โทษของการเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล

[๒๕๐] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ

1. บุคคลใดย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติอันเป็นเหตุให้สงฆ์ยกวัตร
เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์ยกวัตรเสียแล้ว
(หมู่สงฆ์เห็นการกระทำที่ไม่งามไม่เหมาะไม่ควร ที่ทำให้ขาดจากการเป็นภิกษุ แล้ว สงฆ์ลงความเห็นกันแล้วลงโทษ )
2. บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นต้องอาบัติ อันเป็นเหตุให้สงฆ์บังคับให้เขานั่งที่สุดสงฆ์  เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ถูกสงฆ์บังคับให้นั่งในที่สุดสงฆ์เสียแล้ว
3. บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นหลีกไปสู่ทิศเสีย เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ หลีกไปสู่ทิศเสียแล้ว
4. บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นลาสิกขา เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลรู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ ลาสิกขาเสียแล้ว
5. บุคคลย่อมเลื่อมใสในบุคคลใด บุคคลนั้นกระทำกาละเสีย เขาจึงคิดอย่างนี้ว่า บุคคลผู้เป็นที่รักที่ชอบใจของเรานี้ กระทำกาละเสียแล้ว

เขาจึงเป็นผู้ไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ
เมื่อไม่มีความเลื่อมใสมากในพวกภิกษุ จึงไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น
เมื่อไม่คบหาภิกษุเหล่าอื่น จึงไม่ฟังสัทธรรม
เมื่อไม่ฟังสัทธรรม จึงเสื่อมจากสัทธรรม

(ไม่ได้ฟังความจริงที่ถูกต้องที่ปฏิบัติแล้วจะนำให้ความสุขความเจริญกับตัวเอง ทำให้ไม่รู้จักว่าอะไรคือ ดี อะไรคือ ชั่ว สิ่งใดมีประโยชน์ ไม่เป็นประโยชน์ สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ ได้แต่ทำตามใจตามความชอบใจ ความคิด ความเห็นของตนเอง ผิดบ้างถูกบ้าง จึงต้องรับทุกข์ รับโทษตามการกระทำของตนเอง จึงชื่อว่าเป็นผู้เสื่อมจากความสุข ความเจริญ)

นี้เป็นโทษในความเลื่อมใสที่เกิดขึ้นในบุคคล

                                                                                            พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ปัญจกนิบาต เล่ม ๓๖ หน้าที่ ๕๐๑

ธรรมที่ทำให้ขาดจากการเป็นภิกษุ

๑. เมถุน คือ การเสพกามทั้งกับคน สัตว์ และอมนุษย์
๒.อทินนาทาน คือ การถือเอาทรัพย์อันเจ้าของมิได้ให้
๓.มนุสสวิคคหะ คือ การฆ่ามนุษย์รวมถึงการฆ่าตัวตายด้วย
๔. อุตตริมนุสสธรรม คือ การอวดอ้างคุณวิเศษที่ไม่มีในตนเอง
๕.กายสังสัคคะ คือ การที่ภิกษุ มีความกำหนัด ยินดีในการเคล้าคลึงด้วยกายของบุรุษ-สตรี บุคคลผู้กำหนัด.
๖.ปกปิด คือ ภิกษุรู้อยู่ว่า ตนต้องปาราชิกธรรม ไม่โจทด้วยตนเองไม่บอกแก่คณะ
๗.สงฆ์ยกวัตร คือ ถ้าหมู่สงฆ์เห็นการกระทำที่ไม่งามไม่เหมาะไม่ควรของภิกษุแล้วประชุมลงความเห็นกันแล้วถือเป็นการลงโทษ
๘.วัตถุที่แปด คือ ภิกษุทำการดื่มสุราและเมรัย แม้จะมีแอลกอฮอล์ต่ำก็ตาม ตามภาษาพระที่เรียกว่า ชโลคิ การดื่มสุราอย่างอ่อนที่ยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมา
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่