ทางออกของปัญหาการเมืองไทย : บทเรียนจากการเมืองบนท้องถนน: "ประชาธิปไตยต้องการอะไร มากกว่าการเลือกตั้ง?"

ทางออกของปัญหาการเมืองไทย :
บทเรียนจากการเมืองบนท้องถนน:
"ประชาธิปไตยต้องการอะไร มากกว่าการเลือกตั้ง?"

"2 ขั้วการเมืองไทย" คือ ภาพที่คนไทยเข้าใจได้ไม่ยาก
แม้จะนิยามได้ยากเพราะในแต่ละขั้วก็มีความหลากหลายซับซ้อน

"รัฐประหาร " คือ กรรมการห้ามมวย คือการพักยก  แม้กรรมการจะถูกกล่าวหาว่า
ไม่เป็นกลาง หรือเป็นฝ่ายหนึ่ง แต่อย่างน้อยก็ "ห้ามมวย" ได้จริง

ใครจะชอบ ใครจะเคยชอบ ใครจะไม่ชอบ กรรมการนั้น
ก็คงทำอะไรได้ไม่มาก ตราบใดที่กรรมการยังใช้อำนาจอยู่

แต่สิ่งที่สำคัญกว่า ก็คือ การมองข้ามช็อต หลังจาก"พักยก"แล้ว  
2 ขั้วการเมือง จะอยู่กันอย่างไร ?

บางคนคิดว่า "ความปรองดอง" เป็นไปไม่ได้
เพราะ 2 ขั้ว นั้น ฝังแน่นในใจ...
ซึ่งก็อาจจะถูกในแง่หนึ่ง

แต่จริงๆแล้ว เราควรถามหา
"กลไกปรองดอง" มากกว่าการพร่ำบอกให้ทุกคนมีความปรองดอง...
คำว่า"กลไก" ในที่นี้
ก็หมายถึงเครื่องมือที่จะมาจัดการความขัดแย้ง
ตัวอย่างของกลไกเดิมๆที่เราใช้
้กันอยู่แล้ว ก็คือ "การเลือกตั้ง" นั่นแหละครับ
จึงไม่น่าแปลกใจที่ หลายคนคิดว่า
การเลือกตั้ง ก็คือสิ่งที่ดีที่สุดที่เรามี
...แต่อย่าลืมว่า ถ้าการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
ตอบโจทย์ (ความปรองดอง) นี้ได้เพียงพอ
เราก็คงไม่มีปัญหาอย่างที่เป็นมายาวนาน

ดังนั้น เราจึงต้องมองหากลไก ที่ "มากกว่า"การเลือกตั้ง

ก่อนจะพูดถึงกลไก
อยากขยายความก่อนว่า
อะไรคือสิ่งที่เราต้องการในคำว่า "มากกว่า" ?
คำตอบสั้นๆ ตรงนี้ ก็คือ การมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
ที่นำไปสู่การกำหนดนโยบาย หรือการปฏิบัติ โดย ประชาชน และ เพื่อประชาชน
ซึ่งสิ่งนี้เองที่การเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว
ทำหน้าที่ได้ไม่สมบูรณ์

ยกตัวอย่าง :
สมมุติว่าในการเลือกตั้ง
ผมเลือกพรรค ก.ไก่
ไปแล้วอยู่มาวันนึง
เขาออกนโยบายที่ผม
ไม่เห็นด้วยออกมา
ผมก็ต้องมีสิทธิ์บอกว่า ผมไม่เห็นด้วย
ไม่ใช่ต้องปล่อยเลยตามเลย
เพราะถือว่าเลือกกูมาแล้ว กูจะทำอะไร ก็เรื่องของกูแล้ว
(บางคนคิดว่า ประชาธิปไตย คือ อย่างนี้!)

ซึ่งที่ผ่านมา กลไก หรือ เครื่องมืออีกอย่าง
ที่เป็นทางออกสำหรับเรื่องแบบนี้ก็คือ"การประท้วง"
หรือ "การเมืองบนท้องถนน" ทั้งหลายนั่นเองครับ

การเมืองบนท้องถนนจึงเป็นกลไกอันหนึ่ง ซึ่งโดยหลักการมันก็โอเคอยู่
แต่บทเรียนที่เราได้รับก็คือ ่การจัดการของทั้งฝ่ายม็อบ และ
ฝ่ายรัฐ มักควบคุมไม่อยู่ (หรือจงใจ)
จนนำไปสู่ความรุนแรงในบั้นปลาย

