แทนที่จะเรียกเหลืองแดง มาเรียกใหม่เป็นขั้วการเมืองฝั่งซ้าย-ขวาไม่ดีกว่าหรือ

สวัสดีครับ กระทู้นี้เป็นกระทู้แรกที่ตั้งในห้องราชดำเนิน ยินดีรับฟังความคิดเห็น ชี้แนะ ติชมครับ เพราะผมเองก็ไม่ได้เป็นผู้เชี่ยวชาญในทางการเมืองของไทยแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการนำเสนอความคิดเห็นที่ผมมีให้ทุกท่านได้รับฟังและวิเคราะห์วิจารณ์กัน


จะเป็นอย่างไร ถ้าเราเปลี่ยนความเข้าใจเกี่ยวกับขั้วการเมืองไทยใหม่

แทนที่จะเรียกคนนี้ว่าเหลือง, แดง, หลากสี ที่รังแต่จะสร้างความแตกแยกในหมู่คนไทยด้วยกันเอง มาเป็นระบบระเบียบแบบที่รู้จักกันดีในหลายประเทศ บอกก่อนว่า ผมไม่มีเจตนาอวยต่างชาติ หรือเห็นระบบการเมืองต่างชาติว่าเยี่ยมยอดแต่อย่างใด (การเมืองของหลายประเทศอาจจะน้ำเน่ากว่าเราด้วยซ้ำ) ผมเพียงแต่เห็นว่าไม่มีประโยชน์ที่เรามัวแต่จะปลูกฝังความเกลียดชังระหว่างคนในชาติด้วยกันเองแบบที่เราเห็นกันอยู่ในปัจจุบันนี้ครับ

ระบบการเมืองในหลายๆ ประเทศจะเห็นว่าใช้มาตราวัดคล้ายๆ กัน คือแบ่งออกเป็นฝั่งซ้ายสำหรับชาวเสรีนิยม และฝั่งขวาอนุรักษ์นิยม โดยระบบสเกลซ้าย-ขวานี้เป็นที่นิยมในฝรั่งเศสเป็นที่แรกตั้งแต่สมัยปฏิวัติใหญ่ในปี 1792 ต่อมาก็เริ่มนำมาใช้กันในหลายประเทศ และคำจำกัดความหรือกลุ่มแนวคิดทางการเมืองก็ขยายไปให้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เช่นว่า นีโอนาซี, รอยัลลิสต์, ฟาสซิสต์ก็จะถูกจัดให้เป็นซีกขวาสุดๆ ขณะที่ลิเบอรัลลิสต์, อนาคิสต์ก็จะถูกจัดไว้ฝั่งซ้ายสุดๆ เช่นกัน อันนี้แล้วแต่กลุ่มการเมืองที่มีในแต่ละประเทศ

ข้อดีในการจัดกลุ่มเป็นฝั่งซ้าย ฝั่งขวา (และตรงกลาง หรือโมเดอเรต) ก็คือ ไม่มีการตีตราว่าใครถูก ใครผิด (ต้องขีดเส้นใต้ย้ำหลายๆ รอบ) เพราะถือเป็นความเห็นของกลุ่มและพรรคการเมืองที่ยึดถือแนวนโยบายปฏิบัติที่ต่างกันออกไป โดยที่เป้าหมายสูงสุดอาจจะตรงกันกับฝ่ายที่อยู่กันอีกขั้วก็ได้

นอกไปจากนี้ การแยกแยะก็จะทำให้เรารู้จักจุดยืนในเบื้องต้นตั้งแต่แรก ก่อนที่จะพูดคุยกัน ทำให้เราลดอคติกับอีกฝ่ายได้ตั้งแต่ต้น การถกเถียงก็จะไม่มุ่งโจมตีอีกฝ่ายแบบที่ไร้เหตุผล อย่างที่พบเห็นได้ ณ ประเทศไทยในปัจจุบัน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดสุดๆ คือการให้ฉายาที่มุ่งเหยียดอีกฝ่าย (ควายแดง, แมลงสาบ, สลิ่ม, ฯลฯ) เพื่อให้เกิดภาพพจน์ด้านลบกับผู้ทีคิดเห็นต่างไปจากฝ่ายเรา

