ตลาดหุ้นรถไฟเหาะ

กระทู้สนทนา
เห็นบทความนี้แล้วน่าสนใจดี ลองอ่านกันดูครับ
*************************************
ตลาดหุ้นรถไฟเหาะ : กอบศักดิ์ ภูตระกูล

คำถามที่หลายคนมีอยู่ในใจในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา ก็คือ “เกิดอะไรขึ้นกับตลาดหุ้นไทย” ที่อยู่ ๆ ก็ตกจากจุดยอดที่ 1,600 จุด (ที่เพิ่งไปแตะถึงกันอีกรอบ หลังจากครั้งที่แล้วเมื่อสิบแปดปีก่อนหน้า) โดย ร่วงหล่นลงมากว่า 130 จุดในช่วงระยะเวลาสั้น ๆ เพียง 3 วันเหลือเพียง 1,467 จุด กลายเป็นความเสียหายครั้งสำคัญ เป็นข่าวหน้าหนึ่ง แต่หลังจากนั้นเพียง 2 วันให้หลัง ก็ทำตัวเป็นเสมือนรถไฟเหาะ เด้งย้อนกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับประมาณ 1,550 ได้อีกครั้ง อย่างเกินความคาดหมายของทุกคน

ทำไมจึงเป็นเช่นนี้

คำตอบสั้น ๆ ก็เพราะ “ความกลัวและความโลภ” ของเราทุกคน

ก่อนหุ้นจะตกนั้น ผู้รู้หลายคนออกมาเตือนอย่างต่อเนื่องว่า ดัชนีหุ้นไทยที่พุ่งขึ้นมา รอบนี้ เป็นสิ่งที่น่ากังวลใจ เพราะเมื่อเราลองไปวิเคราะห์ดูจากข้อมูลด้านต่าง ๆ จะพบว่า

(1) ดัชนีหุ้นที่เพิ่มขึ้นนั้น เป็นผลมาจากฝีมือของนักลงทุนรายย่อยไทยเป็นสำคัญ ที่ช่วยกันซื้อ ช่วยกันปั่น ช่วยกันดัน ช่วยกันลาก ราคาในตลาด จนทะลุขึ้นมาถึง 1,600 จุดได้ ขณะที่ นักลงทุนต่างชาติไม่ได้มีส่วนช่วยเลย แถมยังขายหุ้นออกมาสุทธิ ในช่วงเวลาดังกล่าวดัวยซ้ำไป

(2) หุ้นที่ดันตลาด โดยมากเป็นหุ้นขนาดกลาง ขนาดเล็ก บางตัวเราแทบไม่รู้จักชื่อมาก่อน ขณะที่หุ้นใหญ่ที่เรารู้จักกันดี เช่น ปตท. ปตท สผ. ก็ไม่ได้ขึ้นอะไรมากมายนัก ทั้งนี้ บางวัน พอไปดูยอดหุ้นที่มีมูลค่าซื้อขายเยอะที่สุด หลายครั้งเราก็จะต้องถามตนเองว่า หุ้นเหล่านี้คือบริษัทอะไร เพราะไม่เคยเห็นมาก่อน ยิ่งไปกว่านั้น หุ้นที่ว่านี้ เป็นหุ้นที่ฝรั่งไม่ได้เข้าลงทุนด้วย เพราะเล็กเกินไป ไม่สามารถเข้าออกได้ง่าย ทั้งยังเป็นหุ้นที่สวิงไปมาอย่างรุนแรง ประเภทขึ้นแรงลงแรง บางวันขึ้นลงเป็น 20-30% บางตัว ก็ว่ากันว่า มี “เจ้า” ดูแล จึงกล่าวได้ว่า การขึ้นของตลาดหุ้นครั้งนี้ ฐานไม่แน่น ที่มาได้ถึงระดับนี้ ก็เพราะหุ้นเล็กหุ้นน้อย ก็ยิ่งน่ากังวลใจ

