ดาบส ฌานเสื่อม

กระทู้สนทนา
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ทรงปรารภภิกษุผู้กระสัน จึงได้ตรัสเรื่องนี้ มีคำเริ่มต้นว่า สุตเมตํ มหาพฺรหเม ดังนี้.
               ความย่อมีว่า ภิกษุรูปนั้นเห็นมาตุคามคนหนึ่งแต่งตัวสวยงามเกิดความกระสัน ปล่อยผมเล็บและหนวดไว้จนยาวอยากจะสึก พระอุปัชฌาย์อาจารย์แนะนำก็ไม่พอใจ พระศาสดาตรัสถามว่า จริงหรือภิกษุ ได้ยินว่าเธอกระสัน? เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า จริงพระพุทธเจ้าข้า จึงตรัสถามว่า เหตุไรเธอจึงกระสัน เมื่อภิกษุนั้นกราบทูลว่า กระสันด้วยอำนาจกิเลส และได้เห็นมาตุคามแต่งตัวสวยงามพระเจ้าข้า.
               จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุ ธรรมดากิเลสย่อมไม่มีความชื่นบาน เพราะขจัดคุณความดี มีแต่จะให้ตกนรก และกิเลสนั้นทำไมจักไม่ทำให้เธอลำบากเล่า ลมแรงพัดเขาสิเนรุ ทำไมจักไม่พัดใบไม้เก่าๆ ให้กระจัดกระจายได้ แม้พระมหาบุรุษผู้วิสุทธิชาติได้อภิญญา ๕ สมาบัติ ๘ ดำเนินตามรอยพระโพธิญาณ เพราะอาศัยกิเลสชนิดนี้ จึงไม่อาจจะดำรงสติอยู่ได้ ยังต้องเสื่อมไปจากฌาน.
               ดังนี้แล้วทรงนำเอาเรื่องในอดีตมาสาธก ดังต่อไปนี้ :-
               ในอดีตกาล เมื่อพระเจ้าพรหมทัตครองราชสมบัติอยู่ในนครพาราณสี
               พระโพธิสัตว์เกิดในตระกูลพราหมณ์ผู้มีสมบัติ ๘๐ โกฏิในนิคมแห่งหนึ่ง มารดาบิดาได้ขนานนามให้พระองค์ว่า หาริตกุมาร เพราะพระองค์มีผิวเหลืองดังทอง.
               กุมารนั้น ครั้นเจริญวัยแล้วสำเร็จการศึกษาที่เมืองตักกสิลา รวบรวมทรัพย์ไว้ ครั้นมารดาบิดาล่วงลับไปแล้ว ได้ตรวจตราดูทรัพย์สมบัติ ได้ความคิดขึ้นว่า ทรัพย์เท่านั้นที่ยังปรากฏอยู่ ส่วนผู้ทำให้ทรัพย์เกิดขึ้นหาปรากฏอยู่ไม่ แม้เราก็จะต้องแหลกละเอียดไปในปากแห่งความตาย ดังนี้ กลัวต่อมรณภัย ได้ให้ทานเป็นการใหญ่ แล้วเข้าไปยังหิมวันตประเทศ บวชเป็นฤๅษี ในวันที่ ๗ ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘ มีเผือกมันและผลไม้ในป่าเป็นอาหาร ดำรงชีพอยู่ในที่นั้นเป็นเวลานาน ต้องการจะเสพอาหารที่มีรสเค็มรสเปรี้ยว จึงลงจากบรรพตไปโดยลำดับถึงพระนครพาราณสี เข้าไปอยู่ในสวนหลวง.
               วันรุ่งขึ้น เที่ยวภิกขาจารในพระนครพาราณสี บรรลุถึงพระลานหลวง พระราชาทอดพระเนตรเห็นดาบสนั้นมีพระทัยเลื่อมใส รับสั่งให้นิมนต์นั่งบนราชบัลลังก์ภายใต้เศวตฉัตร ให้ฉันโภชนะที่มีรสอันเลิศต่างๆ เมื่อดาบสฉันแล้วอนุโมทนาจบลง พระองค์ยิ่งทรงเลื่อมใสมากขึ้น ตรัสถามว่า พระผู้เป็นเจ้าจะไป ณ ที่ไหน? เมื่อดาบสถวายพระพรว่า อาตมภาพเที่ยวหาที่จำพรรษามหาบพิตร. จึงตรัสว่า ดีแล้วพระผู้เป็นเจ้า.
               ครั้นเสวยพระกระยาหารเช้าเสร็จแล้ว ทรงพาดาบสไปพระราชอุทยาน รับสั่งให้สร้างที่เป็นที่พักกลางคืนและที่เป็นที่พักกลางวันเป็นต้นถวายพระดาบส ให้คนรักษาพระราชอุทยานเป็นผู้คอยปฏิบัติ ทรงอภิวาทแล้วเสด็จกลับ.
               แต่นั้นมา พระมหาสัตว์ได้ฉันที่พระราชมณเฑียรเป็นนิตย์อยู่ตลอด ๑๒ ปี.

