วไม่ต้องรับผิดตามกฎหมาย ไม่ต้องแม้จะสำนึกผิด
แล้วต่อไปใครจะเคารพหรือยำเกรงกฎหมายบ้านเมืองถ้าบิดามารดา หรือลูกหลาน
ของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถูกฆ่าตาย แล้วฆาตกรจะไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ถูกดำเนินคดี
ไม่ต้องพิสูจน์ความบริสุทธิ์ตามกฎหมายบ้านเมือง จะยอมรับได้หรือไม่?
ถ้าบ้าน หรือห้างร้าน กิจการส่วนตัวของ ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลถูกเผา ถูกทำลาย
แล้วผู้กระทำผิดจะไม่ต้องขึ้นศาล ไม่ถูกดำเนินคดี จะยอมรับได้หรือไม่?
ถ้ายอมรับได้ ก็ขอให้ประกาศออกมาว่าจะนิรโทษกรรมให้กับใครก็ตาม
ที่กระทำการเช่นนั้นกับบรรดา ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลทั้งหลายด้วย
จึงจะเป็นมาตรฐานเดียวกัน

4) แถลงการณ์ร่วม อ้างว่า “พรรคร่วมรัฐบาลจึงเห็นพ้องต้องกันว่า
สภาผู้แทนราษฎรควรจะพิจารณาร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม
(ร่างของนายวรชัย เหมะและคณะ) ... ผลที่ได้รับจากการออกกฎหมายฉบับนี้
เมื่อสังคมมีความสงบสุข ความขัดแย้งทางการเมืองลดน้อยลง
จึงเป็นโอกาสของประเทศในการเข้าสู่ความสงบเรียบร้อยมีความมั่นคง
หลังจากเราสูญเสียโอกาสแห่งความเจริญก้าวหน้ามาเป็นเวลานาน
ซึ่งจะเอื้ออำนวยต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศอย่างมีเสถียรภาพ
นำประเทศกลับไปสู่ครั้งอดีต เกิดความรัก ความสามัคคีกันของคนในชาติ”

ข้ออ้างนี้ จัดว่าอัปยศสิ้นดี! สมอ้างอย่างมั่วๆ ไร้สำนึกความรับผิดชอบ
เสมือนหนึ่งจับความสงบสุขของประเทศชาติเป็นตัวประกัน
ขอหยิบยกข้อเขียนของคุณนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยาของพลเอกร่มเกล้า ธุวธรรม
นายทหารที่ถูกฆ่าตายระหว่างปฏิบัติหน้าที่รักษาความสงบในบ้านเมือง บางตอนระบุว่า

