การเกิดดับของนามรูป และธัมมานุปัสสนา(ขันธ์๕) โดยสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช


บัดนี้ จักแสดงธรรมะเป็นเครื่องอบรมในการปฏิบัติอบรมจิต
ในเบื้องต้นก็ขอให้ทุกๆ ท่านตั้งใจนอบน้อมนมัสการ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ตั้งใจถึงพระองค์ พร้อมทั้งพระธรรม พระสงฆ์เป็นสรณะ ตั้งใจสำรวมกายวาจาใจให้เป็นศีล ทำสมาธิในการฟัง เพื่อให้ได้ปัญญาในธรรม

พระพุทธเจ้าได้ทรงจำแนกแจกธรรมสั่งสอน ดังที่ทรงจำแนกสติปัฏฐานที่ตั้งของสติ ๔ ประการ คือ
กาย เวทนา จิต ธรรม ทรงจำแนกแจก กาย สำหรับตั้งสติกำหนดพิจารณา อันเป็นส่วนหยาบก่อน
แล้วจึงทรงจำแนกแจก เวทนา ที่เกิดขึ้นทางกายและทางใจ
แล้วทรงจำแนกแจก จิต ที่มีอาการต่างๆ อันเป็นส่วนละเอียดยิ่งขึ้น
แล้วทรงจำแนกแจก ธรรม คือภาวะที่บังเกิดขึ้นในจิต
ซึ่งทำให้จิตมีอาการเป็นต่างๆ และทำให้เกิดเวทนาตลอดถึงกาย ทั้งทำให้กายประกอบกรรมต่างๆ
ทั้งหมดนี้ย่อมเนื่องมาจากธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต จิตจะเป็นอย่างไรก็อาศัยธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต
เวทนาส่วนหนึ่งก็อาศัยธรรมะที่บังเกิดขึ้นในจิต กรรมที่บุคคลประกอบกระทำทางกายพร้อมทั้งวาจา
ก็บังเกิดขึ้นจากธรรมะในจิต และธรรมะในจิตนี้ ข้อที่มีเป็นพื้นในจิตของสามัญชนทั้งปวง
ที่ทำให้จิตเป็นกามาพจร หยั่งลงในกาม ก็คือกามฉันท์ทั้ง ๕
จึงได้ตรัสจำแนกกามฉันท์ทั้ง ๕ พร้อมทั้งเหตุที่ทำให้กามฉันท์เกิดขึ้น
และเหตุที่ทำให้กามฉันท์ดับ กับเหตุที่ทำให้นิวรณ์ข้ออื่นเกิดขึ้น
เหตุที่ทำให้นิวรณ์ข้ออื่นดับ และเมื่อได้ปฏิบัติในสติปัฏฐานมาโดยลำดับ
จนถึงมาปฏิบัติในข้อนิวรณ์ที่ตรัสสอนนี้ ทำให้กามฉันท์ดับลงได้
จิตก็บริสุทธิ์ผ่องแผ้ว สามารถที่จะกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ได้


สติกำหนดขันธ์ ๕


จึงได้ตรัสสอนให้ตั้งจิตกำหนด คือทำสตินั้นเองกำหนดขันธ์ ๕ ซึ่งทุกๆ คนมีอยู่
ว่าอย่างนี้เป็นรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้
อย่างนี้เป็นเวทนา ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้
อย่างนี้เป็นสัญญา ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้
อย่างนี้เป็นสังขาร ความเกิดขึ้นของสังขารอย่างนี้ ความดับไปของสังขารอย่างนี้
อย่างนี้เป็นวิญญาณ ความเกิดขึ้นของวิญญาณอย่างนี้ ความดับไปของวิญญาณอย่างนี้
คือตรัสสอนให้จำแนกแจกก้อนกายอันนี้ อันเป็นที่ยึดถือว่าตัวเราของเรา ออกไปเป็น รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

มหาภูตรูป อุปาทายรูป


และได้ตรัสอธิบายไว้ในที่อื่นกล่าวโดยสรุป รูปที่ทุกคนมีอยู่นี้แบ่งออกเป็น ๒ คือ
มหาภูตรูป รูปที่เป็นใหญ่ เป็นที่รวมสำคัญ อันได้แก่
ส่วนที่แข้นแข็งอันเรียกว่าธาตุดิน ส่วนที่เอิบอาบเหลวไหลอันเรียกว่าธาตุน้ำ
ส่วนที่อบอุ่นอันเรียกว่าธาตุไฟ ส่วนที่พัดไหวอันเรียกว่าธาตุลม เรียกว่ามหาภูตรูป