               อยู่มาวันหนึ่ง พระราชาจะเสด็จไปปราบประเทศชายแดนที่ก่อความไม่สงบขึ้น ทรงมอบหมายพระมหาสัตว์ไว้แก่พระราชเทวีว่า เธอจงอย่าลืมบุญเขตของเราเสีย แล้วเสด็จไป
               ตั้งแต่นั้น พระราชเทวีได้ทรงอังคาสพระมหาสัตว์ด้วยพระหัตถ์ของพระองค์ ครั้นวันหนึ่ง พระนางทรงตกแต่งโภชนะไว้เรียบร้อยแล้ว เมื่อพระดาบสยังช้าอยู่ พระนางจึงสรงสนานด้วยน้ำหอม แล้วทรงนุ่งพระภูษาเลี่ยนเนื้อละเอียด รับสั่งให้เผยสีหบัญชร ประทับบนเตียงน้อยให้ลมพัดต้องพระวรกายอยู่
               พระมหาสัตว์นุ่งห่มเรียบร้อยแล้ว ถือภาชนะสำหรับใส่ภิกษา เหาะมาถึงสีหบัญชร พระราชเทวีได้สดับเสียงผ้าคากรองของพระมหาสัตว์ ก็เสด็จลุกขึ้นโดยเร็ว พระภูษาเลื่อนหลุดหล่นลง วิสภาคารมณ์ได้กระทบจักษุพระมหาสัตว์ ทันใดนั้น กิเลสซึ่งหมักดองอยู่ภายในพระมหาสัตว์นั้นหลายแสนโกฏิปี มีอาการดังอสรพิษที่นอนขดอยู่ในข้อง ก็กำเริบขึ้นทำฌานให้อันตรธานไป.
               พระมหาสัตว์ไม่สามารถจะดำรงสติไว้ได้ จึงเข้าไปจับพระหัตถ์พระราชเทวี แล้วทั้งสองก็รูดม่านลงกั้นในทันใดนั้น แล้วเสพโลกธรรมด้วยกัน ครั้นแล้วพระมหาสัตว์ก็ฉันภัตตาหารแล้ว เดินไปพระราชอุทยาน.
               ตั้งแต่นั้นมา ก็ได้ทำเช่นนั้นทุกๆ วัน.
               ข่าวที่พระมหาสัตว์เสพโลกธรรมกับพระราชเทวีได้แพร่สะพัดไปทั่วพระนคร พวกอำมาตย์ได้ส่งหนังสือไปกราบทูลพระราชาว่า หาริตดาบสได้ทำอย่างนี้. พระราชามิได้ทรงเชื่อ โดยทรงพระดำริว่า พวกอำมาตย์ประสงค์จะทำลายเรา จึงได้กล่าวอย่างนี้.
               ครั้นทรงปราบประเทศชายแดนให้สงบลงแล้ว ก็เสด็จกลับพระนครพาราณสี ทรงทำประทักษิณพระนครแล้ว เสด็จไปสำนักพระราชเทวี มีพระดำรัสถามว่า ได้ข่าวว่าหาริตดาบสพระผู้เป็นเจ้าของเรา เสพโลกธรรมกับเธอเป็นความจริงหรือ?
               พระราชเทวีกราบทูลว่า จริงเพคะ.
               พระราชายังไม่ทรงเชื่อแม้พระราชเทวี ทรงดำริว่าจักถามพระดาบสนั้นเอง จึงเสด็จไปพระราชอุทยาน นมัสการแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง.
               เมื่อตรัสถามความนั้น ได้ตรัสคาถาที่ ๑ ว่า :-
               ข้าแต่มหาพรหม โยมได้ยินเขาพูดกันว่า พระหาริตดาบสบริโภคกาม คำนี้ไม่เป็นจริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ?

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า กจฺเจตํ เป็นต้น ความว่า คำที่โยมได้ยินว่าพระหาริตดาบสบริโภคกาม ดังนี้นั้น เป็นคำเปล่าคือเป็นคำไม่จริงกระมัง ท่านยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่แลหรือ?