“ปัจจุบัน ฝ่ายที่สนับสนุนการนิรโทษกรรมต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันด้วยคำพูดเดียวกันว่า
“นิรโทษกรรมแล้วจะดี บ้านเมืองจะเดินไปข้างหน้า”
แต่ไม่เคยมีใครสามารถอธิบายชี้แจงขยายความให้กระจ่างได้เลยว่ามันจะดีได้อย่างไร
ใครได้ประโยชน์บ้างแล้วคู่กรณีจะยอมรับให้อภัยกันอย่างไร
ขอสมมติว่าวันที่ 7 สิงหาคม ศกนี้ กฎหมายนิรโทษกรรมผ่านรัฐสภา จากนั้น
ในวันรุ่งขึ้นคนไทยจะกลับมาดีกัน สามัคคีรักกันทันทีทันใดเลยไหม
คนอื่นเป็นอย่างไรไม่ทราบ แต่ดิฉันคนหนึ่งที่ไม่ดีด้วยและจะยิ่งไม่มีวันให้อภัย
เพราะการอภัยบังคับกันไม่ได้ พวกท่านไม่ใช่เจ้าของชีวิตคนตาย
มันสะท้อนว่าพวกท่านไม่เคยเห็นค่าชีวิตคนตายทุกฝ่าย
และยังไม่เคารพในสิทธิของชีวิตคนเป็น ที่เขาไม่ได้ทำความผิดอีกด้วย
ชีวิต 91 ศพที่ตายไปในเหตุการณ์ปี 2553 ไม่ว่าคนตายจะเป็นใครฝ่ายไหนก็ตาม
ควรเป็นบทเรียนการสูญเสียแก่สังคม และช่วยป้องกันสังคมไม่ให้
ต้องตกเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมนั้นอีก ดิฉันเชื่อว่าคนไทยส่วนใหญ่
ที่ออกมาต่อสู้คัดค้านการนิรโทษกรรมในขณะนี้ ไม่ได้มีเจตนาที่จะต่อสู้
เพื่อแย่งชิงอำนาจกับใคร เราเพียงแต่มีหน้าที่ต้องสู้เพื่อรักษาสำนึกผิดชอบ
ชั่วดีของสังคม ซึ่งมันคือสิ่งสำคัญในการดำเนินวิถีชีวิตของพวกเรา
สู้เพื่อรักษาบรรทัดฐานในการมีชีวิตอยู่ของพวกเราและลูกหลาน
ของเราให้อยู่ในครรลองของศีลธรรมความถูกต้องเท่านั้นเอง
การออกกฎหมายนิรโทษกรรมอย่างไม่มีเงื่อนไขโดยขาดสำนึก
ยอมรับผิดของผู้กระทำผิด มีแต่จะบังเกิดผลร้ายมหันต์ต่อสังคม
ในขณะที่ผู้สนับสนุนนิรโทษกรรมไม่สามารถอธิบายชี้แจงข้อดีได้
ดิฉันเห็นข้อเสียของนิรโทษกรรม อย่างน้อย 11 ข้อ คือ

1) ทำลายหลักนิติรัฐ
2) ทำลายหลักศีลธรรม
3) ทำลายบรรทัดฐานสังคม
4) ทำลายอำนาจอธิปไตย (อำนาจตุลาการ)
5) ละเมิดสิทธิพื้นฐานในการรักษาความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สิน
6) เยาวชนเรียนรู้ตัวอย่างผิด ทำลายอนาคตของชาติ
7) สังคมไทยยึดการแก้ปัญหาด้วยความรุนแรง
8) ทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ
9) ประชาชนขัดแย้งแตกสามัคคี
10) เกิดจลาจลใช้ความรุนแรงในสังคม และ
11)นำไปสู่รัฐล้มเหลว รัฐล่มสลาย (Failed State)”

คนเป็นถึง ส.ส. เป็นสมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติ
ไม่มีสติปัญญาพอที่จะไตร่ตรองเรื่องพวกนี้เลยหรือ?


สารส้ม

http://www.naewna.com/politic/columnist/7918

แล้วคุณนิชา  คิดว่าไม่นิรโทษกรรม  บ้านเมืองจะเป็นอย่างไรต่อไป  ปชช. ที่วันนี้  ถูกขังอยู่ 2 ปี
โดยห้ามประกัน  อีกเมื่อไหร่  ถึงจะออกมาต่อสู้คดีได้  ผู้สูญเสีย  สำหรับการเสียชีวิต  ได้รับการชดเชิญ
ไปแล้ว  แต่คนเป็นๆ ที่อยู่ในคุก  เขาเป็นคนละชนชั้น  กับคุณ ๆ  เลยลืมนึกถึงเขาไป ....  เขาเจตนา
นิรโทษกรรม  เพื่อคนพวกนี้ค่ะ    

แนวหน้า    ก็คือสื่อ  ที่อยู่ตรงข้ามกับรัฐบาล   ก็เก็บตกมาให้คนอยู่ฝั่งตรงข้ามรัฐบาลอ่านและชื่นชม
ส่วนคนทีอยู่ฝ่ายเดียวกับ รัฐบาล  ก็จะได้รู้ว่า  วันนี้  คนไม่ชอบรัฐบาล  เขามีประเด็นใหม่ไหม  มากล่าวหา
รัฐบาล  อี่านทุกวัน  ก็ประเด็นเดียวกันทุกวัน   ไม่เปลี่ยน  ค่ะ  ...  ยืนยัน

Mr.H งง

สาวแว่น
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่