(3) นักลงทุนที่เข้ามาเปิดบัญชีใหม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างผิดสังเกต ปกติแล้ว เรามีบัญชีเปิดใหม่ ประมาณปีละ 80,000 กว่าบัญชี แต่สำหรับปีนี้ เพียงช่วง 2 เดือน คือ มกราคม-กุมภาพันธ์ ได้มีบัญชีเพิ่มขึ้นแล้วกว่า 40,000 บัญชี ซึ่ง เป็นสัญญาณไม่ดีว่า ตลาดกำลังถึงจุดอันตราย ที่ทุกคนกำลังอยากเข้ามา เพื่อหาเงินง่าย ๆ ในช่วงที่ตลาดร้อนแรง ประเภทจิ้มอะไรก็ขึ้น แม้กระทั่ง เมื่อตลาดหลักทรัพย์ออกมาปราม ๆ ให้เพลา ๆ ลง ออกมาตรการต่าง ๆ ที่จะลดความร้อนแรงของตลาด ทุกคนก็ไม่ได้ใส่ใจ ลงทุนกันต่อไปอย่างคึกคัก สนุกสนาน แม้หุ้นบางตัวที่ราคาสูงไปแล้ว มี P/E มากกว่า 100 คนก็ยังลงทุน ดันราคากันต่อไป

(4) ตัวบริษัทหลักทรัพย์เองก็เริ่มกังวลใจเช่นกัน กลัวเอาตัวเองไม่รอด โดยในช่วง 2-3 สัปดาห์ก่อนหน้า บริษัทหลักทรัพย์บางแห่ง ทั้งขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ได้ประกาศเลิกให้สินเชื่อสำหรับการลงทุนในหุ้น (เลิกให้ Margin loan) สะท้อนว่า นักลงทุนจำนวนมากได้ลงทุนโดยยืมเงินบริษัทหลักทรัพย์มาเล่น จนเต็มเพดานแล้ว และบริษัทหลักทรัพย์เหล่านี้ เริ่มกังวลใจเองกับสถานการณ์โดยรวม และตัดสินใจที่จะจำกัดความเสี่ยงและความเสียหายของตนเอง อันอาจจะเกิดจากความผันผวนของราคาหุ้นได้

ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่า ก่อนหุ้นตก สถาน การณ์โดยรวมในตลาดได้สุกงอมพอสมควรแล้ว รอเพียงเหตุที่จะทำให้ทุกคนกลัว และวิ่งหนีออกจากตลาด ซึ่งครั้นปัญหาต่าง ๆประดังประเดมาร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องไซปรัสที่สร้างความผันผวนให้กับตลาดหุ้นโลก ปัญหาค่าเงินแข็งอย่างรวดเร็วไปที่ 29 บาทต้น ๆที่ทำให้เกิดข่าวลือเรื่องการออกมาตรการสกัดเงินทุนเคลื่อนย้าย ตลอดจนข่าวลือเรื่องการเปลี่ยนตัวนายกฯ ข่าวลือเรื่อง พ.ร.บ 2 ล้านล้านจะไม่ผ่าน ข่าวลือเรื่องอื่น ๆ ที่ทุกคนจะช่วยกันสรรค์สร้างขึ้นมา นักลงทุนก็เริ่มขาย ตลาดจึงเริ่มตกลง

จุดเปลี่ยนสำคัญรอบนี้อยู่ที่วันศุกร์ (วันแดงเดือด) หลังหุ้นได้ตกลงมาแล้ว 3 วัน คนก็เริ่มกังวลใจกันมากขึ้น กำไรที่เคยมีจากต้นปี ต่างก็หายหดไปมากแล้ว พอช่วงเช้าของวันนั้น เมื่อมีหุ้นกลางเล็กบางตัว ทำตัวผิดสังเกต อยู่ ๆ ก็ตกลงเป็น 10% ในช่วงสั้น ๆ นักลงทุนต่างก็เริ่มวิ่งหาประตูทางออก แย่งกันเทขาย พอถึงเวลา 11-12 โมง ความกังวลใจก็ได้แผ่กระจายไปทั่วตลาด ทำให้ทั้งรายใหญ่รายเล็ก ต่างสั่งกันเป็นเสียงเดียวว่า “ขายทุกราคา” ขอออกจากตลาด เพื่อรักษากำไรไว้เท่าที่จะมีเหลือเอาไว้ให้ได้ (ทั้งนี้ ต้องเข้าใจว่า เขาไม่ได้ “ทำกำไร” กัน แต่ตลาดบังคับให้ขายออกมา เพื่อ “รักษากำไรหรือรักษาเงินต้น” ของตนเองเอาไว้ ส่วนคนที่ยืมเงินมาเล่น ก็ต้องพยายามขายออกมา เพื่อไม่ให้เสียหายไปมากกว่านี้)

