"อย่าลืมปฏิรูปความปรองดอง" ในมุมมอง "กิตติพงษ์ กิตยารักษ์"




'กิตติพงษ์'แนะ'อย่าลืมปฏิรูปความปรองดอง'

'อย่าลืมปฏิรูปความปรองดอง' ในมุมมอง'กิตติพงษ์ กิตยารักษ์' : สัมภาษณ์พิเศษโดยปกรณ์ พึ่งเนตร


              “การปฏิรูปที่คนครึ่งประเทศเห็นว่าดี แต่คนอีกครึ่งประเทศเห็นว่าไม่ดี แบบนี้คงไปไม่ได้”

              เป็นข้อห่วงใยจาก ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปลัดกระทรวงยุติธรรม ที่อธิบายภาพความขัดแย้งของสังคมไทยในขณะนี้ที่กำลังทะเลาะกันเรื่องปฏิรูปได้อย่างแจ่มชัดที่สุด

              ดร.กิตติพงษ์ เสนอแนวคิดในฐานะอดีตกรรมการ คอป. หรือคณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ ว่า การปฏิรูปประเทศ หรือปฏิรูปการเมืองไปโดดๆ ในยามที่บ้านเมืองมีความขัดแย้งแบ่งขั้วแบบนี้ น่าจะสำเร็จยาก ฉะนั้นควรแก้ 2 โจทย์ไปพร้อมกัน คือ ต้องปฏิรูปความปรองดองด้วย

              “ตอนนี้บ้านเรามี 2 โจทย์ที่เถียงกันอยู่ คือ เลือกตั้งใหม่ กับ ปฏิรูป คนที่เร่งรัดเลือกตั้งอย่างเดียวเพื่อประโยชน์ทางการเมืองผมว่าก็ต้องคิดใหม่ เพราะไม่ได้แก้ปัญหา ความขัดแย้งยังคงอยู่ ขณะที่อีกฝ่าย ซึ่งต้องการยืดเวลาเลือกตั้งออกไปให้ยาวที่สุดเพื่อหวังประโยชน์ในการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลอย่างเดียวก็ต้องทบทวนเช่นกัน เพราะจะนำไปสู่ความรู้สึกของคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่แสดงออก และสุ่มเสี่ยงทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรงบานปลาย”

              แม้ ดร.กิตติพงษ์ ไม่ได้พูดตรงๆ ว่า “อีกกลุ่มหนึ่งที่ยังไม่แสดงออก” นั้น หมายถึงใคร แต่ก็พอเดาได้ว่า น่าจะหมายถึง “คนเสื้อแดง” ที่สนับสนุนรัฐบาลรักษาการชุดนี้อยู่นั่นเอง

              “อาจมีการมองได้ว่า อำนาจพิเศษกำลังสร้างสถานการณ์พิเศษขึ้นอีกหรือเปล่า ฉะนั้นบางเรื่องแม้ทำได้ตามกรอบกฎหมาย แต่ความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้น ผมคิดว่าการลดความขัดแย้งเฉพาะหน้าต้องเริ่มจากทั้งสองฝ่ายหยุดชิงไหวชิงพริบกัน กลุ่มที่มุ่งไปเลือกตั้งเพื่อหวังผลทางการเมืองต้องถอย และกลุ่มที่ยืดเวลาเลือกตั้งออกไปเพื่อสร้างกติกาใหม่แล้วตนเองจะได้ประโยชน์ก็ต้องถอย”

              ดร.กิตติพงษ์ ชี้ว่า การถอยของกลุ่มที่หวังประโยชน์ทางการเมืองทั้งสองฝ่าย ก็เพื่อเปิดทางให้มีการปฏิรูปอย่างแท้จริง ไม่ใช่เฉพาะปฏิรูปประเทศ ปฏิรูปการเมือง แต่ต้องไม่ลืมปฏิรูปความปรองดอง

              “เราต้องทำ 2 เรื่องหลักๆ เรื่องแรกคือ ให้มีเวทีกลาง แล้วพรรคการเมืองต่างๆ แสดงเจตนาชัดเจนว่าจะสนับสนุนออกแบบกลไกการปฏิรูป คัดเลือกคณะบุคคลที่ยอมรับได้ทุกฝ่าย และกำหนดประเด็นปฏิรูปร่วมกัน ถ้าออกแบบได้ดี กลไกกฎหมายที่จำเป็นต้องมีก็มีช่องทางทำได้ เช่น อาจตราเป็นพระราชกำหนด หรือหรือระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี แบบคำสั่งตั้ง คอป.”

