ว่าด้วยอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน ที่มีอยู่ "น้อยไป" "พอดี" หรือ "มากไป"

การเมือง : คอลัมน์เด็ด
วันศุกร์ที่ 19 กรกฎาคม 2556

ว่าด้วยอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน

ว่าด้วยอำนาจผู้ตรวจการแผ่นดิน : กระดานความคิด โดยชนิกานต์ พุ่มหิรัญ ,ขนิษฐา เทพจร

              หลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินมีมติว่า "พล.ต.ท.คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง" ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล กระทำผิดประมวลจริยธรรมตำรวจ พร้อมทั้งส่งเรื่องให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการต่อ ทำให้หลายคนตั้งข้อสงสัยว่า อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินขณะนี้มีความเหมาะสมหรือไม่ โดยหลายคนมองว่าสมควรที่จะเพิ่มอำนาจ เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจลงโทษใคร ทำได้แค่ส่งเรื่องต่อให้หน่วยงานอื่นเท่านั้น

              ขณะที่อีกมุมหนึ่งก็มองว่า อำนาจที่มีอยู่ปัจจุบันเหมาะสมแล้ว เพราะผู้ตรวจการแผ่นดินควรเป็นหน่วยงานประสานขอความร่วมมือมากกว่าจะใช้อำนาจลงโทษ หากพบความผิดก็ให้ส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ

              แต่ก็มีบางกลุ่มมองว่า อำนาจผู้ตรวจการแผ่นดินปัจจุบันมีมากเกินไป เพราะเป็นช่องทางที่จะฟ้องร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ และศาลปกครอง หรือสั่งการให้หน่วยอื่นปฏิบัติตาม หากไม่ปฏิบัติตามก็อาจจะส่งถอดถอนได้ ทำให้กลายเป็นช่องทางหนึ่งที่ใช้กลั่นแกล้งโดยเฉพาะกับฝั่งรัฐบาล

              "สมคิด เลิศไพฑูรย์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ส.ส.ร.2550 กล่าวถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า หากย้อนดูตามรัฐธรรมนูญ ปี 2540 อำนาจของผู้ตรวจการแผ่นดินมีไม่มาก มีอำนาจเพียงรับเรื่องร้องทุกข์จากประชาชน ที่เกี่ยวข้องกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือหน่วยงานของรัฐ ผู้ตรวจฯ ก็มีอำนาจตรวจสอบข้อเท็จจริงและทำคำแนะนำไปยังเจ้าหน้าที่รัฐ ให้ดำเนินการแก้ไข หากเจ้าหน้าที่รัฐไม่ทำตาม ผู้ตรวจฯ ก็มีอำนาจเพียงแค่รายงานให้สภารับทราบ และตีพิมพ์ลงหนังสือพิมพ์ให้สาธารณชนรับทราบเท่านั้น

              ส่วนรัฐธรรมนูญ ปี 2550 "สมคิด" กล่าวว่า ได้เพิ่มอำนาจให้แก่ผู้ตรวจฯ ไว้ 3 ข้อ คือ
              1.อำนาจในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ
              2.อำนาจในการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง และศาลรัฐธรรมนูญ และ
              3.อำนาจในการรับเรื่องร้องเรียนเกี่ยวกับคุณธรรมจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐ นี่คืออำนาจที่รัฐธรรมนูญ ปี 2550 เพิ่มเติมให้ผู้ตรวจฯ ไว้

              ส่วน "คมสัน โพธิ์คง" อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช จากการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดินในปัจจุบัน มีการขับเคลื่อนเพียง 1 ใน 3 เท่านั้น จึงทำให้องค์กรที่มีหน้าที่ตรวจสอบฝ่ายการเมือง ทำงานได้ไม่เป็นไปตามเจตนารมณ์และบทบาทที่รัฐธรรมกำหนดไว้ ซึ่งตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ กำหนดบทบาทหน้าที่ให้กำกับและตรวจสอบพฤติกรรม จริยธรรมของข้าราชการ ทั้งข้าราชการประจำและข้าราชการการเมือง ให้เป็นไปตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกำหนด

              สำหรับแนวทางแก้ไขในอนาคต "คมสัน" กล่าวว่า ต้องแก้กฎหมายที่เกี่ยวข้องในเรื่องของการคืนอำนาจและหน้าที่ที่ผู้ตรวจการแผ่นดินต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ และมีการปรับเปลี่ยนระบบบริหารภายในให้ทำงานในเชิงรุก แต่ประเด็นการแก้ไขกฎหมายนั้น ซึ่งคงเป็นไปได้ยาก เพราะต้องผ่านชั้นนิติบัญญัติ ที่มีนักการเมืองเป็นผู้ทำหน้าที่ ดังนั้นคงไม่มีนักการเมืองใดเพิ่มอำนาจให้องค์กรที่มาตรวจสอบตัวเอง จึงขอให้คะแนนการทำงานของผู้ตรวจการแผ่นดิน 5.5 จาก 10 คะแนน