เมื่อเป็นอย่างนี้ หลายคนจึงเบื่อม็อบ...
หลายคนก็กลับไปคิดว่าทางออก
เดียวคือการเมืองแบบ 4 ปีเลือกที
แต่จริงๆแล้วเราจำเป็นต้องหา
กลไกที่จะมาทดแทน"ม็อบ"
มิเช่นนั้นถ้าประชาชนมีปัญหาแล้วไม่มีช่องทางอื่นให้แสดงออก
ก็หนีไม่พ้นต้องออกมา"ม็อบ"
และมีโอกาสกลับสู่วงจรเดิมอยู่ดี

ดังนั้น ถ้าจะปฏิรูปการเมือง ให้ 2 ขั้ว อยู่กันได้
ก็น่าจะคิดกลไก
ที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมและการรับฟังเสียงประชาน
ขึ้นมาแทนการเมืองบนท้องถนน

เพื่อไม่ให้เป็นการกล่าวลอยๆ
ผมขอลองเสนอไอเดียเกี่ยวกับ
"กลไก" ที่ว่า เป็นตัวอย่าง สักนิด....  
ซึ่งผมคิดว่า เราโชคดี ที่มาถึงยุคที่เทคโนโลยี
น่าจะเข้ามาช่วยตรงนี้ได้
เราได้เห็นพลังของโลกโซเชียล ในทางสังคมมาแล้ว
รัฐในยุค ที่อยากจะเป็น 4.0 (ซึ่งผมก็ยังไม่รู้ว่า คืออะไร?)
ก็น่าจะใช้สิ่งเหล่านี้ (เทคโนโลยี , โซเชียล etc) เป็นพลังทางการเมืองได้ เช่นกัน

ไอเดียตัวอย่าง ที่ขอเสนอ คือ
สมมุติให้รัฐบาล พัฒนาแอพพลิเคชั่น คล้ายๆ เฟสบุคขึ้นมา
เพื่อให้ประชาชนสมัครล็อกอิน
เข้าเป็น"สภาประชาชน"
หรือจะแบ่งเป็นกลุ่มคล้ายห้องใน pantip ให้เป็น
สภาอาชีพ สภาผู้หญิง สภาเด็ก อะไรต่างๆ ก็ว่าไป ซึ่งมีได้หลายสภา ...
โดยกำหนดคุณสมบัติผู้ที่จะสมัครล็อกอินเข้าใช้แต่ละสภาให้เคร่งครัด
คนที่จะล็อกอินต้องใช้ไอดีจริงและใครขายไอดี สวมไอดี ก็มีบทลงโทษให้หนัก
กำหนดให้ต้องมีความเคลื่อนไหว (active) อย่างไร
และให้มีหน้าวอลล์ไว้ให้คนอื่น สามารถตรวจสอบตัวตน เช็คประวัติได้...

แบบนี้ เราก็จะมีสภาประชาชน "ตัวจริง เสียงจริง"
ที่ไม่ต้องผ่านตัวแทน ไว้เสนอความคิด อภิปราย ถกเถียง
ตลอดจนทำประชามติในประเด็นต่างๆ ไปด้วยได้เลย....
ข้อเสนอ ประเด็นอภิปรายต่างๆ ตลอดจนผลประชามตินี้
ก็จะนำไปเป็นแหล่งอ้างอิงให้ "สภาตัวแทน" (สภาผู้แทน)
เอาข้อมูลตรงนี้ไปใช้ อภิปราย กำหนดนโยบาย ได้ต่อไป
หรือจะกำหนดให้มีน้ำหนักกี่เปอร์เซนต์ในสภาผู้แทนก็ยังได้ครับ

วิธีการนี้ เป็นการเปิดพื้นที่ทางการเมืองให้ประชาชนที่สนใจ
อยากมีส่วนร่วม ในประเด็นต่างๆ ได้เข้าร่วม
ซึ่งไม่ใช่แค่สนับสนุนหรือคัดค้านรัฐบาลนะครับ
แต่คุณยังเสนอนโยบายใหม่ๆได้เองโดยตรงเลย ...

และแน่นอนว่า "2 ขั้ว การเมือง" ก็คงจะยังอยู่
แต่ เมื่อ "เปิดเวที" (มวย) ให้ต่อสู้ และหาข้อตกลงร่วมกัน (เช่น การทำประชามติ)
เป็นเบื้องต้น
เช่นนี้แล้ว ความจำเป็นที่จะต้องออกมาสู่ท้องถนน
และโอกาสเกิดความรุนแรง ก็จะลดน้อยลง ครับ

ที่เสนอนี้แค่เป็นไอเดียนึงนะครับ
อยากให้ช่วยกันคิดมากกว่า...
เพราะเราต้องอยู่ร่วมกันต่อไป ครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่