ปฏิจจสมุปบาท by ดร.พระภัททันตะ อาสภมหาเถระ ครูของหลวงพ่อจรัล เจ้าคุณโชดก หลวงปู่พุทธบาทตากผ้าครูบาพรหมา พรหมจักโก

พระอาจารย์ ดร. ภัททันตะอาสภะ



ประวัติพระอาจารย์
ดร. ภัททันตะอาสภะ ธรรมกัมมัฏฐานจริยะ

วัดภัททันตะอาสภาราม

๑๑๘/๑ หมู่ ๑ บ้านหนองปรือ
ตำบลหนองไผ่แก้ว อำเภอบ้านบึง
จังหวัดชลบุรี ๒๐๒๒๐
โทรศัพท์ ๐๓๘-๑๖๐ ๕๑๒, ๐๓๘-๑๖๐ ๕๐๙


ประวัติพระอาจารย์ใหญ่
พระอาจารย์ มีนามเดิมว่า หม่องขิ่น ถือกำเนิดในสกุล ตวยเต้าจี้ ซึ่งเป็นสกุลขุนนางชั้นสูงของพม่า พระอาจารย์เกิดเมื่อ ๑ ๗ฯ ๘ ปีกุน พุทธศักราช ๒๔๕๔ ที่ตำบลจวนละเหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ ประเทศพม่า โยมบิดามีนามเดิมว่า อุโพอ้าน โยมมารดามีนามว่า ดอร์เปียว มีพี่น้อง ๓ คน ท่านเป็นบุตรคนสุดท้อง


ชีวิตในช่วงปฐมวัย
พระอาจารย์ได้รับการศึกษาขั้นต้นเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๑ อายุได้ ๗ ปี เริ่มเรียนหนังสือตั้งแต่หลักสูตร นะโม พุทธายะ สิทธัง ไปจนถึงทศมหาชาดก ซึ่งเป็นหลักสูตรพื้นฐานการศึกษาที่กุลบุตรของพม่าจะต้องเรียนในสมัยนั้น


พระอาจารย์ได้เข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์
พระอาจารย์ได้บรรพชาเป็นสามเณรเมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๖๙ อายุได้ ๑๕ ปี โดยมีพระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เจ้าอาวาสวัดโชติการาม เป็นพระอุปัชฌาย์ และในเวลาต่อมาก็อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ได้รับฉายาว่า อาสโภ ณ พัทธสีมาวัดจวนละ เหยียน อำเภอเยสะโจ จังหวัดปะดุกกู่ เมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม ๒๔๗๓ โดยมี


- พระภัททันตะ ญาณมหาเถระ เป็นพระอุปัชฌาย์


- พระภัททันตะ อูเกลาสมหาเถระ เป็นพระกรรมวาจาจารย์


- พระภัททันตะ อูปัญญามหาเถระ เป็นพระอนุสาวนาจารย์

ภาคคันถะธุระ
พระอาจารย์ได้รับการศึกษา ดังนี้คือ
๑. ระเบียบวินัย ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ
๒. ไวยากรณ์บาลีมหากัจจายน์
๓. อภิธรรมมัตถสังคหอรรถกถา
๔. ศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูงที่มหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย


วุฒิธัมมาจริยะ
เมื่ออายุได้ ๒๗ ปี ๗ พรรษา พระอาจารย์สอบได้วุฒิชั้น “ธัมมาจริยะ” ซึ่งเป็นชั้นสูงสุดแห่ง การศึกษาคณะสงฆ์พม่า


ตำแหน่งในมหาวิสุตารามมหาวิทยาลัย
ได้รับความเห็นชอบ มีมติเอกฉันท์จากบรรดาพระมหาเถระปาติโมกข์แห่งมหาวิทยาลัยให้ ดำรงตำแหน่ง “คณะวาจกสะยาดอร์” คือ เป็นพระคณาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ประจำมหาวิทยาลัยมีหน้าที่ให้การศึกษาพระไตรปิฎก บาลี อรรถกถา ฎีกา และพระคัมภีร์ต่าง ๆ ตั้งแต่ปีพุทธศักราช ๒๔๘๓ เป็นต้นมา


ภาควิปัสสนาธุระ
๑. เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ณ วัดสวนลน จังหวัดเมียนฉั่น โดยมีท่านพระอาจารย์ ภัททันตะ กวิมหาเถระ ปธานกัมมัฏฐานาจริยะ เป็นผู้บอกกรรมฐานให้