และ อุปาทายรูป รูปอาศัย ซึ่งมีแสดงไว้มาก
เป็นต้นว่าประสาททั้ง ๕ คือประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ประสาทกาย
และวิสัยคืออารมณ์ของประสาททั้ง ๕ คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะสิ่งที่ถูกต้อง เป็นต้น
ก็ให้ตั้งสติกำหนดดูเข้ามาให้รู้จักมหาภูตรูปและอุปาทายรูปทั้ง ๒ นี้
ว่าอย่างนี้คือรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้


ความเกิดดับของ เวทนา


ก็ตรัสสอนไว้ในที่อื่นว่า อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม เป็นเหตุเกิดของรูป กับอาหารเป็นเหตุเกิดของรูป
คือรูปเกิดจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม และอาหาร และรูปนี้เมื่อเกิดขึ้น ก็ดับไปเป็นธรรมดา
ดังที่มีแสดงไว้ให้กำหนดในหมวดกาย เมื่อกายอันเป็นส่วนรูปยังประกอบด้วยธาตุทั้ง ๔ ก็ยังดำรงชีวิตอยู่
เมื่อธาตุทั้ง ๔ นี้แตกสลาย ร่างกายอันเป็นส่วนรูปนี้ก็กลายเป็นศพ ก็เป็นความดับ

และความเกิดของรูปนั้น ก็เริ่มเกิดก่อขึ้นตั้งแต่เป็นกลละในครรภ์ของมารดา
เติบใหญ่ขึ้นแตกเป็นปัญจสาขากิ่งทั้ง ๕ มีอายตนะบริบูรณ์คลอดออกมา รูปกายนี้ก็เป็นเด็กเล็ก
แล้วก็เติบโตขึ้นด้วยอำนาจของความชราที่เปลี่ยนแปลงไป และอาพาธป่วยไข้จนถึงดับ
คือแตกสลายในที่สุด ก็เป็นความดับ อันเป็นความเกิดความดับที่พิจารณาเห็นได้ง่าย
เพราะเป็นสิ่งที่ปรากฏให้เห็นได้ด้วยตา ส่วนเกิดดับของรูปที่เป็นอย่างละเอียดนั้นมีอยู่ทุกขณะ
อันจะพึงเห็นได้ด้วยปัญญา ก็ให้รู้ว่าอย่างนี้เป็นรูป ความเกิดขึ้นของรูปอย่างนี้ ความดับไปของรูปอย่างนี้

มาถึงเวทนา ก็เป็นความรู้เป็นสุขเป็นทุกข์หรือเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
ดังที่ตรัสแสดงไว้ในหมวดเวทนาแล้ว และความเกิดความดับของเวทนานั้น
ก็เนื่องมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม เหมือนกัน
และอาศัยสัมผัสในปัจจุบัน จึงทำให้ทุกคนมีสุข มีทุกข์ มีเป็นกลางๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข
กลับไปกลับมากันอยู่ทุกเวลา สุดแต่สัมผัส เมื่อสัมผัสเกิด เวทนาก็เกิด เมื่อสัมผัสดับ เวทนาก็ดับ
จนถึงเมื่อกายแตกสลายในที่สุดชีวิต เวทนาก็ดับหมด
ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักเวทนา ว่าอย่างนี้เวทนา ความเกิดขึ้นของเวทนาอย่างนี้ ความดับไปของเวทนาอย่างนี้

ความเกิดดับของสัญญา


สัญญาที่เป็นความรู้จำ ที่ทุกคนมีความจำ จำนั่นจำนี่ต่างๆ ได้
สรุปเข้าก็เป็นจำรูป จำเสียง จำกลิ่น จำรส จำโผฏฐัพพะ และจำเรื่องราวที่ใจคิดใจรู้ นี้เป็นสัญญาคือความจำ
และสัญญาคือความจำนี้ก็เกิดจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม ด้วยกันกับรูปเวทนา และอาศัยสัมผัสในปัจจุบัน
เมื่อสัมผัสเกิด เวทนาเกิด สัญญาก็เกิดตาม เมื่อสัมผัสดับ เวทนาก็ดับ สัญญาก็ดับตาม