              "พนัส ทัศนียานนท์" อดีต ส.ว.กล่าวว่า บทบาทหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน เป็นองค์กรที่ควรสังคายนาใหม่ เพราะต้องเป็นองค์กรที่อยู่ภายใต้สังกัดรัฐสภา ซึ่งเป็นรูปแบบเดิมที่ถูกกำหนดในรัฐธรรมนูญ 2540 ให้กำหนดอำนาจโดยตรงว่าเป็นหน่วยงานที่ตรวจสอบฝ่ายตุลาการ เหมือนเช่นเดียวกับผู้ตรวจการแผ่นดินแถบสแกนดิเนเวียเพื่อเป็นระบบตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของแต่ละฝ่าย

              "พนัส" กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาผู้ตรวจการแผ่นดินทำงานแบบสองมาตรฐาน ถูกใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเพื่อที่จะเลือกปฏิบัติ ฝ่ายหนึ่งเลือกจะตรวจสอบ อีกฝ่ายหนึ่งไม่ตรวจ และแม้ไม่ผิดก็พยายามจะหาข้อที่จะไม่ผิด ขณะที่อีกฝั่งทำผิดก็หาข้อแก้ตัวมาให้ และผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีระบบตรวจสอบการทำงานในองค์กร หากมีการปรับปรุง ควรที่จะให้อำนาจประชาชนเข้าชื่อถอดถอนองค์กรนี้ได้ เพราะระบบปัจจุบันจะกำหนดให้ตรวจสอบผ่านวุฒิสภา แต่ก็เหมือนคนที่มีหนี้บุญคุณในการแต่งตั้งกันมา การคาดหวังจึงเป็นไปได้ยาก และในส่วนของอำนาจองค์กรอิสระ โดยในความคิดส่วนใหญ่ จะไม่ค่อยพอใจในอำนาจที่ตนมีและพยายามที่จะเพิ่มอำนาจให้ตัวเองเพื่อมีอำนาจเบ็ดเสร็จในการดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง และสุดท้ายตนเห็นว่าควรยุบเนื่องจากทำหน้าที่ซ้ำซ้อนกับ ป.ป.ช. และกรรมการสิทธิมนุษยชน

              ขณะที่ "รักษเกชา แฉ่ฉาย" รองเลขาธิการและโฆษกผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวถึงขอบเขตอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ต้องยอมรับว่าระบบผู้ตรวจการแผ่นดินทั่วโลกนั้น เป็นกระบวนการขั้นตอนก่อนที่จะไปถึงศาล โดยอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจฯ นั้น เป็นระบบสืบสวนสอบสวน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือไกล่เกลี่ยโดยที่เรื่องไม่ต้องไปถึงชั้นศาล เพราะโครงสร้างผู้ตรวจฯ หรือองค์กรอิสระอื่นๆ นั้น ก็ไม่มีอำนาจที่ลงโทษผู้ทำผิด เนื่องจากขั้นตอนนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของศาล แต่ทั้งนี้หากผู้ร้องไม่ยอมรับในการพิจารณาวินิจฉัยของผู้ตรวจฯ ก็สามารถยื่นร้องไปที่ศาลได้ ซึ่งกระบวนการพิจารณาของผู้ตรวจฯ ก็เป็นอันสิ้นสุดทันที

              “ผู้ตรวจฯ เปรียบเสมือนองค์กรที่คอยทำหน้าที่แนะนำ เพื่อให้เกิดความสำนึกในเรื่องคุณธรรมจริยธรรม และปรับปรุงแก้ไขต่อไป ผู้ตรวจฯ ไม่เคยคิดว่าจะต้องไปแก้ไขกฎหมายเพื่อเพิ่มอำนาจให้ตนเอง เพราะปัญหาที่แท้จริงนั้น อยู่ที่สามัญสำนึกของแต่ละบุคคลมากกว่าว่าพร้อมที่จะแก้ไขหรือไม่ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องมีองค์กรใดมาชี้แนะเลยก็ได้ หากแต่ละคนมีสามัญสำนึกที่แท้จริง" รักษเกชา กล่าว
คนอ่าน 2472 คน

ลิงค์ข่าว  [Spoil] คลิกเพื่อดูข้อความที่ซ่อนไว้



อำนาจจะมีมากหรือน้อย ไม่ใช่ปัญหาสำคัญ

ปัญหาสำคัญ คือ ตัวคณะผู้ตรวจการได้ใช้อำนาจที่มีนั้นไปในทางที่ชอบที่ถูกต้องตามควรแก่อำนาจที่ได้รับมอบหมายมา หรือไม่?
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่