๒. เดินทางไปเข้าวิปัสสนากรรมฐานต่อ ณ วัดมหาสี ตำบลเชตโข่น จังหวัดสวยะโบ่ ซึ่งเป็นสำนักของมหาสี สะยาด่อร์


ตำแหน่งพระวิปัสสนาจารย์
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๓ พระอาจารย์ได้รับการถ่ายทอดวิชา “วิปัสสนาจารย์” จาก พระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต (มหาสี สะยาด่อร์) ผู้เป็นพระปรมาจารย์ต้นตำรับ “พองหนอ ยุบหนอ” และได้รับมอบหมายให้เป็นวิปัสสนาจารย์ประจำสำนักมหาสีสาสนยิสสา แห่งนครย่างกุ้ง

ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๕ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาจ อาสภมหาเถร) มีความประสงค์จะวางรากฐานวิปัสสนาธุระไว้ ณ ประเทศไทยจึงได้แสดงความจำนงไปยังสภาพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่า ขอให้จัดส่งพระวิปัสสนาจารย์ผู้มีความรู้เชี่ยวชาญมาช่วยสอนวิปัสสนากรรมฐานในประเทศไทย สภาการพุทธศาสนาแห่งประเทศพม่าจึงมอบหมายให้ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิต เป็นผู้พิจารณาพระวิปัสสนาจารย์ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมตามความต้องการของสมเด็จพระ พุฒาจารย์ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัคคมหาบัณฑิตพิจารณาโดยรอบคอบแล้วจึงมีบัญชาให้พระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะเป็นผู้รับภาระหน้าที่อันสำคัญนี้ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางมาประเทศไทย รับหน้าที่เป็นพระวิปัสสนาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ กรุงเทพมหานคร


เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ พระอาจารย์ภัททันตะอาสภเถระ ธัมมจาริยะได้รับอาราธนาจากนายธรรมนูญ สิงคารวณิช และพระภิกษุเดือน เนื่องจำนงค์ ให้มาเป็นพระอาจารย์สอนกรรมฐานประจำสำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม


ผลงานรจนาหนังสือธรรมะ
แม้ว่าพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภมหาเถระ จะมีหน้าที่ในการบอกกรรมฐานแก่ศิษยานุศิษย์ ซึ่งเป็นภาระที่หนักอยู่แล้ว แต่ก็ยังอุตสาหะรจนาหนังสือธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนาเป็นภาษาไทยไว้ดังต่อไปนี้


๑. แว่นธรรมปฏิบัติ
๒. แนวปฏิบัติวิปัสสนา
๓. หลักการเจริญวิปัสสนา
๔. ปฏิจจสมุปบาทจักกเทศนา
๕. วิปัสสนาทีปนีฎีกา


รวมระยะเวลาที่พำนักในประเทศไทย
ปีพุทธศักราช ๒๔๙๖ พำนัก ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ( ๑๐ ปี )
ปีพุทธศักราช ๒๕๐๕ พำนัก ณ สำนักวิปัสสนาวิเวกอาศรม อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี (๓๗ ปี)
๑ มีนาคม ๒๕๔๒ ย้ายมาพำนัก ณ สำนักวิปัสสนาสมมิตร-ปราณี อำเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี ( ๓ ปี )
๑๙ ตุลาคม ๒๕๔๕ - ปัจจุบันเป็นประธานสงฆ์ และพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระพำนัก ณ วัดภัททันตะ- อาสภาราม สิริรวมชนมายุ ๙๓ ปี พรรษา ๗๓ แม้จะมีโรคาพาธเบียดเบียนบ้าง แต่สุขภาพโดยรวมยังมีสภาพที่สมบูรณ์ ท่านได้อาศัยเวลาส่วนใหญ่บอกสอน และแนะนำมวลศิษย์อย่างไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย จนอาจกล่าวได้ว่าชั่วชีวิตของท่านได้ทุ่มเทให้แก่งานด้านวิปัสสนาธุระอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อรวมระยะเวลาแล้วกว่า ๕๐ ปี จริง ๆ แล้ววัยนี้ควรจะเป็นวัยที่ท่านจะได้พักผ่อน แต่ด้วยอาศัยความเมตตากรุณา ที่ท่านมีต่อผู้สนใจในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ถึงแม้จะเหน็ดเหนื่อยท่านก็มิได้ย่อท้อแต่ประการใด ท่านจะมีความสุขกับการได้ให้ธรรมะที่เป็นสาระแก่นสารแก่ทุก ๆ คน ที่มีโอกาสแวะเวียนมากราบเยี่ยมเยือนและปฏิบัติธรรมกับท่านเสมอ ๆ