(เริ่ม) และเมื่อกายนี้แตกสลายในที่สุดก็ดับหมด และสัญญานี้ก็มีความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาเหมือนกัน
ดังความจำที่เป็นสัญญา จำได้แล้วก็ลืม บางอย่างก็ลืมง่าย บางอย่างก็ลืมยาก บางอย่างถ้าไม่ทบทวนทิ้งไว้ไม่นานก็ลืม
เป็นความเกิดความเสื่อมดับของสัญญาซึ่งเป็นธรรมดา
เมื่อทบทวนไว้ก็ดำรงอยู่นาน ทบทวนอยู่เสมอก็ดำรงอยู่ได้เสมอ เป็นธรรมดา
ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักว่า อย่างนี้เป็นสัญญา ความเกิดขึ้นของสัญญาอย่างนี้ ความดับไปของสัญญาอย่างนี้


ความเกิดดับของสังขาร


สังขาร ความคิดปรุง หรือความปรุงคิด ปรุงคิดไปในเรื่องรูปบ้าง เรื่องเสียงเรื่องกลิ่นเรื่องรสเรื่องโผฏฐัพพะ
และเรื่องที่ใจคิดใจรู้บ้าง ตามสัญญาคือความจำเพราะจะคิดปรุงหรือปรุงคิดได้ก็ต้องจำได้
จะเอาเรื่องที่จำไม่ได้มาคิดมาปรุงก็ไม่ได้ และความคิดปรุงหรือความปรุงคิดนั้น ก็เป็นไปในทางดีบ้าง
เป็นไปในทางไม่ดีบ้าง เป็นไปในทางที่เป็นกลางๆ บ้าง คือเป็นกุศลบ้าง เป็นอกุศลบ้าง
เป็นอัพยากฤตคือไม่พยากรณ์ว่ากุศลหรืออกุศล คือเป็นกลางๆ บ้าง
ความเกิดขึ้นของสังขารนั้น ก็เริ่มมาจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม เช่นเดียวกับรูปเวทนาสัญญา และก็อาศัยสัมผัส
เพราะเมื่อสัมผัสก็เกิดเวทนา เมื่อมีเวทนาก็มีสัญญา เมื่อสัญญาก็มีสังขาร สืบต่อกัน
และก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นดับไป และเกิดขึ้นดับไปดั่งนี้เรื่อยไป จนถึงกายแตกสลายในที่สุดก็ดับหมด



ความเกิดดับของวิญญาณ


วิญญาณความรู้ที่เรียกว่าเห็นรูป ความรู้ที่เรียกว่าได้ยินเสียง ความรู้ที่เรียกว่าทราบกลิ่น ทราบรส ทราบโผฏฐัพพะ
ความรู้ที่เรียกว่าคิดหรือรู้เรื่องราว ในเมื่อตากับรูป หูกับเสียง จมูกกับกลิ่น ลิ้นกับรส กาย
และสิ่งถูกต้อง มโนคือใจและเรื่องราว มาประจวบกัน ก็เป็นวิญญาณ

และวิญญาณนี้ก็เกิดเนื่องมาจาก อวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม เช่นเดียวกับอีก ๔ ข้อข้างต้น
และเกิดขึ้นในปัจจุบัน จากการที่อายตนะภายใน อายตนะภายนอกมาประจวบกันดังกล่าว ก็เป็นวิญญาณ
เมื่ออายตนะทั้ง ๒ มาประจวบกันในเรื่องอันใด ก็เป็นวิญญาณในเรื่องอันนั้น แล้วก็ดับไปพร้อมกับเรื่องนั้น
อายตนะคู่อื่นประจวบกันในเรื่องอื่น ก็เป็นวิญญาณในเรื่องอื่นนั้น แล้วก็ดับไป
เกิดดับเป็นเรื่องๆ ไป จนกายแตกสลายก็ดับในที่สุดพร้อมกันหมด ก็ตั้งสติกำหนดให้รู้จักวิญญาณว่าเป็นอย่างนี้
ความเกิดขึ้นของวิญญาณ ก็เกิดขึ้นจากอวิชชา ตัณหา อุปาทานกรรม เช่นเดียวกับ ๔ ข้อข้างต้นดังกล่าว
และความดับไปของวิญญาณก็เป็นอย่างนี้ ก็เกิดขึ้นในปัจจุบัน
ในเมื่ออายตนะภายนอกภายในมาประจวบกันในเรื่องใด เมื่อเรื่องนั้นผ่านไปก็ดับไป