ถ้าเราเปลี่ยนทัศนคติใหม่ เรียกและจัดระเบียบการจำแนกแนวความคิดของขั้วการเมืองในไทยใหม่ เราก็จะเรียกคนที่เห็นต่างจากเราโดยไม่ใช้อคติเป็นตัวนำ และแสดงจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยได้อย่างชัดเจนขึ้น เช่นว่า เรียกคนเสื้อแดงว่าเป็นฝั่งซ้าย และเรียกเสื้อเหลืองเดิมว่าเป็นฝั่งขวาทางการเมือง เป็นต้น คนที่อยู่อีกฝั่งกับเรา เขาเห็นต่างจากเราก็ไม่ได้แปลว่าเขาแปลกแยกหรือผิดอะไร เพียงแค่ว่าอุดมการณ์ทางการเมืองต่างกันไปจากเราเท่านั้น เพราะเป้าหมายของประชาธิปไตยที่แท้จริงก็ควรจะสนับสนุนให้ประชาชนมีสิทธิแสดงความเห็นที่ต่างกันได้โดยเสรี


ดังนั้น หากเราจะจำแนกแนวความคิดทางการเมืองของไทยใหม่ จะเรียกอย่างไรกันดี
(อาจจะไม่เป๊ะซะทีเดียว เพราะคงมีรายละเอียดปลีกย่อยที่สามารถถกเถียงกันได้นะครับ)

ขั้วการเมืองฝั่งซ้าย (Left-wing politics - liberalist): สามารถใช้เรียกกับพรรคเพื่อไทยและกลุ่มชนเสื้อแดงในปัจจุบัน ที่เน้นประชานิยมรากหญ้า แนวคิดของคนกลุ่มนี้มุ่งไปที่ระบบสาธารณูปโภคและการยกระดับค่าครองชีพและสวัสดิการของชนบท (ส่วนนโยบายเอาใจคนเมืองในปัจจุบันนั้นก็เป็นอีกเรื่องที่คงต้องถกเถียงกันว่านำไปสู่ช่องว่างระหว่างคนจนคนรวย)

ขั้วการเมืองฝั่งขวา (Right-wing politics - royalist): กลุ่มชนเสื้อเหลืองก่อนที่จะยุติความเคลื่อนไหวไปและประชาธิปัตย์ในช่วงที่ประท้วงพรบ.นิรโทษกรรม/ล้มระบอบทักษิณ(หรือฝ่ายซ้าย) แนวคิดของคนกลุ่มนี้คือสนับสนุนระบอบพระมหากษัตริย์เป็นหลัก จนถึงขั้นที่ว่าอาจจะต้องการให้ถวายคืนพระราชอำนาจทางการเมือง ด้วยเหตุผลคอร์รัปชั่นจากนักการเมือง

ขั้วการเมืองฝั่งตรงกลาง (Moderate): จะว่าไปกลุ่มนี้ในไทยเองไม่ค่อยมีความชัดเจนเท่าไหร่ ตัวอย่างที่ชัดหน่อย ก็เห็นจะเป็นดีเจสุหฤท สยามวาลาที่ลงสมัครผู้ว่ากทม.ที่ผ่านมา เป้าประสงค์ของคนกลุ่มนี้ คาดว่าน่าจะเป็นกลุ่มชนที่ไม่เห็นด้วยกับทั้งสองฝั่ง ด้วยเห็นว่าเป็นขั้วการเมืองที่มีนักการเมืองรุ่นเก่าอยู่ และไม่ได้มีนโยบายที่สะท้อนปัญหาของประเทศอย่างแท้จริง

ส่วนกลุ่มการเมืองอื่นๆ คงต้องดูในรายละเอียดว่าจะสามารถจัดจำแนกให้ลงอยู่ในมาตรวัดทางการเมืองแบบนี้ได้อย่างไร เช่น กลุ่มนิติราษฎร์จะเป็น Middle-left หรือเปล่า หรือคุณชูวิทย์ จะอยู่ Middle-right ได้มั้ย เป็นต้น

เน้นย้ำอีกที การจัดขั้วการเมืองแบบนี้ ก็เพื่อตัดอคติที่มีต่อผู้ที่เห็นแย้งเห็นต่างกันออกไป และไม่มีฝั่งใดผิดหรือถูก ฝั่งกลางไม่ใช่ว่าถูกไปกว่าซ้ายหรือขวาแต่อย่างใด เป็นแต่เพียงสะท้อนแนวความคิดทางการเมืองให้ชัดเจนและเคารพความคิดเห็นซึ่งกันและกัน


ก็ในเมื่อทั้งเสื้อแดง, เสื้อเหลือง, พท., ปชป., ฯลฯ เน้นย้ำว่าสนับสนุนประชาธิปไตย ทุกๆ ฝั่งก็ควรเริ่มที่จะเคารพความเห็นที่แตกต่างของอีกฝั่งด้วยการเรียกขานในแบบที่ยุติธรรมกับทุกคนไม่ใช่หรือ

เห็นว่าไงกันบ้างครับ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่