ถึงจุดนั้น ความกลัวก็ได้เข้าครอบ งำตลาดเป็นที่เรียบร้อย หุ้นก็ตกอย่างระเนนระนาด ถ้วนหน้า โดยไม่ต้องถามสาเหตุ ก่อนที่ตลาดจะเริ่มกลับตัวขึ้นมาได้บ้างในช่วงบ่ายของวันดังกล่าว

ครั้นถึง วันเสาร์อาทิตย์ นักลงทุนหลายคน บอกกัน เป็นเสียงเดียวว่า “ไม่เอาแล้ว เจ็บแล้ว เข็ดแล้ว” และยิ่งนักเทคนิคบอกว่า แนวรับอาจจะลงไปต่ำกว่านี้ หลายคนก็บอกว่า “ไม่ลงทุนอีกแล้ว”

ส่วนที่ตลาดกลับขึ้นมาได้ช่วงวันจันทร์ ก็เพราะ “ความโลภ” ของเราทุกคน ตอนแรกเปิดตลาด หลายคนยังรอดูอยู่ก่อน ไม่แน่ใจว่าจะเข้าตลาดอีกรอบดีหรือไม่ แต่ครั้นพอหุ้นพุ่งขึ้นไป 15-20 จุด ทุกคนที่บอกว่าเข็ดแล้ว ก็เริ่มคิดใหม่ว่า “ตกรถแน่” และท้ายที่สุดก็อดไม่ได้ที่จะเข้ามา ลองอีกครั้ง เก็งกำไรกันอีกรอบ ซึ่งจะไม่ให้เข้าได้อย่างไร ก็หุ้นขึ้นแบบไม่หยุดยั้งแบบนี้ ตลาดก็เลยพลิกกลับมาได้

พูดง่าย ๆ รอบนี้ ทั้งขึ้นและลง มาจากใจของเราล้วน ๆ ทั้งความกลัว และความโลภทั้งนี้ บทเรียนสำคัญจากตลาดหุ้นรถไฟเหาะ ที่เราทุกคนควรเรียนรู้จาก 2 สัปดาห์นี้ ก็คือ “อย่าประมาท อย่าลงทุนประเภทไม่กลัวฟ้าดิน มองแต่ขึ้นอย่างเดียว” เพราะหุ้นขึ้นได้ ก็ตกได้ และครั้นเมื่อตกแล้ว หลายครั้งเราจะลังเลใจ ทำให้ออกไม่ทัน การลงทุนของเราจึงกลายเป็นการสร้างหนี้ให้กับครอบครัวและตนเองอย่างไม่ทัน รู้ตัว ซึ่งถ้าจะว่าไปแล้ว ก็ดีที่มีการปรับฐานของหุ้นรอบนี้ ทุกคนจะได้บทเรียน เห็นสัจธรรม ทำให้ไม่กล้าเกินไป และเริ่มหาทางปรับตนเอง ลงทุนด้วยความระมัดระวัง ซึ่งจะช่วยให้เราและครอบครัวไม่เจ็บมาก ในวันฟองสบู่ตลาดหลักทรัพย์แตก เช่นดังปี 2538-39 ก็ขอเอาใจช่วยทุกคนครับ

ที่มา : หนังสือพิมพ์เดลินิวส์ ประจำวันที่ 21 มี.ค. 56
คอลัมน์ ไขปัญหาเศรษฐกิจกับ ดร.กอบ
แสดงความคิดเห็น
โปรดศึกษาและยอมรับนโยบายข้อมูลส่วนบุคคลก่อนเริ่มใช้งาน อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่