ความเกิดดับของนามรูป


เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ทั้ง ๔ นี้เป็นนามธรรม หรือย่อเข้าเป็นนาม
รูปเป็นรูปธรรม ย่อเข้าก็เป็นรูป เพราะฉะนั้น จึงรวมเข้าเป็นรูปนาม แต่มักเรียกสลับกันว่านามรูป
เอานามไว้ข้างต้นรูปไว้ข้างหลัง ทุกคนมีนามรูปอยู่ด้วยกันดั่งนี้
และนามรูปต่างก็ทำงาน ต่างก็เกิดดับอยู่ทุกขณะ แต่มีสันตติคือความสืบต่อตลอดเวลาที่ชีวิตยังดำรงอยู่
จนเมื่อร่างกายแตกสลายก็ดับไปด้วยกันทั้งหมดทั้งรูปทั้งนาม ที่เรียกว่ามรณะคือความตายอันมีในที่สุดของชีวิต
ความเกิดก่อขึ้นในครรภ์ของมารดาตั้งแต่เป็นกลละ มีคันธัพพะคือสัตว์ที่มาบังเกิดเข้าอาศัย
ก็เริ่มเป็นปฏิสนธิวิญญาณ จนถึงในที่สุดสิ่งที่มารวมกันเป็นก้อนกายมีใจครองนี้ก็แตกสลาย ก็เป็นความดับในที่สุด
แต่ว่าในระหว่างๆ นั้น ทั้งนามรูปนี้ต่างก็ปฏิบัติหน้าที่เกิดดับๆ
อยู่ในอารมณ์ทั้งหลาย อยู่เสมอไปทุกอารมณ์ อันเป็นอย่างละเอียด
และความเกิดดับทุกอารมณ์นั้น ก็พึงเข้าใจคำว่าอารมณ์ อันได้แก่เรื่องที่จิตคิด เรื่องที่จิตดำริ เรื่องที่จิตหมกมุ่นถึง
และจิตนี้เมื่ออายตนะภายนอกภายในประจวบกัน
จิตนี้ก็น้อมออกไปรู้สิ่งที่มากระทบนั้น เช่นเมื่อตากับรูปมาประจวบกัน จิตก็น้อมออกรู้รูป เรียกว่ารู้เรื่องรูป
แม้ข้ออื่นก็เหมือนกัน และความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้นี้เองเรียกว่านามที่แปลว่าน้อม น้อมไป น้อมไปรู้
และเมื่อจิตน้อมออกไปรู้เรื่องรูปที่ตาเห็น
ความรู้ของจิตที่น้อมออกรู้นี้ ทีแรกก็เป็นวิญญาณขึ้นก่อน คือเห็นรูป และอายตนะภายในคือตา
อายตนะภายนอกคือรูป กับวิญญาณที่เห็นรูปนั้น มารวมกันก็เป็นสัมผัส แปลว่ากระทบ
กระทบอะไร ก็กระทบจิตนั้นเอง สัมผัสจิต จึงเป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร
แล้วในขณะที่คิดปรุงปรุงคิดที่เป็นสังขารนั้น ก็เป็นวิญญาณคือรู้ไปด้วย
ตัวเรื่องที่คิดที่ปรุงนั้นก็เป็นสัมผัส เป็นเวทนา เป็นสัญญา เป็นสังขาร สืบต่อไปอีก
จึงสุดสิ้นในเรื่องรูปที่ตาเห็นนั้น วิญญาณสัมผัสเวทนาสัญญาสังขารก็ดับหมดไปในเรื่องนั้น
วิญญาณไปเห็นเรื่องอื่นก็ตั้งต้นใหม่ในเรื่องนั้น แล้วก็ดับไป เห็นเรื่องอื่นก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
อีก ๕ ทางที่เหลือก็เหมือนกันจึงเกิดดับอยู่ในเรื่องทั้งหลายทุกเรื่อง นี้เป็นนามธรรมะที่เป็นปัจจุบัน
เป็นสิ่งที่เกิดดับไปอยู่ทุกเรื่อง ให้ตั้งสติกำหนดดูให้รู้จักดั่งนี้ ก็ชื่อว่าได้ปฏิบัติในหมวดขันธ์ ๕ นี้
อันเป็นหมวดสำคัญ เป็นไปทางปัญญา อันสืบจากสติ หรือเป็นวิปัสสนา อันสืบจากสติ สืบจากสมาธิ
ต่อจากนี้ก็ขอให้ตั้งใจฟังสวดและตั้งใจทำความสงบสืบต่อไป
แก้ไขข้อความเมื่อ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่