ท่านได้ละสังขารไปตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553 สิริอายุได้ 99 ปี

สู่เส้นทางวิปัสสนา
ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะคณะวาจกะสะยาดอร์ ได้บำเพ็ญองค์เป็นพุทธสาวกชั้นเยี่ยม โดยการสั่งสอนพระพุทธธรรมแก่พระภิกขุสังฆะทั้งหลาย อันเป็นการธำรง”พระปริยัติศาสนา”ให้คงอยู่มาเป็นเวลาช้านาน ประมาณ กว่า 1 ทศวรรษ จนกระทั่งปีพ.ศ. 2493 เหตุการณ์สำคัญที่ทำให้ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระฯ ได้หักเหจาก”อาจารย์บอกธรรม”มาเป็น”วิปัสสนาจารย์”โดยสมบูรณ์ เมื่อท่านได้มีโอกาสพบกับพระภัททันตะ คันธมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต ผู้มีเกียรติคุณสูงเด่นในวิชาการชั้นสูง อันเป็นที่ยอมรับของมหาชนทั้งหลายโดยทั่วไป โดยเมื่อท่านได้สนทนากับท่าน”คันธมหาเถระ”พอสมควรแล้ว ท่านพระคันธมหาเถระ ก็หยิบหนังสือเล่มหนึ่งส่งให้ พร้อมกับสั่งกำชับว่า “จงอ่านให้ได้” ซึ่งพระอาสภเถระเมื่อได้ลองอ่านดู ก็พบว่า หนังสือนั้นมีชื่อว่า “แนวปฏิบัติวิปัสสนา” ซึ่งรจนาโดย”พระอาจารย์ภัททันตะโสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต” หรือ”พระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์”


หมายเหตุ,ท่าน”พระมหาสี สะยาดอ” สุดยอดพระวิปัสนาจารย์แห่ง เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ องค์นี้ นับเป็นพระ ผู้แตกฉานในพระวิปัสนากรรมฐานอย่างแจ่มแจ้งแทงตลอดอย่างยิ่ง จนได้รับเกียรติสูงสุดให้เป็น”ปุจฉกะ”(ผู้ถาม)ในการกระทำสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งที่ 6 ของโลก ที่เมืองย่างกุ้ง ประเทศเมียนมาร์ เมื่อปีพ.ศ. 2496 โดยทำหน้าที่เดียวกับ”พระมหากัสสปะเถระ”ที่ทำหน้าที่ซักถามพระวินัยแก่”พระอุบาลีเถระ”ในคราวสังคายนาพระไตรปิฏกครั้งแรกนั่นเลยเทียว..!!!!!


และเมื่อพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ อ่าน”แนวทางปฏิบัติวิปัสสนา”ที่เขียนโดยท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์จบ ท่านอาสภเถระ ก็บังเกิดความอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งว่า “ในสมัยปัจจุบันทุกวันนี้ การปฏิบัติวิปัสสาที่ถูกต้องและได้ผลจริงยังมีอยู่อีกหรือนี่..?????”


และ “เมื่อปฏิบัติวิปัสสนาแล้ว วิปัสสนาญาณจักปรากฏแก่คนในยุคปัจจุบันนี้ได้จริงๆละหรือ.????” และด้วยวิสัยแห่งผู้ใฝ่รู้ ท่านพระอาจารย์ภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ พระผู้สำเร็จ”ปริยัติธรรม”ชั้นสูงสุดแห่งพม่า จึงพลันตัดสินใจจะเข้าบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐาน เพื่อ”พิสูจน์”ให้รู้แจ้งเห็นจริงกันด้วยตนเองไปเลยทีเดียว

