กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ถูกทาบนั่งนายกฯ คนกลาง


กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ปฏิเสธข่าวถูกทาบทามเป็นนายกฯ คนกลาง ชี้ จะแก้ความขัดแย้งอย่างยั่งยืนได้ต้องถอยกันคนละก้าว และเดินหน้าปฏิรูปประเทศ

           หลังจากมีกระแสข่าวว่า นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม อาจถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีคนกลาง ภายใต้สถานการณ์การเมืองที่ร้อนแรงนั้น ล่าสุด เมื่อเวลา 20.56 น. วันนี้ (22 พฤษภาคม 2557) นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ได้แชร์ข้อความชี้แจงเรื่องนี้อีกรอบผ่านเฟซบุ๊ก Kittipong Kittayarak ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าวลือเท่านั้น

           โดย นายกิตติพงษ์ ระบุว่า ตนเองไม่ได้รับการทาบทามในเป็นนายกรัฐมนตรีคนกลางแต่อย่างใด ซึ่งตนคิดว่า สิ่งสำคัญคือการหยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป หนทางที่จะแก้ไขความขัดแย้งของทุกฝ่ายอย่างยั่งยืนก็คือ ทุกฝ่ายต้องยอมลดข้อเรียกร้องของตนเอง ถอยกันคนละก้าวโดยยึดผลประโยชน์ของประเทศเป็นที่ตั้ง และใช้การปฏิรูปประเทศเพื่อแก้ความขัดแย้งต่อไป

ดังข้อความต่อไปนี้

           "ตามที่มีข่าวปรากฏว่าผมเป็นผู้หนึ่งที่อาจถูกเสนอชื่อให้ทำหน้าที่  "นายกฯ คนกลาง" และมีเพื่อน ๆ สื่อมวลชนหลายท่านกรุณาให้ความสนใจสอบถามในเรื่องนี้นั้น เนื่องจากขณะนี้ผมเดินทางมาราชการต่างประเทศ ไม่สามารถพูดคุยกับเพื่อน ๆ สื่อมวลชนได้ทั่วถึง ผมจึงขอเรียนในเบื้องต้นผ่านทาง facebook ว่าเรื่องดังกล่าวเป็นเพียงกระแสข่าวลือ ไม่ได้มีการปรึกษาหารือ ทาบทาม หรือวางแผนในเรื่องนี้แต่อย่างใด

           ผมเห็นว่าการให้ความสำคัญกับการได้มาซึ่ง "นายกฯ คนกลาง" ที่ "เก่ง ดี และเหมาะสม" ในขณะนี้อาจจะไม่ตอบโจทย์ปัญหาความขัดแย้งของประเทศไทยได้ตรงจุด เพราะปัญหามีความซับซ้อนกว่านั้นมาก

           ประเด็นสำคัญที่สมควรมีการดำเนินการอย่างจริงจังและเป็นประเด็นที่ผมและเพื่อนสมาชิก "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ได้ย้ำมาโดยตลอดคือ เราต้อง "หยุดความรุนแรง เริ่มเจรจา เดินหน้าปฏิรูป" จึงเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ท่านพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก ได้เข้ามาช่วยดูแลบ้านเมืองในช่วงวิกฤตนี้เพื่อลดการเผชิญหน้าและความรุนแรงไม่ให้รุกลามบานปลาย และยังได้เสริมสร้างบรรยากาศในการเจรจาระหว่างคู่ขัดแย้ง สอดคล้องกับความพยายามของท่านสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย ว่าที่ประธานวุฒิสภาที่ได้พยายามดำเนินการในห้วงเวลาที่ผ่านมาอีกด้วย

           เราเห็นว่าหนทางที่เป็นทางออกของการแก้ปัญหาความขัดแย้งอย่างยั่งยืนคือการที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายยอมลดข้อเรียกร้องของตนเอง ถอยคนละก้าวโดยเอาผลประโยชน์ของประเทศโดยรวมเป็นที่ตั้ง และประเด็น "การปฏิรูปประเทศ" น่าจะเป็นประเด็นร่วมที่คู่ขัดแย้งทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ที่นอกจากจะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่ต้นเหตุแล้ว ยังสามารถสร้างความเข้มแข็งให้ประเทศไทยอย่างยั่งยืนด้วย

           ผมและสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปได้แสดงความเห็นต่อสาธารณชนเสมอมาว่า ทางออกของปัญหาวิกฤตความขัดแย้งต้องอยู่บนวิถีประชาธิปไตย และสามารถทำได้โดยการสร้าง "หลักประกัน" ให้ทุกฝ่ายเชื่อมั่นว่าการเลือกตั้งอันเป็นกติกาพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่กำลังจะเกิดขึ้น จะนำไปสู่ "รัฐบาลเพื่อการปฏิรูป" อันเป็นรัฐบาลที่ทุกฝ่ายร่วมมือกันสร้างความปรองดองและปฏิรูปประเทศ ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งอีกครั้งหนึ่งตามกติกาใหม่ที่ปรับปรุงแล้วร่วมกัน ในห้วงเวลาที่บ้านเมืองของเราได้เข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

           ผมและสมาชิกเครือข่ายเดินหน้าปฏิรูปขอสนับสนุนการเจรจาเพื่อหาทางออกให้ประเทศไทยของเราในทุก ๆ เวที และพร้อมที่จะนำเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับทุกฝ่ายถึงแนวทางที่ "เครือข่ายเดินหน้าปฏิรูป" ได้เสนอไว้"  http://hilight.kapook.com/view/102551
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่