เกมการเมืองกับปัญหาความแตกแยกในสังคมไทย

กระทู้สนทนา
เกมการเมืองไทยในยุคปัจจุบันคือชนวนที่นำไปสู่ความขัดแย้งระหว่างประชาชน  กับ ประชาชน โดยมีกลุ่มมวลชนสองขั้วที่ใหญ่ที่สุดอย่างไม่เคยมีมาก่อน   ไม่ว่าฝ่ายไหนจะเป็นรัฐบาลอีกฝ่ายต่างขั้วก็จะเล่นเกมการเมืองโดยใช้วิธีขัดขากันไปมา  เพื่อหวังที่จะยัดเยียดความไม่ชอบธรรมให้อีกฝ่าย   และทำลายภาพลักษณ์ของอีกฝ่ายให้เสียหายมากที่สุดเท่าที่จะทำได้  โดยไม่สำนึกเลยว่าประเทศชาติจะเสียหายและตกต่ำแค่ไหน    มีประชาชนจำนวนไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อและเครื่องมือทางการเมือง  ด้วยการถูกยุยง  ปลุกปั่น  และสุดท้ายประชาชนคนไทยต้องมาเกลียดชังกันเองเพราะการเมือง
           ในมุมมองของผมแล้วการแบ่งกลุ่มก้อน หรือ ก๊กต่างๆ ที่แสดงจุดยืนทางการเมือง(เฉพาะการเมือง)แบบเลือกข้างในหมู่ประชาชน ล้วนเป็นจุดเริ่มของการนำซึ่งความแตกแยก  หลายคนเคยมองว่าการรวมกลุ่มเหล่านั้นมันคือความแตกต่างแต่ไม่แตกแยก แต่ในความเป็นจริงที่เห็นได้ก็คือ ความรุนแรงมันเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยที่อุดมการณ์เหล่านั้นไม่สามารถควบคุมมันได้  พธม. นปช. หมู่บ้านเสื้อแดง  และการตั้งกลุ่มตั้งฝ่ายทางการเมืองในโลกโซเชียล  สิ่งเหล่านี้ล้วนนำไปสู่ชนวนของความขัดแย้ง  และที่ตามมาคือความแตกแยกในสังคม  ผมไม่เห็นด้วยกับการตั้งหมู่บ้านเสื้อแดง หรือเสื้อเหลืองก็แล้วแต่    เพราะการแบ่งกลุ่มก้อนเหล่านี้จะทำให้ประเทศไทยที่คนต่างขั้วทางการเมืองเคย สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ทุกที่ในประเทศอย่างไร้พรหมแดน จะถูกการเมืองเข้าครอบงำจนความแตกแยกแผ่กระจายไปเรื่อยๆ    เมื่อมีการแบ่งฝ่ายก็ต้องมีเลือกข้าง   เมื่อเลือกข้างแล้วจากที่เห็นส่วนใหญ่ก็พร้อมที่จะเชื่อเฉพาะในเรื่องที่เป็นผลดีกับฝั่งของตนเอง  และไม่พร้อมที่จะเปิดใจเชื่อในเรื่องที่ไม่เป็นผลดีกับฝ่ายตน   หลายครั้งที่ปัญหาในทางการเมืองไม่สามารถที่จะถกกันด้วยเหตุและผลจนตกผลึกเพราะมีคำว่า”ฝ่ายตรงข้าม”มาขั้นกลาง  
              อีกสิ่งหนึ่งที่มักจะถูกดึงลงมาเกี่ยวข้องกับการเมืองคือสถาบันเบื้องสูง  ผมเป็นคนหนึ่งที่จะไม่นิ่งเฉยและพร้อมที่จะกระโดดเข้าไปต่อกรกับ ผู้ที่มีเจตนาบางอย่างซึ่งหมิ่นเหม่ต่อการจาบจ้วงและใส่ร้ายต่อสถาบันเบื้องสูง  ซึ่งเป็นสิ่งที่เคารพและศรัทธา     แต่อีกด้านหนึ่งที่ต้องยอมรับ คือเรื่องห้อยโหนสถาบันซึ่งมีอยู่จริง  ผมมองว่าไม่ควรมีกลุ่มก้อนใดๆทางการเมืองดึงสถาบันลงมาเกี่ยวข้องโดยอ้างว่ารักสถาบัน แล้วเอาไปใช้แสดงออกในทางการเมือง   บทเรียนราคาแพงที่เป็นรอยด่างในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองไทยสำหรับเรื่องนี้คือเหตุการณ์ล้อมปราบนักศึกษาและประชาชนที่ ม.ธรรมศาสตร์ เมื่อวันที่ 6 ตค. 2519  โดยมีการยุยงปลุกเร้า  และชี้นำบิดเบือนให้คนทั่วไปเข้าใจว่ากลุ่มคนเหล่านั้นคือผู้ที่คิดร้ายต่อชาติ และสถาบัน  ทั้งๆที่กลุ่มนักศึกษาและประชาชนเหล่านั้น  คือกลุ่มที่ รักชาติ  รักประชาธิปไตย  และจงรักภักดีต่อสถาบัน
                สำหรับคนบางกลุ่มที่กำลังเรียกหา นายกมาตรา 7 อยู่ในตอนนี้  ควรมองถึงอนาคตข้างหน้าว่าเมื่อได้มาแล้วประเทศจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร  มันเป็นการปิดกั้นการเรียนรู้ตามครรลองของประชาธิปไตยไม่ให้เดินหน้าต่อใช่หรือไม่   ที่ร้ายที่สุดคือ ประชาชนที่เขาเลือกตั้งนายก มาตามแนวทางของประชาธิปไตยเขาจะต่อต้านอย่างไม่รู้จักจบสิ้น  ผมก็เป็นคนหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยกับ นโยบายประชานิยมที่มากเกินไปเพื่อหวังคะแนนเสียงของรัฐบาลพรรคเพื่อไทย  โดยเป็นการพอกพูนหนี้สาธารณะให้มากขึ้นเรื่อยๆ  ทั้งทั้งที่ตอนหาเสียงเคยชูนโยบายล้างหนี้ประเทศไทย  แต่ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายไหนที่ไม่ชอบนโยบายเหล่านี้ก็ควรปล่อยให้ประชาชนเรียนรู้ไปตามครรลองของประชาธิปไตย  เนื่องจากที่ผ่านมาก็มีบทเรียนให้เห็นแล้วว่า การเรียกหานายกมาตรา 7 หรือแม้กระทั่งการทำรัฐประหารคือสิ่งที่ยิ่งทำยิ่งแพ้  เพราะชัยชนะทางการเมืองที่ยั่งยืนที่สุดในเวลานี้คือชัยชนะที่อีกฝ่ายแพ้ภัยตนเอง
                 ผมก็เป็นคนหนึ่งที่มีความสนใจข่าวสารทางการเมืองเป็นอย่างยิ่ง  แต่ก็คิดว่าประชาชนอย่างเราๆไม่ควรยึดตึดกับมันจนถลำลึกเกินไป จนพาตนเองเข้าไปมีส่วนร่วมกับเกมของนักเล่นการเมือง  บางครั้งการถอยออกมาสักนิดอาจทำให้เราเห็นทุกอย่างในภาพรวมว่า  เราหรือใครได้ทำอะไรลงไปกับสังคมและประเทศชาติของเรา

                  ขอบคุณทุกท่านที่เข้ามาอ่านครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่