               พระดาบสคิดว่า เมื่อเราทูลว่า เราไม่ได้บริโภคกาม พระราชานี้ก็จักทรงเชื่อเราเท่านั้น แต่ว่าในโลกนี้ ขึ้นชื่อว่าที่พึ่งที่เช่นกับความสัตย์ไม่มี เพราะว่าผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถจะนั่งที่โพธิบัลลังก์บรรลุพระโพธิญาณได้ เราควรกล่าวแต่ความสัตย์เท่านั้น.
               จริงอยู่ ปาณาติบาตก็ดี อทินนาทานก็ดี กาเมสุมิจฉาจารก็ดี สุราบานก็ดี ย่อมมีแก่พระโพธิสัตว์ได้บ้างในฐานะบางอย่าง แต่มุสาวาทที่มุ่งกล่าวให้คลาดเคลื่อนหักประโยชน์เสีย ย่อมไม่มีแก่พระโพธิสัตว์เลย
               ฉะนั้น เมื่อพระดาบสจะกล่าวความสัตย์ จึงกล่าวคาถาที่ ๒ ว่า :-
               ขอถวายพระพร มหาบพิตร พระองค์ได้ทรงสดับถ้อยคำมาแล้วอย่างใด ถ้อยคำนั้นก็เป็นจริงอย่างนั้น อาตมภาพเป็นผู้หมกมุ่นอยู่ในอารมณ์เป็นที่ตั้งแห่งความหลง เดินทางผิดแล้ว.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โมหเนยฺเยสุ คือ ในกามคุณ. จริงอยู่ ชาวโลกทั้งหลายย่อมลุ่มหลงกามคุณ เพราะเหตุนั้น กามคุณท่านจึงเรียกว่า โมหเนยยะ.

               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๓ ว่า :-
               ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะที่เกิดขึ้นแล้วของท่านมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร ท่านไม่อาจบรรเทาความคิดที่แปลกได้.

               ศัพท์ว่า อทุ ในคาถานั้นเป็นนิบาต.
               ท่านอธิบายคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรมดาเภสัชย่อมเป็นที่พึ่งของคนไข้ น้ำดื่มเป็นที่พึ่งของคนกระหายน้ำ ก็ปัญญาที่ละเอียด คิดสิ่งที่ดีคือที่เป็นประโยชน์ เป็นเครื่องบรรเทาราคะเกิดขึ้นแล้วของท่านมีไว้เพื่อประโยชน์อะไร?
               บทว่า กึมโน น วิโนทเย ความว่า เหตุไร? ท่านจึงไม่อาจใช้ปัญญานั้นบรรเทาความคิดที่แปลกได้.

               ลำดับนั้น หาริตดาบสเมื่อจะแสดงกำลังของกิเลสแก่พระราชา ได้กล่าวคาถาที่ ๔ ว่า :-
               ข้าแต่มหาบพิตร กิเลส ๔ อย่างเหล่านี้ คือ ราคะ โทสะ โมหะ มทะ เป็นของมีกำลังกล้า หยาบคายในโลก เมื่อกิเลสเหล่าใดรึงรัดแล้ว ปัญญาก็หยั่งไม่ถึง.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยตฺถ เป็นต้น ความว่า เมื่อกิเลสเหล่าใดถึงการรึงรัดแล้ว ปัญญาก็ย่อมไม่ได้การหยั่งถึง คือการตั้งอยู่เหมือนคนตกลงไปในห้วงน้ำใหญ่ ฉะนั้น.

               พระราชาได้ทรงสดับดังนั้น จึงตรัสคาถาที่ ๕ ว่า :-
               โยมได้ยกย่องท่านแล้วอย่างนี้ว่า หาริตดาบสเป็นพระอรหันต์ สมบูรณ์ด้วยศีล ประพฤติบริสุทธิ์ เป็นบัณฑิต มีปัญญาแท้.

               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า อิติ โน สมฺมโต ความว่า โยมได้ยกย่อง คือได้สรรเสริญท่านแล้วอย่างนี้.

               หาริตดาบสได้ฟังดังนั้นแล้ว ได้กล่าวคาถาที่ ๖ ต่อจากนั้นว่า :-
               ข้าแต่มหาบพิตร วิตกอันลามก เป็นไปด้วยการยึดถือนิมิตรว่างาม ประกอบด้วยความกำหนัด ย่อมเบียดเบียนแม้ผู้มีปัญญา ผู้ยินดีแล้วในคุณธรรมของฤๅษี.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุภา คือ เป็นไปแล้วด้วยการยึดถือนิมิตรว่างาม.