เริ่มแรก ท่านจึงเดินทางไปสำนักปฏิบัติพระกรรมฐาน ”วัดสวนลน” จังหวัดเมียนฉั่น เพื่อเข้าไปขอกรรมฐานกับท่านพระอาจารย์ภัททันตะ กวิมหาเถระ ปธานกัมมัฏฐานมหาเถระ แล้วเริ่มตั้งอกตั้งใจปฏิบัติในทันทีทันใดถึง 45 วันเต็มๆ ก่อนที่จะเดินทางต่อไปยัง “วัดมหาสี” ตำบลเชตโข่น เมืองสวยะโบ่ ซึ่งเป็นสำนักของท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ ผู้รจนาหนังสือ”แนวปฏิบัติวิปัสสนา”โดยตรง ซึ่งเมื่อท่านพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ คณะวาจกะสะยาดอร์ไปถึง ก็ลงมือปฏิบัติพระกรรมฐานในทันทีไม่รอรีใดๆ โดยมีท่านพระอาจารย์ภัททันตะ โสภณมหาเถระ อัครมหาบัณฑิต(พระมหาสี สะยาดอร์ )และท่านพระอาจารย์ภัททันตะ สวยะเจดีย์ สะยาดอร์ อัครมหาบัณฑิต เป็นพระวิปัสสนาจารย์ผู้บอกพระกรรมฐาน ด้วยความเข้มงวดกวดขันเป็นอย่างยิ่ง

โดยเมื่อพระภัททันตะ อาสภเถระ ฯ ได้ปฏิบัติไปๆ ก็ให้อัศจรรย์ใจในผลของการบำเพ็ญวิปัสสนากรรมฐานเพิ่มมากยิ่งขึ้นทุกวัน และที่สุด ก็ได้”บรรลุ”ถึงผลสมดังความมุ่งหมาย วิจิกิจฉาความลังเลสงสัยเกี่ยวกับการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานใดๆที่เคยค้างคาใจมาแต่กาลก่อน ก็ล้วนปลาสนาการหายไปจนหมดสิ้น การเป็นที่น่าอนุโมทนาสาธุการเป็นอย่างยิ่งที่สุดเลยทีเดียว


สืบสายธรรมแท้จากพระอรหันต์ครั้งพุทธกาล

มหาเหตุที่สำคัญอย่างยิ่งยวดประการหนึ่ง ซึ่งทำให้ท่านพระภัททันตะ อาสภเถระ ธัมมาจริยะ คณะวาจกะ สะยาดอร์ ได้บรรลุธรรมเบื้องสูงดังกล่าวมานั้น ก็เห็นจะเป็นการที่ท่าน ได้มาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่”ถูกต้องร่องรอย”ตาม”พระพุทธวจนะ”แห่งองค์สมเด็จพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่าง”แท้จริง”นั้นเอง


เหตุดังกล่าวย่อมปรากฏชัดว่า อันแนวทางการปฏิบัติวิปัสสนาที่ท่านพระอาจารย์มหาสี สะยาดอร์ได้สอนนั้น เป็นวิธีการสอนวิปัสสนาที่ใช้สืบทอดกันมาเป็นเวลาช้านาน โดยสืบวิปัสสนาวงศ์มาแต่องค์”พระอรหันต์” ผู้เป็นสัทธิวิหาริก (ลูกศิษย์) ของท่าน”พระมหาโมคคัลลีบุตรสังฆวุฒาจารย์” ที่พระเจ้าอโศกมหาราช ได้อาราธนามาประดิษฐานบวรพระพุทธศาสนา เผยแผ่พระพุทธธรรมยังสุวรรณภูมิประเทศเมื่อ 2000 กว่าปีที่ แล้ว

และ เมื่อ “พระพิมลธรรม” (อาจ อาสภมหาเถระ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร (ที่ต่อมาได้รับโปรดเกล้าสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระราชาคณะที่”สมเด็จพระพุฒาจารย์ ) ซึ่งเมื่อปีพ.ศ.2495 ท่านมีตำแหน่งเป็น”สังฆมนตรี” ว่าการองค์การปกครอง ได้เกิดมหากุศลจิตที่ประสงค์จะให้เกิดการบำเพ็ญวิปัสสนาที่”ถูกต้อง”ขึ้นในประเทศไทย และเมื่อท่านพระพิมลธรรมได้พิจารณาด้วยจิตใจที่เป็น”กลาง”อย่างยิ่งแล้ว พบว่า การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ประเทศพม่านั้น มีความ”ถูกต้องแม่นยำ”และ”ไม่ผิดเพี้ยน”จากพระพุทธวจนะ เพราะเหตุที่สืบสายมาโดยตรงจากพระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ใน”พระโมคคัลลีบุตรอรหันตเถระ”สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชอย่างแท้จริง สมควรที่จะยึดถือเป็นแบบอย่างได้อย่างมั่นใจ
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่