              “สิ่งสำคัญคือ พรรคการเมืองต้องประกาศเจตนาให้ชัดเจน สนับสนุนกลไกปฏิรูปประเทศ พร้อมกรอบและแนวทางที่คณะบุคคลชุดนี้เสนอ เมื่อรัฐบาลชุดใหม่เข้ามาจากการเลือกตั้ง ต้องทำหน้าที่ปฏิรูปประเทศจริงจัง และอาจมีวาระไม่เท่าปกติ ถือเป็นโอกาสของประเทศที่ได้ถอยตั้งหลัก”

              “เรื่องที่สอง กรอบการเข้าสู่การปรองดอง เรื่องนี้คล้ายๆ กับงานที่ คอป.เคยทำ ต้องย้อนกลับไปดูความคับข้องใจของฝ่ายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสนับสนุนคุณทักษิณ ชินวัตร กลุ่ม นปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) กลุ่มญาติผู้สูญเสีย กลุ่มที่ไม่เอา พ.ร.บ.นิรโทษกรรม และอื่นๆ ทุกคนต้องเข้าสู่กระบวนการสร้างความเข้าใจ จากนั้นจะนำไปสู่การนิรโทษหรือไม่ อย่างไร และแค่ไหนเป็นเรื่องอนาคต แต่กระบวนการนี้ต้องดำเนินการโดยองค์กรที่เป็นกลาง ไม่ใช่คู่ขัดแย้งคุยกันเองหรือทำกันเอง”

              ดร.กิตติพงษ์ บอกว่า ทั้งสองเรื่องคือกรอบปฏิรูปคร่าวๆ ซึ่งการจะไปสู่จุดนั้นต้องก้าวข้ามประเด็นที่กำลังถกเถียงกันอยู่ตอนนี้

              “ผมคิดว่าต้องระวัง เพราะการมุ่งปฏิรูปให้สำเร็จโดยไม่ดูความขัดแย้ง อาจทำให้อีกกลุ่มไม่พอใจ มองเป็นกลไกพิเศษ ตอกย้ำรอยแผลเก่าที่เคยมีมาก่อน”

              “เราต้องมองกันอย่างเข้าใจมากขึ้น เมื่อครั้งที่ทำงาน คอป. เราได้คุยกับ นปช.จำนวนมาก คนเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่ได้ถูกสั่งการหรือถูกชี้นำอย่างเดียว หลายคนมีอุดมการณ์ รังเกียจการรัฐประหาร ไม่ต้องการอำนาจพิเศษที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และเห็นว่าองค์กรชี้ขาดทางกฎหมายเลือกข้าง ไม่เป็นธรรม”

              อดีตกรรมการ คอป.ย้ำว่า การจะปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ ต้องสลายขั้วขัดแย้งให้ได้เสียก่อน

              “การปฏิรูปที่คนครึ่งประเทศเห็นว่าดี แต่คนอีกครึ่งประเทศเห็นว่าไม่ดี แบบนี้ไปไม่ได้ ต้องสลายขั้วขัดแย้ง แล้วรวมพลังกันปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น ปฏิรูปการตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ปฏิรูปองค์กรอิสระให้ได้รับการยอมรับอย่างแท้จริง ปฏิรูปกลไกการป้องกันคอร์รัปชั่น และลดความเหลื่อมล้ำ”

              “ประเด็นเหล่านี้จริงๆ แล้วทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่าต้องทำ จึงน่าจะใช้โอกาสนี้ถอยอีกนิด สร้างจุดร่วมเพื่อให้เป็นโอกาสเริ่มกระบวนการใหม่ สังคมตะวันตกผ่านปัญหาอยุติธรรม โกรธเกลียดแตกแยกมาก่อนเรา จึงนำมาสู่การสร้างหลักการใหม่ๆ และอยู่ร่วมกันได้ ส่วนบ้านเราต้องใช้การเคลื่อนไหวขณะนี้เป็นโอกาสในการก้าวสู่สิ่งใหม่ๆ เช่นกัน”

              ดร.กิตติพงษ์ ชี้ด้วยว่า การออกมาแสดงพลังของมวลมหาประชาชน ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ทุกคนที่มาร่วมชุมนุมรู้ว่าปัญหาคืออะไร และมีโมเดลการแก้ไขที่ตนเองเห็นชอบ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปประเทศ

              “ถ้าจะก้าวข้ามจากวิกฤติตรงนี้ ต้องเอากรอบมุมมองลดขัดแย้ง ก้าวไปสู่ความปรองดอง เห็นแก่ประเทศเป็นหลักมาคิดทำด้วย ก็จะทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้”

              “สิ่งสำคัญก็คือ คนไทยทั้งประเทศที่เป็นมวลมหาประชาชนจริงๆ ต้องติดตามดูกระบวนการตรงนี้ว่าไปสู่จุดร่วมที่อยากได้ไหม ไม่ใช่ดูแต่ผู้นำ แล้วสร้างกลไกที่ภาคประชาชนสามารถติดตามได้ตลอดว่า กระบวนการที่ทำนั้นได้ผลหรือไม่ หรือกำลังทำอะไรกันอยู่”

              ดร.กิตติพงษ์ แสดงความคาดหวังว่า ในอนาคตอันใกล้ สังคมไทยจะตื่นตัวขนานใหญ่ ตั้งวงคุยกันเรื่องอนาคตของประเทศไทย แปรความโกรธเกลียดไปสู่การจับมือกันพัฒนา เพื่อความก้าวหน้าของประเทศเราเอง

.............

http://www.komchadluek.net/detail/20131216/174984.html
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่