               ลำดับนั้น พระราชาเมื่อจะให้หาริตดาบสเกิดอุตสาหะในการละกิเลส จึงตรัสคาถาที่ ๗ ว่า :-
               ความกำหนัดนี้เกิดในกาย เกิดขึ้นมาแล้วเป็นของทำลายวรรณะของท่าน ท่านจงละความกำหนัดนั้นเสีย ความเจริญย่อมมีแก่ท่าน ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นคนมีปัญญา.

               บรรดาบทเหล่านั้น สองบทว่า วณฺณวิทูสโน ตว คือ เป็นของทำลายสีกายและคุณความดีของท่าน. บทว่า พหุนาสิ ความว่า ท่านเป็นผู้อันชนหมู่มากยกย่องแล้วว่าเป็นคนมีปัญญา.

               คราวนี้ พระมหาสัตว์ได้ฟังดังนั้นแล้วกลับได้สติ กำหนดโทษในกามทั้งหลายแล้ว
               กล่าวคาถาที่ ๘ ว่า :-
               กามเหล่านั้นทำแต่ความมืดให้ มีทุกข์มาก มีพิษใหญ่หลวง อาตมภาพจักค้นหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น จักตัดความกำหนัดพร้อมเครื่องผูกเสีย.

               บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อนฺธกรเณ คือ ชื่อว่าทำแต่ความมืดให้ เพราะทำปัญญาจักขุให้พินาศ. ในบทว่า พหุทุกฺเข นี้ บัณฑิตพึงนำสูตรว่า กามทั้งหลายมีความแช่มชื่นน้อย ดังนี้เป็นต้น มาแสดงถึงความที่กามเหล่านั้นมีทุกข์มาก. บทว่า มหาวิเส คือ ชื่อว่ามีพิษใหญ่หลวง เพราะพิษคือสัมปยุตตกิเลสและพิษคือวิบากเป็นของยิ่งใหญ่.
               สองบทว่า เตสํ มูลํ ความว่า อาตมภาพจักค้นหา คือจักแสวงหามูลรากแห่งกามเหล่านั้น เพื่อละกามซึ่งมีประการดังกล่าวแล้วเหล่านั้นเสีย.
               ถามว่า ก็อะไรเป็นมูลรากแห่งกามเหล่านั้น?
               ตอบว่า อโยนิโสมนสิการ.
               บทว่า เฉชฺชํ ราคํ สพนฺธนํ ความว่า ข้าแต่มหาบพิตร บัดนี้ อาตมภาพจักตัดความกำหนัดที่ชื่อว่าเครื่องผูกพัน เพราะเครื่องผูกพันคือศุภนิมิตร โดยประหารเสียด้วยดาบคือปัญญา.

               ก็แหละ ครั้นกล่าวดังนี้แล้วได้ขอพระราชทานโอกาสว่า ข้าแต่มหาบพิตร ขอพระองค์จงประทานโอกาสแก่อาตมภาพก่อน แล้วเข้าไปยังบรรณศาลา พิจารณาดวงกสิณ ยังฌานที่เสื่อมแล้วให้เกิดขึ้นอีก ออกจากบรรณศาลานั่งคู้บัลลังก์ในอากาศ ถวายธรรมเทศนาแด่พระราชา แล้วทูลว่า
               ข้าแต่มหาบพิตร อาตมภาพถูกติเตียนในท่ามกลางมหาชน เพราะเหตุที่มาอยู่ในที่ไม่สมควร ขอพระองค์จงเป็นผู้ไม่ประมาท บัดนี้ อาตมภาพจักกลับไปสู่ไพรสณฑ์ให้พ้นจากกลิ่นสตรี.
               เมื่อพระราชาทรงกรรแสงปริเทวนาอยู่ ได้ไปสู่หิมวันตประเทศ ไม่เสื่อมจากฌานแล้ว เข้าถึงพรหมโลก.

               พระศาสดาผู้ตรัสรู้แล้วทรงทราบเรื่องนั้น จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
               ครั้นพระหาริตฤๅษีกล่าวคำนี้แล้ว มีความบากบั่นอย่างแท้จริง คลายกามราคะได้แล้ว ได้เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก.

               พระศาสดา ครั้นทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม เวลาจบสัจธรรม ภิกษุผู้กระสันได้ดำรงอยู่ในพระอรหัตผล แล้วพระทศพลทรงประชุมชาดกว่า
               พระราชาในครั้งนั้น ได้มาเป็น พระอานนท์ ในบัดนี้
               หาริตดาบสในครั้งนั้น ได้มาเป็น เราตถาคต ฉะนี้แล.

http://www.84000.org/tipitaka/attha/jataka.php?i=271246
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่